++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

ปฏิรูปการเมืองหรือปฏิรูปคน

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
คณะกรรมการอิสระศึกษาเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง
ซึ่งจะประกอบด้วยคณะกรรมการประมาณ 50 คน
อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสถาบันพระปกเกล้า จะทำการศึกษา หาข้อมูล
ถามความเห็นจากประชาชน เพื่อที่จะเสนอทางปฏิรูปการเมือง
ซึ่งอาจจะต้องนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในที่สุด
ถึงแม้จะมีการปฏิเสธว่ามิได้มุ่งเน้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม

ในขณะที่ข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่คงไม่มีใครคัดค้านว่าเป็นการกระทำที่
ไม่จำเป็นหรือไร้ประโยชน์ แต่ก็อาจมีการตั้งข้อสังเกตว่า
แท้ที่จริงดูเสมือนหนึ่งมีจุดประสงค์อย่างอื่นซ่อนเร้นอยู่ก็คือ
การแสดงให้เห็นว่ามีความพยายามที่จะปฏิรูปหรือปรับปรุงระบบการเมืองให้ดี
ขึ้น และในการใช้เวลาศึกษานี้ก็จะมีส่วนช่วยยืดเวลาของรัฐบาลได้ในระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกันก็ต้องการแสดงเจตจำนงถึงการพยายามสร้างความสมานฉันท์เพื่อแก้
ความขัดแย้งทางการเมือง
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่มีข่าวว่าในการประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้าได้มีการ
กล่าวถึงบุคคลที่อยู่ในกลุ่ม 111 คน
ทำนองว่าไม่น่าจะเหมาะสมที่เข้ามาอยู่ในคณะทำงาน

การปฏิรูปการเมืองไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น
เพราะถ้าว่าไปแล้วมีหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ถ้าจะเริ่มต้นอย่างหยาบๆ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
ก็เป็นการปฏิรูปการเมืองสืบต่อจากการปฏิรูปการบริหารในปี 2435
โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่ง 40
ปีต่อมาก็นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองโดยการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจาก
สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516
ซึ่งมีการลุกฮือของประชาชนล้มล้างระบอบการปกครองแบบทหารหรืออำมาตยาธิปไตย
นั้น ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองช่วงที่สองของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
และในปี 2517 ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหนึ่งชุด
พร้อมกับมีการตั้งคณะอนุกรรมการเผยแพร่ประชาธิปไตยภาย
ใต้รัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
นิสิตนักศึกษาจำนวนมากออกไปให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการ
ปกครอง ขณะเดียวกันก็มีการปลุกจิตสำนึกในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางสื่อต่างๆ
เช่น ในวิทยุโทรทัศน์นั้นเริ่มต้นด้วยเสียงร้องของทารกแรกเกิด
และมีคำบรรยายว่า

1) เมื่อเราเกิดมา เรามีสิทธิเท่าเทียมกันทุกคนตั้งแต่แรกเกิด 2)
เรามีสิทธิเป็นเจ้าของประเทศไทย 3)
เรามีสิทธิเป็นเจ้าของประเทศไทยเท่าเทียมกัน 4)
เรามีสิทธิในฟ้าเมืองไทยอันสวยงาม 5) เรามีสิทธิในท้องทะเลไทยอันไพศาล 6)
เรามีสิทธิในท้องนา ทุ่งหญ้า ต้นไม้ ดอกไม้ 7) เรามีสิทธิที่จะคิด 8)
เรามีสิทธิที่จะพูด 9) เรามีสิทธิที่จะเขียน 10) เรามีสิทธิต่างๆ มากมาย
11) เรามีสิทธิที่จะร่วมปกครองประเทศของเราด้วย เราจึงต้องมีรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญคือกฎหมายเพื่อระวังไม่ให้ใครมาโกงเอาประชาธิปไตยของเราไป
"อนาคตของชาติอยู่ในมือท่านแล้ว"

นี่คือความพยายามในการปฏิรูปการเมืองเพื่อนำไปประกอบในการร่างรัฐธรรมนูญปี
2517 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมากฉบับหนึ่งเพราะมาจากการต่อสู้ของประชาชน
แต่ที่น่าเสียดายคือมีอายุเพียง 3 ปีก็ถูกล้มไปด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม
2519

รัฐธรรมนูญปี 2521
ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ทดแทนธรรมนูญการปกครองชั่วคราวหลังเหตุการณ์ 6
ตุลาคม 2519 นั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการออกแบบเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ
โดยมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ประมาณ 1 ปีครึ่ง

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ประมาณ 8 ปี 5 เดือน
จนกระทั่งพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี
ภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบนั้นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แต่ที่เห็นอยู่ก็คือจะเป็นนายทหาร
ในยุคนั้นนายกรัฐมนตรีจะอยู่บนสามขาหยั่งคือ
จะต้องมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากพอที่จะประกอบเป็นรัฐบาลผสม
มีการสนับสนุนจากกองทัพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บัญชาการทหารบก
และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
ประชาธิปไตยครึ่งใบเป็นความพยายามที่จะผสมผสานระหว่างการมีส่วนร่วมของ
ประชาชนชั้นกลาง
ซึ่งเป็นชนชั้นที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเริ่มตั้งแต่ยุคจอมพล
สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับชนชั้นที่เป็นข้าราชการทหารและพลเรือน
โดยนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการลงสมัครรับเลือกตั้ง
ไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ส่วนทหารก็ได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก
ชนชั้นกลางที่เป็น ส.ส. ก็มีโอกาสเป็นรัฐมนตรี

ก่อนที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น
เริ่มมีเสียงร้องเรียกให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก
ส.ส.และเผอิญพลเอกชาติชายก็เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคชาติไทย
และเมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็เริ่มวางฐานประเพณีของการที่นายกรัฐมนตรีจะ
ต้องมาจาก ส.ส.จนเกิดการรัฐประหารโดย รสช. ปี 2534
ตามมาด้วยเหตุการณ์ที่สำคัญคือพฤษภาทมิฬเมื่อวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535
และจบลงโดยนายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
และการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นมีประเด็นสำคัญมากคือ
นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะมีการประกาศยุบสภาและ
การเลือกตั้ง

ทันทีที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ก็นำไปสู่เกมการเมืองแบบใหม่ หัวหน้าพรรคที่ได้จำนวน ส.ส.
มากกว่าพรรคอื่นก็จะเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
และนี่คือที่มาของรัฐบาลภายใต้พรรคประชาธิปัตย์โดยมีหัวหน้าพรรคคือนายชวน
หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เรียกว่าชวน 1 ทำการบริหารบ้านเมืองประมาณ 2
ปี 6 เดือน แต่ก็ต้องประกาศยุบสภาเนื่องจากกรณี สปก. 4-01
แต่ภายใต้รัฐบาลชวน 1
นี้ได้มีความพยายามที่จะปฏิรูปการเมืองโดยตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง
เรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) มีนายแพทย์ประเวศ วะสี
เป็นประธาน

คณะกรรมการชุดนี้ประกอบด้วยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษาอย่างจริง
จัง มีเอกสารจากการวิจัยและศึกษาออกมาเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ประมาณ 10
กว่าเล่ม หนาประมาณ 10 เซนติเมตร โดยศึกษาหัวข้อเรื่อง
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ฯลฯ
ซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่ดีที่สุด
และหลายส่วนนี้ก็เข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540
แต่เมื่อศึกษาเสร็จเรียบร้อยก็ไม่ได้มีการนำไปปฏิบัติแต่อย่างใด
มีแต่เพียงองค์ความรู้และข้อเสนอแนะ

ในความเป็นจริงก่อนมีคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย นายชุมพล
ศิลปอาชา ได้เป็นประธานคณะทำงานชุดหนึ่ง
เสนอแนะให้มีการปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 25 ประเด็น
ซึ่งแก้ไขได้เพียง 2 ประเด็นเท่านั้น หนึ่งในประเด็นก็คือการให้บุคคลอายุ
18 ปีบริบูรณ์มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ซึ่งก็กลายเป็นประเพณีปฏิบัติและบรรจุในรัฐธรรมนูญปี 2540
รวมทั้งฉบับปัจจุบันด้วย

เมื่อรัฐบาลชวน 1 ประกาศยุบสภา
และหลังการเลือกตั้งทั่วไปนายบรรหาร ศิลปอาชา ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
และได้เสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเรียกว่า
คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) มีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน
มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211ของรัฐธรรมนูญปี 2534 (รสช.)
เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คน หรือ
สสร. นอกจากนั้นยังมีคณะอนุกรรมการร่างแผนพัฒนาการเมือง
ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นเอกสารที่เป็นต้นแบบ
นอกจากนี้ในเอกสารดังกล่าวยังมีการเสนอให้มีการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองขึ้น
ซึ่งได้ตั้งมาแล้วโดยอาศัยบทบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ร่างโดย สสร. นั้นมีจุดประสงค์หลักคือ
ต้องการปฏิรูปการเมืองให้มีนายกรัฐมนตรีที่สามารถแสดงความเป็นผู้นำทางการ
เมืองได้ และพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องการซื้อสิทธิซื้อเสียงในการเลือกตั้ง
การโกงการเลือกตั้ง การฉ้อราษฎร์บังหลวง การละเมิดกฎหมาย
ซึ่งนำไปสู่การเกิดการควบคุมอำนาจด้วยระบบรัฐสภาอังกฤษ
คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา
รวมทั้งการถอดถอนแบบระบบประธานาธิบดีในอเมริกา พร้อมๆ กับการเกิดองค์กร
10 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ คือ

1) คณะกรรมการการเลือกตั้ง 2)
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 3) ศาลรัฐธรรมนูญ 4)
ศาลปกครอง 5) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 6)
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 7) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา 8)
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 9)
คณะกรรมการการสื่อสารแห่งชาติ และ 10) คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ในขณะที่ร่างนั้นก็ได้จัดสัมมนาและมีการประชาพิจารณ์
เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพราะต้องร่างโดย
"คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ"

รัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกล้มโดยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน
2549 และมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นรัฐธรรมนูญปี 2550
ซึ่งเดินตามแนวของปี 2540 แต่มีการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ
ในหลายส่วนที่แก้ไขก็มีส่วนทำให้การเมืองดีขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
แต่ในหลายส่วนที่แก้ไขกลับสร้างปัญหามากยิ่งขึ้นเกี่ยวเนื่องมาจนถึง
ปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งกันเองและผิดหลักการกฎหมายเช่นมาตรา
309 เป็นต้น หรือในกรณีที่เกี่ยวกับ ป.ป.ช.
ถ้าตีความตามลายลักษณ์อักษรจะเกิด ป.ป.ช. จังหวัดขึ้น 75 แห่ง
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 246 วรรคสุดท้าย
ซึ่งจะกลายเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญอีก 75 แห่ง
นอกเหนือจากที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร

คณะกรรมการที่จะศึกษาเพื่อการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ไม่น่าจะมีอะไรแตก
ต่างจากปี 2540 สิ่งที่น่าจะศึกษาก็คือ
ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนมีคุณภาพดีขึ้นในทางการเมือง
ทั้งในแง่ประชาชนซึ่งยังมีเศรษฐกิจที่ไม่ดี รวมทั้งการขาดข้อมูลข่าวสาร
นำไปสู่การซื้อสิทธิขายเสียง
และที่สำคัญคือตัวนักการเมืองที่ยังขาดคุณธรรม จริยธรรม
มรรยาททางการเมือง แต่สำคัญที่สุดคือ
การขาดอุดมการณ์ทางการเมืองและวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย

หลายคนคงเห็นพ้องต้องกันว่า
จุดเน้นของการปฏิรูปน่าจะเน้นที่ตัวคนโดยเน้นที่การสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ขยายการศึกษาเพื่อให้ข่าวสารข้อมูลให้ประชาชนมีความรู้มากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางการเมืองและการยกสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชน
แต่ที่สำคัญคือการพัฒนาจริยธรรม คุณธรรม อุดมการณ์
จิตสำนึกในเรื่องธรรมาภิบาล
และจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในหมู่นักการเมือง
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000031024

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น