Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2551
ระวัง กินปูดอง ท้องร่วง
ถ้าจะกล่าวถึงส้มตำแล้ว หลายๆคนคงชอบรับประทานอาหาร "ส้มตำปู" นอกจากกลิ่นหอมชวนน้ำลายแล้ว รสชาติของปูยังช่วยเสริมความจัดจ้านให้กับส้มตำอีกด้วย ปูที่ใช้กับส้มตำส่วนใหญ่จะเป็นปูนา ซึ่งเป็นปูน้ำจืด อาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มทั่วไป คนไทยมักนิยมนำปูนามาทำเป็นปูเค็มหรือปูดอง และนอกจากจะนำมาใส่กับส้มตำแล้ว ยังนิยมนำมายำกับมะม่วงอีกด้วย แต่ทว่า อาหารที่ทำจากปูนาทั้งหลาย มักจะมีจุลินทรีย์แฝงมาด้วย...
เนื่องจากเมื่อนำปูเค็มหรือปูดองมาปรุงเป็นอาหาร มักจะไม่ผ่านความร้อนหรือทำให้สุกเสียก่อน จุลินทรีย์ส่วนใหญ่ที่ปนเปื้อนมากับปูนานั้น จะเป็นจุลินทรีย์ที่มาจากน้ำ ดิน หรือบริเวณหน้าดินที่ปูอาศัยอยู่ หรือบางครั้งอาจติดมากับคนจับปูก็เป็นได้ เชื้อจุลินทรีย์ที่ว่า ได้แก่ คลอสทริเดียม เปอร์ฟริงเจนส์ และโคลิฟอร์ม คลอสทริเดียม เปอร์ฟริงเจนส์ เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง และกระเพาะอาหารอักเสบ อาการจะแสดงหลังจากได้รับเชื้อแล้วมาประมาณ 8-14 ชั่วโมง จะมีอาการปวดท้องกะทันหัน ท้องร่วง มีแก๊ส เป็นไข้ อาเจียน บางครั้งอาจทำให้เสียชีวิตได้ วิธีป้องกันเจ้าเชื้อชนิดนี้ ทำได้โดยต้องอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง สำหรับเจ้าเชื้อโคลิฟอร์มนั้น จะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่า สุขลักษณะในการผลิตอาหารนั้น เป็นอย่างไร แต่...จะไม่เป็นอันตรายทั้งในคนและสัตว์ หากพบเจ้าจุลินทรีย์ชนิดนี้ แสดงว่าอาหารชนิดนั้นๆ อาจมีเชื้อโรคทางเดินอาหาร ปนเปื้อนอยู่อย่างแน่นอน วันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างปูดอง จำนวน 3 ตัวอย่าง จาก 3 ย่านการค้า เพื่อวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของคลอสทริเดียม เปอร์ฟริงเจนส์ และโคลิฟอร์ม ปรากฏว่า มีอยู่ 2 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของคลอสทริเดียม เปอร์ฟริงเจนส์ เห็นเช่นนี้แล้ว หากจะกินปูดอง คงต้องระมัดระวังกันสักนิด เลือกที่นึ่งแล้ว! เพื่อความปลอดภัย....
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น