++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เด็กไทยเห็นแก่ตัว "ให้" ไม่เป็น แนะแม่ใช้บันได 3 ขั้นเลี้ยงดูลูก

เผยผลสำรวจ ต้นทุนชีวิตเด็กไทยเหือด ระบุ เห็นแก่ตัว "ให้"
ไม่เป็น ขาดแรงยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และหันไปยึดติดวัตถุมากขึ้น "หมอเดว"
แนะแม่ต้องสร้างทุนชีวิตให้ลูก ให้เวลา-ความรัก และการพูดคุยให้กำลังใจ
ถือเป็นบันได 3 ขั้นแรกแก่ลูก

วานนี้ (10 ส.ค.) นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
หัวหน้าฝ่ายกุมารเวชศาสตร์สังคมและวัยรุ่น
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
และผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว
"แม่...ผู้สร้างทุนชีวิตลูก"ว่า
ต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนถือเป็นภูมิคุ้มกันของเด็กและเยาวชน
ซึ่งจะเป็นการลดพฤติกรรมเสี่ยงและปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ซึ่งประกอบด้วยพลังตัวตนหรือคุณค่าในตัวเอง พลังเพื่อนและกิจกรรม
พลังครอบครัว พลังชุมชน และพลังสร้างปัญญา
แต่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มักเน้นการให้ต้นทุนกับลูกเพียง
2 ด้าน คือ ทุนทรัพย์ และทุนทางปัญญา ผลที่ออกมา คือ
เด็กในปัจจุบันกลายเป็นหุ่นยนต์
มุ่งเรียนและแข่งขันเพื่อให้ได้งานสบายและเงินเดือนสูงๆ
แต่ขาดการสร้างต้นทุนชีวิต
ซึ่งเป็นทุนการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กมีความเป็นคนมากกว่าหุ่นยนต์

นพ.สุริยเดว กล่าวว่า จากการสำรวจต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชน
ผ่านแบบทดสอบต้นทุนชีวิตของเยาวชนอายุระหว่าง 12-25 ปี จำนวน 20,892
ตัวอย่าง ใน 18 จังหวัด พบว่า ต้นทุนชีวิตที่ขาดหายไปของเด็กไทย มีอยู่ 4
ด้าน คือ 1.ขาดทักษะการเป็นผู้ให้ มีเพียงร้อยละ 34 เช่น
การช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยทำงานบ้าน
หากเยาวชนไม่มีทักษะการเป็นผู้ให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ
สังคมจะขาดความเอื้ออาทร และเห็นแก่ตัวมากขึ้น
2.ขาดการร่วมกิจกรรมทางศาสนา ร้อยละ 43 เมื่อสิ่งเหล่านี้ขาดหายไป
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เด็ก และเยาวชนขาดแรงยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
และหันไปยึดเหนี่ยวทางวัตถุ 3.การสะท้อนคุณค่าของเด็กๆ
ในชุมชนในระดับที่น้อยมาก ร้อยละ 51 แสดงให้เห็นว่า
ประเทศเราลงทุนกับเด็กและเยาวชนในกิจกรรมสร้างสรรค์น้อยมาก
ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เด็กติดเกม
เพราะขาดพื้นที่และกิจกรรมทางเลือกอื่นๆ 4.ยอมรับการไม่พูดความจริง
ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นประตูบานแรกสู่ความไม่ซื่อสัตย์

"ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างต้นทุนชีวิตให้กับลูก คือ แม่
และเป็นผู้สร้างทักษะการเป็นผู้ให้ที่สำคัญแก่ลูกได้เป็นอย่างดี เช่น
ช่วยทำงานบ้าน ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
ไม่เช่นนั้นสังคมแห่งความเอื้ออาทรจะกลายเป็นสังคมแห่งการแข่งขัน
และเห็นแก่ตัวในที่สุด แม่ถือว่าเป็นผู้สร้างโลก
ผ่านการสร้างต้นทุนชีวิตให้กับลูกโดยการเลี้ยงดูด้วยการให้เวลา
ให้ความรัก และการพูดคุยให้กำลังใจให้ทักษะกับลูก ซึ่งถือเป็นบันได 3
ขั้นแรกของการสร้างต้นทุนชีวิตให้กับเด็ก" นพ.สุริยเดว กล่าว

นพ. สุริยเดว กล่าวว่า
แม่ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการใช้เวลากับลูก
ส่วนใหญ่พ่อมักจะมีปัญหาเรื่องเวลาให้กับลูกมากกว่า
แต่เวลาที่แม่ให้กับลูกมักอยู่ในรูปของการให้การสนับสนุนมากกว่าการสร้าง
สัมพันธภาพ ดังนั้น
การใช้เวลากับลูกให้สัมผัสถึงความรักด้วยคำพูดหรือแม้แต่การโอบกอดสัมผัส
และไม่ควรใช้คำพูดที่บั่นทอนจิตใจ
ซึ่งจากการให้คำปรึกษาในคลินิกวัยรุ่นพบว่า 100%
ที่มาปรึกษาไม่มีทักษะในการชื่นชม หรือพูดคุยให้กำลังใจ
มีกรณีตัวอย่างที่พบว่า เด็กที่ได้เกรดเฉลี่ย 0.26
เพราะมาจากคำพูดของแม่ที่บั่นทอนจิตใจมาตลอด ดังนั้น หากบันได ทั้ง 3
ขั้นดังกล่าวขาดหายไป การสร้างต้นทุนชีวิตด้านต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก
คุณพ่อคุณแม่หรือน้องๆเยาวชนสามารถทดสอบต้นทุนชีวิตเบื้องต้นได้ผ่านเกม
ทดสอบทุนชีวิตในเว็บไซต์ www.thaihealth.or.th หรือ www.dekplus.com


http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000090901


มีเพื่อนคนหนึ่งค่ะ ที่ไหนมีกิจกรรมอะไร อบรมอะไร หลักสูตรพิเศษที่ไหน
เธอจะขวนขวายเข้าร่วมตลอด
เพราะหน้าตาเธอค่อนข้างดีกว่าคนอื่นๆ

ผลลัพธ์ก็คือ เธอเข้าไปร่วมเพื่อให้คนอื่นแสดงความชื่นชมความสวยงามของเธอ
เพื่อตอบสนองความต้องการอยากเด่นในหมู่คน

แต่จิตสำนึกสาธารณะ การเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่เคยอยู่ในจิตใจ
ที่ทำไปเพื่อความเด่นอย่างเดียว

จนกลายเป็นนิสัย ไม่ว่าจะทำอะไรก็มุ่งแต่ให้คนยกย่อง
แต่ ไม่เคยคำนึงถึงส่วนรวม
แถมยังชอบอ้างว่าตัวเองมีประวัติเข้าร่วมกิจกรรมเยอะมาก
แต่กลับทำงานกลุ่มไม่เป็น มีทำบุญบ้างเล็กๆ น้อยๆ
แต่ทั้งหมดก้เพื่อต้องการชื่อเสียง ให้คนมองว่าเป็นคนดี

มันเป็นอะไรที่สะท้อนภาพความอัปลักษณ์ของสังคม และจิตใจที่ฉ้อฉล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น