ปรีดี อู่ทรัพย์
เมื่อปี ๒๔๘๖ ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนพาณิชยการวังบูรพาพระนคร สงครามเอเชียบูรพาหรือสงครามญี่ปุ่น ทำให้ต้องย้ายโรงเรียนไปเรียนที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่พระราชวังจันทร์เกษม ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผมนั่นแหละ ต่อจากนั้นพ่อก็ส่งผมไปอยู่กับลุงที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อทำงานที่โรงงานน้ำตาลไทยวังกะพี้
บ้านลุงของผมเป็นบ้านป่าอยู่ติดกับป่า งานของผมก็คือ งานในป่า เป็นเสมียนบำรุงทางด้านคุ้งตะเภา มีหน้าที่เกี่ยวกับการซ่อมทางและวางรางไปสู่ป่าเพื่อขนฟืนขนอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลทางรถไฟเล็ก ผมทำงานอยู่กับโรงงานน้ำตาลไทยอุตรดิตถ์ ถึง ๕ ปี รู้จักสัตว์ป่าและป่าพอสมควร
วันหนึ่งลุงปริก ซึ่งเป็นพี่ชายแท้ๆของพ่อผมไปขุดตุ่น ในสวนกล้วยได้มาสองตัว ตุ่นเป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่นเดียวกับหนูพุกขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง ชาวป่าให้สมญานามมันว่า "หมูน้อย " เพราระมันมีความมันคล้ายหมู
ลุงเอาตุ่นไปคลุกขี้เถ้าร้อนๆ แล้วถอนขนออกจนเกลี้ยง นำเอาไปลนไฟบนถ่านแดงๆ จนหนังปริ เอาไม้ขูดขนจนสะอาด ล้างน้ำ ตัดหัวผ่าท้อง ตัดเป็นชิ้นๆ แล้วใส่กระชอนพักไว้ จากนั้นก็เอาพริก กะปิ หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ เผาไฟให้หอม โขลกกับเกลือให้ละเอียด เอาใส่น้ำพอสมควร ตั้งไฟพอน้ำเดือดก็ใส่เนื้อตุ่นลงไป เคี่ยวจนเปื่อย หมั่นเติมน้ำอยู่เรื่อยๆ เวลาจะกินก็ผ่ามะระจีนเป็นสองซีกลอกเยื่อที่ติดกับเม็ดออกใส่ต้มลงไปด้วย สักพักพอมะระสุกก็ตักกินได้ ทั้งมันทั้งอร่อยมีรสขมนิดๆ อย่าบอกใครเชียว
ลุงบอกผมว่า ชีวิตของุต่นมีความลี้ลับอยู่มาก มันเกิดใต้ดินโตใต้ดินและตายใต้ดิน ตลอดชีวิตของมันอาศัยอยู่ใต้ดิน ซึ่งสัตว์ป่าอื่นๆไม่สามารถใช้ชีวิตใต้ดินอย่างมันได้ ตุ่นมีเวลาขึ้นมาบนดินเหมือนกันในเวลากลางคืนที่เงียบเชียบ แล้วมันก็จะลงรูไปโดยเร็ว เพราะอันตรายจากศัตรูของมันมีมาก ตลอดชีวิตของมันหันหลังให้กับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ หันหลังให้กับความมืด ความสว่างบนโลกมนุษย์ ใช้ชีวิตอยู่ใต้ดินตลอดกาล
ตุ่นเป็นสัตว์ที่ไม่สังคม คือ ต่างตัวต่างอยู่ ไม่เป็นสัตว์ดุร้าย พบกันก็จะไม่ทำร้ายกัน โดยมากตุ่นจะรวมกันอยู่เป็นครอบครัวเช่นเดียวกับเม่น อาวุธสำคัญของมันคือ ฟันอันใหญ่ยาวแข็งแรง เหมาะกับสภาพชีวิตที่หากินหัวของพืชและรากไม้ต่างๆ ถ้าเราจับตัวตุ่นดูจะรู้สึกตัวของมันนุ่มนิ่ม ขนเรียบติดตัว ตาเล็ก เป็นสัตว์น่ารักน่าเอ็นดูชนิดหนึ่ง
ตุ่นจะสร้างที่พักอาศัยของมันภายในดินตามบริเวณกอไผ่หรือโคนไม้ใหญ่ ไม่เช่นนั้นก็ตามไร่ตามสวนที่มีหัวพืชรากพืชอุดมสมบูรณ์ จะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาหาอาหารที่อื่น แต่ตุ่นจะาศัยอยู่ในรูของมันไม่นานนักต้องโยกย้ายไปที่อื่น ตามสภาพอุดมแห่งอาหารใต้ดินของมัน
อาหารของตุ่นคือ รากไผ่ รากไม้ต่างๆ หัวของพืชต่างๆ ตัวแมลงใต้ดินบางชนิด ตุ่นไม่มีความกังวลในเรื่องการกินน้ำเหมือนสัตว์อื่นๆ เพราะจำพวกรากไม้และหัวของพืชต่างๆมีน้ำอยู่เพียงพอแก่ความต้องการของมัน ซึ่งนับว่ามันมีความต้องการน้ำน้อยกว่าสัตว์ป่าต่างๆมาก
ศัตรูของตุ่น คือ มนุษย์ แมวป่า และเสือ มนุษย์เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง คือ สามารถใช้ความฉลาดจับมันมาเป็นอาหารได้หลายวิธีด้วยกัน ซึ่งผมจะได้เขียนวิธีล่าตุ่นไว้ท้ายๆเรื่อง เพื่อให้สมาชิกต่วยตูน ไปล่ากันมาทำแกล้มเหล้ากันต่อไป
สำหรับเสือและแมวป่านั้นมีโอกาสล่าตุ่นได้ยาก นานๆครั้งจึงจะประสบความสำเร็จในการล่า กล่าวคือ ในระยะที่ตุ่นกำลังมีลูกน่ารัก มันจะพาลูกๆขึ้นจากอุโมงค์มาวิ่งเล่นตอนดึกเดือนหงาย โอกาสนี้เองเสือและแมวป่าจึงจะตะครุบลูกตุ่นและแม่กินได้ การหนีศัตรูของตุ่นมีทางเดียวคือ หนีลงอุโมงค์เท่านั้น
(อ่านต่อตอนที่ ๒)
ที่มา ต่วยตูน ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๒
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น