++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กองทุนแบบปลอดการเมือง กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            ตำบลหนองบัวตั้งชื่อตามสภาพท้องถิ่น คือ ในพื้นที่มีหนองน้ำ และดอกบัวสีขาวอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกขานกันว่า หนองบัว ปัจจุบันหนองน้ำที่ว่านั้นอยู่บริเวณหน้าวัดหนองบัว เมื่อปี 2499 ทางราชการมีนโยบายให้จัดสรรที่ดินทำกิน โดยมีนิคมสหกรณ์หนองบัวเป็นผู้จัดสรร ดังนั้น พื้นที่เกือบทั้งหมดของหนองบัวจึงอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์หนองบัว
            หนองบัวมีนายก อบต. ชื่อว่า นายกฤตวิทย์ สวัสดิ์มงคล มีหมู่บ้านในการปกครองทั้งหมด 8 หมู่บ้าน มีพื้นที่ 39.04 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,955 คน
            เมื่อก่อนประชาชนรอแต่รับบริการอย่างเดียว แต่ตอนนี้ประชาชนคิดเอง นั่นคือ มุมมองของผู้นำหนองบัว ดังนั้น วิธีการบริหารจัดการโครงการในพื้นที่ จะใช้คนที่มีความรู้ มีศักยภาพ และเป็นคนที่ประชาชนให้ความเชื่อถือ มาเป็นผู้ดำเนินการในโครงการต่างๆ ด้านสุขภาพ เพื่อประโยชน์ของประชาชนเอง

            นายก อบต.เคยกล่าวไว้ว่า
            " การเสนอโครงการเข้ามาไม่อยากให้ สอ. หรือ อบต.เสนอโครงการมา แต่อยากให้ประชาชน หรือ องค์กรประชาชนเสนอมา  คือ อยากให้เขา ลุกขึ้นมาเอง คิดเอง ทำเอง โครงการที่เห็นว่าดี คือ โครงการผู้สูงอายุไปเยี่ยมผู้สูงอายุ เพราะตรงกับหลักการนี้ วิธีการดำเนินการคือ อบต. สนับสนุนงบประมาณ ส่วน สอ. อบรมผู้สูงอายุที่จะไปเยียมก่อน อีกอย่างก็คือ ไม่เอาการเมืองมาเป็นที่ตั้ง แต่ต้องเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก"

            คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ มีความคิดเห็นว่า
            " จุดเด่นของการบริหารงานของนายก อบต. คือ จริงใจ ให้ผู้นำทุกส่วนเป็นที่ปรึกษา และดึงผู้นำมามีส่วนร่วมในกองทุนฯ ความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้นำ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แนบแน่น ช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่มีแบ่งแยก"
            การดำเนินงานเริ่มจากวางแผนในการทำประชาคมในแต่ละหมู่บ้าน เน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องกองทุนฯระดับตำบล ประเด็นหลักในการสร้างความเข้าใจ คือ
            "กองทุนนี้ เป็นกองทุนที่สร้างสุขภาพไม่ใช่ซ่อมสุขภาพ"

            และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกองทุนฯ โดย
            "ลงมือ ลงแรง ร่วมใจ ร่วมทุน ร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมตัดสินใจ โดยพิจารณาโครงการต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิก"
            โครงการที่เกิดจากความต้องการของคนในตำบลหนองบัว มี 4 โครงการ ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ผู้สูงอายุ และเด็ก คือ โครงการสร้างสุขภาพปรับพฤติกรรมสู่สุขภาพดี โครงการออกกำลังกายเล่นกีฬา โครงการขยายผลแกนนำแอโรบิกสู่ชุมชน และโครงการสุดท้ายที่นับว่า เป็นโครงการเด่นของ อบต.หนองบัวคือ โครงการอาสาสมัครผู้สูงอายุดูแลเพือน
            อาสาสมัครผู้สูงอายุดูแลเพื่อน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ปฏิบัติงาน ช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ส่วนผู้สูงอายุที่ขาดคนดูแล ก็ทำการช่วยเหลือให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หนองบัวเป็นตำบลที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้สูงอายุที่มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจที่สามารถช่วยเพื่อนได้ด้วย จึงเห็นว่า มีประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ผู้สูงอายุที่เป็นอาสาสมัครก็ได้บุญ อิ่มใจ ส่วนผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

            จะเห็นว่า โครงการใน อบต.หนองบัวนั้น มีกรอบในการดำเนินงานที่ว่า ดึงผู้นำมามีส่วนร่วมในการทำงานกองทุนฯ ร่วมกับทีมงานของภาครัฐ ภาคเอกชน ทีสำคัญมีการตั้งคณะอนุกรรมการเสริม ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ด้านสุขภาพ มีศักยภาพ เป็นคนที่ประชาชนให้ความเชื่อถือ เช่น แต่งตั้งจากประธานชมรม อสม. ผู้นำเยาวชน และคนที่ประชาชนให้ความเชื่อถือ โดยไม่ให้การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับกองทุนฯ
            กล่าวได้ว่า เป็นปัจจัยหลักในการทำให้โครงการจากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯในตำบลหนองบัวประสบความสำเร็จ คือ การไม่เอาการเมืองมาเป็นที่ตั้งในการทำโครงการ โดยเฉพาะการแอบอ้างการใช้งบกองทุนฯ ไปซื้อของเยี่ยมผู้สูงอายุ แล้วลงชื่อเป็นนายก อบต. และนี่คือ การดำเนินงานของกองทุนฯ ที่ปลอดการเมืองอย่างแท้จริงของ อบต.หนองบัว

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
ดุจเดือน เขียวเหลือง
สุดารัตน์ ไชยประสิทธิ์
วพบ.อุตรดิตถ์

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

1 ความคิดเห็น: