โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ
ใช่ไหมว่า เกือบทุกการชุมนุมและเดินขบวนในสังคมไทยที่ไม่ใช่เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลงาน
รื่นเริงล้วนแล้วแต่แฝงฝังไว้ด้วยความรุนแรงและสูญเสียแทบทั้งสิ้น
ยิ่งเป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือปกป้องประโยชน์สาธารณะ
การบาดเจ็บล้มตายจากการสลายการชุมนุมหรือติดคุกติดตะรางด้วยคดีที่มีข้อ
กล่าวหาเกินจริงยิ่งประจักษ์ชัด
เฉกเช่นฉากความเคลื่อนไหวในทางการเมืองเรื่องเรียกร้องประชาธิปไตยที่ไม่
ต่างจากการพิทักษ์ฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มักสังเวยชีวิตสามัญชน
จนปากคำประวัติศาสตร์ของผู้ผ่านเหตุการณ์ทั้งแกนนำและคนเล็กคนน้อย
ที่หลอมรวมเป็นพลังมวลชนใช่มีแต่ความภาคภูมิใจในการเข้าไปมีส่วนร่วมต่อกร
กับความอยุติธรรมทั้งระดับกายภาพ โครงสร้าง และวัฒนธรรม
ทว่ายังเก็บกักความทรงจำจากการถูกทำร้ายระหว่างสลายการชุมนุมที่ตนเองและมวล
มิตรร่วมรบบาดเจ็บทุพพลภาพหรือพลัดพรากจากอานุภาพกระสุนปืน
ระเบิดแก๊สน้ำตา
นัยประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19,
พฤษภา 35 จนถึง ตุลา 51
จึงบรรจุความทรงจำแห่งการสูญเสียชีวิตสูญสิ้นอิสรภาพไว้ไม่ต่างจากประวัติ
ศาสตร์การรักษาฐานทรัพยากรท้องถิ่นของคนปลายอ้อปลายแขมที่หาญกล้าต่อกรอำนาจ
รัฐและทุนที่ควบรวมเป็นหนึ่ง
ทว่าความทรงจำเลวร้ายเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าการสลายการชุมนุม
ของเจ้าหน้าที่รัฐยึดมั่นหลักการพื้นฐานในการใช้กำลังและอาวุธปืนโดยเจ้า
หน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายแห่งสหประชาชาติ (Basic Principles on the Use
of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ข้อ 13
ที่ว่าในการสลายการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่รุนแรง
เจ้าหน้าที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง
หรือหากไม่สามารถก็ต้องจำกัดการใช้กำลังให้อยู่ในระดับน้อยที่สุดเท่าที่จำ
เป็น และข้อ 14 ที่ว่าในการสลายการชุมนุมที่รุนแรง
เจ้าหน้าที่อาจใช้อาวุธปืนได้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถใช้วิธีการที่อันตรายน้อย
กว่าได้ และต้องใช้ในระดับน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
ที่ไทยร่วมให้การรับรองตั้งแต่ปี 2533
รวมถึงประมวลหลักการประพฤติปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้
กฎหมาย (CCLEO, 1979) ข้อ 2
ที่ว่าเจ้าหน้าที่จะต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และผดุงไว้
ซึ่งสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และข้อ 5
ที่ว่าเจ้าหน้าที่ไม่อาจก่อให้เกิด ยุยงให้เกิด หรือทนต่อการกระทำใดๆ
ที่เป็นการทรมาน หรือการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม
หรือย่ำยีศักดิ์ศรี
ที่สำคัญตระหนักแก่ใจว่าเสรีภาพการชุมนุมเป็นหนึ่งในปฏิญญาสากลว่า
ด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ข้อ 20(1)
ที่ว่าทุกคนมีสิทธิในการชุมนุมและสมาคมโดยสงบ
ซึ่งไทยให้การรับรองหลักการตั้งแต่ปี 2491
และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
ข้อ 21 ที่ว่าสิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง
ที่ไทยลงนามเป็นภาคีเมื่อปี 2539
กอปรกับต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญไทยที่ระบุหลักการคุ้มครองเสรีภาพ
ประชาชนในการชุมนุมมาตั้งแต่ฉบับปี 2475 อย่างเคร่งครัด
ด้วย หลักสากลและกฎกติกาที่ไทยรับรองและกำหนดไว้
ในขณะเดียวกันก็มีมโนธรรมความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
รู้อะไรควรทำไม่ควรทำค้ำจุนตามขนบ 'เมืองไทยเมืองพุทธ'
ตามคำกล่าวอ้างเสมอมา
ก็น่าจะทำให้การสลายการชุมนุมทุกครั้งไม่เกิดความรุนแรงสูญเสีย
หรือถ้ามีก็ต้องน้อยที่สุด
กระนั้นในทางปฏิบัติจริงการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอันเป็น
เสรีภาพพื้นฐานของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยกลับกลายเป็นความจลาจลวุ่นวาย
ก่อการร้ายในสายตารัฐบาล
ความคิดคับแคบตื้นเขินเช่นนี้นำมาสู่การละเมิดทั้งศักดิ์ศรีความเป็น
มนุษย์และหลักปฏิบัติในการสลายการชุมนุมที่มีขั้นตอนกำกับชัดเจน
มาตรการจากเบาไปหาหนัก เจรจาต่อรองคลี่คลายสถานการณ์
จิตวิทยามวลชนกดดันมวลชนโดยไม่ใช้อาวุธ
จึงถูกแทนที่ด้วยการปราบปรามตามฐานคติอำนาจนิยมของเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร
ตำรวจ รวมถึงประชาชนส่วนหนึ่งที่ผนวกตนเองเป็นกลไกรัฐ
เข้าทำการสลายการชุมนุมภายใต้สายบังคับบัญชาเคร่งครัดและการจัดตั้งอย่าง
เป็นระบบ
ความเป็นมนุษย์จึงถูกทอน (Dehumanization) มีค่าเข้าใกล้ '0'
จากกระบวนทัศน์อำนาจนิยมที่สั่งสมมานานผ่านการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง
ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบการกระทำ
ซ้ำร้ายหลังเข่นฆ่าข่มเหงแล้วไม่เพียงจะลอยนวล
หากยังได้ดิบได้ดีมีตำแหน่งก้าวหน้ากว่าเดิมด้วย
เมื่อความละมุนละม่อมหลีกเลี่ยงใช้กำลังอย่างถึงที่สุดไม่ถูกหยิบยก
มาพิจารณาปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่รัฐระดับปฏิบัติการและนโยบายที่คุ้นเคยกับ
การปัดปฏิเสธความรับผิด (Blame avoidance) ดังเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7
ตุลาคม 2551 พบเผชิญอยู่ขณะนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อำนาจอธิปไตยของประชาชน
และเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจึงเป็นแค่ลายลักษณ์อักษร
การ ขาด 'พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะและเดินขบวน พ.ศ. ...'
ที่สามารถผสานด้านอำนาจบังคับใช้และด้านสร้างเสริมสุขภาวะการชุมนุมที่เป็น
เครื่องมือต่อยอดระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมจึงไม่เพียงเปิดช่องว่างให้
เจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายไม่เกี่ยวข้องเข้าคุกคามลิดรอน เช่น
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 และแผนรักษาความสงบ
อาทิ แผนไพรีพินาศ แผนกรกฎเท่านั้น
ทว่ายังพัดพาความทรงจำขื่นคาวร้าวรานมาสู่ผู้ร่วมเหตุการณ์ไม่รู้จักจบสิ้น
ด้วย
ด้วยความทรงจำ (Memory) เป็นกระบวนการได้มาซึ่งข้อมูลผ่านอายตนะ 6
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การเก็บข้อมูล และการเรียกข้อมูลออกมา
ดังนั้นถ้าไม่มีการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจนเกิดการสูญเสียจำนวนมาก
เป็นข้อมูลนำเข้า (Input) สมองก็จะไม่มีข้อมูลนี้เก็บไว้ในคลังข้อมูล
สุดท้ายก็จะไม่มีการเรียกข้อมูลออกมาได้
ในทางกลับกันถ้าการสลายการชุมนุมละเมิดทุกหลักการกฎกติกาดังกล่าวไว้ข้างต้น
ข้อมูลนำเข้า การเก็บรักษา และเรียกข้อมูลแห่งความเจ็บปวดก็จะเกิดเสมอๆ
ทั้งนี้ เมื่อเมืองไทยสยบยอมให้ใช้อาวุธสลายการชุมนุมได้
ชีวิตหลังชุมนุมของสามัญชนมากมายจึงถูกจองจำด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวกว่า
ภาคภูมิใจ ไม่น้อยไถ่ถอนตนเองออกจากความคับแค้นขื่นขมไม่ได้
ไม่น้อยอีกเช่นกันที่แปรความทรงจำเคียดแค้นเป็นศัตราวุธ
โดยหารู้ไม่ว่าความเชื่อที่คิดว่าถูกต้องและเข้าใจว่าก่อร่างจากความทรงจำ
นั้นแท้จริงมาจากคำอธิบายตีความทางวิชาการที่ได้ในภายหลัง
ละม้ายกันกับการเรียนรู้เรื่องราวอดีตด้วยปัจจุบัน ทั้งๆ
คำบรรยายของปัจจุบันนั้นผ่านการเข้ารหัส ตีความ บิดเบือน ลดทอน ให้คุณค่า
กระทั่งกีดกันข้อมูลด้วยอคติของสื่อสารมวลชนมาแล้ว
มากกว่านั้นการเสพข่าวการสลายการชุมนุมผ่านสื่อสารมวลชนก็ไม่ได้มี
นัยล้ำลึกเท่ากับการเข้าร่วมชุมนุมและผจญความรุนแรงด้วยตนเอง
อันเนื่องมาจากเป็นเพียงแค่การจำได้ (Remember)
ไม่ว่าบางภาพจะสะเทือนใจจนคงอยู่ตราบนานเท่าชีวิตหรือไม่ก็ตามที
ด้วยถึงที่สุดแล้วเป็นแค่การจำเหตุการณ์ได้ทางอ้อม
ไม่ใช่การจำได้โดยตรงเพราะเป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับชีวิตตนเอง
แต่ก็ยังพยายามพิพากษาตัดสินว่าควรไปในทิศทางใดโดยไม่คำนึงถึงความสูญเสีย
ของผู้ชุมนุม
ในขณะความทรงจำที่ยึดโยงกับอดีตอันกระจ่างชัดของผู้เข้าร่วมชุมนุม
ที่ประสบความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้นต่างออกไป
ด้วยเป็นความทรงจำระยะยาว (Long term memory) ที่มีเหตุผลความชอบธรรม
(Justification)
รองรับมากเพียงพอจะปฏิเสธการนิรโทษกรรมได้ตราบใดผู้กระทำผิดยังไม่สำนึก
ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้ควรพิทักษ์ประชาชนด้วยแล้ว
ยิ่งลบล้างความผิดทางอาญา แพ่ง และวินัยโดยสิ้นเชิงด้วยการออก
พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ได้
ไม่ใช่เพราะภาคประชาชนไม่ให้อภัยหรือไม่เรียนรู้กระบวนการยุติธรรมเชิง
สมานฉันท์ (Restorative justice)
แต่ทว่าทั้งคู่นั้นวางอยู่บนหลักการว่าผู้กระทำผิดทั้งระดับออกคำสั่งและ
ปฏิบัติตามคำสั่งต้องยอมรับผิดเสียก่อน
กล่าว ถึงที่สุด
เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้ละเมิดเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของ
ประชาชนไม่ปัดปฏิเสธความรับผิดหรือได้ถูกลงโทษตามฐานความผิดแล้ว
ความทรงจำหลังการชุมนุมและเดินขบวนของผู้คนที่เคยรวดร้าวคาวขื่นก็จะละลาย
หมดไปได้ เหลือไว้แต่ผลึกแกร่งแห่งความภาคภูมิใจในฐานะกลไกเปลี่ยนแปลงสุขภาวะสังคม
ที่ไม่สยบยอมอำนาจปากกระบอกปืน
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น