++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แพทย์เตือนผู้ป่วยเรื้อรังติดบุหรี่ ระวัง!! อาการทรุดกว่าเดิม

รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร อาจารย์ ประจำคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และหัวหน้าโครงการรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย กล่าวว่า จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 4 ช่วงปี 2551-2552 ด้วยวิธีการตรวจร่างกาย ที่สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สปสช. สสส.และภาคีอีกหลายหน่วยงาน ได้สำรวจอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง ทั้งโรคเรื้อรังที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และโรคที่ไม่ควรสูบบุหรี่ เพราะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อโรค คือ โรคปอดอุดกั้น หรือปอดอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งโรคเหล่านี้แพทย์จะแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด แต่ยังพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถเลิกได้ หรือ ทราบว่าต้องเลิกแต่ละเลย และยังมีการสูบอย่างต่อเนื่อง

“น่า แปลกใจว่า โรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่โดยตรง และเมื่อสูบจะมีผลให้อาการของโรคแย่ลง คือ โรคปอดอุดกั้น ยังมีผู้ป่วยสูบบุหรี่อยู่ถึง 25.3% หรือ 1 ใน 4 ซึ่งตามปกติแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ทันที เพราะจะทำให้อาการแย่ลง และมีความเสี่ยงอย่างมาก ฉะนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าวมีความจำเป็นต้องหาทางเลิกบุหรี่โดยทันที” รศ.ดร.วิชัย กล่าว

รศ.ดร.วิชัย กล่าวว่า โรคที่เกี่ยวกับระบบหลอดเลือด เป็นกลุ่มที่ต้องเลิกบุหรี่เช่นกัน แต่ผู้ป่วยมีความตระหนักน้อย เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับโรค จากการสำรวจพบว่า โรคเบาหวาน ยังมีผู้ป่วยสูบบุหรี่ 17.9% ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง มีผู้ป่วยที่ยังสูบบุหรี่ 16.6% โรคหลอดเลือดสมอง มีผู้ป่วยที่ยังสูบบุหรี่ 14.1% และโรคหลอดเลือดหัวใจ มีผู้ป่วยยังสูบบุหรี่ 9.9% ซึ่งโรคเหล่านี้ไม่ควรสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเบาหวาน เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี จนเลือดไปเลี้ยงร่างกายส่วนล่างไม่เพียงพอ ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนสูงอยู่แล้ว การสูบบุหรี่จึงทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนเร็วขึ้น โดยเฉพาะภาวะขาดเลือดที่เป็นสาเหตุให้ต้องตัดมือ ตัดเท้า ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยไม่ทราบว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้ อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ยังสูบบุหรี่ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาการทรุด และเกิดโรคแทรกซ้อน จึงขอเชิญชวนแพทย์ พยาบาล ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว และช่วยเหลือในการเลิกบุหรี่ ด้วยการให้คำปรึกษาถึงทางเลือกในการเลิกบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นการหักดิบ หรือในบางรายอาจจะจำเป็นต้องใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ หรือใช้สารทดแทนนิโคตินในระดับต่ำ เพื่อช่วยลดความอยากบุหรี่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรตระหนักถึงความสำคัญในการลด ละ เลิก บุหรี่ เมื่อทราบว่าตนเองป่วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น