++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทเรียนผู้นำ

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล 12 สิงหาคม 2552 19:12 น.
ช่วงค่ำวันจันทร์ เช้าวันอังคาร เมื่อผมได้เห็นภาพคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี เดินทางไปถ่ายภาพลงปกนิตยสารแพรว
พร้อมกับดารา-นักร้องหลายคนแล้วก็ตกใจ
ตอนแรกนึกว่าคุณอภิสิทธิ์จะเปลี่ยนอาชีพจากนักการเมืองไปเป็น
"นักร้อง-นักแสดง" เสียแล้ว

แต่เมื่อสืบสาวราวเรื่องลงไปเรื่อยๆ ก็พบว่า จริงๆ
แล้วที่ท่านนายกรัฐมนตรีเดินทางไปปฏิบัติภารกิจคราวนี้ก็เพื่อการประชา
สัมพันธ์โครงการ "คิดอย่างยั่งยืน" ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน
(กอ.รมน.) ที่ว่ากันว่าได้งบประมาณมาทำ "โฆษณา-ประชาสัมพันธ์"
มาจำนวนมากในหลักร้อยล้านพันล้าน นั่นแหละ!

เป็นโครงการ "คิดอย่างยั่งยืน" นี่เอง
ที่มีความพยายามจะประชาสัมพันธ์ศัพท์ใหม่ว่า "โมโซ (Moso)"
ที่ซื้อสื่อโฆษณาแบบปูพรมดะทั้งในหนังสือพิมพ์-วิทยุ-โทรทัศน์
เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนและเยาวชนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ

แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าแปลกประหลาดนะครับที่โครงการรณรงค์ให้คนหัน
มาใช้ชีวิตอย่างพอเพียง-พอประมาณ
กลับใช้งบประมาณในการทำพีอาร์มากถึงพันล้านบาท
และการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐให้กับโครงการนี้อย่างมากมายมหาศาลนี่เอง
ก็ย่อมจะเป็นคำตอบได้ดีว่า
แท้จริงแล้วรัฐบาลชุดนี้มีพฤติกรรมมีการทอนสตางค์ให้กับ "แก๊งสีเขียว"
หรือไม่? หรือเป็นเพียงการล้างผลาญเงินภาษีของประชาชนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์?

จากผลงาน และการแถลงผลงานในรอบ 7-8
เดือนที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เพิ่งดำเนินการแถลงอย่างเป็นทางการไปเมื่อ
สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำเอาสื่อมวลชนหลายแขนงที่เคยเชียร์รัฐบาลอย่างแข็งขัน
ต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วันนี้ประชาชนหมดเวลา "ฮันนีมูน"
กับรัฐบาลอภิสิทธิ์แล้ว และถึงเวลาที่รัฐบาลชุดนี้จะต้องแปร
"ภาพสวยและลมปาก" ให้เป็น "ผลงานรูปธรรม" เสียที

ไม่น่าเชื่อนะครับว่า จากรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ที่เมื่อ 7-8
เดือนที่แล้วมีแต่คนแซ่ซ้องว่า เป็นความหวังของประเทศ
เป็นนายกรัฐมนตรีที่เกิดมาเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นนายกรัฐมนตรีคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นความหวังของโลกเทียบชั้น นายบารัค
โอบามา ประธานาธิบดี จะเสื่อมความนิยมได้รวดเร็วถึงเพียงนี้
ทั้งในแง่ของมวลชน และ ข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชา
ที่หาญกล้าถึงขั้นขัดคำสั่งโดยชอบธรรมของนายกรัฐมนตรี!

สถานการณ์ความขัดแย้งภายใน และภายนอกที่รุมเร้ารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์
บ่งชี้ให้เห็นถึงว่า
นับแต่นี้ต่อไปถือเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะสามารถบริหารประเทศให้
พัฒนาหรือรุดหน้าไปได้อย่างที่ประชาชนคาดหวังไว้แต่แรก
เพราะปัจจุบันรัฐบาลนั้นตกอยู่ในหล่มหลุมของสถานการณ์ที่ว่า
"ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก"

กล่าวคือ
ขณะที่ปัญหาเดิมที่รุมเร้ารัฐบาลและเสถียรภาพของประเทศอย่างรุนแรงอยู่แล้ว
เช่น ปัญหาการบ่อนทำลายเสถียรภาพสถาบันหลักของประเทศโดยกลุ่มคนเสื้อแดง
ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา
รวมไปถึงปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น
ปัญหาจากปัจจัยภายในรัฐบาลก็เกิดกำเริบขึ้นเสียอีก กล่าวคือ
ปัญหาความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ปัญหาการทุจริต
ปัญหาการต่อรองจากกลุ่มอิทธิพลในรัฐบาลที่มีอำนาจเหนือนายกรัฐมนตรี

ใช่หรือไม่ว่า ...
รัฐบาลเริ่มเสื่อมเนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงให้สามารถ
บรรเทาลงได้เหมือนที่เคยโอ้อวดไว้ตั้งแต่สมัยยังเป็นฝ่ายค้าน
อันพิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อเอาเข้าจริง
รัฐบาลนี้ก็ยังคงสยบยอมให้กับกลุ่มบริษัทพลังงานที่ขูดรีดขูดเนื้อประชาชน
อยู่ทุกวี่วัน?

ใช่หรือไม่ว่า... รัฐบาลเริ่มเสื่อมเพราะว่า
ไม่สามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทั้งทางบกและทางน้ำกับประเทศกัมพูชาได้
ทั้งๆ ที่ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคนเคยอภิปรายและคัดค้านรัฐบาลสมัยนาย
สมัคร สุนทรเวช ไว้อย่างดิบดี?

ใช่หรือไม่ว่า... รัฐบาลเริ่มเสื่อมเพราะว่า
ขาดความเด็ดขาดในการจัดการกับการปลุกระดมทำลายสถาบันเบื้องสูงและการก่อความ
วุ่นวายโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มคนเสื้อแดง?

ใช่หรือไม่ว่า... รัฐบาลเริ่มเสื่อมเพราะว่า
ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้บรรเทาเบาบางลงได้ ทั้งๆ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นมี
ส.ส.ภาคใต้มากกว่าพรรคอื่นทั้งหมด

ใช่ หรือไม่ว่า.... รัฐบาลเริ่มเสื่อมเพราะว่า
นายกรัฐมนตรีขาดความเด็ดขาดในการใช้อำนาจ
ในบริหารบุคลากรภายใต้บังคับบัญชา
โดยเฉพาะตั้งแต่เหตุการณ์ล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา-รุมทำร้ายนายก
รัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน?

สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณอภิสิทธิ์
ทำเอาผมอดไม่ได้ที่จะหวนนึกไปถึงคำพูดของท่านปรีดี พนมยงค์
ที่ให้ไว้กับนิตยสาร เอเชียวีก (ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2523)
เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน หรือก่อนที่ท่านจะถึงแก่อสัญกรรมไม่ถึง 3 ปีดี
โดยท่านปรีดีกล่าวไว้ว่า

"ใน ค.ศ. 1925
เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง
25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน
แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด
แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน
และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา
ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริง ในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย
ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ
ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ
ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์
มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี ใน ค.ศ. 1932 ข้าพเจ้าอายุ 32
ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน
และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ"

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา หากจะกล่าวไปแล้ว
จุดที่คุณอภิสิทธิ์ยืนอยู่ในปัจจุบันก็คงไม่ต่างไปจากท่านปรีดีในวันที่มี
อำนาจเท่าไหร่

ผม เพียงคาดหวังและภาวนาว่า ในอีกหลายปีข้างหน้า
ผมจะไม่ได้ยินคุณอภิสิทธิ์พูดให้สัมภาษณ์กับใครในทำนองเดียวกันกับท่านปรีดี
กล่าวกับเอเชียวีกในวันที่ท่านไร้อำนาจ เพราะนั่นหมายความว่า
ในอนาคตอันไกลนี้
ประเทศชาติและประชาชนไทยอาจจะต้องประสบทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสยิ่งทีเดียว

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000091729

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น