++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อธิปไตยเหนือสิ่งอื่นใด

โดย ว.ร. ฤทธาคนี 29 กรกฎาคม 2553 17:28 น.
เสรีภาพ อำนาจอธิปไตย และบูรณภาพของชาตินั้น เป็นหัวใจของความเป็นชาติเมื่อเสรีภาพ คือ ความเป็นอิสระของปัจเจกบุคคลที่จะคิด จะอ่าน และกระทำการใดๆ ได้ตามกรอบแห่งรัฐธรรมนูญ ที่ถูกตราไว้ให้เป็นกติกาสูงสุดของสังคม ตามแนววัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ ตามความเป็นจริงที่สากลยอมรับ แต่อาจจะไม่เหมือนกัน อธิปไตย หมายถึงอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐที่เป็นอาณาเขตทางกายภาพที่ชัดเจน มีประชากรที่มีความผูกพันกันตามวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่คนทั้งชาติยอมรับ และกฎหมายเดียวกัน และมีรัฐบาลที่ประชาชนยอมรับและเลือกขึ้นเองตามระบอบที่คนในชาติกำหนด และอำนาจอธิปไตยตามนัยของ ฌอง โบแดง (Jean Bodin) ในศตวรรษที่ 16 มีลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ

1. รัฐมีความเด็ดขาด ไม่มีอำนาจอื่นภายในรัฐที่เหนือกว่า และไม่มีอำนาจอื่นที่มาจำกัดอำนาจในการออกกฎหมายของรัฐ 2. อำนาจอธิปไตยของรัฐมีอยู่เหนือทุกคนและทุกองค์กรในรัฐ ยกเว้นกลุ่มทูตานุทูตต่างประเทศที่เป็นตัวแทนมาประจำในประเทศ จะไม่อยู่ภายใต้อธิปไตยของรัฐนั้น แต่ประเพณีปฏิบัติต่อทูตที่ละเมิดอธิปไตย คือ การให้ออกจากประเทศ 3. อำนาจอธิปไตยของรัฐเป็นสิ่งถาวร ตราบเท่าที่รัฐนั้นยังคงดำรงสภาพของรัฐอธิปไตยอยู่ ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองภายในประเทศนั้นก็ตาม แต่อำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นยังสภาพเดิม 4. รัฐหนึ่งย่อมมีอำนาจอธิปไตยเพียงอำนาจเดียว จะแยกอำนาจอธิปไตยมิได้

ส่วนบูรณภาพ ซึ่งหมายถึงความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะบูรณภาพแห่งดินแดน ซึ่งหมายความว่า ดินแดนนั้นมีความสมบูรณ์ครบถ้วนจากดั้งเดิม มิถูกแย่งชิงไป

ตามนัยปรัชญาแห่งความเป็นรัฐชาติ อันหมายถึงความแน่นอนทางรัฐศาสตร์ของชาติหนึ่งที่มีประชากรแน่นอน มีดินแดนแน่นอน มีรัฐบาลแน่นอน และมีอำนาจอธิปไตยที่แน่นอน และสิ่งเหล่านี้อยู่กับชาติไทยมาช้านาน ยกเว้นบางช่วงที่ถูกชาติอื่นมาช่วงชิง เช่น ราชอาณาจักรอยุธยาถูกพม่าเข้าครอบครอง 2 ครั้ง แต่ทั้ง 2 ครั้ง วีรกษัตริย์และวีรชนไทยก็สามารถกอบกู้นัยแห่งรัฐชาติกลับคืนมา จนยุคการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่แบ่งได้เป็น 3 ยุค คือ

1. การล่าเมืองขึ้นเพื่อแพร่ขยายศาสนาและริบทรัพย์สมบัติในศตวรรษที่ 16 - 18 ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงใช้พระปรีชาของหลักการข่มขู่โน้มน้าวจากนักบวชฝรั่ง และทรงยอมอนุญาตให้มีการสอนศาสนาและการค้าขาย แต่พระองค์ทรงจ้างนักรบรับจ้างหลายชาติไว้เป็นกองทัพสร้างความสมดุล เช่น จ้างเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวกรีกให้เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ อันเป็นหนทางออกหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติในครั้งนั้น

การล่าเมืองขึ้นยุคที่ 2 นั้นของชาติตะวันตกในห้วงศตวรรษที่ 18 - 19 เมื่ออังกฤษพบถ่านหิน ซึ่งเป็นพลังงานความร้อนสูงและมีเหลือเฟือ ทำให้ เจมส์ วัตต์ ปรับปรุงเครื่องจักรไอน้ำของ โทมัส นิวโคเมน เกิดอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าขนสัตว์ หนึ่งในปัจจัยสี่ และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ต่อมาเกิดอุตสาหกรรมการเกษตรขึ้นอีกมาก เกิดระบบการขนส่งด้วยรางและเรือกลไฟ หลายเมืองในยุโรปขยายตัวและต้องการวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรม รัฐบาลในประเทศยุโรปแข่งขันกันทางการค้า และล่าเมืองขึ้นเพื่อแหล่งวัตถุดิบแบบได้เปล่า

ประเทศไทยก็ถูกเล็งไว้ด้วย แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์ยาวไกลตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ที่ทรงรอบรู้เหตุการณ์รอบบ้าน ที่ถูกอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลันดา มุ่งมั่นที่จะยึดครอง เอารัดเอาเปรียบ และในการนี้อังกฤษส่ง ร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่ เข้ามาทำสัญญาค้าขายในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่าสัญญาเบอร์นี่ ที่อนุญาตให้พ่อค้าอังกฤษทำการค้ากับพ่อค้าไทยได้อย่างเสรี โดยเก็บภาษีตามความกว้างของปากเรือ ไทยตรวจสอบสินค้าได้ ห้ามอังกฤษค้าฝิ่น และอังกฤษต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย ซึ่งอังกฤษรู้สึกว่าไม่ได้เปรียบนัก จึงส่ง เซอร์ เจมส์ บรุก มาเจรจาขอแก้ไขสัญญาที่มีลักษณะเอาเปรียบมากขึ้น และล้มเหลว ไทยปกป้องผลประโยชน์ไว้ได้ตามสมควร

ชาติตะวันตกเริ่มหาเรื่องที่จะใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจอธิปไตย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาเกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยมที่คุกคามอย่างรุนแรง เนื่องจากเกิดการชิงความเป็นใหญ่ในยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย โดยเฉพาะในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย ที่ทรงแต่งตั้ง เซอร์ จอห์น เบาริ่ง ให้เป็นราชทูตมาเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่กับไทย ซึ่งด้วยแสนยานุภาพของอังกฤษ ทำให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมลงพระนาม เพื่อรักษาเอกราชของไทยไว้ ทั้งๆ ที่อังกฤษได้เปรียบอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งยังควบคุมสินค้าสำคัญของไทยไม่ให้มีการส่งออก เช่น ข้าว ปลา และเกลือ นั่นหมายถึงอังกฤษทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลาง ค้าเอง ลดอัตราภาษีที่ไทยควรจะได้รับ แต่ที่ร้ายแรงที่สุดคือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทั้งคนอังกฤษและคนในอาณัติอังกฤษ ไม่ต้องขึ้นศาลไทย รวมทั้งอายุสัญญานาน 10 ปี

สนธิสัญญานี้เป็นต้นแบบให้ชาติตะวันตกรวม 13 ประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่นอีก 1 ประเทศ นำมาบีบบังคับให้ไทยต้องทำสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันนี้ และเป็นการเสียอำนาจอธิปไตยโดยต่างชาติไม่ต้องใช้กำลังรุกรานเพราะมีอำนาจ ข่มขู่ทางรัฐศาสตร์

แต่การเสียบูรณภาพแห่งแผ่นดินให้ชาติตะวันตกนั้น เริ่มตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยพระยาไทรบุรีให้อังกฤษเช่าเกาะหมาก หรือเกาะปีนังเพราะหวังให้อังกฤษคุ้มครอง และไทยสูญเสียดินแดนอีกถึง 13 ครั้ง ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ฝรั่งเศสแข่งขันกับอังกฤษในการล่าเมืองขึ้น ขณะที่อังกฤษครอบครองอนุทวีป และฮอลันดาครอบครองหมู่เกาะอินโดนีเซีย จึงมองเห็นเวียดนาม ลาว และเขมร เป็นบำเหน็จของตัวเอง

ฝรั่งเศสคุกคามอย่างหนักตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5 โดยใช้ทั้งเล่ห์กลและการใช้กำลังรบข่มขู่ จนทำให้ไทยเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส 5 ครั้ง รวม 481,660 ตารางกิโลเมตร ซึ่งครั้งสำคัญๆ ได้เกิดขึ้นใน ร.ศ.112 โดยฝรั่งเศสใช้เหตุการณ์กระทบกระทั่งชายแดนไทย-อินโดจีน จึงส่งเรือรบ 2 ลำ เข้ามาข่มขู่ถึงในลำน้ำเจ้าพระยา แต่ถูกปืนจากป้อมพระจุลจอมเกล้ายิงเสียหาย จึงเรียกร้องค่าทำขวัญ 3 ล้านบาท พร้อมทั้งยึดเมืองจันทบุรีเป็นประกันต่อมายึดตราดซึ่งไทยยอมแลกเปลี่ยนกับ เมืองเกาะกง และไทยเสียประเทศลาวและเกาะแก่งทั้งหลายในแม่น้ำโขง เสียเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ เป็นต้น รวมเนื้อที่ 143,000 ตารางกิโลเมตร

เป็นเหตุให้ไทยเสียเขาพระวิหาร ซึ่งไทยเป็นคนค้นพบ เพราะทางขึ้นอยู่ในประเทศไทย สนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ฝรั่งเศสยอมรับการใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนต่อมา พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสทำแผนที่ใหม่ แต่ทำฝ่ายเดียว และไม่ได้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน แต่ไทยนิ่งเฉยเพราะไม่รู้จะทักท้วงอย่างไร จึงเป็นเหตุให้ศาลโลกใช้กฎหมายปิดปากเป็นตัวแปรว่าไทยไม่สนใจที่จะประท้วง เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือองค์พระวิหาร จึงตัดสินให้เขมรได้ครอบครอง

พ.ศ. 2484ไทยรบชนะฝรั่งเศส-อินโดจีน แต่เกิดไปเข้าข้างญี่ปุ่นซึ่งแพ้สงคราม ดังนั้น สนธิสัญญาต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศสอินโดจีนจึงกลับไปเหมือนเดิม แต่เขาพระวิหารไม่ได้มีการศึกษากันอย่างจริงจังจนเขมรฟ้องศาลโลก

ใน พ.ศ. 2505 ไทยแพ้คดีในศาลโลกนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เกือบจะไม่ยอมคืนให้เขมร แต่ด้วยความเป็นอารยะของไทยจึงยอมสูญเสียตามคำพิพากษา

ดังนั้น ส่วนที่เหลือจากการสูญเสียไปในครั้งนั้นถือเป็นยุติ จะต้องไม่สูญเสียอีกต่อไป เพราะวิญญาณวีรชนที่สละชีพในการแย่งชิงดินแดนคืนจากฝรั่งเศส พ.ศ. 2484 คงจะต้องเอาโทษแก่คนที่ขายชาติ ยินยอมเจรจาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะนักธุรกิจการเมืองที่มีอยู่ในทุกพรรคร่วมรัฐบาล

ข้อพิพากษาเป็นอย่างไรจะต้องปฏิบัติตามนั้น ในส่วนพื้นที่ทับซ้อนก็เจรจากันตามข้อเท็จจริงทั้งเชิงประวัติศาสตร์และเชิง พฤตินัย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นรัฐบาลต้องเข้มแข็ง และต้องสามารถใช้กำลังอำนาจทางทหารที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการเจรจา และต้องแสดงจุดยืนให้ชาวโลกเห็นข้อเสียเปรียบของไทยในอดีต และต้องสร้างพันธมิตรลักษณะนี้ที่มีอยู่ทั่วไปในโลก

ไทยถูกรังแกมานานแล้ว ถูกเอาเปรียบมานานแล้ว ถูกครอบงำด้วยเงินตรามานานแล้วหรือเป็นยุคล่าอาณานิคมยุคที่ 3 ครั้งนี้เราจะต้องเข้มแข็งกันทั้งชาติ จะต้องมีผู้ยอมเสียสละผลประโยชน์การค้าขายในเขมร เพื่อรักษาพื้นที่อันเล็กน้อยแต่มีคุณค่าของความเป็นรัฐชาติไว้ให้ได้ด้วย เลือดและชีวิต

ขอ ให้รู้ไว้ด้วยว่าทั่วทั้งโลก เกือบทุกประเทศก็มีปัญหาชายแดนทั้งสิ้น และร้ายแรงกว่าไทย - เขมรมากนัก สรุปได้ว่าเขตแดนความยาว 250,000 กิโลเมตร ระหว่าง 194 ประเทศที่มีเขตแดนติดกันมีปัญหากันทั้งทางบก ทางทะเล ในห้วงอวกาศ หากต้องการศึกษาเพิ่มเติมสามารถเข้าไปในwww.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/fields/2070.html เราจะรู้ว่าทั้งโลกมีปัญหาเหมือนเรา ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ได้ต้องจริงใจ เข้าใจ และยอมรับความจริง อย่าเอาแต่คำตัดสินในอดีตที่ยึดหลักฐานตามชาติหนึ่งชาติใดที่เอาเปรียบ หรือพรรคประชาธิปัตย์จะยอมเสี่ยงว่าเป็นพรรคที่แพ้สงครามการเมืองกับเขมรก็ ตามใจ

nidd.riddhagni@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น