++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

คนไทยกับความรักชาติ

โดย พิมลวัฑฒิ์ ชูโต   
เมื่อปี 2544 ประดิษฐ์ พีระมาน ได้เขียนหนังสือ “ฮวงจุ้ยและทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ของไทย” ซึ่งมีใจความสำคัญพอสรุปได้ว่า ประเทศไทยมีฮวงจุ้ยที่ดีที่สุด และดีมากอย่างไม่น่าเชื่อถือเพราะ
     
        *หันหลังพิงเขา ได้แก่ที่ราบสูงทิเบตซึ่งมีความลาดเอียงลงมาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใกล้ชิดจนรู้สึกว่าถูกกดดัน ไม่มีการพังทลายอย่างรุนแรงของภูเขา และไม่ถูกกระแสน้ำไหลบ่าอย่างรุนแรง
     
        * มีรูปร่างเหมือนขวาน และถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาและป่าไม้ทั้ง 3 ด้าน ทางเหนือซึ่งเปรียบเสมือรั้วกันภัย (แต่คนไทยตัดรั้วจนเหลือแต่ภูเขาหัวโล้น)
     
        * มีสายน้ำโอบอุ้มหลายสาย เช่น เจ้าพระยา ป่าสัก แม่กลอง ท่าจีน ชีและมูล ช่วยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เป็นเส้นทางคมนาคมและเป็นแหล่งอาหารอีกด้วย (คนไทยกลับเอาขยะและสารพิษจากโรงงานทิ้งลงแม่น้ำทุกวัน)
     
        * ตอนกลางของประเทศเป็นที่ราบลุ่มที่สมบูรณ์ที่สุด 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งเหมาะสำหรับการเกษตรและมีเนื้อที่ถึง 35 ล้านไร่ (แต่คนไทยเอาเคมีเกษตรไปใส่ เอาโรงงานไปตั้งและปล่อยน้ำเสีย)
     
        * ทิศใต้ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าบ้านเป็นทะเล ยิ่งถ้าขุดคอคอดกระจะยิ่งดี เพราะเป็นการเชื่อมมหาสมุทรทั้งสองด้าน
     
        หลังสงครามโลกครั้งที่สอง นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกคนหนึ่งทำนายว่าระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับไทยในอนาคต ประเทศไทยจะพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองกว่าญี่ปุ่น เพราะประเทศไทยมีขนาดกำลังดี จำนวนประชากรไม่มากหรือน้อยเกินไป มีความอุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรมากมาย มีภูมิอากาศดีและไม่มีปัญหาขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว สรุปได้ว่าประเทศไทยสมัยประมาณ 60 ปีที่แล้ว มีศักยภาพที่สูงมากสำหรับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง
     
        อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาได้ตามศักยภาพ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยไม่เคยแก้ปัญหาอันเลวร้ายที่สุดที่ปรากฏอยู่ร่วมกัน ทั้งในรัฐบาลอำมาตยาธิปไตย รัฐบาลเผด็จการทหาร รัฐบาลนักเลือกตั้ง และรัฐบาลนายทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลนายทุนซึ่งบริหารประเทศเกือบตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา ได้มีพฤติกรรมคอร์รัปชันและฉ้อฉลอย่างหนักหน่วงที่สุด โดยใช้ข้าราชการทุกระดับเป็นเครื่องมืออย่างกว้างขวาง และรุนแรงอย่างไม่เกรงกลัวต่อขื่อแปของบ้านเมือง ท่ามกลางความเฉยเมยของคนจำนวนมากรวมทั้งนักวิชาการประเภท “กลัว กลวง และกั๊ก” การฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งเคยเป็นการ “กินตามน้ำ” ได้กลายเป็น “กินทวนน้ำ” และจำนวนเงินที่โกงกินมีมูลค่าเป็นแสนๆ ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินจำนวนมหาศาลดังกล่าวสามารถแปรสภาพประเทศไทยให้เป็น “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งจะยังประโยชน์ให้ประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนและชาวไร่ชาวนาได้อย่างแท้จริง แต่กลับถูกฉกฉวยไปโดยนักการเมืองและลูกมือซึ่งเป็นข้าราชการจำนวนหนึ่งเท่า นั้น
     
        ถ้าคนไทยถูกถามว่า รักประเทศชาติหรือไม่ทุกคนจะตอบโดยไม่ต้องคิดเลยว่า “รัก” อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงคำว่ารักชาติ นักวิชาการบางคนจะนึกถึงการล้างสมองโดยผู้บริหารประเทศให้ “เกลียดชัง” เพื่อนบ้าน หรืออาจนึกถึงคนจำนวนมากที่ยอมอุทิศตนอย่างมืดบอดให้กับผู้นำที่กระหายอำนาจ และนักรัฐศาสตร์มักจะประณามว่าความรักชาติเป็นต้นเหตุของสงครามหรือความหิว กระหายในดินแดน และผลประโยชน์ของประเทศอื่น
     
        ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ก็อาจจะกล่าวโทษว่าความรักชาติเป็นอุปสรรคของ “การค้าเสรี” และขัดขวางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น คำว่า “รักชาติ” จึงมักเป็นคำพูดที่มักถูกกล่าวถึงในทางลบตลอดมา
     
        อย่างไรก็ตาม ความคิดดังกล่าวอาจไม่ใช่ความคิดเห็นที่ถูกต้องนัก ในชีวิตประจำวัน การที่เรารักคนในครอบครัวไม่ได้หมายความว่า เราจะเกลียดชังเพื่อนบ้าน และความรักชาติก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความชิงชังชนชาติอื่นเสมอไป ในทางตรงกันข้าม ความรักชาติกลับเสริมสร้างการ “ผนึกรวม” ของคนในชาติ และช่วยให้บุคคลแต่ละคนลดความเห็นแก่ตัว แล้วร่วมกันยึดถือและมุ่งมั่นในเป้าหมายเดียวกันคือ การเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม พฤติกรรมดังกล่าวจะช่วยในการสร้างความเจริญรุ่งเรือง ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และความผาสุกให้ประเทศ
     
        ระหว่างปี 2538-2547 โครงการสำรวจทางสังคมระหว่างประเทศ (International Social Survey Programme-ISSP) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศนอร์เวย์ ได้สำรวจ “เอกลักษณ์” หรือ “ลักษณะเฉพาะ” ของประเทศ 34 ประเทศ ในหลายทวีปและพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในประเทศที่ประชาชนรักชาติ คนที่ทำร้ายสังคมหรือคอร์รัปชันจะถูกต่อต้านและคว่ำบาตร การโกงกินและฉ้อฉลที่ลดลงจะช่วยสร้างเสริมกิจกรรมต่างๆ ให้โปร่งใส เข้มแข็งและเจริญก้าวหน้า ประชาชนที่ไม่รักชาติจะทำลายซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ส่วนตัว และพฤติกรรมดังกล่าวย่อมนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจ และความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งย่อมส่งผลร้ายให้เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศโดยตรง ความรักชาติเปรียบเสมือนคุณค่าที่ปรากฏใน “สังคมผึ้ง” ซึ่งสมาชิกทุกตัวต่างผนึกรวมกันอย่างมั่นคงเพื่อความอยู่รอด และความเจริญเติบโตของเผ่าพันธุ์
     
        โครงการสำรวจข้างต้นได้รายงานผลการสำรวจเป็น 3 หัวข้อ และในแต่ละหัวข้อก็เรียงอันดับประเทศตามคะแนนที่ได้โดยสรุปดังนี้
     
        1. ประเทศที่ประเทศมีความรักชาติมากและมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าประเทศที่ประชาชนมีความรักชาติน้อยตามลำดับคือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สวิส สวีเดน ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ เยอรมนี ฟินแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อิสราเอล เกาหลี นิวซีแลนด์ สโลเวเนีย โปแลนด์ สโลวาเกีย ลัตเวีย บัลกาเลีย รัสเซีย ชิลี ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ เวเนซุเอลา ฯลฯ
     
        2. ประเทศที่ประชาชนมีความรักชาติมาก และมีการคอร์รัปชันน้อยตามลำดับคือ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เดนมาร์ก ออสเตรเลีย นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ สวีเดน เยอรมนี สวิส ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิสราเอล เกาหลี แอฟริกาใต้ รัสเซีย ฟิลิปปินส์ เวเนซุเอลา ฯลฯ (ในเอเชีย ประเทศไทยมีคอร์รัปชันสูงเป็นที่สองรองจากฟิลิปปินส์)
     
        3. ประเทศที่ประชาชนมีความรักชาติมาก และมีระบบยุติธรรมที่เข้มแข็งตามลำดับได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น นอร์เวย์ สวิส ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลี อิสราเอล ฮังการี อุรุกวัย รัสเซีย ฟิลิปปินส์ เวเนซุเอลา ฯลฯ
     
        ข้อมูลของธนาคารโลกชี้ด้วยว่าประเทศที่ประชาชนมีความรักชาติมากจะเป็นประเทศ ที่มีการคอร์รัปชันต่ำ ประชาชนจะสนใจไยดีในเพื่อนร่วมชาติ และจะไม่ละเมิดกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น ประเทศที่ประชาชนรักชาติจะมีการใช้กฎหมายและตุลาการภิวัฒน์อย่างเข้มแข็ง นักการเมือง ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่คอร์รัปชันเป็นกลุ่มบุคคลที่หาผลประโยชน์บน ความสูญเสียของเพื่อนร่วมชาติ
     
        ถ้าพวกเขามีความรักชาติ พวกเขาย่อมไม่ทำความเสียหายให้สังคมและประเทศ ยิ่งกว่านั้น ความรักชาติยังทำให้คนในสังคมไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน ในขณะที่ประชาชนที่ต่างก็เห็นแก่ตัวจะไม่สนใจในเรื่องการฉ้อฉลกลโกง และความพินาศของประเทศ ธนาคารโลกสรุปว่าประเทศที่รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจะมีการคอร์รัปชันต่ำ และประชาชนมีความสุขมาก
     
        ดร.ไสว บุญมา ผู้จบปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ และทำงานกับธนาคารโลกมากว่า 20 ปี โดยมีความชำนิชำนาญด้านการพัฒนาประเทศ กล่าวว่า
     
        “อาร์เจนตินาล้มเหลวในการพัฒนาประเทศตลอดมา เพราะยังข้าม “หุบเหว” ของการคอร์รัปชันไม่ได้ และประเทศไทยก็ยังอยู่ในภาวะล้มลุกคลุกคลานตลอดมาด้วยปัญหาเดียวกัน ในขณะที่เกาหลีใต้สามารถกระโดดข้ามหุบเหวดังกล่าวไปได้แล้ว เพราะตระหนักดีว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นปัญหาอันเลวร้ายที่สุดของประเทศ จึงพร้อมใจกันใช้พลังแผ่นดินแก้ปัญหาอย่างแน่วแน่และเด็ดขาด (ประธานาธิบดีสองคนติดคุกและคนหนึ่งตายในคุก) ประเทศที่มีฐานะทางศีลธรรมหรือจริยธรรมที่ไม่เข้มแข็งจะไม่สามารถพัฒนาได้ และต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดไป ปัญหาของประเทศไทยคือความฉ้อฉลกลโกซึ่งเลวร้ายกว่าการคอร์รัปชัน เพราะใช้กลยุทธ์ทุกประการเพื่อการแผ่อำนาจและการโกงกิน
     
        เมื่อต้นน้ำสกปรก น้ำในสาขาย่อยของแม่น้ำก็สกปรกหมด หรือกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดม็ดต่อไปก็ผิดหมด ฉะนั้น คนไทยต้องตั้งมาตรฐานทางศีลธรรมว่าการฉ้อฉลกลโกงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อีก ต่อไป ไม่ใช่ยอมรับว่าโกงบ้างไม่เป็นไร”
     
        สุดท้ายนี้ ขอจบด้วยคำถามของท่าน ว.วชิรเมธี ที่ว่า “ทำไมคนไทยจึงยอมให้คนเลวมีอิทธิพลเหนือบ้านเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า???”... คำถามข้างต้นเป็นคำถามที่คนไทยทุกคนต้องช่วยกันตอบ!!

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000020874

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น