++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บีโอไอ:สิงคโปร์กับความท้าทายในด้านธุรกิจรักษาพยาบาล

โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ 25 กรกฎาคม 2553 11:22 น.
ทีมงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ
ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยเศรษฐกิจการคลัง
ได้เดินทางไปศึกษาและดูงานเกี่ยวกับธุรกิจสถานพยาบาลของประเทศสิงคโปร์
เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจ
จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง

ประการแรก
ทั้งไทยและสิงคโปร์ต่างประกาศว่าจะเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรณีของรัฐบาลไทย ได้ประกาศที่จะเป็น "ศูนย์กลางการแพทย์ของทวีปเอเชีย"
(Medical Hub of Asia)
โดยมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง
การเดินทางมารักษาพยาบาลในไทยยังสามารถพ่วงเรื่องการท่องเที่ยวเสริมเข้าไป
ได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ป่วยเองหรือญาติผู้ป่วยก็ตาม

"รัฐบาลสิงคโปร์กำหนดวิสัยทัศน์จะเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพของทวีปเอเชีย

กำหนดสร้างแบรนด์ในด้านการรักษาพยาบาลว่ามีความเยี่ยมยอดใน 3 มิติ

คือ ความเชื่อถือ ความปลอดภัย และความเป็นเลิศ

เน้นบริการเฉพาะทางซึ่งต้องใช้ความรู้เข้มข้นและมีมูลค่าเพิ่มสูง

โดยเฉพาะในด้านโรคหัวใจ ตา มะเร็ง และการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ"

ส่วนกรณีของรัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้ส่งเสริมธุรกิจด้านนี้เป็นอย่างมาก
มีการกำหนดวิสัยทัศน์ว่าจะเป็น "ศูนย์กลางบริการสุขภาพของทวีปเอเชีย"
(Healthcare Services Hub in Asia) โดยได้ประกาศโครงการ Singapore
Medicine เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2546
กำหนดสร้างแบรนด์ในด้านการรักษาพยาบาลว่ามีความเยี่ยมยอดใน 3 มิติ คือ
ความเชื่อถือ (Trust) ความปลอดภัย (Safety) และความเป็นเลิศ
(Excellence)โดยเน้นบริการเฉพาะทาง
ซึ่งต้องใช้ความรู้เข้มข้นและมีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะในด้านโรคหัวใจ ตา
มะเร็ง และการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่านอกจากโรงพยาบาลเอกชนแล้ว
โรงพยาบาลของรัฐบาลสิงคโปร์ก็ให้ความสนใจตลาดผู้ป่วยต่างประเทศด้วย
เป็นต้นว่า โรงพยาบาล National University Hospital
ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ โรงพยาบาลตันต๊อกเส็ง (Tan Tok Seng)
ซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสิงคโปร์ ฯลฯ
ก็ได้ไปเปิดสำนักงานในต่างประเทศแล้ว

ประการที่สอง สถาน พยาบาลทั้งของไทยและสิงคโปร์ต่างมีจุดเด่นสำคัญ
คือ สามารถให้บริการอย่างเป็นเลิศ คุณภาพประทับใจ
แต่แตกต่างกันบ้างในรายละเอียด
โดยกรณีของไทยมีผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารักษาจำนวน 1.5 ล้านคนต่อปี
นับว่ามากเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยข้อได้เปรียบสำคัญของไทยคือ ค่ารักษาพยาบาลของไทยใกล้เคียงกับมาเลเซีย
แต่ถูกกว่าสิงคโปร์ประมาณร้อยละ 30 นอกจากนี้ คนไทยยังมีจุดเด่นสำคัญ คือ
บุคลากรมีหัวใจในการให้บริการระดับสูง มีอัธยาศัยดี
มีความรวดเร็วพร้อมให้บริการแบบมืออาชีพได้ทันที

สำหรับกรณีของสิงคโปร์ซึ่งมีผู้ป่วยต่างชาติมารักษาพยาบาลประมาณ
400,000 คนต่อปี มีมาตรฐานการรักษาพยาบาลสูงมาก
จากการจัดอันดับขององค์การอนามัยโลก (WHO)
พบว่าสิงคโปร์มีมาตรฐานการรักษาพยาบาลคุณภาพสูงที่สุดในทวีปเอเชีย
และมีมาตรฐานเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
โดยเฉลี่ยมีคุณภาพเหนือกว่าสถานพยาบาลของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่เล็กมาก มีโรงพยาบาลน้อยแห่ง
แต่กลับมีจำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Joint Commission
International (JCI) Accreditation ของสหรัฐอเมริกา จำนวน 16 แห่ง
มากเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหนือกว่าไทยที่มีจำนวน
9 แห่ง โดยโรงพยาบาลสิงคโปร์เน้นบริการผ่าตัดที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญสูงใน
ตลาดบน

ประการที่สาม รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ
ต่างมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในส่วนปริมาณและคุณภาพ
เป็นต้นว่า ไทยมีการเปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่ง
ทำให้สามารถผลิตแพทย์ได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี

ขณะที่สิงคโปร์เดิมมีคณะแพทยศาสตร์เพียงแห่งเดียว คือ Yong Loo
Lin School of Medicine ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
ในช่วงที่ผ่านมารับนักศึกษาแพทย์ปีละ 250 คน
และตั้งเป้าหมายรับเพิ่มเป็นปีละ 300 คน นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังเป็นต่อด้านคุณภาพ โดย Yong Loo Lin School of
Medicine เคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถาบัน
การศึกษาที่มีความยอดเยี่ยมในสาขาแพทยศาสตร์อันดับ 25 ของโลก
และเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่มีข้อสังเกตว่าขณะที่สถาบันการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ของไทย
พยายามกำหนดหลักสูตรของตนเอง
แต่กรณีสิงคโปร์เน้นความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศมากกว่า
โดยสิงคโปร์ได้ดำเนินการก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของประเทศ
ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์และมหาวิทยาลัย
ดุ๊กของสหรัฐฯ ดำเนินการในนาม Duke - NUS Graduate Medical School
ตั้งอยู่ติดกับ Singapore General Hospital
ซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ โดยนักศึกษา 1 ใน 3
มาจากต่างประเทศ (จาก 17 ประเทศ) เริ่มปีแรกที่เปิดดำเนินการ คือ ปี 2550
รับนักศึกษา 26 คน ต่อมาในปี 2551 และ 2552 รับนักศึกษาเพิ่มเป็น 48 คน
และ 56 คน ตามลำดับ

ล่าสุดรัฐบาลสิงคโปร์มีแผนก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 3
ของประเทศขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนันยางของสิงคโปร์และ
Imperial College ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงก้องโลก
ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร โดยกำหนดจะใช้ชื่อว่า
Nanyang-Imperial Medical School

ประการที่สี่
ขณะที่ไทยจำกัดการลงทุนของต่างประเทศในธุรกิจโรงพยาบาล
กำหนดให้กิจการต้องถือหุ้นข้างมากโดยคนไทย
แต่สิงคโปร์กลับเปิดกว้างให้ต่างประเทศมาลงทุน
ซึ่งเป็นผลให้ต่างชาติมาซื้อกิจการโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์
คือ บริษัท ปาร์คเวย์โฮลดิ้ง

สำหรับบริษัท ปาร์คเวย์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์
นับเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนซึ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยในปี 2552 มีรายได้ประมาณ 23,000 ล้านบาท และกำไรประมาณ 2,500 ล้านบาท
เปรียบเทียบกับโรงพยาบาลของไทย คือ เครือบำรุงราษฎร์
มีรายได้ในปีเดียวกัน 9,300 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,150 ล้านบาท
หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพมีรายได้ในปี 2542 เป็นเงิน 21,974 ล้านบาท
และกำไรสุทธิ 1,725 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัท ปาร์คเวย์ บริหารโรงพยาบาล 16 แห่ง
มีจำนวนเตียงรวมกันมากกว่า 3,400 เตียง ครอบคลุมประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย
โดยกรณีโรงพยาบาลเครือ Parkway Holdings ในสิงคโปร์
มีชาวต่างประเทศมารักษาคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด

เดิมบริษัท ปาร์คเวย์ มีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด คือ บริษัท TPG
(เดิมชื่อกองทุน Newbridge Capital LLC) ของสหรัฐฯ
ได้เข้ามาซื้อหุ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 26 ในบริษัทแห่งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม
2548 ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด แต่ต่อมากองทุน Khazanah
ของรัฐบาลมาเลเซีย
ซึ่งมีการบริหารคล้ายคลึงกับกองทุนเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์
ซื้อหุ้นในบริษัท ปาร์คเวย์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นร้อยละ 23.8
ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2

ขณะเดียวกัน Fortis Healthcare
ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอินเดีย
ก็หมายปองบริษัท ปาร์คเวย์ เช่นเดียวกัน โดยได้จ่ายเงิน 685
ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 17,000 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นร้อยละ 23.86
ของบริษัทปาร์คเวย์ จากบริษัท TPG ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2553
ต่อมาได้ซื้อหุ้นเพิ่มเติมเป็นร้อยละ 25.3
ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด

การเข้ามาถือหุ้นของบริษัท Fortis Healthcare
ได้สร้างความไม่พอใจแก่กองทุน Khazanah เป็นอย่างมาก ดังนั้น
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2553 บริษัท Integrated Healthcare Holdings
ซึ่งเป็นของบริษัท Khazanah Nasional
ได้ประกาศที่จะเสนอซื้อหุ้นเพิ่มเติมในบริษัทปาร์คเวย์เป็นเงิน 835
ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท

หากผู้ถือหุ้นรายอื่นได้เสนอขายหุ้นครบตามที่ต้องการแล้ว
จะทำให้กองทุน Khazanah เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็นร้อยละ 51.5
ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของบริษัท ปาร์คเวย์
มีอำนาจควบคุมการบริหารกิจการโรงพยาบาลแห่งนี้อย่างเด็ดขาด
จะทำให้มีเครือข่ายโรงพยาบาลกว้างขวางในหลายประเทศ

อนึ่ง นอกจากเปิดเสรีการลงทุนของต่างชาติแล้ว
รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้พยายามส่งเสริมโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาจัด
ตั้งกิจการในสิงคโปร์ โดยประสบความสำเร็จในการเชิญชวนให้มหาวิทยาลัยจอห์น
ฮอปกิ้นส์ ของสหรัฐฯ
ซึ่งมีชื่อเสียงมากระดับแนวหน้าของโลกในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ มาจัดตั้ง
Johns Hopkins Singapore (JHS) เมื่อปี 2541 เพื่อเป็นฐานทั้งในด้านวิจัย
การศึกษา และการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยนับเป็นโรงพยาบาลเอกชนของสิงคโปร์แห่งแรกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
JCI เมื่อเดือนกันยายน 2547

โรง พยาบาลของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกิ้นส์
ประสบผลสำเร็จทางธุรกิจเป็นอย่างมาก
โดยมีผู้ป่วยทั้งชาวสิงคโปร์และชาวต่างประเทศมาเข้ารับการรักษาจำนวนมาก
ต่อมาได้ย้ายไปตั้งกิจการในพื้นที่ใหม่ภายในพื้นที่ของโรงพยาบาลตันต๊อกเส็ง
(Tan Tok Seng) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสิงคโปร์
โดยใช้ชื่อสถานที่ตั้งแห่งใหม่ว่า Johns Hopkins Singapore International
Medical Centre (JHSIMC) ประกอบด้วยเตียงรักษาผู้ป่วยเคมีบำบัด
(Chemotherapy treatment) จำนวน 12 เตียง และเตียงผู้ป่วย 30 เตียง

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น