++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เงินท่วมประเทศ ต้นเหตุและผลกระทบ

โดย สุทธิพงษ์ ปรัชญพฤทธิ์


มีใครทราบบ้างช่วงนี้เงินท่วมประเทศไทย สภาพคล่องท่วมระบบมาไม่ต่ำกว่า 4-5 ปีแล้ว สิ่งผิดปกติ ทำให้เงินแห้งไปจากระบบได้ ก็ทำให้เงินท่วมระบบได้ สิ่ง ผิดปกติในระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้เกิดที่ประเทศไทยที่เดียว แต่เกิดในหลายประเทศ ในทุกภูมิภาคทั่วโลก เกิดที่ประเทศใด ภูมิภาคใดก็เป็นแบบเดียวกันทุกประการ

การสวมรอยปั่นหุ้น ทำให้ขึ้นแรงและตกแรง คือตัวการสำคัญที่นำความเสียหายมาสู่ตลาดหุ้น ทำให้สภาพคล่องเสียหาย ค่าเงินเสียหาย ทำให้ภาคการเงินและภาคการผลิตจริงล้มลงทั้งระบบ เกิดหนี้เสีย และเงินเฟ้อ ฯลฯ

ประเทศไทยต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟมาแล้วถึง 2 ครั้ง การเข้าโครงการไอเอ็มเอฟครั้งที่ 2 ทำความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าครั้งแรกมาก การนำระบบ Maintenance margin & Forced sell มาใช้ในตลาดหุ้นในเดือนตุลาคม 2536 ทำให้กองทุนโลก (World Fund) ทราบว่าจะทำกำไรจากตลาดหุ้นไทยได้แบบไหน อย่างไร ตลาดหุ้นถูกลากขึ้นเร็วและแรง และไปสูงสุดที่ต้นปี 2537 แล้วมีการทุบลงแรง มีการบังคับขายหุ้นนักลงทุนอย่างหนัก ก่อความเสียหายแก่นักลงทุนท้องถิ่นมาก

การที่ตลาดหุ้นพังทลายอย่างรุนแรงในปี 2537-2540 แสดงว่าค่าเงินบาทได้เสียหายด้วย แต่ที่ไม่เห็นว่าเสียหาย เพราะมีการผูกค่าเงินไว้ ซึ่งส่งผลให้บาทแข็งผิดจริง ทำ ให้มีการทำกำไร ขายบาทซื้อดอลลาร์ตลอดเวลา มีการหาบาทมาซื้อดอลลาร์จาก 2 ทาง คือจากการกู้ยืมบาท การขายหุ้นในตลาดหุ้นก็ทำให้ได้บาท ยิ่งซ้ำเติมให้หุ้นตกหนักยิ่งขึ้น กระทั่งกลางปี 2540 ทุนสำรองของประเทศไทยเหลือเพียง 1,440 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่ต้นปี 2539 ประเทศไทยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศประมาณ 38,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยยอมยกธงขาวต่อการปกป้องค่าเงินบาท ต้องลอยค่าเงินบาท และขอเข้ารับการช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540

ทันทีที่ลอยค่าเงินบาท เงินบาทได้ตกสู่ความเป็นจริงทันที และได้ตกไปต่ำสุดในต้นปี 2541 ที่ระดับ 56 บาท/ต่อเหรียญสหรัฐ

ปี 2540 เป็นปีที่สภาพคล่องทางการเงินเสียหายอย่างหนัก พบว่าดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล 1 วัน สูงกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เงินแห้งไปจากประเทศไทย

มาถึงเรื่องเงินท่วมระบบ ต้นเหตุและผลกระทบบ้าง

ประเทศจีนมีการผูกค่าเงินหยวนมานาน และประเทศมาเลเซียหลังจากลอยค่าเงินริงกิต ก็กลับไปผูกค่าเงินอีกครั้งในปี 1998 ..ปี 2000 ตลาดแนสแดกซ์พังทลายอย่างรุนแรง ทำให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐเสียหาย ไม่ได้รับความเชื่อมั่น ผู้คนเลิกถือครองเงินเหรียญสหรัฐ ไปถือเงินสกุลอื่นแทน พบว่าสกุลเงินต่างๆ ที่ไม่ได้ผูกค่าเงินไว้ ต่างแข็งค่าขึ้นทั่วหน้า ยกเว้นเงินหยวนและเงินริงกิต ที่ผูกค่าเงินไว้ตายตัว ทำให้เงินหยวนและเงินริงกิตอ่อนกว่าความเป็นจริง ทำให้มีการเข้ามาซื้อหยวนและริงกิตระหว่างปี 2001-2005 กระทั่งสภาพคล่องท่วมประเทศจีนและประเทศมาเลเซีย ทำให้ทุนสำรองของประเทศจีนสูงขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก และทำให้ทุนสำรองของมาเลเซียสูงกว่าประเทศไทย ถึง กลางปี 2005 ทั้งหยวนและริงกิตไม่สามารถยืนสถานะเดิมไว้ได้ ต้องปล่อยให้แข็งค่าขึ้นในที่สุด ระยะหลังจีนพยายามจะกลับไปผูกค่าเงินหยวนใหม่ แต่มาเลเซียเลิกคิดผูกค่าเงินริงกิต และปล่อยให้ริงกิตลอยตัว

มาถึงประเทศไทย พ.ศ.นี้บ้าง ซึ่งต้นเหตุการณ์เกิดปัญหาแตกต่างจากจีนและมาเลเซีย ประเทศไทยเริ่มเปิดตลาดอนุพันธ์ในปี 2547 ประเดิม ด้วยการเปิดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า(AFET) ปี 2549 เปิดซื้อขาย SET50 Index Futures (TFEX) ปี 2550 เปิดซื้อขาย SET50 Index Options ปี 2551 เปิดซื้อขาย Single Stock Futures ปี 2552 เปิดซื้อขาย Gold Futures

สินค้าในตลาดอนุพันธ์ คือการซื้อขายตัวเลข เช่น ตัวเลขของดัชนีหุ้น ตัวเลขของราคาหุ้น หรือตัวเลขของราคาทองคำ การซื้อขายเรียกว่าซื้อสัญญา การซื้อขายสินค้าในตลาดอนุพันธ์ต้องมีเงินประกัน 10 เปอร์เซ็นต์ของการซื้อขาย หากขาดทุนก็มีการเรียกเงินประกันเพิ่ม หากมีกำไรก็สามารถซื้อจำนวนสัญญาเพิ่มได้ กำไร-ขาดทุนในตลาดอนุพันธ์สูงกว่าตลาดหุ้นตามปกติ 10 เท่า สามารถทำกำไร-ขาดทุนได้ทั้ง 2 ขา ขาขึ้นก็ทำกำไร (ขาดทุน) ได้ ขาลงก็ทำกำไร(ขาดทุน)ได้

การเปิดตลาดอนุพันธ์จึงเป็นที่ถูกใจกองทุนโลก มันเป็นอาชีพของกองทุนโลกอยู่แล้ว นอกจากพวกเขาจะมีความชำนาญในเรื่องนี้แล้ว พวกเขายังเป็นผู้ควบคุมตลาดทุนตลาดเงินทั้งโลก พวกเขาจึงไม่มีทางขาดทุนในตลาดอนุพันธ์ เมื่อจะเอาตลาดจะขึ้นเขาก็ซื้อ (Long open) ก่อน และไปขายที่ราคาสูง (Long close) เมื่อจะเอาตลาดลงเขาก็จะขายก่อน (Short open) แล้วไปขายที่ราคาต่ำ (Short close) ตลาดขึ้นก็มีกำไร ตลาดตกก็มีกำไร เป็นที่มาของเงินไหลเข้ามาท่วมประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนลอยค่าเงินบาทกลางปี 2540 ประเทศไทยมีทุนสำรอง 38,500 ล้านเหรียญสหรัฐ วันที่ 9 กรกฎาคม 2553 ประเทศไทยมีทุนสำรองสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 160,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินท่วมประเทศไทย

การไหลเข้ามาของเงินทุนอย่างท่วมท้น ทำให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าสกุลเงินในภูมิภาค ทำให้ปริมาณเงินปล่อยกู้ไม่สัมพันธ์ปริมาณเงินในระบบ ทำ ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ระดับต่ำ และดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับสูง คนฝากเงินได้รายได้จากเงินฝากน้อย คนกู้เงินมีต้นทุนการกู้สูง ไม่เป็นผลดีทั้ง 2 ฝ่าย ปีที่แล้วส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.50 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้อยู่ที่ระดับ 5.5 เปอร์เซ็นต์

ทางการพยายามสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้าอย่างเต็มที่ วันที่ 19 ธันวาคม 2549 ออกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์เงินทุนไหลเข้า ก็ล้มเหลวในวันแรกที่นำมาตรการมาใช้ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ได้ออกมาตรการ 4 ข้อ ให้ มีการลงทุนเพิ่มในต่างประเทศ และให้ผู้ไม่มีถิ่นฐานในประเทศสามารถถือเงินตราต่างประเทศได้มากกว่าเดิม แต่เงินทุนไหลเข้าไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ทุนสำรองกลับสร้างสถิติสูงเป็นประวัติการณ์อีก

การนำเครื่องมือที่ไม่สมควรมาใช้ในระบบเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำ ทำความย่อยยับแก่ประเทศตลอด 35 ปีที่ผ่านมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น