++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

จะถอดกิเลสมันต้องคิดพิจารณากายในกาย ... Attached file .pdf

----------------------------------------------------------

โดย พระอาจารย์ตั๋น วัดป่าบุญญาวาส จังหวัดชลบุรี

เทศน์เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551

. . . เบื้องต้น ต้องหาทางทำยังไงให้จิตสงบ ทำให้ได้ ทำสมาธิภาวนา ๗ วัน
๑๐ วัน ทำให้ได้ แล้วก็ทรงสมาธิให้ได้ ถ้าทรงสมาธิได้ จิตเป็นหนึ่ง
เป็นเอกคัตตาจิตเนี่ย สบาย ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น
ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสเย็นร้อยอ่อนแข็ง ความรู้สึกพอใจเกิดขึ้น
หรือความรู้สึกตรงกันข้ามความไม่พอใจเกิดขึ้น สติมันเห็น
เพราะสติมันอยู่ที่จิต อารมณ์ก็ออกจากจิต กิเลสก็ออกจากจิต
เมื่อสติมันตั้งมั่นจากสมาธิเนี่ย สติมันเห็น มันรู้เท่าทัน
เมื่อรู้เท่าทัน มันมีพลังของปัญญา พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
ในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส นั้นจะปล่อยว่างได้ในขณะจิตนึง
ในปัจจุบันนั้นเลย สติ สมาธิ ปัญญา แหลมคม จะละกิเลสได้ในปัจจุบัน
ชั่วคราวนะ ละอารมณ์นี่มันชั่วคราว

จะถอดกิเลสนะมันต้องคิดพิจารณากายในกาย ตั้งแต่โสดาบันผล ถึงอนาคามีผล
ตั้งแต่กายอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ๓ ระดับ
กายอย่างหยาบก็โสดาบันผล กายอย่างกลางก็สกิทาคาผล
กายอย่างละเอียดที่ละได้ก็อนาคามีผลนั้นล่ะ นี่แหละเป้าหมายของการพิจารณา
กายในกายเนี่ย อันนี้เป็นทางที่ไม่ผิด ไม่เชื่อก็ลองทำดู
แล้วจะเห็นประจักษ์ชัดด้วยใจของตนเอง รู้เห็นธรรมขึ้นมาก็ด้วยใจของตนเอง
ใจจะเป็นธรรมขึ้นมาก็ด้วยพิจารณากายในกายนี่แหละ

การพิจารณาอารมณ์นั้น ปล่อยวางชั่วคราวเท่านั้นแหละ วันนี้ละรูปนี้ลงไป
ละเสียงนี้ กลิ่นนี้ รสนี้ ออกไป พรุ่งนี้ รูปใหม่ รสใหม่ กลิ่นใหม่
สัมผัสใหม่ ไม่เหมือนเดิม สติปัญญาต้องทำงาน เหนื่อย เหมือนเดิมทุกๆวัน
ละวางได้แต่เพียงชั่วคราวเท่านั้นแหละ ถ้าไม่ขุดรากถอนโคน
รากเง้าคืออุปาทานความยึดมั่นในกายตนแล้วเนี่ย อารมณ์ไม่มีทางระบาด

ผู้ที่ดูจิต พิจารณาจิต พิจารณาอารมณ์ทั้งนั้น
ไม่สามารถที่จะเข้าสู่มรรคผล นิพพานได้
เพราะไม่เห็นความไม่เที่ยงของกายนี้ ถ้าผู้ใดไม่ผ่านทางการพิจารณากาย
แล้วว่าตนบรรลุโสดาบันจนถึงอรหันต์นั้น อันนั้นด้วยความหลง
ด้วยความวิปลาส วิปริต ต้องผ่านการพิจารณากายหมด พระอริยะบุคคลเบื้องต้น
จนถึงพระอนาคามี จึงจะพิจารณาจิตที่ละเอียด หรือ กิเลสที่ละเอียดได้
เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาบวช อุปชาท่านใดไม่ได้ให้พิจารณากรรมฐาน ๕ คือ ผม
ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ทำให้กุลบุตรนั้นเป็นหมั่นจากมรรคผลนิพพานได้เลย
ในปัจจุบันชาติ เพราะไม่ชี้ทางไม่บอกทางแห่งมรรคผลนิพพาน
กรรมฐานทั้งหลายก็มีอยู่ สติปัฏฐาน ๔ ก็ขึ้นด้วยกายก่อน แล้ว เวทนา จิต
ธรรม สังโยชน์ ๑๐ ก็ละสักกายะทิฐิ เรื่องของกายทั้งนั้น
อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องถ่ายถอดกิเลส
ทำให้ความโลภความโกรธความหลง เบาบางไปได้ จนดับความโลภ ดับความโกรธได้เลย
ละความยินดีในกามทั้งหลายเรื่องของกายนี่แหละ
เพราะฉะนั้นต้องฝึกซ้อมพิจารณา

ท่านใดคิดจิตยังไม่สงบ เมื่อถึงเวลาเข้าที่เดินจงกลม
ให้ทำความรู้สึกไว้ที่ต้นทาง ระลึกถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์
ต่อไปนี้เราจะเดินจงกรมเพื่อที่จะฝึกสติของเรา อยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนา
จะเดินไปกลับ ๑๐ รอบจะไม่ให้คิดถึงสิ่งอื่นใดเลย นอกจากคำบริกรรมภาวนาว่า
พุทโธ หรือ กำหนดที่เท้าสัมผัส หรือ กรรมฐานบทใดบทหนึ่ง เดินไปกลับ ๑๐
รอบ อย่าให้ความคิดใดมาแทรก หรือจะเดิน ๒๐นาที ครึ่งชั่วโมง
ขจัดความคิดออกไปก่อน ตะเพิดกิเลสออกไปว่า เราคิดมาตลอดจะ ๒๔ ชั่วโมงแล้ว
เวลานี้ไม่ใช่เวลาคิด อย่าไปตามกิเลส อย่าไปปล่อยให้จิตนึกคิดปรุงแต่ง
สารพัดเรื่อง สารพัดอย่าง เป็นการเดินจงกรมเดินนึกคิดเอา
ไม่ได้เดินทำสติทำสมาธิ

ตามหลักผู้ที่จิตไม่สงบในเบื้องต้น
ในเวลาเดินจงกรมให้ทำสติอยู่ที่กรรมฐานที่ภาวนาเท่านั้น
ถ้าเผลอสติออกไปก็ตั้งสติใหม่ขึ้นมา
เผลอสติก็ตั้งสติขึ้นมาอยู่กับกรรมฐานเรา
ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องคิดเรื่องอดีตเรื่องอนาคต อย่าไปหลงกลกิเลส
ปรุงแต่งส่งเสริมไป จะว่าบังคับจะว่าควบคุมก็ช่างเถอะ
เราจะทำสติสมาธิก่อน

เห็นไหม หลวงตามหาบัวเมื่อปฏิบัติเริ่มต้นใหม่ๆ เมื่อท่านทำกลด
จิตเลยเสื่อมจากสมาธิท่านเจ็บใจอาฆาตแค้นกิเลส บอกจะไม่ทิ้งพุทโธเลย
จะไม่ทิ้งคำบริกรรมภาวนาพุทโธเลย ไม่ว่าจะอยู่ในอริยาบท ยืนเดินนั่งนอน
จะไม่ทิ้งคำภาวนาพุทโธเลย ใจให้แนบแน่นอยู่ตรงนั้น
นั้นแหละการฝึกสติให้เป็นหนึ่งเดียว
เมื่อเราจิตไม่สงบให้เดินจงกรมกำหนดสติอยู่กับกรรมฐานที่เรากำหนดภาวนา
จิตจะคิดไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ตัดออกไป ไม่ใช่เวลาคิดตะเพิดออกไป
เดินไป ๑๐ รอบก็ให้มีสติอยู่กับพุทโธนั้นแหละ

ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ หรือนั่งสมาธิก็ตามกำหนดระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ นั่งคู้บัลลังก์ขัดสมาธิ กำหนดสติอยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนา
จะกำหนดอาปานสติ หรือ พุทธานุสติ หรือ กรรมฐานบทใดบทหนึ่งก็แล้วแต่
ให้ทำจิตให้ว่างจากอารมณ์ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องอดีต เรื่องอนาคต
เรื่องปัจจุบัน ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ถ้าเรานั่งอยู่กับหมู่
ให้เราทำใจให้เหมือนนั่งอยู่บนท้องฟ้าคนเดียว
กำหนดสติอยู่กับกรรมฐานของเราเท่านั้นแหละ ถ้าคิดเรื่องอดีต
ก็ตั้งสติขึ้นมาใหม่
คิดถึงเรื่องอนาคตก็ตั้งสติขึ้นมาใหม่อยู่กับลมหายใจเข้าออก
อยู่กับคำบริกรรมภาวนา ทำอย่างนี้ไปก่อน สำหรับผู้ที่ไม่มีความสงบ
ทำอย่างนี้ไปก่อน ใครจะว่าบังคับก็ตาม ควบคุมก็ตามไม่สนใจ
เราจะควบคุมจิตใจเราให้ได้หนิ ปล่อยจิตใจมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว
เค้ายังฝึกช้างให้เชื่องได้ ฝึกม้าให้หายพยศ ฝึกหมาให้เชื่องได้
ทำไมใจตัวเราฝึกให้ดีไม่ได้ จะฝึกให้มันนิ่ง นิ่งไม่ได้เหรอ
กำหนดอยู่ตรงนั้นแหละ

ถ้ามันเครียดตึง ปวดศรีษะ ปวดร่างกาย ปวดเส้น มันตึงไปก็รู้จักว่างจิต
ให้เป็นกลางหน่อยผ่อนลงมาหน่อย อย่าไปเพ่งมากมายนัก พอผ่อนลงไปมากก็หย่อน
เกิดนิวรณ์ อันนี้ก็หย่อนเกินไป กำหนดสติให้ถี่ขึ้นมาหน่อย
หาความเป็นกลางให้ได้ ทำยังไงสมาธิจึงจะเกิดขึ้น หาความพอดีให้ได้
การนอนก็พิจารณาแล้วนอนขนาดไหนพอดี การฉัน
ฉันขนาดไหนจึงจะพอดีพิจารณาแล้ว ทีนี้เรื่องการทำความเพียร
หาเวลาเดินจงกรมนั่งสมาธิ สลับกันไปตลอดเป็นผู้ปรารถความเพียรอยู่เสมอ
ว่างเข้าที่เดินจงกรม ว่างเข้าที่นั่งสมาธิ . . .

1 ความคิดเห็น:

  1. ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว หาความรู้ไปกับโลกกว้างที่ ...http://www.ainews1.com/modules.php?name=Web_Board&file=view&No=265

    ตอบลบ