จรัส สุวรรณเวลา
ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารวิธีวิทยาการวิจัย
ฉบับพิเศษ, 2533, 1-10
ในสาขามนุษยวิทยาซึ่งต้องในเพียงการสังเกตและบันทึกเท่านั้นก็เป็นการวิจัย ได้ ส่วนในสาขาประวัติศาสตร์การรวบรวมการศึกษาจากเอกสารก็ต้องนับเป็นการวิจัย กระบวนการวิจัยยังเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เมื่อเทคนิควิธีได้พัฒนาขึ้น วิธีการเดิมที่เคยยอมรับใช้อยู่ก็กลับไม่เพียงพอ วิทยาศาสตร์ในสมัยกรีกใช้วิธีการสังเกตและเปรียบเทียบประกอบกับตรรกวิทยาจน ภายหลังกาลิเลโอจึงเกิดการทดลองขึ้น การวิจัยทางคลินิคทางการแพทย์แต่เดิมใช้การสังเกต บันทึก และวิเคราะห์ก็เพียงพอ ในปัจจุบันนี้กาพิสูจน์ผลการรักษาต้องใช้การทดลองที่มีกลุ่มควบคุมด วยจึงจะเป็นที่ยอมรับ การวิจัยจึงประกอบด้วยความหลากหลายทั้งในแง่เป้าหมายและวิธีการ
ความหลากหลายของการวิจัย
ในเชิงเป้าหมาย การวิจัยอาจแยกได้เป็นอย่างน้อย 3 ระดับ ตามการใช้ผล ได้แก่
ก. การวิจัยเพื่อทราบข้อเท็จจริง มุ่งที่จะให้เข้าใจธรรมชาติในเรื่องนั้นๆ ทั้งเพื่อสนองความแยากรู้อยากเห็นของมนุษย์และเพื่อไปใช้ประโยชน์ อาจเป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจสภาพของกรณีเฉพาะแต่ละกรณี หรือหลายๆกรณี เพื่อหาข้อเท็จจริงร่วมหรือเกณฑ์ของธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานของกรณีนั้นๆ อาจเป็นการศึกษาองค์ประกอบต่างๆ ของกรณีนั้น ตลอดจนความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเหล่านั้นซึ่งกันและกัน และกับกรณีรวม ความสัมพันธ์อาจเป็นลักษณะเหตุและผลก็ได้ ในบางเรื่อง หรืออาจกำหนดคุณค่าก็ได้
ข. การวิจัยเพื่อพยากรณ์ การเข้าใจธรรมชาติ หรือมีข้อเท็จจริงของธรรมชาติทำให้มนุษย์สามารถกะล่วงหน้าได้ว่าอะไรจะเกิด ขึ้น ในสภาพอย่างหนึ่ง ต่อไปจะเป็นอย่างไร หรือหากทำอย่างหนึ่งจะเกิดผลอย่างไรตามมาจะเห็นได้ว่ามีมิติของเวลาเข้ามา ด้วย การเข้าใจความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆช่วยในการพยากรณ์ในบางกรณี แต่ส่วนใหญ่แล้วการเข้าใจถึงแนวโน้มที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ทำให้สามารถคาดคะเนแนวโน้มในอนาคตได้
ค. การวิจัยเพื่อควบคุมธรรมชาติ มนุษย์มีความสามารถพิเศษ ที่อาจดัดแปลงปรับเปลี่ยนธรรมชาติให้เป็นประโยชน์กับตนก็ได้ ความเข้าใจธรรมชาติและสามารถพยากรณ์ได้ โดยเฉพาะกรณีที่แม่นยำพอเป็นความรู้ที่ได้มาจากการทดลองแล้ว ย่อมสามารถทำให้กำหนดการกระทำของตนเพื่อให้เกิดผลตามที่ต้องการได้ การกระทำที่ไม่มีเหตุผล เกิดจากความเชื่อ หรือแรงดลใจ อาจได้ผลดีหรือไม่ดีก็ได้ แล้วแต่โชค แต่การกระทำที่ตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง และสมเหตุสมผลย่อมมีโอกาสที่จะเกิดผลตามที่ต้องการได้มากกว่า ความก้าวหน้าทางเกษตรกรรมก็ดี อุตสาหกรรมหรือบริการและความเป็นอยู่ก็ดีที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นผลจากการศึกษาในระดับนี้ ที่ทำให้มีความรู้พอที่จะควบคุมนำธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์
ในเชิงกระบวนวิธีการ การวิจัยก็มีความลึกซึ้ง และสลับซับซ้อนแตกต่างกันพอแยกแยะได้ดังนี้
1. การวิจัยระดับบุกเบิกหรือสร้างแนวคิด เป็นการศึกษาธรรมชาติเพียงผิวเผินทำให้เกิดแนวคิดเบื้องต้นว่า ธรรมชาติอาจจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นเช่นนั้นมากน้อยเพียงไร จะเป็นข้อเท็จจริงที่มีความจริงอยู่มากน้อยเพียงไรก็ยังไม่แน่
การศึกษาเฉพาะกรณีเช่น ในคนหนึ่งสภาพหนึ่งด้วยการสังเกต และบันทึกไว้ตามที่ได้พบเห็นจัดเข้าอยู่ในระดับนี้ ในบางกรณีเป็นการพบเห็นสิ่งใหม่ๆ แปลกๆก็บันทึกไว้กรณีเช่นนั้นก็เกิดขึ้นได้
การศึกษาข้อมูลทุติยภูมิ จากการสังเกตและบันทึก หรือจากประสบการณ์ของผู้อื่นก็มีความไม่แม่นยำอยู่ได้ อาจจัดเข้าไว้ในระดับนี้
แม้การศึกษาในหลายกรณี แต่เป็นปัญหาที่กว้างขวางมาก ศึกษามาได้เพียงแง่เล็กแง่น้อยด้านเดียว ไม่สามารถเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงได้ ก็ถือว่าอยู่ในระดับนี้ได้
การวิจัยในระดับนี้ บางกรณีก็เป็นประโยชน์ได้มาก เพราะทำให้เกิดแนวคิดหรือข้อสงสัยใหม่ที่จะต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ในบางโครงการที่จะมีการศึกษาอย่างกว้างขวาง อาจต้องทำการศึกษานำอย่างนี้ก่อนเป็นโครงการนำร่อง เพื่อให้สามารถวางรูปแบบการศึกษาในโครงการใหญ่ที่สลับซับซ้อนได้
2. การวิจัยระดับบรรยาย เป็นการวิจัยที่ใช้การสังเกตและการวัด เพื่อสร้างความเข้าใจธรรมชาติ ผู้วิจัยจำเป็นต้องกำหนดว่าจะสังเกตหรือวัดอะไร ข้อกำหนดประชากรจึงมีความสำคัญหากไม่ได้ศึกษาประชากรทั้งหมดเอาเพียงตัว อย่างมาศึกษาก็ต้องกำหนดการได้ตัวอย่างมาให้ดีเพื่อให้ผลการวิจัยเป็นการ บรรยายถึงธรรมชาติของสิ่งที่ต้องการศึกษานั้น การวัดก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน จึงจะแปลความหมายได้ถูกต้อง หากมีข้อมูลจำนวนมาก อาจใช้วิธีการทางสถิติเชิงบรรยายช่วยด้วย หรือในบางกรณีที่มีข้อมูลในองค์ประกอบต่างๆ ที่สัมพันธ์กันอาจใช้วิธีการหาสหสัมพันธ์ทางสถิติเข้าช่วย
การศึกษาเชิงบรรยายนี้ อาจกระทำเป็นเฉพาะเวลาที่เรียกว่า การศึกษาแบบตัดขวาง (เวลา) หรือเป็นการศึกษาด้วยการเก็บข้อมูลตลอดระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นการมองย้อนหลัง เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต หรือติดตามเฝ้าดูเก็บข้อมูลไปในอนาคต ช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือเป็นช่วงๆก็ได้
3. การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ ในการวิจัยเชิงบรรยายนั้น ตัวแปรต่างๆจะเกิดขึ้นมากและมีผลกระทบต่อกันและกัน ยากที่จะแน่ใจได้ว่าความสัมพันธ์จริงๆเป็นเช่นไร หรือกฏเกณฑ์ของธรรมชาติที่ครอบคลุมความสัมพันธ์นั้นเป็นอย่างไร การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์จึงเป็นกระบวนการวิจัยที่มีสมมติฐาน มุ่งหาความสัมพันธ์เฉพาะเรื่อง จะต้องมีการกำหนดกลุ่มเพื่อเปรียบเทียบกันตามสมมติฐานที่ต้องการศึกษา กำหนดแบ่งธรรมชาติเป็นตัวแปรที่ต้องการศึกษา และตัวคงที่ ซึ่งไม่ต้องการศึกษาและไม่ต้องการให้มามีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ต้องการ ศึกษา การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มที่มีตัวแปรต้องเฝ้าดูอย่างดีตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมซึ่งไม่มีตัวแปรนั้น ทั้งนี้อาจเป็นการเก็บข้อมูลโดยมองย้อนหลังไปในอดีตก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะต้องเป็นการเฝ้าดูไปในอนาคตระยะหนึ่ง
เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็ต้องนำมาวิเคราะห์ทางสถิติ หาสหสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ เพื่อเป็นการยืนยันหรือหักล้าง สมมติฐานที่ตั้งไว้แต่ต้น
4. การวิจัยเชิงทดลอง เป็นกระบวนการที่ผู้วิจัยเข้าไปทำการเปลี่ยนธรรมชาตในด้านหนึ่งที่ต้องการ ศึกษา แล้วดูผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนนั้น เกิดเป็นตัวแปรต้น กับตัวแปรตาม การทดลองนี้เป็นวิธีการใหม่ที่เกิดขึ้นในทางวิทยาศาสตร์ไม่กี่ร้อยปีหลังนี้ เองนับตั้งแต่กาลิเลโอทดลองเรื่องอัตราเร่งของการตกสู่พื้นดินของของหนัก เร็วกว่าของเบา ปรากฏการณ์หลายอย่างก็คล้ายกับว่าจะยืนยันอย่างนั้น ใบไม้ย่อมหล่นลงมาช้ากว่าผลไม้ แต่จากการทดลองของกาลิเลโอที่ใช้ลูกปืนขนาดต่างกันทิ้งลงมาจากหอเอนปิซาแล้ว ปรากฏว่าตกถึงพื้นดินพร้อมกัน อัตราเร่งจึงเท่ากัน ไม่ว่าน้ำหนักจะเป็นเช่นไร ที่เห็นว่าใบไม้ตกช้ากว่าผลไม้เป็นจากความต้านทานของอากาศไม่ใช่จากอัตราการ ตก เห็นได้ชัดว่าการทดลองทำให้เข้าใจธรรมชาติได้ถูกต้องแม่นยำกว่าการสังเกต หรือการหาความสัมพันธ์
โดยที่ธรรมชาติเองก็ไม่ได้หยุดนิ่งคงเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาด้วย กาวรวิจัยเชิงืทดลองจึงเป็นปัญหาที่จะต้องแน่ใจว่าผลที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการกระทำที่ผู้วิจัยมุ่งทดลองไม่ใช่จากสิ่งอื่นที่มาทำให้สับสน หรือหลงผิด จีงได้เกิดวิธีการหรือรูปแบบการทดลองมากมายหลายอย่างล้วนมุ่งที่จะลดอคติและ สิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งลวงที่เข้ามาในการทดลอง
การทดลองที่ดีจึงมีความแม่นยำในการศึกษาธรรมชาติ สามารถบอกได้ถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆได้ชัดเจน โดยเฉพาะในแง่สิ่งหนึ่ง แต่ในการทดลองเราจำเป็นต้องเข้าไปกระทำในธรรมชาติ ย่อมมีผลผิดธรรมชาติไปบ้าง เช่น การเข้าไปศึกษาในหมู่บ้านนั้น ผู้ศึกษาย่อมเป็นคนแปลกปลอมที่เข้าไปในหมู่บ้าน สถานการณ์ก็ไม่ใช่สถานการณ์จริงก่อนผู้ศึกษาหรือคนแปลกหน้าเข้าไป นอกจากนั้น ในการทดลองจำเป็นต้องกำกับให้มีตัวแปรต้นอยู่ตัวเดียว แล้วดูตัวแปรตาม ส่วนสิ่งอื่นๆในธรรมชาติต้องกำกับให้เป็นตังคงที่ อย่างน้อยก็ไม่เปลี่ยนแปรในขณะที่ทดลองนั้นกับสภาพต่างๆก็แปรเปลี่ยนไป สภาพที่มีตัวแปรต้นตัวเดียวจึงเป็นสภาพจำลองไม่ตรงกับธรรมชาติจริงๆ ผลการทดลองจึงมีข้อจำกัดหรือข้อแม้อยู่เสมอ ได้มีความพยายามที่จะสร้างรูปแบบการทดลองที่ให้มีตัวแปรได้ทีละหลายตัวเพื่อ ให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด แต่ก็ทำการทดลองได้ทีละไม่กี่ตัว มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการศึกษาวิจัยลักษณะบรรยายไปได้ การใช้คอมพิวเตอร์และวิธีการทางคณิตศาสตร์ช่วยในกรณีที่มีตัวแปรพร้อมๆกัน หลายตัว ทำให้ได้ข้อเท็จจริงใกล้ธรรมชาติมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า ทั้งเป้าหมายและวิธีการวิจัยมีความแตกต่างกันมาก การวิจัยจึงมีลักษณะหลากหลาย ยากที่จะหาลักษณะร่วมที่จะบ่งถึงหัวใจของการวิจัย แม้แต่ความเห็นเกี่ยวกับลักษณะที่จำเป็นสำหรับการวิจัยก็ยังแตกต่างกันอยู่ ในต่างสาขาวิชาและต่างบุคคล
หัวใจของการวิจัย
การเก็บข้อมูลด้วยวิธีการอันถูกต้องเชื่อถือได้ เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการวิจัยที่ขาดเสียมิได้ เพราะการวิจัยเป็นการหาข้อเท็จจริง หรือข้อความรู้จากธรรมชาติไม่ใช่การคิดเชิงปรัชญา แต่การรวบรวมข้อมูลอย่างเดียว เช่น การจัดทำทะเบียนหรือศูนย์สนเทศต่างๆ ก็ยังนับเป็นการวิจัยไม่ได้ การพิมพ์ข้อมูลดิบปริมาณมากๆ อาจจำเป็นในการรายงานผลการวิจัย เพื่อใช้ในอนาคต แต่จะไม่มีค่ามากนักถ้าเป็นเพียงข้อมูลดิบ
การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้แบบ หรือระบบที่เป็นมาตรฐาน เป็นเครื่องมือในการทำให้ข้อมูลที่มีจำนวนอยู่มาก เมื่ออยู่ในรูปที่พิจารณาได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ยังไม่เกิดเป็นความรู้ การจัดพิมพ์ตารางวิเคราะห์ข้อมูลนับเป็นสิบๆตาราง ก็อาจจะไม่มีค่านักหากตารางเหล่านั้นไม่สื่อความหมายที่แท้จริงของการวิจัย นั้น
การวิจัยจะต้องเป็นผลผลิตของสมองมนุษย์ที่ใช้ ข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมมาเป็นฐานทำการวิเคราะห์ด้วยวิจารณญาณและเหตุผลแล้ว สังเคราะห์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ จึงเกิดเป็นข้อสรุปที่เป็นความรู้
การที่อคิเมดิส ร้องคำว่า ยูเรคาเมื่อลงไปในอ่างอาบน้ำและทำให้เกิดความคิด พบข้อเท็จจริงของธรรมชาติเกี่ยวกับการวัดปริมาตรนั้น เป็นคำอุทานที่บ่งถึงความตื่นเต้นดีใจ ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ขึ้นในขณะนั้น
ความคิดสร้างสรรค์นี้มีส่วนคล้ายกับการผลิตของศิลปิน หรือสถาปนิกมาก ภาพวาดหรือรูป เป็นบทประพันธ์หรือบทเพลง ตลอดจนสถาปัตยกรรม ย่อมมีสุนทรียภาพในตนเอง การวิจัยก็มีสุนทรียภาพในส่วนที่เป็นความคิดสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน หากพิจารณาการวิจัยตั้งแต่ต้นตั้งแต่การหาหัวข้อปัญหาในการวิจัย การวางรูปแบบวิธีวิจัยและการจัดวิเคราะห์ข้อมูล ย่อมต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ทั้งสิ้น ยิ่งการสรุปเพื่อหาข้อเท็จจริงของธรรมชาติเป็นความรู้ใหม่ ตลอดจนการกำหนดกรอบที่กำกับข้อความรู้นั้น ย่อมจำเป็นต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์
การพิจารณาคุณค่าของงานวิจัย จะต้องพิจารณาถึงความถูกต้องเชื่อถือได้ ในกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลรวมทั้งรูปแบบการวิจัยและในการให้เหตุผล วิเคราะห์ข้อมูลอันนำไปสู่ข้อสรุป ตลอดจนความถูกต้องในการรายงานผลการวิจัย นอกจากนี้ส่วนที่สำคัญ คือ ความสวยงามของการวิจัยนั้น ซึ่งเป็นสุนทรียภาพในการศึกษา ความกว้างขวาง ลึกซึ้ง และกลมกล่อมของแนวความคิดสร้างสรรค์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น