++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

บีโอไอ:การปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ...บทเรียนราคาแพงในด้าน BCP

โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง
ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2551
ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการนำเข้าและส่งออกของประเทศ
เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สับสนอลหม่าน
นับเป็นบทเรียนราคาแพงเกี่ยวกับการขาดความพร้อมในด้านแผนรองรับการดำเนิน
ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan) หรือที่เรียกกันย่อๆ
ว่า BCP

BCP เป็นการจัดทำเพื่อหาแผนสำรอง
ในการรองรับให้ธุรกิจดำเนินการไปได้
เมื่อเกิดภาวะไม่ปกติมากระทบกับกิจกรรมในด้านต่างๆ เช่น
การเกิดภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย การนัดหยุดงาน เป็นต้น
ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)
ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจัดเตรียมแผนเอาไว้ล่วงหน้าอย่างใดบ้าง
เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องนับว่าเป็นปัจจัย
สำคัญมากในการแข่งขัน เนื่องจากหากธุรกิจหยุดชะงักแล้ว
นอกจากจะสูญเสียรายได้และสูญเสียลูกค้าจำนวนมากให้กับบริษัทคู่แข่งในช่วง
กิจการหยุดชะงักแล้ว เมื่อกิจการเปิดดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง
ลูกค้าจำนวนมากจะไม่กลับมาติดต่อธุรกิจตามเดิม
ซึ่งกว่าจะแย่งลูกค้ากลับคืนมา ก็จะต้องใช้ความพยายามและทรัพยากรจำนวนมาก
ดังนั้น ในแวดวงธุรกิจเราจึงมักจะพบเห็นบริษัทจำนวนมากที่ภายหลังธุรกิจหยุดชะงัก
จะต้องปิดกิจการอย่างถาวรในเวลาต่อมา
เนื่องจากธุรกิจประสบกับการขาดทุนอันเป็นผลมาจากไม่สามารถแย่งลูกค้าจำนวน
มากที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้

สำหรับกระบวนการจัดทำและสร้างหลักฐานเกี่ยวกับแผน BCP
เป็นการศึกษาหาแนวทางเพื่อให้องค์กรสามารถฟื้นฟูและทำให้การปฏิบัติการที่
เดิมได้หยุดชะงักลงให้สามารถกลับคืนเข้าสู่สภาพเดิมบางส่วนหรือทั้งหมดภายใน
เวลาที่กำหนด ซึ่งประกอบด้วย ขั้นตอนหลักๆ คือ

(1) การวิเคราะห์หรือประเมินผลกระทบทางธุรกิจ (Business Impact
Analysis) โดยกำหนดปัจจัยเสี่ยง (Risk Identification)
และวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis)

(2) การประเมินความเสี่ยงจากผลกระทบที่มีนัยสำคัญ (Risk
Assessment) โดยวิเคราะห์ผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ
และประเมินความเสียหายจากการหยุดชะงักของงานสำคัญ

(3) การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ (Risk Management)

- กำหนดให้ครอบคลุมงานที่สำคัญทุกด้าน
รวมถึงงานสำคัญที่บริษัทได้มีการ Outsource ให้ผู้บริการจากภายนอกด้วย

- ประกอบด้วยขั้นตอนการปฏิบัติงานและผู้รับผิดชอบเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในแต่ละ
กรณีอย่างชัดเจน
และวิธีการและช่องทางติดต่อสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในภายนอก

- กำหนดมาตรการลดความเสี่ยง (Risk Reduction) โอนความเสี่ยง (Risk
Transfer) และ ยอมรับความเสี่ยง (Risk Acceptance)

(4) การเฝ้าระวังการเกิดปัจจัยเสี่ยงและการทดสอบฝึกซ้อมแผน (Risk
Monitoring and Testing) โดยปกติกำหนดทดสอบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานของไทยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดทำแผน
BCP เป็นต้นว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดทำแผน BCP ในด้านต่างๆ
เป็นต้นว่า กรณีเกิดปัญหาในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
ซึ่งกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยจะมีการซักซ้อมกับภายนอก 3 ครั้ง/ปี
และซักซ้อมเป็นการภายใน 6 ครั้ง/ปี

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย
ได้ออกแนวปฏิบัติให้กับธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับ BCP
โดยระบุว่าธนาคารพาณิชย์ควรระบุธุรกรรมงานที่สำคัญ (Critical Business
Functions) และประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดชะงักของธุรกรรม
ข้างต้น พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาหยุดดำเนินงานที่ยอมรับได้
และกลยุทธ์การกู้การดำเนินงานที่เสียหาย
ให้กลับสู่ภาวะปกติและเหมาะสมกับแต่ละธุรกรรม

ขณะเดียวกันรัฐบาลในหลายประเทศได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสนับสนุน
ภาคเอกชนเกี่ยวกับการจัดทำแผน BCP
เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องในภาวะวิกฤต
รวมถึงพยายามแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเกี่ยวกับธุรกิจด้าน BCP เป็นต้นว่า

สิงคโปร์ ประสบผลสำเร็จในการชักจูงบรรษัทข้ามชาติจำนวนมาก เช่น
บริษัท IBM มาจัดตั้งศูนย์ BCP ระหว่างประเทศในสิงคโปร์
เนื่องจากมีจุดแข็ง ดังนี้

- ความได้เปรียบของประเทศในแง่เสถียรภาพทางการเมือง
โครงสร้างพื้นฐานที่ดีเยี่ยมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
บุคลากรที่มีทักษะในด้านนี้

- กฎระเบียบที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในด้าน BCP ระหว่างประเทศ
เป็นต้นว่า หน่วยงานราชการของสิงคโปร์มีบริการ Pass Scheme for Business
Continuity Operations
ซึ่งอนุญาตให้บริษัทสิงคโปร์สามารถนำผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาในประเทศ
เพื่อทำงานได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องดำเนินการตามแผน BCP

สำหรับ Monetary Authority of Singapore
ซึ่งเป็นหน่วยราชการด้านสถาบันการเงินของสิงคโปร์
ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการ BCP ของสมาคมธนาคารสิงคโปร์ (Association of
Banks in Singapore - ABS) ในการจัดทำแผน BCP
และประสานงานในการซักซ้อมตามแผน โดยสมมติเหตุการณ์ต่างๆ เป็นต้นว่า ปี
2549 ได้สมมติเหตุการณ์จำลองที่ผู้ก่อการร้ายได้วางระเบิด 5 ลูก
ที่ย่านธุรกิจการเงินของสิงคโปร์ โดยมีบุคลากรมากถึง 1,000 คน
ร่วมฝึกซ้อม ทั้งนี้ ในช่วงต่อมาได้จัดทำแผน BCP
และทำการฝึกซ้อมโดยจำลองสถานการณ์อื่นๆ เป็นการเพิ่มเติม เช่น
การระบาดของไข้หวัดนก

มาเลเซีย ได้มีการส่งเสริมการจัดทำแผน BCP ในหน่วยงานต่างๆ
เป็นต้นว่า บริษัท Malaysia Airports Holdings
ซึ่งเป็นเจ้าของท่าอากาศยานในมาเลเซีย ได้จัดทำแผน BCP
ในส่วนท่าอากาศยานนานาชาติของกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีกิจกรรมต่างๆ
เป็นต้นว่า การฝึกเพื่อซักซ้อมแผนเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 เป็นเวลา 4
ชั่วโมง เกี่ยวกับเหตุการณ์จำลองหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้ต้องปิดอาคารผู้
โดยสารหลัก และเปลี่ยนไปใช้อาคารผู้โดยสารอีกแห่งหนึ่ง
เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการฝึกซ้อมถึง 600 คน

สำหรับในช่วงปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ผู้ประกอบธุรกิจลอจิสติกส์ได้พยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างสับสนอลหม่าน
เนื่องจากไม่มีการเตรียมแผนเพื่อรองรับปัญหามาก่อน
แม้จะประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเกิดปัญหาอย่างมาก
จำเป็นต้องมีการจัดทำแผน BCP
เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต เป็นต้นว่า

- การเปลี่ยนไปใช้บริการสนามบินอู่ตะเภาในการขนส่งทางอากาศ
แต่ประสบปัญหาว่าสนามบินอู่ตะเภาไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเครื่องบิน
ขนาดใหญ่ ดังนั้น ต้องใช้เครื่องบินขนส่งสินค้า (Freighter) ขนาดเล็ก
ระวางบรรทุก 20 ตัน ให้บริการ 2 - 3 เที่ยวบิน/วัน ดังนั้น
จากระวางบรรทุกที่จำกัด
ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ต่างชาติจึงสามารถให้บริการเฉพาะลูกค้าประจำเท่านั้น
ไม่รวมถึงลูกค้าทั่วไป

- ส่งออกไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ผ่านด่านสะเดา
ประสบปัญหาความล่าช้าของพิธีการศุลกากร
เนื่องจากไม่สามารถรองรับปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้นมากจากปกติ
ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดเป็นระยะทางยาวในขั้นตอนรอขนส่งผ่านด่าน
ส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง เป็นต้นว่า
เดิมส่งขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ใช้เวลา 11 ชั่วโมง
ตั้งแต่โรงงานจนถึงขึ้นเครื่องบิน
แต่การขนส่งทางรถบรรทุกไปยังท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์
จะใช้เวลาจนถึงขึ้นเครื่องบินยาวนานถึง 32 และ 48 ชั่วโมง ตามลำดับ

- การบินไทยยังมีข้อจำกัดในด้านกฎระเบียบ
ทำให้ไม่มีความคล่องตัวในการเช่าเครื่องบินขนส่งสินค้ามาให้บริการแก่ผู้
ประกอบธุรกิจเป็นการฉุกเฉิน เนื่องจากต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการ
ส่งผลให้บริษัทลอจิสติกส์ของต่างชาติซึ่งมีความคล่องตัวในทางธุรกิจมากกว่า
โดยเฉพาะบริษัท DHL สามารถแสวงหาช่องว่างทางธุรกิจและได้ลูกค้าจำนวนมาก

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงได้จัดประชุมหารือกับสมาคมนาย
จ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูงจากเหตุการณ์ปิดสนามบิน
เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ซึ่งปัญหาหนึ่งที่สมาชิกของสมาคมฯ ประสบ คือ
ผู้ซื้อจากต่างประเทศไม่มั่นใจต่อผู้ประกอบการในไทย

การประชุมหารือได้มีความเห็นร่วมกันว่าบริษัทในประเทศไทยจำเป็นต้อง
จัดทำแผน BCP เพื่อให้สามารถดำเนินการและจัดส่งผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนให้แก่ผู้สั่งซื้อได้
ตามปกติ ขณะเดียวกันรัฐบาลควรให้การสนับสนุน
โดยเฉพาะการจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในรายละเอียดเกี่ยวกับ
การดำเนินการ ในกรณีต่างๆ รวมถึงกรณีสนามบินหลัก คือ
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต้องหยุดให้บริการ จะต้องมีแผนสำรอง เป็นต้นว่า

- เปิดใช้สนามบินอู่ตะเภา สำหรับการโดยสารและการส่งสินค้า และหรือ

- เพิ่มบริการของสนามบินนครราชสีมาเพื่อรองรับการโดยสาร
การส่งสินค้า ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศและหรือ

- เพิ่มบริการของสนามบินนานาชาติอื่น เช่น สนามบินเชียงใหม่
สนามบินภูเก็ต เพื่อรองรับความต้องการทั้งการโดยสารและการส่งสินค้า
และหรือ

- เปิดช่องทางให้ใช้สนามบินของประเทศใกล้เคียง เช่น
สนามบินนานาชาติของประเทศลาว ปีนัง กัมพูชา กัวลาลัมเปอร์ หรือสิงคโปร์
โดยมีกระบวนการจัดการขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้ารวมทั้งบริการตรวจคนเข้าเมือง
และพิธีการศุลกากรรองรับอย่างเพียงพอบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ประชุมหารือเมื่อวันที่ 4
มีนาคม 2552 ก็ได้รับทราบถึงปัญหาข้างต้น
และมองเห็นวิกฤตเป็นโอกาสว่าประเทศไทยนับว่ามีสนามบินจำนวนมากกระจายอยู่ใน
ภูมิภาคต่างๆ ดังนั้น หากมีการจัดทำแผน BCP อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
การขนส่งทางอากาศของไทยนับว่ามีความยืดหยุ่นสูง
และเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในการชักจูงการลงทุน
พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ง
ชาติรับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยรับไปประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ต่อไป

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น