++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สมัชชาจังหวัด

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 25 กรกฎาคม 2553 11:22 น.
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2539 น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ ได้มาคุยกับผมเรื่อง
ประชาสังคม หรือ civil society
ผมได้ให้ความเห็นไปว่ามีแนวความคิดสองแนวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ
กับสังคม ความคิดหนึ่งเห็นว่ารัฐควรมีบทบาทเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในสังคม
เพราะจะได้ช่วยส่วนของสังคมที่อ่อนแอ เสียเปรียบ
ด้วยการอาศัยนโยบายปรับความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ความคิดย่อยในแนวคิดนี้เห็นว่า รัฐควรควบคุมสังคม
และกลไกของรัฐสามารถนำสังคมได้ เพราะมีทรัพยากรมีความรู้ ความชำนาญ
อีกแนวคิดหนึ่งเชื่อว่า ภาครัฐต้องมีบทบาทน้อยที่สุด

ผมเห็นว่า แนวคิดทั้งสองต่างมีข้อดี ดังนั้น ควรผสมผสานกันคือ
รัฐกับสังคมร่วมกันทำอย่างที่เรียกว่า partnership ไม่ใช่ leadership
และเป็นเรื่องของ การมีส่วนร่วม (participation) ไม่ใช่ การมีตัวแทน
(representation) โดยจะต้องพิจารณาจากทั้งเรื่อง กลุ่มเป้าหมาย และ
ประเด็นปัญหา พร้อมๆ กันไป และควรทำการศึกษาวิเคราะห์ปัญหา
และกลุ่มที่มีปัญหาในแต่ละพื้นที่ คือ
ลงไปถึงชุมชนท้องถิ่นซึ่งมีรายละเอียด และสภาพการณ์ที่ต่างกันไป

ผมเสนอว่า ควรจะเน้นไปที่ กิจกรรม แทนที่จะเน้นที่โครงสร้าง
เพราะกิจกรรมสามารถมีการประสานทั้งแนวดิ่ง และแนวราบได้ หากวาดเป็นภาพ
ก็จะมีลักษณะเป็นวงกลมตามนี้

ผมเรียกภาพนี้ว่า "อาณาบริเวณของกิจกรรมตามวิถีประชา"
โครงสร้างและกระบวนการของ "วิถีประชา" จะก่อให้เกิดการพัฒนาของประชาชน
และโดยประชาชน ซึ่งควรคำนึงถึงประเด็นดังต่อไปนี้

1. การเน้นพื้นที่ (ประชาสังคม) เป็นหลัก

2. การคำนึงถึงการพัฒนาที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง

3. การคำนึงถึงการจัดการพัฒนาแบบองค์รวม

4. การคำนึงถึงความเดือดร้อนความต้องการของภาคประชาชนที่เกี่ยวโยงกับสภาพของชุมชน

5. การคำนึงถึงการตื่นตัวของประชาชนที่มีในระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด

6. การเพิ่มดุลทางการมีส่วนร่วมให้กับประชาคม
และกลุ่มคนที่ยังขาดดุลของการมีส่วนร่วมอยู่ เช่น เกษตรกรรายย่อย
คนจนเมือง เป็นต้น

7. การเน้นบทบาทของกลุ่มพลังที่แยกตัวออกจากสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการ
ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด

8. การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างวิถีประชา
ซึ่งเน้นการพัฒนาของประชาชนและโดยประชาชนกับวิถีรัฐทำ-ราษฎร์ร่วมซึ่งเน้น
การพัฒนาเพื่อประชาชนโดยราชการและโครงสร้างท้องถิ่นครอบงำอยู่
เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

9. การสร้างสมรรถนะของประชาชนเพื่อรองรับเป้าหมายของการกระจายอำนาจ

จากข้อพิจารณา 9 ข้อนี้ โครงสร้างและกระบวนการวิถีประชาจึงควรเป็นดังนี้

1. ให้มี "สมัชชาจังหวัด" ซึ่งมีองค์ประกอบที่แตกต่างไปจากสภาจังหวัด

สมัชชาจังหวัดประกอบด้วย 3 ส่วน

- ส่วนที่มาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ
ในจังหวัดตามสัดส่วนของอาชีพจำนวนกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด

- ส่วนที่มาจากตัวแทนของสภาจังหวัด สภาเทศบาล สุขาภิบาล และสภาตำบล

- ส่วนที่มาจากตัวแทนของราชการส่วนภูมิภาค
จำนวนสมาชิกอีกกึ่งหนึ่ง
ในส่วนที่เป็นตัวแทนจากองค์กรท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งมีสองในสาม
อีกหนึ่งในสามมาจากตัวแทนของราชการส่วนภูมิภาค

3. ให้สมัชชาจังหวัดสามารถแต่งตั้งฝ่ายสงฆ์หรือนักบวชในศาสนาอื่นใดที่ประชาชนในจังหวัดนิยมนับถือเป็นที่ปรึกษาได้

4. ในการเลือกตัวแทนกลุ่มอาชีพสำหรับกลุ่มอาชีพที่มีการเลือกตั้งตัวแทนอยู่
แล้ว (เช่น หอการค้าจังหวัด) ให้แต่งตั้งตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา
กลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ไม่มีการเลือกตั้งให้ใช้วิธีสรรหา

5. ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย กรรมการที่ไม่มีผลประโยชน์โดยตรง
เช่น พระสงฆ์ ตัวแทนองค์กรเอกชน ตัวแทนองค์กรประชาชน ครู
นักวิชาการในจังหวัด

หน้าที่สำคัญของสมัชชาจังหวัด คือ
การพิจารณางบประมาณของจังหวัดเท่ากับเป็นการเปิดเวทีที่ก่อให้เกิดพลวัต
ระดับพื้นที่ เป็นการกระตุ้นให้เกิดประชาคมในความหมายที่แท้จริง
และเป็นการทำให้แผนงานโครงการที่จะมีการดำเนินงานในพื้นที่สามารถสะท้อนความ
จำเป็น และความต้องการในพื้นที่ได้

งบประมาณจังหวัดที่สมัชชาจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณา
จะเป็นงบประมาณในกิจกรรมด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน การสร้างงาน
การอยู่ดี-กินดี การส่งเสริมสถานภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
การพิทักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ให้สมัชชาจังหวัดมากกว่าหนึ่งจังหวัดสามารถรวมตัวกันเพื่อมีการ
ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันในกิจกรรมการพัฒนาที่อาจมีผลกระทบต่อกันได้
สมัชชากลุ่มจังหวัดมิใช่องค์กรที่เป็นทางการ
แต่สามารถจัดประชุมร่วมกันเป็นครั้งคราว
หรือมีการจัดส่งบุคลากรที่ปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาที่กลุ่มจังหวัดมีร่วม
กัน เช่น การกำจัดขยะ การพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน การแก้ปัญหาแรงงาน เป็นต้น

สมัชชาจังหวัดมีอำนาจหลักด้านเดียว คือ
การพิจารณางบประมาณแต่ไม่มีอำนาจในการบริหารงาน

สมัชชาจังหวัดเป็นผู้ตั้งเป้าหมาย
และมาตรฐานคุณภาพชีวิตของจังหวัด และคอยติดตามประเมินผลงานว่า
งบประมาณที่ได้อนุมัติไปบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้จังหวัดเป็นส่วนราชการ
และมีการจัดทำงบประมาณได้เอง โดยมีการจัดแบ่งงบประมาณเป็นสองส่วน คือ
งบประมาณส่วนกรม และ งบประมาณส่วนจังหวัด

จะต้องมีนโยบายและมาตรการที่เปิดโอกาสให้องค์กรอาสาสมัครเอกชน
และองค์กรประชาชนในจังหวัดสามารถมีโครงการ
และงบประมาณที่ใช้ในกิจกรรมพัฒนาประเภทที่ต้องการก่อให้เกิดการสร้างสมรรถนะ
ของประชาชนได้

จะต้องมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเป็นขั้นตอนอย่างต่อเนื่องในการ
เพิ่มพูนขอบเขต และความเข้มข้นของการพัฒนาโดยประชาชน
และของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยระบุแผนงานและโครงการในระยะยาว
ซึ่งจะต้องมีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวแล้ว

ดังนั้น ในการปฏิรูปประเทศไทย จึงต้องมีการดำเนินการในด้านพร้อมๆ กันไปคือ

1. การเน้นพื้นที่ในการปฏิบัติงาน

2. การมีงบประมาณจังหวัด

3. การเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน

4. การมีสมัชชาจังหวัด

5. การมีเป้าหมายและมาตรฐานคุณภาพชีวิต
ที่กำหนดโดยสมัชชาจังหวัดของทุกจังหวัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น