++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หอ สระแอ แห - วิธีเย็บแห (๒)

หนุ่ย  หนองโสน

            ต่อไปเราก็เริ่มขึ้นจอมแห วิธีขึ้นจอมแหมี ๒ แบบคือ ขึ้นแบบถัก (เหมือนกับถักเปียเด็กนั่นแหละ ) กับขึ้นแบบพันหรือมัดเอา จะต้องนำด้ายมาจับหรือพันให้ได้ ๑๒ คู่ (ถ้านับด้ายจะมี ๒๔ เส้น) กะขนาดให้ยาวพอดี แล้วก็ถักหรือพันจอมแหจนเสร็จ เสร็จแล้วจะได้เป็นห่วงๆ ๑๒ ห่วง เมื่อขึ้นจอมแหเสร็จ ก็เอาชุนและปลามาเริ่มต้นจากตาแหที่เราขึ้นจอมไว้ พอเย็บได้ ๒ รอบ ก็จะได้แห ๑๒ ตา เพราะแต่ละรอบนั้นลักษณะมันคล้ายก้ามปู เมื่อเย็บได้ ๒ รอบก็เท่ากับก้ามปู ๒ คู่มาเกาะกัน ทำให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า จึงเป็นตาแหขึ้นมา เราเย็บไปเรื่อยๆ เมื่อได้ตาแหสัก ๓-๔ ตา ทีนี้ก้เริ่มทิ้งช่วงกันละ การทิ้งช่วงก็คือ การเพิ่มตาแหในแต่ละรอบตานั่นเอง ถ้าไม่ทิ้งช่วงเย็บไปเรื่อยๆ แหก็ไม่เพิ่มตามีแค่ ๑๒ ตาเท่าเดิม รูปทรงมันก็ไม่บานออก คล้ายกับผ้าถุงไปตลอดแล้วเราจะเอาไปเลิก เอ๊ย ....ทอดได้อย่างไร วิธีทิ้งช่วงเขาจะทิ้งตาเว้นตา เมื่อเย็บมาชนรอบตาแหแหก็จะเพิ่มขึ้นอีก ๖ ตา เมื่อเย็บจากทิ้งช่วงได้ ๑ ตาแห เขาจะทิ้งช่วงอีกในรอบต่อไป โดยให้ตาที่ทิ้งช่วงตรงกับตาที่ทิ้งช่วงตาแรก ตาของแหจะขยายเพิ่มไปเรื่อยๆจาก ๑๒ เป็น ๑๘, ๒๔, ๓๐ เพิ่มทีละ ๖ ตาไปเรื่อยๆ ในการทิ้งช่วงแต่ละครั้ง (หมายความว่า เย็บ ๒ รอบแล้วได้ตาแห ๑ ตา) ยิ่งยาวเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มตาแหมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เราเย็บไปเรื่อยๆ ถ้าเราต้องการแหยาว ๗ ศอก ๑ คืบ  (ประมาณ ๓.๕๐ เมตร) ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันมาก พอเย็บได้ยาว ๓ เมตร โดยวัดความยาวจากจอมที่เริ่มต้น เราก็หยุดทิ้งช่วง บางคนก็ใช้วิธีนับรอบเอา ถ้าขนาด ๖ เซ็นต์รอบหนึ่งก็กว้างเท่ากับตัวปลา คือ ๓ เซ็นต์ เย็บได้ ๑๐๐ รอบก็เท่ากับ ๓ เมตร

            เมื่อเลิกทิ้งช่วงก็เย็บต่อไปอีกสัก ๕๐ เซ็นต์หรือประมาณ ๑๖-๑๗ รอบ ก็จะได้แพอกับความยาวที่ต้องการ เสร็จแล้วก็เย็บตีนแห ต้องดูว่าใช้ด้ายอะไรเย็บ ถ้าเป็นด้าย ๔ เย็บก็ใช้ด้าย ๖ เย็บตีนแหต่อไปอีกสัก ๔ รอบ ตีนแหนิยมใช้ด้ายเบอร์ใหญ่กว่าตัวแห เพราะเวลาเดิน (ใส่) ตะกั่วจะได้ไม่ขาดง่าย ก็เป็นอันว่าเราได้แหขนาด ๖ เซ็นต์ยาว ๗ ศอก ๑ คืบแล้ว ๑ ปาก


            เย็บเสร็จได้แหแล้ว อย่าเพิ่งดีใจรีบใส่ตะกั่วนะครับ ยังมีขั้นตอนอีก  คือ ต้องเอาแหไปถ่วงให้ปมแหที่เย็บไว้มันรัดแน่นยิ่งขึ้นอีก ไม่เช่นนั้นทอดไปทีสองทีตาแหรูดไม่เป็นขบวน ก็จะทำให้เสียศูนย์เสียรูปทรงหมด อาจจะต้องเสียเวลาไปทำรีแพร์ เอ้ย ไม่ใช่ แก้ไข บางทีแก้ไขไม่ได้เอาเลย ขนาด ๖ เซ็นต์บางตาอาจจะถึง ๘ หรือ ๑๐ เซ็นต์ไปเลยก็มี เวลาทอดแล้วเรากะว่าไอ้ปลาตัวนี้ขนาด ๖ เซ็นต์ไม่รอดแน่ ที่ไหนได้ปลามันวิ่งในแหไปเจอเอาตารูดเข้า มันก็ผิวปากโบกหางบ๊ายบายมุดออกไปได้สบายใจโก๋ บางทีมันรูดมากๆเข้าถึงขนาดต้องทิ้งเลิกใช้กันไปเลย วิธีถ่วงก็หาโอ่งใบขนาดย่อมๆ หรือไหน้ำปลา บางคนเล่นถัง ๒๐๐ ลิตรตัดครึ่งกันเลยเชียวละ ทีนี่ก็หาเชือกไนล่อนขนาดนิ้วก้อยหรือนิ้วโป้มือมาเส้นหนึ่งยาวสัก ๓-๔ เมตรก็พอ นั่งร้อย (หรือจะนอนร้อย เพราะเมื่อยที่นั่งหลังขดหลังแข็งเย็บแหมานานก็ตามสะดวก ไม่ผิดกติกาอะไร) ตาสุดท้ายของตีนแห ระวังอย่าร้อยให้ข้ามตาเด็ดขาด จนเชือกที่ร้อยมาบรรจบกันก็หยุด  แล้วเอาโอ่งหรือไหหรือถังที่เตรียมไว้ใส่ไปในแห รูดเชือกที่ร้อยแล้วผูกติดกันให้แน่นเสีย  เอาหางเชือกแขวนหรือผูกกับขื่อคาบ้านหรือที่ชายคาบ้านก็ได้ ถ้าเครื่องบนหลังคาไม่แข็งแรงอย่าได้ริเอาไปผูกทีเดียวเชียว เดี๋ยวมันรับน้ำหนักไม่ไหว ก็จะหักโครมลงมาฟาดกระบาลเราเสียเปล่าๆปลี้ๆ เจ็บตัวแล้วยังต้องเสียเงินซ่อมบ้านกันอีกจะพาลโมโหเผาแหทิ้งเสียตั้งแต่ยังไม่ได้ทอดสักโครม หรือจะเอาไปผูกกับกิ่งไม้ที่สูงๆ กะกิ่งขนาดพอรับน้ำหนักไหว แต่อย่าไปผูกให้ไกลบ้านหรือไกลหูไกลตามากนัก เพราะอาจจะมีผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง เอ้ย ไม่ใช่ ต่อเรามาขอยืมไปใช้โดยไม่ได้ขออนุญาตสักกะคำ จะทำให้เสียเวลาเสียใจเสียเปล่าๆ ที่ทำแล้วไม่ได้ใช้ ส่วนคนใช้ไม่ได้ทำ

            พอแขวนได้ที่ได้ทางดีแล้ว จัดโอ่งให้ปากหงายขึ้นให้ตูดโอ่งอยู่ตรงหัวจอมพอดี จัดให้ได้จังหวะ ตั้งให้พอเหมาะดีแล้วก็เอาน้ำกรอกเข้าไปจะโดยวิธีใดก็ตามสบาย ขอให้น้ำเข้าโอ่งได้ก็แล้วกัน ขณะกรอกน้ำเข้าโอ่งเราจะถือโอกาสกรอกน้ำพรรค์อย่างว่า เข้ากระเพาะก็ได้ ถือเป็นการฉลอง ถ้าโอ่งที่มีชีวิตในบ้านเราไม่ว่า จะกรอกน้ำให้เต็มโอ่งหรือเพียงครึ่งก่อนก็กะน้ำหนักเอาเอง ถ้าเอาครึ่งหนึ่งก่อนถ่วงไปได้สัก ๔-๕ วัน ค่อยเติมให้เต็มก็ได้ บางรายเมื่อถ่วงเสร็จแล้วอุตส่าห์ต้มน้ำร้อนเสียเต็มปีบ แล้วใช้ความพยายามตะเกียกตะกายเอาน้ำร้อนขึ้นไปราดจากข้างบนลงมา นัยว่าเพื่อให้ด้ายยืดตัวปมตาแหจะได้รัดแน่นเข้าไปอีก

            ทีนี้ก็นั่งรอนอนรอไปเรื่อยๆ จะถ่วงสัก ๑-๒ เดือนก็ได้ถ้าไม่รีบร้อนเพราะยิ่งถ่วงนานยิ่งดี แต่อย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า ๒ อาทิตย์ พอถ่วงจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็ปลดแหลงมาเอาอุปกรณ์การถ่วงออกให้หมด ต่อไปก็เดินตะกั่วได้แล้ว บางคนยังไม่เดินตะกั่วทันที มีการเอาแหไปย้อมยางตะโกหรือมะพลับเสียก่อน เพื่อที่จะให้แหเหนียวใช้ได้นานจนเกินคุ้ม อีกอย่างถ้าย้อมเปอร์เซ็นต์ตาแหรูดน้อยมากจนแทบไม่มีเอาทีเดียว บางคนไม่ชอบบอกว่า มันไม่แผ้วไม่พริ้วไม่พันตัวปลาเวลาดิ้นสู้ไม่ย้อมไม่ได้ของมันต่างจิตต่างใจกันแหละ บางทีเราไม่ชอบคนอื่นชอบ

            การเดินใส่ตะกั่วก็เอาด้ายขนาดเดียวกับตีนแหนั่นแหละเดิน ก่อนเดินตะกั่วเราต้องเลือกขนาดตะกั่วให้เหมาะใจเราเสียก่อน ถ้าด้ายเล็กเขาไม่นิยมใส่ตะกั่วขนาดใหญ่เพราะจะทำให้ขาดง่าย และถ้าด้ายใหญ่เขาก็ไม่ใส่ตะกั่วเล็กมันทำให้แหจมช้า ไม่ทันปลา เรียกว่าต้องสมดุลย์กันพอสมควร การเดินตะกั่วก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้แหบานหรือไม่บานได้ ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ ตะกั่วมีเบอร์เหมือนกันแต่ส่วนมากใช้กะเอา โดยวิธีง่ายๆ คือ ถ้าเดินเสร็จแล้ว จะหนักประมาณกี่กิโล หนักที่สุดไม่ควรเกิน ๔-๕ กิโล แค่นี้ก็แบกกันอานแล้วล่ะ ถ้าจะต้องเดินกลางทุ่งกลางท่าไปหากินไกลๆ ยิ่งขากลับได้ปลามามากด้วยแล้ว พาลอยากจะทิ้งแหเอาแต่ปลากลับกันทีเดียว ถ้าไม่เสียดายว่าเสียเวลาหลังขดหลังแข็งเย็บมากับมือ เพราะบางคนไม่เก่งจริงๆ ใช้เวลาเย็บเป็นเดือนๆทีเดียวกว่าจะเสร็จ

                    (อ่านต่อตอนที่ ๓ - ตอนจบ)

ที่มา ต่วยตูน ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๒

1 ความคิดเห็น: