++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

โศกนาฏกรรมมรดกโลก บทเรียนราคาแพงเกินไปสำหรับคนไทยทั้งชาติ!!!?

โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ 27 กรกฎาคม 2553 14:39 น.
เพราะ อัตตา ศักดิ์ศรี
และไม่ยอมรับความผิดพลาดของนักการเมืองและข้าราชการที่เกิดขึ้นในอดีต
ปัญหาดินแดนและอธิปไตยระหว่างไทย-กัมพูชาจึงได้ถลำลึกมาจนถึงทุกวันนี้!!!

ศาลปกครองสูงสุด
และศาลรัฐธรรมนูญได้เคยพิพากษาว่าแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วย
การยกปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีมรดกโลกของฝ่าย
กัมพูชา ซึ่งได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551
(แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา 2551) นั้น
เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ
ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง
จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2550 มาตรา 190

นับ ตั้งแต่มีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ปรากฏเห็นจน
ถึงปัจจุบันว่าไทยได้ประกาศ "ยกเลิก" กับกัมพูชา หรือคณะกรรมการมรดกโลก
หรือองค์การยูเนสโก "โดยอ้างเหตุผลตามคำพิพากษา" แต่ประการใด

25 สิงหาคม พ.ศ. 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัคร นายเตช บุนนาค
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย
ได้มีหนังสือถึงนายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
และความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
โดยระบุเนื้อความบางตอนในหนังสือดังกล่าวระบุว่า:

"ในการประชุมรัฐมนตรีระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทย-กัมพูชา
ครั้งที่ 1 ที่เมืองเสียมราฐ ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ว่า ราช
อาณาจักรกัมพูชาไม่ถือว่าคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา
ลงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551 เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณสำหรับความเข้าใจของท่านว่า
ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามความในคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว
ข้าพเจ้ามีความเห็นเช่นเดียวกันว่า สภาวการณ์หลังการลงนาม
และข้อจำกัดที่เป็นผลตามมา
ทำให้แถลงการณ์ร่วมเองนั้นเป็นเอกสารที่สิ้นผลแล้ว"

ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า
กระทรวงการต่างประเทศต้องการอ้างว่าฝ่ายกัมพูชาไม่ยึดถือแถลงการณ์ร่วม
ไทย-กัมพูชา 2551 ว่าเป็นสนธิสัญญาทำให้เอกสารดังกล่าวสิ้นผลไป
เพียงเพื่อให้นักการเมืองและข้าราชการรอดพ้นจากการกระทำผิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเท่านั้น

การไม่ประกาศ "ยกเลิก" แถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา
และไม่อ้างคำพิพากษาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองสูงสุดต่อกัมพูชา
กัมพูชา ย่อมถือว่าเป็นเรื่องภายในของไทยที่ฝ่ายกัมพูชาไม่รับรู้เรื่องด้วย
และการยื่นหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศของไทยในครั้งนั้นก็ไม่ใช่การบอก
ยกเลิก แต่เป็นการบอกว่าเอกสารดังกล่าวจะสิ้นผลก็เพราะฝ่ายกัมพูชานั้นเมตตาเป็น
ฝ่ายใช้ดุลพินิจเอง

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551 นายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
และความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ถึงนายเตช บุนนาค
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยตอบกลับจดหมายของนาย
เตช บุนนาค ความตอนหนึ่งว่า:

"การประชุม ระหว่างอาหารมื้อกลางวันของเราที่เสียมราฐ
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
พูดคุยเกี่ยวกับคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ผมได้กล่าวว่า
"มันไม่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ" ดังนั้น มันมีคุณค่าเท่าที่มันเป็น"

หนังสือฉบับดังกล่าวนี้
แสดงให้เห็นว่าฝ่ายกัมพูชาไม่ได้ยอมรับการสิ้นผลแต่ประการใด
และยึดถือว่าเอกสารแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา 2551
มีความผูกพันอย่างที่มันเป็น

ไม่ ได้มีข้อสรุปว่า
"คำพูดคุยระหว่างรับประทานอาหารเที่ยงว่าไม่ใช่สนธิสัญญา" กับ
"ข้อผูกพันในเอกสารแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา 2551" จะเป็นสิ่งเดียวกัน

แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา 2551
ได้ถูกนำไปใช้ในการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกและออกเป็นมติคณะกรรมการ
มรดกโลกครั้งที่ 32 แล้วตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2551
และยังคงมีผลอยู่จนถึงทุกวันนี้ (เพราะความไม่ชัดเจนของฝ่ายไทย)
ดังปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ขององค์การยูเนสโกซึ่งได้ระบุมติคณะกรรมการมรดกโลก
เอาไว้ในข้อ 15

การปกป้องการกระทำความผิดของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ
ได้ลามมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ก็ยังไม่เคยอ้างคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด หรือศาลรัฐธรรมนูญเพื่อ
"ประกาศยกเลิก" แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา 2551 เช่นกัน

ปัญหา แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา 2551
เป็นเอกสารส่วนหนึ่งในหลายส่วนที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ได้เคยทำหนังสือเตือนนายกรัฐมนตรีเอาไว้แล้วว่าให้ทำหนังสือยกเลิกข้อผูกพัน
ระหว่างไทย-กัมพูชาทั้งปวงอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน
2552

ผ่านไป 8 เดือนเศษ รัฐบาลก็เพิกเฉยและไม่ดำเนินการใดๆ !!!

มิ พักต้องพูดถึงแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000
ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว และบรรพบุรุษสยามไม่เคยยอมรับนั้น
ถือเป็นหัวใจของปัญหาระหว่างเขตแดนไทย-กัมพูชาที่แท้จริง
โดยเฉพาะระวางดงรักซึ่งเป็นพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารนั้น
ฝ่ายไทยไม่เคยคัดค้านต่อแผนที่ฉบับดังกล่าวซึ่งฝ่ายกัมพูชาใช้อ้างอิงมาโดย
ตลอดในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกสำหรับพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารจนถึงปัจจุบัน

ถึงขนาดที่ฝ่ายกัมพูชาได้ยื่นเอกสารให้กับคณะกรรมการมรดกโลก
โดยแสดงแผนที่เส้นเขตแดนรอบพื้นที่ปราสาทพระวิหารตามแผนที่มาตราส่วน 1
ต่อ 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว
พร้อมกับระบุว่าเป็นแผนที่ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ใช้พิพากษาเมื่อ
ปี พ.ศ. 2505 และฝ่ายทหารไทยซึ่งตั้งกองกำลังนั้นได้เป็นฝ่ายรุกล้ำดินแดนและอธิปไตยของ
กัมพูชา อันเป็นการยื่นเอกสารเท็จตั้งแต่ปลายปี 2551 ผ่านมา 2 ปี
ก็ยังไม่ปรากฏเป็นเอกสารว่ามีการโต้แย้งและคัดค้านมาตั้งแต่ปลายปี 2551
แต่ประการใด

บันทึก ความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาปี
พ.ศ. 2543 หรือ MOU 2543 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย
ได้ไปทำข้อตกลงยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000
ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิด
แผนแม่บทและข้อกำหนดหน้าที่ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมทางบก
ของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (TOR 2546)
ซึ่งลงรายละเอียดอย่างชัดเจนในการจัดทำแผนที่และการลากเส้นเขตแดนให้เป็นไป
ตามแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000
ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวอย่างชัดเจน

ตรรกะของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเรื่อง Maps มี S
ว่าหมายถึงแผนที่หลายระวางไทยยอมรับบางระวางที่ได้เปรียบและไม่ยอมรับในบาง
ระวางนั้น แท้ที่จริงเป็นเหตุผลที่คิดค้นขึ้นใหม่ในภายหลังเพื่อหาความชอบธรรมให้กับ
ความผิดพลาดของ MOU 2543 ซึ่งจัดทำโดยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย
และใช้สำหรับการอธิบายให้คนไทยด้วยกันเองฟังเท่านั้น

เพราะ ตรรกะ Maps มี S
ของนายอภิสิทธิ์นั้นขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับเอกสารภายในของกระทรวงการต่าง
ประเทศหลายฉบับที่ระบุว่าการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000
นั้นหมายถึง "ระวางดงรักรอบปราสาทพระวิหาร" ด้วยและ
"ไม่ได้มีการยกเว้นในระวางใด" เลย

ด้วย เหตุผลนี้ตรรกะ Maps มี S ของนายอภิสิทธิ์
จึงไม่ได้เป็นเหตุผลที่กระทรวงการต่างประเทศหยิบยกในการประท้วงหรือคัดค้าน
แผนที่ระวางดงรักรอบปราสาทพระวิหารทั้งกับกัมพูชาหรือคณะกรรมการมรดกโลกใน
ช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยเหตุผลนี้เมื่อใดก็ตามกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายไทยใช้หนังสือ
บันทึกช่วยจำ หรือการประท้วงกัมพูชาในการรุกล้ำอธิปไตยในดินแดนไทย
ไม่ว่าจะใช้กองกำลังทหารติดอาวุธรุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย การสร้างชุมชน
การออกโฉนดโดยกัมพูชา สร้างถนน เชิญธงชาติกัมพูชาขึ้นเสานั้น ฝ่าย
กัมพูชาจะทำหนังสือกลับมาตอบโต้ว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นดินแดนกัมพูชาโดย
ทันที และซึ่งนอกจากฝ่ายไทยจะไม่ทำหนังสือตอบกลับหนังสือของกัมพูชาที่อ้างเช่น
นั้นแล้ว ฝ่ายไทยก็ไม่ได้ใช้กำลังทหารผลักดันให้ทหารและชุมชนกัมพูชาออกจากดินแดนไทย
อีกเช่นกัน

หนักไปกว่านั้นก็คือมติรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551
ที่เสียงส่วนใหญ่ทั้งนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา
กลับเห็นชอบให้ทหารทั้ง 2 ฝ่ายออกนอกพื้นที่ซึ่งอ้างว่าทับซ้อน ทั้งๆ
ที่เป็นดินแดนของไทย
แต่กลับไม่พูดถึงสิ่งปลูกสร้างและชุมชนชาวกัมพูชาที่เพิ่งเข้ามารุกล้ำเข้า
มาประมาณ 10 ปีมานี้ การ กระทำดังกล่าวเข้าเกณฑ์
"ความสงบและไม่มีการปะทะกัน" ของคณะกรรมการมรดกโลกก่อนจะให้ 7
ชาติเข้ามาบริหารจัดการในพื้นที่ดังกล่าวในฐานะเป็นพื้นที่บริหารจัดการมรดก
โลกของกัมพูชาได้อย่างสมบูรณ์

เพียงพฤติการณ์ดังกล่าวข้างต้นก็ลองจินตนาการดูว่า
ถ้าเราเป็นคนต่างชาติซึ่งอยู่ในคณะกรรมการมรดกโลก
หรือองค์การยูเนสโกจะคิดอย่างไร
เมื่อได้เห็นเอกสารและพฤติการณ์ของฝ่ายกัมพูชาที่มุ่งมั่นใช้แผนที่มาตรา
ส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียว
กับฝ่ายไทยซึ่งมีพฤติการณ์ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
ซึ่งนอกจากจะมีแต่ความคลุมเครือโดยไม่ประท้วงแผนที่ดังกล่าวอย่างจริงจัง
แล้ว ยังมีพฤติกรรมสนับสนุนซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาโดยตลอด

พฤติการณ์
ของรัฐบาลไทยและทหารไทยที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเลวร้ายยิ่งกว่า
"กฎหมายปิดปาก" ที่เราโดนกระทำโดยคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่
15 มิถุนายน 2505 เสียอีก จริงหรือไม่?

จริงอยู่ว่าคณะกรรมการมรดกโลก
กระทำหลายขั้นตอนผิดตามกฎเกณฑ์กติกาตัวเองเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกัมพูชา
ทำลายหลักสันติภาพในภูมิภาค
แต่ก็ต้องกล่าวโทษรัฐบาลไทยและข้าราชการไทยด้วยเช่นกันที่มีแต่ความดื้อดึง
ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่กล้าโต้แย้งกับต่างชาติ เพราะมัวแต่ติดกับดัก
"ไม่ยอมรับความผิดพลาดในอดีต"

การ ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 34
นั้นชัดเจนว่าฝ่ายไทยไม่ได้คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร
แต่ไปขอถ่วงเวลาให้เลื่อนวาระแผนการบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร
โดยอ้างเหตุผลอย่างคลุมเครือว่า
"การขอเลื่อนครั้งนี้เพราะการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชายังไม่แล้วเสร็จ"!!!?

ปีที่แล้วความผิดพลาดก็เกิดมาแล้วครั้งหนึ่งนายสุวิทย์ คุณกิตติ
กลับมาประเทศไทยอ้างว่าประสบความสำเร็จในการเลื่อนประชุมคณะกรรมการมรดกโลก
เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ทั้งๆ ที่เป็นวาระปกติที่มีอยู่เดิมแล้ว
มาปีนี้ก็จะเข้าไปอภิปรายโดยที่ไม่เคยมีการประสานกับคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อ
เตรียมวาระเอาไว้เพื่อคัดค้านเป็นการล่วงหน้า
ถือเป็นความไร้เดียงสาและอ่อนแอต่อเกมการเมืองระหว่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด

ต้อง ไม่ลืมว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบเป็นมรดกโลกได้
สำเร็จไปแล้วตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2551 ดังนั้นหากไทยไม่เห็นด้วย
ก็ไม่ควรเข้าไปประชุมในปีนี้ในวาระการอนุมัติแผนบริหารจัดการเพราะเท่า
กับยอมรับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบที่ผ่านมาไปด้วย
ดังนั้น รัฐบาลไทยควรทำหนังสือประท้วงการขึ้นทะเบียนพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร
ซึ่งไม่ใช่มรดกโลกของกัมพูชา
ประท้วงการใช้แผนผังและแผนที่หลายครั้งซึ่งละเมิดอธิปไตยไทย
พร้อมทั้งประกาศจะรักษาอธิปไตยไทยไม่อนุญาตให้ชาติอื่นเข้ามาบริหารจัดการ
พื้นที่และอธิปไตยของไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเด็ดขาด

ถ้า ยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกโลกไม่สนใจในคำทักท้วงของประชาชนชาวไทย
รัฐบาลไทยก็ควรพิจารณาทบทวนถอนตัวออกจากการเป็นกรรมการในคณะกรรมการมรดกโลก
ประกาศยกเลิก MOU 2543
และเตรียมกำลังทหารในการผลักดันกองกำลังและชุมชนชาวกัมพูชาที่รุกล้ำเข้ามา
ในดินแดนไทยโดยทันที

เมื่อนักการเมืองไม่ทำหน้าที่ ข้าราชการไม่ทำหน้าที่
และทหารก็ไม่ทำหน้าที่อีก สุดท้ายต้องเป็นภาคประชาชนอย่าง
ภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทพระวิหารซึ่งประสานโดย
ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์, ชาวสันติอโศก, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, อ.เทพมนตรี
ลิมปพะยอม และภาคประชาชน ซึ่งไม่มีอำนาจรัฐใดๆ อยู่ในมือ
ต้องไปออกมาเสี่ยงชุมนุมเพื่อประท้วงและกดดันต่อการทำหน้าที่ขององค์การยู
เนสโกอีกครั้งทั้งในประเทศไทยและที่ฝรั่งเศสอย่างไม่มีทางเลือก

เป็นอีกครั้งที่ต้อง "มาทำหน้าที่ ใช้หนี้แผ่นดิน และมาทำบุญ"!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น