++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2550

การให้อภัยเชิงสร้างสรรค์


อาตมาได้ยินโยมพูดนะว่า การให้อภัยจะได้ผลก็แต่ในวัดเท่านั้น ในชีวิตจริงหากเราให้อภัยแบบนั้น เราก็มีแต่จะโดนเอาเปรียบ คนอื่นๆจะกระทืบเรา พวกเขาจะคิดแต่ว่าเราน่ะอ่อนแอ

อ าตมาเห็นด้วย การให้อภัยเช่นนั้นยากที่จะได้ผล ดังคำกล่าวที่ว่า ‘ผู้ที่หันแก้มอีกข้าง (ให้เขาตบ) จะต้องลงเอยด้วยการไปหาหมอฟันถึงสองครั้ง แทนที่จะไปแค่ครั้งเดียว!’

ส ิ่งที่อาตมาจะพูดต่อไปคือ ‘การให้อภัยเชิงสร้างสรรค์’… คำว่า‘สร้างสรรค์’ หมายถึงการเสริมสร้างสิ่งที่ดีงามที่เราต้องการให้มีให้เป็น... ‘การให้อภัย’ หมายถึง การละสิ่งไม่ดีที่เป็นส่วนของปัญหาทิ้งไปเสีย ไม่ยึดมันไว้ แล้วก้าวต่อไป...

ยกตัวอย่างเรื่องในสวน การรดน้ำเฉพาะวัชพืช เปรียบเสมือนการเพาะเลี้ยงปัญหาให้เจริญเติบโต... การไม่รดน้ำเลย เปรียบเสมือนการให้อภัยเฉยๆ... ส่วนการรดน้ำเฉพาะดอกไม้โดยไม่รดน้ำวัชพืช เป็นสัญญลักษณ์ของ ‘การให้อภัยเชิงสร้างสรรค์’

เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว หลังจากที่อาตมาเทศน์จบลงในคืนวันศุกร์ที่เมืองเพิร์ธ ผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามาคุยกับอาตมา เธอผู้นี้มาฟังอาตมาเทศน์ประจำเป็นเวลานานมากเท่าที่อาตมาจะสามารถจำได้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เธอเข้ามาพูดกับอาตมา เธอบอกว่า เธอต้องการจะขอบคุณอย่างมากๆ ไม่เฉพาะแต่อาตมาเท่านั้น แต่กับพระทุกๆรูปที่เคยเทศน์ที่ศูนย์ของเรา แล้วเธอก็อธิบายว่าเพราะเหตุใด เธอเริ่มมาที่ศูนย์ของเราเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว เธอสารภาพว่า ในตอนนั้นเธอไม่ได้สนใจอะไรนักในพระพุทธศาสนา หรือแม้แต่การปฏิบัติภาวนา เหตุผลสำคัญที่เธอเช้ามาร่วมกับเรานั้น เพียงเพื่อใช้เป็นข้ออ้างที่เธอจะได้ออกจากบ้านเท่านั้น...

สามี ของเธอชอบใช้กำลังรุนแรง และเธอก็ตกเป็นเหยื่อการประทุษร้ายภายในครอบครัวที่น่ากลัวนี้ ในสมัยนั้นยังไม่มีองค์กรใดๆที่จะให้ความช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ ในสภาวะเช่นกาต้มน้ำที่กำลังเดือดพล่านไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เธอไม่สามารถจะเห็นชัดพอที่จะเดินออกไปจากสภาพที่เป็นอยู่ตลอดกาล เธอจึงได้แต่มาที่ศูนย์พุทธของเราด้วยความคิดแค่ว่า ‘เวลาสองชั่วโมงที่ศูนย์นี้คือ เวลาสองชั่วโมงที่เธอจะรอดพ้นจากการถูกทุบตี’

สิ่งที่เธอได้ฟังจ ากศูนย์ของเราได้เปลี่ยนชีวิตของเธอ เธอฟังพระท่านบรรยายเรื่องการให้อภัยเชิงสร้างสรรค์ เธอจึงตัดสินใจที่จะทดลองกับสามีของเธอ เธอเล่าให้อาตมาฟังว่า ทุกๆครั้งที่เขาตีเธอ เธอได้ให้อภัยเขาและปล่อยวาง เธอทำเช่นนั้นได้อย่างไร มีแต่เธอเองเท่านั้นที่จะรู้ และเมื่อใดที่สามีของเธอทำอะไรหรือพูดอะไรที่แสดงน้ำใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เธอจะกอดเขาหรือจูบเขา หรือแสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เขาได้รู้ว่า.. ความมีน้ำใจนั้นมีความหมายต่อเธอมากเพียงใด... เธอสำนึกในคุณค่าของมันเสมอ

เธอถอนหายใจแล้วจึงเล่าต่อ... เธอต้องใช้เวลายาวนานถึงเจ็ดปี... เมื่อพูดถึงตรงนี้ ดวงตาของเธอก็เปียกชุ่มไปด้วยน้ำตา เช่นเดียวกับดวงตาของอาตมา... เธอบอกว่า “เจ็ดปีที่แสนยาวนาน บัดนี้ท่านจะจำชายคนนั้นไม่ได้เลย เขาได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ เดี๋ยวนี้เราจะมีความรักความผูกพันที่มีค่ายิ่งต่อกัน และมีลูกที่น่ารักมากสองคน” สีหน้าของเธอแวววาวด้วยประกายสดใสของผู้มีใจบริสุทธิ์ อาตมารู้สึกอยากจะคุกเข่าคารวะเธอ เธอหยุดอาตมาไว้ด้วยการพูดต่อว่า “ท่านเห็นม้านั่งตัวนั้นไหมคะ? อาทิตย์นี้เขาต่อเก้าอี้ไม้ตัวนั้นไว้ให้ดิฉันนั่งสมาธิเพื่อจะ’เซอร์ไพรซ์’ ดิฉัน... นี่ถ้าเป็นเมื่อเจ็ดปีก่อนล่ะก็ เขาก็คงได้แต่ใช้มันทุ่มใส่ดิฉันเท่านั้นเอง” ก้อนสะอื้นในลำคอของอาตมาถูกกลืนหายไป เมื่ออาตมาหัวเราะไปกับเธอผู้นั้น...

อาตมาชื่นชมผู้หญิงคนนั้น เธอหาความสุขได้ด้วยตัวเธอเอง ซึ่งอาตมาสามารถบอกได้จากความสดใสบนหน้าของเธอว่า ความสุขนั้นมากมายทีเดียว และเธอก็ได้เปลี่ยนคนร้ายๆที่น่ากลัว มาเป็นชายที่มีไมตรีจิต เธอได้ช่วยคนๆหนึ่งด้วยความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

น ี่เป็นตัวอย่างสุดโต่งเรื่องหนึ่งของการให้อภัยเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งขอแนะนำเฉพาะผู้ที่จะมุ่งหน้าสู่ความเป็นอรหันต์ อย่างไรก็ตาม มันแสดงให้เห็นถึงผลที่จะได้รับจากการให้อภัยที่ทำพร้อมกับการให้กำลังใจในค วามถูกต้องดีงาม

*************************************

chuanmuanchaen.jpg
จาก หนังสือ “ชวนม่วนชื่น” ธรรมะบันเทิงหลายเรื่องเล่า
ผู้นิพนธ์: พระอาจารย์พรหม หรือท่านอาจารย์พรหมวงฺโส
ต้นฉบับหนังสือ: Opening The Door of Your Heart
ผู้แปล: ศรีวรา อิสสระ
ผู้ตรวจสอบการแปล: ท่านอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ
หากท่านใดประสงค์จะพิมพ์แจกเป็นธรรมทาน โปรดติดต่อโรงเรียนทอสี โทร. 02-713 3674

http://www.thawsischool.com/

ขอขอบพระคุณ ...




9

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น