++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552

บทเรียนจากเรื่อง “เน่า” ต้องเร่งสอนลูกทำความดี

โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน    
       ข่าว คราวเรื่องของ “เน่า” ที่ถูกแฉออกมาเป็นระลอกจาก “ของฟรี” ที่รัฐบาลมอบให้ประชาชนไล่มาตั้งแต่ปลากระป๋องเน่า ตามมาด้วยนมบูด ช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียนี่กระไร
      
       โดย เฉพาะเรื่องนมโรงเรียนที่แจกให้เด็กกินฟรี ไม่รู้เหมือนกัน ว่าคนที่เกี่ยวข้องสามารถกระทำการเยี่ยงนี้ได้อย่างไร ทั้งที่คนดื่มนม คือ “เด็ก” และยิ่งเป็นเด็กเล็กด้วย
      
       ไม่มีข่าวใดที่สร้างความสะเทือนใจได้มากเกินข่าวที่ เกิดความเสียหายแก่เด็ก ยิ่ง คนที่เป็นพ่อแม่ จะมีอาการจุกอกชนิดที่บอกไม่ถูก ถ้าลูกของตัวเองเข้าข่ายเจอปัญหาเรื่องนี้ด้วยแล้ว รับประกันความโกรธ และอาการก่นด่าอย่างแน่นอน เป็นโชคดีของลูกดิฉันที่ไม่เข้าข่าย เพราะนโยบายของโรงเรียนให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพร่างกาย และอาหารการกินของเด็กเป็นอย่างดี ที่สำคัญยิ่งโชคดีที่ไม่ได้รับนมฟรีของภาครัฐ ...!!

       แต่เด็กที่ต้องโชคร้ายรับกรรมครั้งนี้ก็มีจำนวนมากเหลือเกิน ถามว่าใครคือผู้รับผิดชอบ ?
      
       โปรดอย่าลืมว่าสุขภาพดีเป็นประการสำคัญด่านแรกของการนำไปสู่การเรียนรู้และพัฒนาทางด้านอื่นๆ
      
       ท่ามกลางสถานการณ์ความเห็นแก่ได้ของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายต่างๆ รวมถึงนโยบายการจัดซื้อจัดหานม เพื่อมาแจกฟรีให้เด็กๆ ก็ยังจะนำเอาสิ่งที่ไม่น่าเชื่อมากระทำกับเด็กได้ แล้วนับประสาอะไร กับความคาดหวังว่าจะขับเคลื่อนประเทศนี้ให้เดินหน้าเพื่อทัดเทียมประเทศ อื่นๆ ได้
      
       ยามนี้ ดิฉันนึกถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษ ซึ่งเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า ถ้าใครกระทำไม่ดี บาปกรรมตามทันแน่บางคราก็สงสัยว่าคนที่ทำไม่ดีเขาจะรู้จักคำว่า “บาปกรรม” หรือไม่ เขาไม่เกรงกลัวในเรื่องบาปเลยหรือกระไร หรือเขาคิดว่า เรื่องของบาปเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ ไม่เหมือนเรื่องผลประโยชน์สามารถจับต้องเป็นตัวเงินได้
      
       สังคมทุกวันนี้ เรียกร้องเรื่องบาปบุญคุณโทษกันค่อนข้างมาก เพราะท่ามกลางวิกฤติทางเศรษฐกิจ วิกฤตทางการเมือง วิกฤตทางสังคมก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว หรืออาจจะหนักขึ้นชนิดที่คาดไม่ถึงขึ้นไปอีก ถ้าหากวิกฤติที่กล่าวมาข้างต้นขยายตัวลุกลาม
       การสอนให้ลูกรู้จักบาปบุญคุณโทษในยุคนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการทำความดี เพราะปัจจุบันการทำความ “ดี” ดูเหมือนจะถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าคำว่า “เก่ง” ซะแล้ว
      
       ในขณะที่เด็กส่วนใหญ่ยุคนี้มักเข้าใจว่า การทำความดีก็คือการทำบุญ เป็นเรื่องของการเข้าวัด ถ้าต้องการทำบุญ ทำความดี ก็สามารถทำได้ที่วัด ทั้งที่จริงแล้ว การทำความดีมีหลากหลายรูปแบบ และคนเป็นพ่อแม่สามารถปลูกฝังให้ลูกได้มากมาย หลากหลายวิธี
      
       ยิ่งถ้าเราปลูกฝังลูกตั้งแต่เล็ก ในเรื่องการ “ให้” ให้ลูกรู้จักความสุขจากการเป็นผู้ให้ เท่ากับปลูกฝังสิ่งดีงามในตัวลูก ให้เขาสามารถอยู่ในสังคม และเป็นผู้สร้างสังคมที่ดีต่อไปได้ ฉะนั้นการสอนลูกทำความดี มิใช่แค่การไหว้พระ ทำบุญอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากมาย
      
       ลองมาดูวิธีปลูกฝังให้ลูกสร้างความดีกันค่ะ
       หนึ่ง – เริ่มต้นด้วยเรื่องการทำบุญก่อนก็ได้ ใส่บาตรตอนเช้า ถ้าสามารถทำเป็นกิจวัตรได้ทุกวัน หรือบ่อยเท่าที่จะสามารถทำได้ เป็นเรื่องดีมาก ที่สำคัญควรสอนให้ลูกใส่บาตรอย่างถูกวิธีด้วย เช่น ขณะใส่บาตรควรถอดรองเท้าด้วย และวิธีใส่บาตรต้องตั้งจิตอธิษฐาน สำรวมทุกครั้ง อาหารคาวหวานที่นำมาใส่บาตรมีความหมายอย่างไร ก็สามารถสอดแทรกการเรียนรู้ได้ด้วย ถือเป็นบทเริ่มต้นให้จิตใจผ่องใสกันก่อน
      
       สอง – พาลูกไปไหว้พระอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันสำคัญทางศาสนาเป็นสิ่งที่จะทำให้ลูกได้ยึดถือปฏิบัติ ประเพณีที่สำคัญอีกต่างหาก แล้วระหว่างการทำบุญไหว้พระก็สอนให้ลูกรู้ถึงวันสำคัญต่างๆ มีความหมายอย่างไร และการไหว้พระเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และเตือนใจให้เรากระทำแต่ความดี
      
       สาม – สอนให้ลูกรู้จักการบริจาคทาน ไม่ว่าจะเป็นบริจาคเงินหรือบริจาคสิ่งของ ถ้าเป็นการบริจาคเงิน พ่อแม่อาจสอนให้ลูกเก็บเงินค่าขนมเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส หรือถ้าบริจาคสิ่งของก็อาจจะเริ่มจากการบริจาคสิ่งของที่เกินความต้องการ เช่น เสื้อผ้า ของเล่น หนังสือ หรืออุปกรณ์อื่นๆ โดยให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกสิ่งของเพื่อนำไปบริจาคตามหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องและต้องการความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็สอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปันให้กับผู้อื่นที่ด้อยโอกาสกว่าเรา
      
       การสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน รู้จักการให้ ก็ควรจะปลูกฝังถึงความรู้สึกมีความสุขในการเป็นผู้ให้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างนิสัยที่ดีต่อไปในภายภาคหน้า
      
       สี่ – ช่วยเหลือแรงกาย ฝึกให้ลูกได้ลงแรงกายแรงใจในการทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น เก็บขยะ ช่วยถือของให้คนชรา ช่วยงานพ่อแม่หรือคุณครู ช่วยเหลือเพื่อน ไม่ดูดายเมื่อมีใครร้องขอให้ช่วยเหลือสิ่งใด สิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมให้เป็นเด็กที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น
      
       ห้า – ให้ลูกได้เห็นตัวอย่างหรือการกระทำที่ดีที่เป็นแบบอย่าง และชี้ชวนให้ยกย่องคนที่กระทำความดีอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อลูกทำความดี ก็ควรที่พ่อแม่จะชื่นชมและให้กำลังใจทุกครั้ง เพื่อเป็นกำลังใจและแรงใจในการกระทำความดีในครั้งต่อไป
       หก – สอนลูกให้รู้จักรับผิดชอบตนเอง ประพฤติตนไม่เอาเปรียบผู้อื่น และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ก็เป็นการกระทำดีอย่างหนึ่ง ต้องพยายามฝึกให้ลูกคิดดี ทำดี โดยไม่หวังผลตอบแทนให้เป็นนิสัยติดตัว
      
       เจ็ด – สอนลูกนั่งสมาธิ เริ่มจากง่ายๆ ด้วยการฝึกก่อนนอนทุกวัน หลังจากสวดมนต์ก่อนนอน ก็ให้นั่งสมาธิ ค่อยๆ ฝึก และค่อยๆ เพิ่มเวลามากขึ้นๆ เป็นการฝึกให้จิตใจสงบ และสมาธิดี เมื่อสมาธิดีก็จะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี ซึ่งจะส่งผลให้เด็กสามารถฝึกการมีสติได้จากเรื่องใกล้ตัว เช่น มีสมาธิกับการทำการบ้าน อ่านหนังสือ จะช่วยฝึกจิตให้มีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน
      
       แปด – สอนให้จิตใจอ่อนโยน อาจจะเริ่มจากการให้เลี้ยงสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือดูแลต้นไม้ ด้วยการรดน้ำต้นไม้และติดตามการเจริญเติบโตของมัน หรือเมื่อเห็นผู้อื่นเจ็บป่วย เจ็บปวดก็ไม่ดูดาย ถามไถ่ จะช่วยสร้างนิสัยที่อ่อนโยน ซึ่งจะช่วยหล่อหลอมไม่ให้เด็กทำในสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น และคิดถึงผู้อื่นเสมอ
      
       เก้า – เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนเรื่องการทำคุณงามความดี ผ่านสื่อหลากหลายชนิด เช่น สื่อหนังสือ สื่อทีวี นิทาน ฯลฯ ในทางสร้างสรรค์ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าการทำความดี ท้ายที่สุดผลลัพธ์ก็จะอยู่ที่การกระทำของเรา และการทำสิ่งไม่ดี ท้ายสุดจะมีบทลงเอยที่ไม่ดีอย่างไร แม้บางครั้งอาจจะนานถึงเห็นผลก็ตาม
       
       แต่ขอให้เชื่อเถอะลูก...คำพังเพยที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ยังใช้ได้อยู่ทุกยุคทุกสมัย
      
       ยิ่งในยุคปัจจุบันผู้คนสับสนเรื่องความดี ความชั่ว เพราะส่วนใหญ่มักจะมองเข้าข้างตัวเอง จึงยิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ต้องเร่งปลูกฝังและสอนเรื่องการทำความดีอย่างต่อ เนื่อง แม้บางอย่างอาจจะนานถึงจะเห็นผล
      
       แต่ท้ายสุด ทำดี ต้องได้ดี และเขาจะไม่มีวันกล้าทำเรื่อง “เน่า” อย่างแน่นอน

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000021398

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น