++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

EMS หน่วยช่วยเหลือเคลื่อนที่เร็วบ้านเกาะ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา

เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

            "เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้กับประชาชน ทำอย่างไรก็ได้  เพื่อป้องกันโรคในวัยต่างๆ ให้คนในพื้นที่ และในขั้นตอนสุดท้าย คือ ทำอย่างไรก็ได้ในเรื่องของการฟื้นฟูสุขภาพ " นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
            จากนโยบายกว้างๆข้างต้น กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ บ้านเกาะ จัดทำโครงการโดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนใน 5 โครงการ
            1. โครงการผู้สูงอายุ
            2. โครงการแข่งขันกีฬาเยาวชนตำบล
            3. โครงการพัฒนาศักยภาพสาธารณสุขมูลฐานชุมชนประจำหมู่บ้าน
            4. โครงการช่วยเหลือผู้หญิง
            5. โครงการแข่งขันจักรยานแรลลี่เยาวชน

            "กิจกรรมช่วยให้เด็กเยาวชนและชาวตำบลบ้านเกาะทุกคนได้รับประโยชน์จากเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ "นายก อบต.กล่าว
            นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังได้นำสิ่งของเข้าร่วมสมทบในกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ ซึ่งสรุปได้ว่า กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากการร่วมแรงร่วมใจ เป็นประสบการณ์ให้ได้เรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องต่างหมู่บ้าน
            โครงการ EMS  เป็นอีกโครงการทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเข้าทำการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งในเขตพื้นที่และนอกพื้นที่อย่างฉับไว ผ่านการฝึกอบรมอย่างชนิดเข้มข้นที่ศูนย์ EMS ของโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา

            ศูนย์ EMS อบต.บ้านเกาะ จัดส่งพนักงานเข้ารับการอบรมตามมาตรฐานเต็มหลักสูตร 7 วัน 66 ชั่วโมง จำนวน 2 รุ่น รวมทั้งหมด 17 คน
            นายก อบต.ซึ่งให้นโยบายแก่พนักงานว่า ขอให้ช่วยเหลือประชาชนให้เต็มที่ จัดให้มีเจ้าหน้าที่เข้าเวรตลอด 24 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น 2 ผลัด เพื่อรับคำร้องขอความช่วยเหลือทั้งทางวิทยุและโทรศัพท์โดยตรง เรียกว่า แจ้งเหตุกันได้ 24 ชั่วโมง ทำให้ที่ผ่านมาประชาชนได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่
            พื้นที่เขต อบต.บ้านเกาะ เป็นพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีถนนเล็กและแคบ รถEMSซึ่งเป็นรถปิคอัพจึงสามารถวิ่งเข้าวิ่งออกได้ทั่วถึง ทำให้เกิดงานบริการที่รวดเร็ว สามารถส่งต่อผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ภายในเวลาไม่เกิน 15 นาที

            "เราไม่เน้นเรื่องค่าบริการ แต่เราเน้นเรื่องการช่วยเหลือ " ปลัด อบต.บ้านเกาะ กล่าว
            สำหรับบริการ EMS ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ จะโทรศัพท์มาที่หมายเลข 044-922-585 ซึ่งเป็นสายตรงหรืออาจโทรไปที่ 1669 ซึ่งเป็นศูนย์ของจังหวัดนครราชสีมา หากพบว่าอยู่ในพื้นที่บ้านเกาะ เจ้าหน้าที่จะติดต่อกันทางวิทยุสื่อสารที่เรียกเข้ามา จากนั้น เจ้าหน้าที่จะออกให้บริการถึงจุดเกิดเหตุ

            ใช้เวลารวมไม่เกิน 15-30 นาที ในการนำผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาล
            ความช่วยเหลือนั้นวัดกันเป็นวินาที หากพลาดแค่วินาทีเดียว อาจทำให้ผู้ใช้บริการเสียชีวิตได้ ถือว่าเป้นนโยบายของโครงการนี้ที่ได้รับการเน้นย้ำอย่างยิ่งจาก อบต.บ้านเกาะ

            การทำงานย่อมมีอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดา หน่วย EMS อบต.บ้านเกาะ เจอสภาพปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเรื่องการช่วยเหลือกับมูลนิธิทางสังคมกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับการพูดคุยและแบ่งพื้นที่รับผิดชอบันไปเรียบร้อยแล้ว หรือประเด็นความรู้ในเรื่องการทำคลอดที่ควรจะต้องได้รับการอบรมอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องงบประมาณการทำงานหรือติดตั้งเครื่องมือในการช่วยเหลือชีวิต อย่างเช่น เครื่องมือช่วยหายใจ เครื่องวัดความดันประจำรถ EMS เพื่อการช่วยเหลือที่เพียบพร้อมและทันท่วงที

            จุดแข็งของผลสำเร็จของโครงการนี้ คือ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วย EMS ทุกคน ต่างเป็นลูกเป็นหลานของคนในตำบลบ้านเกาะ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานให้ อบต. การรับหน้าที่ประจำหน่วยฉุกเฉิน เป็นการแสดงออกถึงความพร้อมในการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคม ด้วยความคิดพื้นฐานที่มีมาแต่เดิมของสังคมไทยที่ต้องมีความกตัญญูรู้คุณ ดูแลปู้ย่าตายาย ญาติพี่น้อง ในยามแก่เฒ่าหรือเจ็บไข้ได้ป่วย

            "เราทำงานช่วยเหลือเพราะความรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นลูกเป็นหลาน ค่าตอบแทนในการทำงานจึงเป็นเรื่องรอง" เจ้าหน้าที่ EMS
            "เราโทรไปเขาก็มา มาเร็วด้วย ไม่ว่าเวลาไหนก็มา เจ้าหน้าที่ก็สุภาพ ช่วยเหลือดี " เป็นเสียงจากหญิงชราวัย 73 ปี ผู้หนึ่งที่กล่าวถึงบริการ EMS ด้วยความรู้สึกตื้นตัน
            " เป็นคนบ้านเดียวกัน พอโทรไปเขาก็มา เป็นคนในหมู่บ้านรู้จักกันมานาน ถ้าเราไม่เจ็บป่วยจริงๆ ไม่จำเป็นจริงๆ เราไม่ตามหรอก" หญิงชราวัยเดียวกันอีกคน พูดถึงประสบการณ์ที่น่าประทับใจเมื่อใช้บริการหน่วย EMS
            ปัจจุบัน หน่วยบริการ EMS ได้รับความไว้วางใจในเรื่องการทำงาน แม้แต่ บางคนที่ไม่ได้อยู่เวร แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ยังอาสาตัวเองออกไปช่วยเหลือ ซึ่งผลที่ได้รับเกินความคาดหวัง เพราะไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่ EMS จะเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันสถานการณ์นี้

            จากที่ชาวบ้านเคยคิดว่า เจ้าหน้าที่ EMS จะช่วยเฉพาะคนที่เจ็บหนักหรืออุบัติเหตุฉุกเฉินเท่านั้น แต่กลับช่วยในทุกๆเรื่อง แม้แต่อาการเจ็บป่วยนิดๆหน่อยๆ หรือคนที่ไม่มี่ค่ารถไปหาหมอเขาก็ไปส่ง มีอะไรเรียกได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับอุปกรณ์ประจำรถที่ขาดแคลนควรจะหามาเสริมกำลังหน่วย เพื่อการช่วยเหลือคนไข้ได้อย่างทันท่วงที เพราะการบริการที่ผ่านมาคุ้มค่าเงินทองรวมทั้งระยะเวลาและแรงงานที่เสียไปเป็นอย่างมาก

            ทั้งนี้ ควรจะมีการประชาสัมพันธ์ถึงหน่วยบริการ EMS อบต.บ้านเกาะให้ขยายวงกว้างออกไปมากกว่านี้
            " หมู่บ้านมันกว้าง วางทีเราก็ไม่รู้ " ผู้ใช้บริการกล่าวเสริม
            แม้พื้นที่จะกว้าง แต่ทางไกลก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการร่วมมือร่วมใจในการสร้างหลักประกันสุขภาพของคนบ้านเกาะ เพราะคนที่นี่มีหน่วย EMS คอยบริการอยู่นั่นอย่างไร

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ดร.นัฐชญา คุรุเจริญ
ดร.ดวงรัตน์ คัดทะเล
กชกร แก้วพรหม
ทัศนีย์ ทิพย์สูงเนิน


ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

1 ความคิดเห็น: