++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เตือนนักดื่มระวัง !! เผลอกินเมธานอล อาจตายได้

ปลัด สธ.เตือนประชาชนชอบก๊งเหล้า ระวังเจอ “เมธานอล” แอลกอฮอล์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เผยพบยอดผู้รับพิษ 156 คน ตาย 28 เหตุเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “เอธานอล” ที่ผสมในเหล้า สำนักระบาด ชี้ กลุ่มนักดื่ม-ช่างทาสี, ช่างเช็ดกระจก เสี่ยงรับพิษสูง

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันนี้คนไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ดื่มสุราประมาณ 15 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงมาก คือ นักดื่มบางกลุ่มนำแอลกอฮอล์ที่มีชื่อว่า เมธานอล หรือ เมธิลแอลกอฮอล์ ที่ใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม ทั้งดื่มโดยตรงและผสมกับเครื่องดื่มอื่น เนื่องจากเข้าใจผิดว่า ดื่มได้เหมือนสุราทั่วไปที่มีส่วนผสมของเอธานอลแอลกอฮอล์ หรือ เอธิลแอลกอฮอล์ จึงทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ มีรายงานจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2549-2553 พบว่า มีคนไทยได้รับพิษจากการดื่มเมธานอล รวมทั้งหมด 156 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 28 คน ที่เหลืออีก 128 คน นอนโรงพยาบาล เหตุการณ์ที่พบครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค.พ.ศ.2552 ลูกเรือประมงไทยดื่มสุราที่ปนเปื้อนเมธานอล ขณะนำเรือเทียบท่าที่เกาะปาปวน ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เสียชีวิต 15 คน ป่วย 90 กว่าคน และในปลายปีเดียวกัน พบนักโทษชายเรือนจำธัญญบุรี จ.ปทุมธานี นำเมธานอลที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ มาผสมกับน้ำอัดลมดื่มแทนสุรา ทำให้เสียชีวิต 4 คน ป่วย 30 คน มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ชัก ไม่รู้สึกตัว

ด้านนพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า เมธานอลเป็นสารแอลกอฮอล์ที่สกัดจากไม้ มีลักษณะเป็นของเหลวใส มีกลิ่นเฉพาะตัว ระเหยได้ ติดไฟได้ นำมาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม เช่น ใช้ลอกสี สารทำละลายในน้ำหมึก น้ำยาเช็ดกระจก กาว เรซิน นิยมใช้ในอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกย้อมผ้า แอลกอฮอล์ชนิดนี้กินไม่ได้และมีราคาถูก โดยเมธานอลนี้ สามารถพบได้ในสุรากลั่นพื้นบ้าน หรือเหล้าต้ม ซึ่งชาวบ้านมักเรียกว่าเหล้าป่า และในสุราปลอม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เคยตรวจปริมาณสารระเหยในสุรากลั่นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2547 ตรวจ 28 ตัวอย่าง พบ 16 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 57 มีเมธานอลปนเปื้อนในปริมาณ 9.2-291.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนใหญ่เป็นสุราปลอมและสุรากลั่นพื้นบ้าน

นพ.ภาสกร กล่าวอีกว่า กลุ่ม ที่เสี่ยงต่อการได้รับพิษจากเมธานอลมี 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ชอบดื่มสุรา และ 2.กลุ่มที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้เมธานอล เช่น พนักงานเช็ดล้างกระจก ช่างทาสี ช่างลอกสี เป็นต้น ซึ่งอาจต้องสัมผัส หรือสูดดม ระหว่างการทำงาน การเกิดพิษมีทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง การได้รับพิษที่รุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราที่ปนเปื้อนสารเมธานอลเข้าไป อาการพิษจากเมธานอล จะปรากฏภายใน 1 ชั่วโมง - 3 วัน พิษจะมีผลโดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลางเหมือนกับเอธิลแอลกอฮอล์ ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเมธิลแอลกอฮอล์จะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นฟอร์มาลดีไฮด์ หรือ กรดฟอร์มิก (Formic Acid) เป็นพิษต่อตา อาจทำให้ตาบอดได้ โดยอาการที่ค่อนข้างจำเพาะ ได้แก่ พิษทางตา ผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่า ตามัว แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด มีอาการปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจหอบ ชักและหมดสติ

“หาก ได้รับในปริมาณมากกว่า 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม อาจเสียชีวิตได้ทันที โดยเฉพาะผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง จะปรากฏอาการเร็วและรุนแรงแม้ว่าได้รับเมธานอลในปริมาณน้อย ประมาณ 0.01 มิลลิกรัม/กิโลกรัม อาจเกิดพิษรุนแรง ทำให้ตาบอด หรือเสียชีวิตได้ง่ายกว่าคนทั่วไป แต่หากได้รับพิษโดยการสัมผัสอย่างเรื้อรัง จะทำให้เกิดโรคผิวหนัง ผิวหนังฝ่อ จากการที่ไขมันที่ผิวหนังลดลง ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับพิษเมธานอล ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป เพื่อลดการเกิดกรดฟอร์มิก และรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้ยาต้านพิษควบคู่กับการดูแลรักษาประคับประคองอาการ เมธานอลโดยทั่วไปจะถูกขับออกทางไต ซึ่งอาจต้องล้างไตช่วยเพื่อขจัดพิษอออกจากร่างกายโดยเร็วที่สุด” นพ.ภาสกร กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น