++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บำนาญแห่งชาติ : เส้นทางชีวิตบั้นปลายที่ไม่เหลื่อมล้ำ

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 26 กรกฎาคม 2553 14:24 น.
หลายหลากชีวิตในสังคมไทยไม่เคยพบความสบายแม้เพียงช่วงเวลาเดียว
ด้วยนับแต่แรกเกิดถึงตายมีแต่ความแร้นแค้นขัดสนเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหาย
ทั้งๆ ช่วงชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมาจะทำมาหากินตัวเป็นเกลียวหนักเอาเบาสู้และ
มัธยัสถ์อดออมทุกสิ่งอย่างก็ตามที
หากแต่สุดท้ายก็ไร้เงินออมเพียงพอพยุงชีวิตบั้นปลายไม่ให้ลำบากยากแค้น
แม้นว่าปัจจุบันนี้จะมีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500
บาท/เดือนช่วยเหลือเจือจุนแล้ว
แต่ทว่าก็เป็นแนวทางของการสงเคราะห์มากกว่าบำนาญชราภาพ

ทั้งนี้ เงินครึ่งพันผันแปรไปได้ในความรู้สึกของผู้สูงอายุ
เพราะเมื่อปรับจากการเป็นเบี้ยสงเคราะห์ผู้สูงอายุมาเป็นบำนาญชราภาพขั้นต่ำ
เสียแล้ว ความภาคภูมิใจในการได้รับเงินจำนวนเดียวกันนี้ย่อมมีมากกว่า
มากกว่านั้นระบบบำนาญชราภาพที่ผู้สูงวัยมีส่วนร่วมเก็บหอมรอมริบก็จะทำให้
ตัวเองไม่รู้สึกว่าเป็นภาระรัฐบาลหรือสังคมมากเท่ากับแนวทางการแบมือขอรอรับ
เบี้ยยังชีพ

ความรู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมย่อมก่อเกิดในใจผู้รับมากกว่าผู้ให้ไม่ต้องสงสัย

หากกระนั้นความมั่นคงในชีวิตชราที่หาได้ในสังคมไทยในวันนี้ก็คงมี
เพียงหนึ่งเดียวคือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า
ทว่าเสถียรภาพของการเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าก็ไม่มั่นคงนัก
เพราะขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลแต่ละชุดเป็นหลัก
การส่งเสริมการออมเพื่อสร้างความมั่นคงบั้นปลายจึงเป็นแนวนโยบายที่สามารถ
ตอบสนองความต้องการระดับปัจเจกของผู้สูงอายุที่หวาดกลัวไม่มีรายได้เลี้ยง
ชีวิตในขณะที่ทำงานไม่ไหว และไม่อยากเป็นภาระหนักของครอบครัว
และระดับสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging society)
จากสัดส่วนผู้สูงอายุที่ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว

แต่ในขณะเดียวกันนั้น
ภาครัฐและข้าราชการที่มีระบบบำนาญรองรับยามแก่เฒ่ากลับกังวลว่าการมีระบบ
บำนาญชราภาพแห่งชาติสำหรับคนไทยทุกคนจะก่อภาระมหาศาลด้านการเงินการคลัง
ผูกพันกับงบประมาณในระยะยาวจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ความหวาดกลัววิตกกังวลทั้งระดับปัจเจกและรัฐจะเลวร้ายกว่านี้มากหาก
ไม่เร่งจัดการอย่างจริงใจในห้วงที่อัตราส่วนศักยภาพการเกื้อหนุน
(Potential support ratio) ยังคงมีจำนวนสูงอยู่ด้วยการสร้าง
'ระบบบำนาญชราภาพแห่งชาติ'
ขึ้นมาตามข้อเสนอเชิงวิชาการที่มีความเป็นไปได้ในเชิงการเงินการคลังของ
รัฐบาลโดยการมีส่วนร่วมออมของประชากรวัยแรงงานก่อนจะเกษียณ

ดังหนึ่งข้อเสนอเพื่อขจัดวิกฤตการณ์ผู้สูงอายุที่กำลังจะมาถึงของ
เครือข่ายนักวิชาการและมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)
ที่เสนอระบบบำนาญแห่งชาติที่มีบำนาญขั้นต่ำเดือนละ 500
บาทโดยวิธีเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทมาเป็นบำนาญขั้นต่ำ
ถ้าต้องการบำนาญมากกว่า 500 บาทก็ต้องออมเพิ่มโดยให้ผู้ที่อายุ 20
ปีขึ้นไปทุกคนสามารถออมขั้นต่ำ 100 บาท และรัฐร่วมสมทบ 50
บาทเหมือนกันทุกคน และถ้าออมตั้งแต่อายุ 20-60
ปีจะได้รับบำนาญเพิ่มจากบำนาญขั้นต่ำอีกประมาณ 1,000 บาท/เดือน
หรือคิดเป็นผลตอบแทนการลงทุนร้อยละ 4 โดยภาระต่อเงินงบประมาณปีแรก 20,000
ล้านบาทจะค่อยๆ ลดลงเพราะคนวัยแรงงานจะลดลง

ที่สำคัญข้อเสนอนี้นอกจากคำนึงถึงสวัสดิการทางสังคมที่จำเป็นด้วยการ
ให้เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ 12,000 บาทเมื่อผู้ออมเสียชีวิตแล้ว
ยังให้สิทธิผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเข้าร่วมออมได้ด้วย
เพราะผู้ประกันตนที่สมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมจำนวนเกินครึ่งเป็นคนทำ
งานที่ไม่มั่นคง 'เปลี่ยนงานเปลี่ยนอาชีพบ่อย'
ขนาดเรียกได้ว่าไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
เมื่อเกษียณอายุจึงไม่มีสิทธิรับบำนาญของประกันสังคม
คนกลุ่มนี้จึงเสี่ยงต่อการแก่อย่างยากจน
ถ้าไม่รวมไว้ในระบบบำนาญแห่งชาติจะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับอะไรเลยเมื่อ
หยุดทำงานตอนแก่

เส้น ทางลดทอนความเหลื่อมล้ำบั้นปลายชีวิตจึงหมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับ
ความคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมกรณีชราภาพที่มีการจ่ายสมทบของนายจ้าง
หรือรัฐบาล และแรงงานนอกระบบที่มีมากถึง 24 ล้านคนหรือร้อยละ 70
ของผู้มีงานทำทั่วประเทศได้เข้ามาอยู่ในร่มใหญ่ของระบบบำนาญชราภาพที่เป็น
เครื่องมือสร้างความมั่นคงของชีวิตชรา
เนื่องจากว่าระบบการออมเพื่อการชราภาพในปัจจุบันครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบ
ราว 14 ล้านคนหรือร้อยละ 30 ของผู้มีงานทำทั่วประเทศเท่านั้น
ระบบบำเหน็จบำนาญจึงเป็นต้นธารความเหลื่อมล้ำบั้นปลาย

ด้วยเหตุนี้
ข้อเสนอจัดตั้งระบบบำนาญชราภาพจึงไม่เพียงมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
หากยังสอดคล้องกับสภาพการณ์จริงของประเทศไทยที่ความมั่นคงของกองทุนบำนาญใน
ระบบประกันสังคมมีความเปราะบางเนื่องจากมีเงินไหลออกจากการจ่ายบำนาญมากกว่า
เงินที่เคยสะสมเอาไว้
และการใช้จ่ายเงินแบบกระเชอก้นรั่วของผู้บริหารกองทุน
รวมถึงรัฐก็ไม่เคยสมทบเงินเพื่อบำนาญของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเลย
โดยเงินส่วนที่รัฐสมทบนั้นใช้ในการจ่ายสวัสดิการประเภทเจ็บป่วย ทุพพลภาพ
ตาย คลอดบุตร ว่างงาน และสงเคราะห์บุตร ตามที่ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้วิเคราะห์ไว้

ไม่เท่านั้น
ดร.วรวรรณยังแนะแนวทางสร้างความเท่าเทียมที่รัฐให้โอกาสทุกคนออมและร่วมสมทบ
อย่างเสมอภาคกันภายใต้กฎกติกาเดียวกันนี้
ด้วยการชี้ว่าอาจผนวกข้าราชการเข้ามาในระบบบำนาญชราภาพนี้ด้วย
เพราะอนาคตระบบบำนาญข้าราชการก็อาจประสบปัญหาเช่นกันอันเนื่องมาจากภาระงบ
ประมาณมหาศาลในการจ่ายบำนาญข้าราชการในช่วงสังคมสูงอายุ

ทั้งนี้ มส.ผส.และเครือข่ายได้ร่าง
พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติที่มีหลักการบริหารจัดการและการกำกับตรวจสอบไว้เรียบ
ร้อยแล้ว รอเพียงแค่รัฐนำไปใช้ให้ประชาชนวางแผนชีวิตทางการเงิน

อีกหนึ่งข้อเสนอเป็นของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
ที่กำหนดให้ผู้ออมจ่ายสะสมขั้นต่ำ 100 บาท
และจ่ายสะสมเพิ่มได้อีกเดือนละ100-1,000 บาทตามความสมัครใจ
และรัฐจ่ายสมทบให้ตามอายุของผู้ออม
โดยอัตราเงินสะสมและเงินสมทบจะมีการปรับให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจด้วย
สำหรับผู้ที่ทุพพลภาพไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน
และยังคงได้รับสิทธิบางส่วนจากการที่รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้กึ่งหนึ่งของ
กรณีปกติ โดยผู้ที่ออมในระดับพื้นฐาน 100 บาท/เดือนตั้งแต่อายุ 20 ปี
และออมจนครบอายุ 60 ปี จะได้รับบำนาญตลอดชีพเดือนละประมาณ 1,710 บาท
รวมเบี้ยยังชีพอีก 500 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 2,210 บาท/เดือน

ตามข้อเสนอของ
สศค.รัฐบาลจะมีภาระจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในปีแรก
22,955 ล้านบาท 11,477 ล้านบาท และ 6,887 ล้านบาท
ในกรณีที่มีผู้เข้ากองทุนร้อยละ 100 ร้อยละ 50 และร้อยละ 30 ตามลำดับ
หรือคิดเป็นร้อยละ 0.27 ร้อยละ 0.14 และร้อยละ 0.08 ของ GDP ตามลำดับ
ทั้งนี้แม้แนวโน้มภาระการจ่ายเงินสมทบจะลดลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครง
สร้างประชากรที่มีสัดส่วนของวัยแรงงานลดลง
หากแต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่ได้ให้สิทธิการออมกับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม
ตลอดจนข้าราชการที่ปรารถนาจะเข้าร่วม

อีกทั้งเงื่อนไขในภาพรวมยังอำนวย
ดังผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่าประชาชนร้อยละ 82
ต้องการออมถ้ารัฐบาลมีนโยบายให้ออมเดือนละ 100 บาท รัฐสมทบให้ 50 บาท
เพื่อจะมีเงินบำนาญเดือนละ 700 บาทตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป
ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งออมได้ทุกเดือน

ดังนั้น 'หลักประกันความมั่นคงในอนาคต'
จึงต้องเปิดกว้างกับทุกคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างน้อยสุดประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มข้าราชการที่มีเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีระบบบำนาญเฉพาะของตน
และกลุ่มลูกจ้างเอกชนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ชราภาพจากกองทุนประกันสังคม
ก็จะต้องเข้าถึงช่องทางการอออมที่เป็นระบบโดยมีรัฐสมทบอย่างสมศักดิ์ศรี
ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดกว้างให้กลุ่มคนที่มีเงินบำนาญจากกองทุนต่างๆ
ข้างต้นเข้ามาร่วมกับกองทุนบำนาญชราภาพแห่งชาติได้เช่นเดียวกัน
โดยอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน

การ ออมเพื่อการชราภาพที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม
สร้างความเท่าเทียมเป็นธรรมเพื่อมาตรฐานการดำรงชีวิตบั้นปลายที่ดี
'ที่ไม่เหลื่อมล้ำ'
จึงต้องการระบบบำนาญแห่งชาติที่ทุกคนจะมีรายได้หลังเกษียณอย่างน้อยระดับ
พื้นฐานไม่ร่วงหล่นสู่ความยากจน

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น