โดย คำนูณ สิทธิสมาน
เมื่อคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ท่านได้มีคำปราศรัยแรกที่จับใจมาก มี “วรรคทอง” อยู่ 3 วรรค วรรคที่หนึ่งว่าด้วยการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วรรคที่สองว่าด้วยการปฏิรูปการเมืองที่ท่านใช้ศัพท์ว่าการยุติการเมืองที่ ล้มเหลว
และวรรคที่สาม...คือประเด็นที่ผมจะอภิปรายในวุฒิสภาวันนี้ในวาระพิจารณางบประมาณกลางปี...
“งานการศึกษาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดของประเทศ...”
ผมจะตั้งคำถามว่ามัน “คุ้ม” หรือ “ไม่คุ้ม” กับการสานต่อและขยายนโยบายเรียนฟรี 12 ปีที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 และเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ปี 2546 ไปเป็นเรียนฟรี 15 ปี ทั้งขยายขอบเขตคำว่าฟรีให้กว้าง ขวางขึ้นเป็นฟรีหนังสือเรียนฟรีชุดนักเรียนและ ฯลฯ
ของฟรีนั้นดีครับ
แต่ต้องฟรีแล้วมีคุณภาพด้วย ไม่ใช่ฟรีแต่ชื่อ แท้จริงแล้วไม่ฟรี หรือฟรีอย่างขอไปทีไร้คุณภาพ
ของฟรีไม่มีในโลก!
นโยบายเรียนฟรี ไม่ว่าจะฟรีแค่ไหนอย่างไร ล้วนต้องใช้เงิน แล้วเงินจะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากภาษีอากรของประชาชน
ปัญหาคือนโยบายภาษีของบ้านเราสอดคล้องกับนโยบายเรียนฟรีนี้แล้วหรือยัง?
โดยองค์รวมแล้ว บ้านเราเก็บภาษีในอัตราต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกเจ้าตำรับรัฐ สวัสดิการทั้งหลาย แถมภาษีส่วนใหญ่ยังเป็นภาษีทางอ้อม ไม่ใช่ภาษีทางตรง พูดถึงภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินขึ้นมาคราใด ก็ถูกต่อต้านคัดค้านจนต้องถอยทัพไปโดยเร็ว ไม่เว้นแม้รัฐบาลชุดนี้ที่คุณอภิสิทธิ์ฯ ต้องตัดบทบอกว่ายังต้องศึกษากันอีกมาก
ฟัน ธงได้เลยว่านโยบายเรียนฟรีไม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ที่ระบบการจัดเก็บภาษีอากรยังต่ำอยู่ ส่งผลให้ระบบการเงินการคลังภาครัฐไม่สามารถสนับสนุนการจัดบริการการศึกษาได้ อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน
คุณอภิสิทธิ์ฯ - ที่ในชั้นต้นทราบว่าท่านตั้งใจจะมานั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการเองเลย - ควรจะทบทวนตั้งแต่ในระดับปรัชญาเลยว่า การสร้างความเสมอภาคในโอกาสและความเท่าเทียมกันในการได้รับบริการการศึกษา จากรัฐนั้น ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะต้องให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่รัฐควรจะเลือกให้กับกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสหรือเสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมมากกว่ากลุ่มคนที่มีฐานะปานกลางขึ้นไปจนถึงร่ำรวย
กลุ่มคนที่สามารถจะรับภาระได้ ควรจะมีส่วนร่วมรับภาระบ้าง
อันนี้...ตรงกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 พ.ศ. .... ของวุฒิสภา ที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษางบประมาณรายจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ คุณพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะ ในรายงานหน้า 12 เขียนไว้ว่า...
“ควรให้การสนับสนุนแก่นักเรียนตามฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน กล่าวคือ มุ่งเน้นให้การสนับสนุนแก่นักเรียนที่ยากจนมากกว่านักเรียนที่มีฐานะดี เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างแท้จริง ในกรณีที่รัฐบาลเห็นว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ ก็ควรหาทางแก้ไข เพื่อขจัดอุปสรรคในการขยายโอกาสทางการศึกษาต่อไป...”
อันที่จริงแล้ว นโยบายการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2 เป็นอะไรที่มากกว่าเรียนฟรี 12 ปีหรือ 15 ปี ฟรีเฉพาะค่าเล่าเรียนหรือฟรีทุกอย่าง
เป็นเรื่องที่ควรจะศึกษาควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำ!
อัดฉีดเงินเข้าระบบครั้งนี้ไม่เป็นไรหรอกหากเป็นแค่แก้ปัญหาเฉพาะ หน้า แต่อย่าเพิ่งพ่วงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2 เลย
เพราะมันจะยิ่งเป็น “ดาบสองคม” ที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวอย่างยากจะแก้ไข ทับถมปัญหาในระบบการศึกษาที่ยากจะแก้ไขอยู่แล้วให้มีความยุ่งยากและสลับซับ ซ้อนขึ้นไปอีก
พูดง่ายๆ ว่าซ้ำเติมความผิดพลาดเดิม!
แล้วปัญหาในระบบการศึกษาที่ยากจะแก้ไขอยู่แล้วล่ะมีอะไรบ้าง?
ผมไม่ได้อยู่ในคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา แต่สนใจอย่างยิ่งโดยส่วนตัวมาโดยตลอด ในฐานะพ่อลูกสองวัย 11 และ 9 ปี อายุเท่าๆ กับช่วงเวลาของการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 1 และประสบพบเห็นปัญหามาพอสมควร ทั้งกับตัวเองและภรรยา และกับเพื่อนผู้ปกครองคนอื่น ผมเห็นว่ามีอยู่ 6 ประเด็นใหญ่ๆ ด้วยกัน
1. เรียนฟรีที่ไม่ฟรีจริง
2. แป๊ะเจี๊ยะไร้ขอบเขตจำกัด
3. ระบบแพ้คัดออกสุดลิ่มทิ่มประตู
4. ครูด้อยคุณภาพ
5. แบ่งชั้นวรรณะในรั้วเดียวกัน
6. ไล่กวดวิชาเท่าไรไม่ทันเสียที
ข้อ 1 ข้อ 2 ไม่ต้องพูดอะไรมากนะครับ แต่อยากให้มองสาเหตุว่าเพราะโรงเรียนได้รับค่าใช้จ่ายจากรัฐไม่พอที่จะ จัดการศึกษาให้ได้อย่างมีคุณภาพประการหนึ่ง จึงต้องหาทางเก็บเพิ่มในรูปแบบต่างๆ และผู้ปกครองเองไม่เชื่อในมาตรฐานของการศึกษาฟรีที่มีอยู่ จึงดิ้นรนที่จะจ่ายเพิ่ม
ข้อ 3 นี่น่ากลัวมาก และควรพิจารณาควบคู่กับข้อ 5 และข้อ 6 ที่สำคัญมากเช่นกัน แต่ผมไม่มีเนื้อที่พอจะพูดตรงนี้ ถ้าเป็นไปได้ ขอให้ติดตามการอภิปรายในวุฒิสภาดูนะครับ
โครงสร้างการศึกษาในบ้านเราให้ความสำคัญเรื่องการแข่งขันเพื่อมุ่ง เข้าสู่การศึกษาสูงสุดในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งที่ความสำคัญของช่วงชีวิตมนุษย์ที่ควรจะได้รับการเรียนรู้และส่งเสริม ศักยภาพของสมองมากที่สุดคือช่วงวัย 0 - 6 ปี แม้พ่อแม่ยุคปัจจุบันส่วนหนึ่งจะมีความเข้าใจในเรื่องการศึกษามากขึ้น เห็นความสำคัญในช่วงปฐมวัยมากขึ้น บางคนให้ลูกได้เตรียมความพร้อม โดยเลือกโรงเรียนแนวเตรียมความพร้อมให้ลูก แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก็เข้าสู่ระบบแพ้คัดออก โดยใช้การสอบแข่งขันอยู่ดี
ท้ายสุด พ่อแม่ก็ไม่สามารถต้านกระแสการแข่งขันในรูปแบบนี้ได้ ก็ต้องผลักลูกเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขันจนได้
ที่น่าประหลาดใจ ก็คือ เมื่อเด็กที่ถูกเคี่ยวกร่ำอย่างหนักมาตลอดชีวิตเพื่อการสอบแข่งขันทุกระดับ จนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของรัฐได้แล้ว เกิดอะไรขึ้น
คน หนุ่มสาวที่ชนะในระบบแข่งขันกลับเริ่มปล่อยปละละเลยความเข้มทางวิชาการ หันไปให้ความสนใจกับชีวิตในด้านอื่น บางคนที่เคยเคร่งกับการสอบมาตลอดชีวิตก็ปล่อยตัวปล่อยใจสุดฤทธิ์ในช่วงนี้
หนุ่มสาวบางคนหลงแสงสีและเสียผู้เสียคนในช่วงนี้
คร่ำเคร่งมาตั้งแต่ประถม – หรือบางทีตั้งแต่อนุบาล – เพื่อจะมา “ปล่อยผี” ในระดับปริญญาตรี
ทำให้คุณภาพของ “บัณฑิต” ในยุคนี้ตกต่ำมากเมื่อเทียบกับยุค 30 ปีก่อนขึ้นไป
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000020299
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น