"หนุ่มเมืองจันท์"
CEO นิ้วก้อย
ทันทีที่อ่านหนังสือ a day BULLETIN เล่มใหม่จบ
สิ่งแรกที่คิดก็คือ ต้องเขียนถึงคนคนนี้
"ทัศพล แบเลเว็ลด์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ "CEO" ของ
"ไทยแอร์เอเชีย" สายการบินต้นทุนต่ำรายแรกของเมืองไทย
หนังสือ a day BULLETIN เป็นหนังสือแจกฟรีของค่าย a day
ที่ฮิตและฮอตจนต้องเปิดรับสมาชิก
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ บทสัมภาษณ์
อย่างบทสัมภาษณ์ "ทัศพล" เล่มนี้
"ทัศพล" เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการ "วอร์เนอร์ มิวสิค" ก่อนจะมารับตำแหน่ง
CEO ของ "ไทยแอร์เอเชีย" ที่เป็นบริษัทในเครือชินคอร์ป
เขาเป็นคนที่มีอารมณ์ขัน มีทัศนคติทางบวก
วันที่กลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ
เครื่องบินของไทยแอร์เอเชียจอดอยู่ 10 กว่าลำ
ในขณะที่คนอื่นกำลังทุกข์
เขากลับคิดในแง่ดีและมีอารมณ์ขัน
"เครื่องบินของคนอื่นเขาก็จอดอยู่เหมือนกัน"
เป็นความคิดแบบ "เฉลี่ยทุกข์"
เราทุกข์ เขาก็ทุกข์
หรือเมื่อมีคนถามว่าเชื่อหรือไม่ว่าทุกปัญหาที่มีทางออก
"ทศพล" บอกว่าที่มีคนบอกว่ามืด 8 ด้าน แสดงว่าด้านที่ 9 ต้องมีทางออก
"ไม่มีปัญหาอะไรในโลกนี้ที่ไม่มีทางออก
เพียงแต่ออกไปแล้วจะบาดเจ็บหรือเปล่า
แต่บาดเจ็บมากบ้างน้อยบ้างก็ดีกว่าตายไปเลย"
นอกจากอารมณ์ขันและทัศนคติทางบวกแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่ "ทัศพล" CEO ของสายการบินต้นทุนต่ำมี
นั่นคือ "ลูกบ้า"
ลูกบ้า "ต้นทุนสูง"
วันที่ "ทัศพล" รับตำแหน่ง CEO
บริษัทไทยแอร์เอเชีย มี "แอร์เอเชีย" ของมาเลเซียถือหุ้น 49%
บริษัทเอเชียเอวิเอชั่น ของชินคอร์ปถือหุ้น 50%
อีก 1% เป็นของ "ทัศพล"
แต่พอ "ชินคอร์ป" ขายหุ้นให้กับ "เทมาเส็ก"
"ทัศพล" สัมผัสได้ถึง "ความไม่แน่นอน"
เพราะ "เทมาเส็ก" นั้นสนใจเฉพาะบริษัทด้านโทรคมนาคม
ส่วนธุรกิจสายการบินหรือการเงินอย่างแคปิตอล โอเค
ซึ่งอยู่นอกสายธุรกิจหลัก
มีโอกาสมากที่ "เทมาเส็ก" จะขายทิ้ง
สภาพเช่นนี้ทำให้พนักงานขวัญหนีดีฝ่อ
มาทำงานด้วยสีหน้าที่เป็นทุกข์เพราะไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง
"ทัศพล" รู้สึกว่าเขาต้องรับผิดชอบต่อพนักงาน 1,200 คน
หลายคนเขาเป็นคนชวนให้มาทำงานที่นี่โดยวาดภาพว่าบริษัทนี้อนาคตสดใส
"ถ้าวันหนึ่งผมไปบอกคนเหล่านั้นว่า โอเค...เราปิดบริษัทแล้วนะ โชคดีนะ
บางทีผมอาจมองหน้าพวกเขาไม่ติดอีกเลยก็ได้
มันเป็นเรื่องที่คาใจกันไปทั้งชีวิตนี้และชีวิตหน้า
โลกหน้า...ผมคิดว่ามันไม่แฟร์สำหรับพนักงานพวกนี้"
"ทัศพล" ตัดสินใจนัดคุยกับผู้บริหารที่ร่วมบุกเบิกมาด้วยกัน 5 คน
"พรอนันต์ เกิดประเสริฐ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน
น..อ.ธนภัทร งามปลั่ง ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการการบิน
"ปรีชญา รัศมีธานินทร์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม
ม.ล.บวรนวเทพ เทวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
และ "สันติสุข คล่องใช้ยา" ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์
เขาชวนทั้ง 5 คนไปกินข้าวกลางวันที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ ก่อนปิดห้องประชุม
"ทัศพล" เล่าถึงแนวคิดในการแก้ปัญหาความอึมครึมในบริษัท
เมื่อ "เทมาเส็ก" จะขายหุ้นไทยแอร์เอเชีย
แทนที่จะต้องมาลุ้นว่าขายได้-ไม่ได้ หรือจะขายให้ใคร
ทำไมเราไม่ซื้อหุ้นจาก "เทมาเส็ก" เอง
เปลี่ยนสถานะตัวเองจากพนักงาน เป็น "ผู้ถือหุ้น"
และ "ลูกหนี้"
"ผมบอกทุกคนว่าคิดดูให้ดีนะว่าจะเอาหรือไม่เอา
แล้วผมก็ส่งกระดาษชิ้นเล็กๆ ให้ทุกคนเพื่อให้เขียนว่า เอาหรือไม่เอา
แค่นั้น ใครจะไม่เอาก็ไม่ว่ากัน ไม่มีการกดดัน
ใครไม่เอาก็ยังจะทำงานด้วยกันเหมือนเดิม"
บนกระดาษชิ้นเล็กๆ ทุกใบ เขียนคำเดียวกัน
"เอา"
จากนั้นกระบวนการกู้เงินก็เริ่มขึ้น
ทุกคนต้องเอาบ้านและรถมาจำนองแบงก์เพิ่มนอกเหนือจากหุ้นไทยแอร์เอเชีย
มูลค่าทั้งหมดพันกว่าล้านบาท
วันที่ผู้บริหารทั้ง 6 คนเซ็นสัญญากับแบงก์ และโอนเงินให้เทมาเส็ก
"ทัศพล" เรียกประชุมทุกคนในบริษัทที่โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ ตอนหกโมงเย็น
เขาประกาศว่าวันนี้ทุกคนมีงานทำต่อ เพราะผู้บริหาร 6 คนได้กู้เงินมาซื้อหุ้นคืนแล้ว
พนักงานทุกคนเฮกันลั่นห้อง
"ตอนนั้นผมรู้สึกเลยว่า เฮ้อ กูเป็นไทแก่ตัวแล้ว แต่จะเป็นหนี้ต่อไป"
บรรยากาศในบริษัทเปลี่ยนไปทันที ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสและให้ใจกับบริษัทเต็มที่
ตอนน้ำมันแพง พนักงานบางคนส่งเมลมาบอกว่าเธอเป็นพนักงานตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
ไม่รู้จะช่วยบริษัทอย่างไร "หนูขอไม่เบิกค่าใช้จ่ายที่หนูเบิกได้
ยกเว้นค่าโอทีและเบี้ยเลี้ยง"
จนถึงวันนี้ "ทัศพล" ยืนยันว่าเขาตัดสินใจไม่ผิดที่ซื้อหุ้นจากเทมาเส็ก
"ผมไม่เคยคาใจอีกเลยว่า กูไม่น่าทำเลย"
"ทัศพล" เป็น CEO ที่ให้เบอร์โทรศัพท์ของเขากับพนักงานทุกคน
มีปัญหาโทร.มาได้ทันที
เพราะ CEO ในความหมายของเขาไม่เหมือนกัน
"CEO แปลตามแบบของผม อ่านว่า "เสี่ยว"
"เสี่ยว" ในภาษาอีสานแปลว่า "เพื่อนรัก"
"CEO คือ คนที่จะต้องทำตัวให้เป็นที่รักของทุกคน
โดยเฉพาะคนในองค์กรของเรา พอคนรักกันมันก็มีใจทำงานให้กัน"
CEO ที่ดีไม่ใช่คนที่ชี้นิ้วสั่ง
สำหรับเขา "นิ้วชี้" ห้ามใช้
ให้ใช้ "นิ้วก้อย" ที่แปลว่าเราดีๆ กันนะ
ที่สำคัญห้ามใช้ "นิ้วโป้ง"
...ห้ามโกรธกัน
ครับ ถ้า "นิ้วโป้ง" ยังห้ามใช้
"นิ้วกลาง" ก็ไม่ต้องพูดถึ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น