++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ชำแหละปัญหาช้างเร่ร่อนกับอดีตควาญ "ฤทธิรณ ศรีสุน"

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 สิงหาคม 2552 08:08 น.
รายงานพิเศษ โดย....สาริน จันทะรัง

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าและสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย
เมื่อได้พบเห็นบรรดา "ช้างไทย"
ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองต้องตกอยู่ในสภาพ "ช้างเร่ร่อน"
เที่ยวเดินขอทานตากแดด ตากลมอยู่บนพื้นถนนในเมืองใหญ่ๆ
โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ยิ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ "หลินปิง"
หมวยแพนด้าที่กลายเป็นกระแสฟีเวอร์ไปทั่วบ้านทั่วเมืองด้วยแล้ว
ยิ่งรันทดหดหู่เข้าไปใหญ่

ทำไมช้างไทยถึงต้องขอทาน?
และทำไมคนไทยถึงสนใจแพนด้ามากกว่าช้าง?

เหล่านี้คือคำถามที่หลายคนสงสัย
ซึ่งผู้ที่จะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือ "ฤทธิ - ฤทธิรณ
ศรีสุน" อดีตควาญช้างเร่ร่อนชาว อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ วัย 24 ปี
ที่ปัจจุบันพลิกผันตัวเองมาเป็นทนายความฝึกหัดว่าที่อัยการหนุ่มอนาคตไกล

ฤทธิรณ ศรีสุน อดีตควาญช้างเร่ร่อน

ฤทธิได้ฉายภาพเมื่อครั้งยัง เป็นควาญช้างเร่ร่อนให้ฟังว่า
ในหมู่บ้านมีช้างประมาณ 30 เชือก ซึ่งพอหมดฤดูทำนา
คนในหมู่บ้านก็จะนำช้างมาเร่ร่อนในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง
เพื่อขายอาหารช้างจำพวกกล้วย-อ้อยให้กับผู้ที่พบเห็น
โดยรวมตัวกันมาเองไม่เกี่ยวกับนายทุน

ทั้งนี้ ในการเข้ากรุงเทพฯ แต่ละครั้ง
ก็จะกู้เงินเพื่อเป็นทุนเป็นค่าจ้างรถสิบล้อขนช้างเข้าเมืองเพื่อร่อนเร่ขอ
ทาน จากนั้นพอถึงหน้านาทุกคนก็จะกลับบ้าน เป็นวัฏจักรอย่างนี้ทุกปี

"ครอบครัวผม เมื่อก่อนไม่ได้มีอาชีพนี้
แต่ตอนหลังมีความจำเป็นต้องทำ
เนื่องจากรายได้จากการให้เช่าพระเครื่องของพ่อไม่ค่อยดี
จึงตัดสินใจนำช้างเข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ส่วนตัวผมเองนั้น
หลังจากปิดเทอม ม.3 ก็เริ่มเข้ามาประกอบอาชีพนี้
โดยพาช้างเดินขายกล้วยอ้อยในช่วงกลางคืนตามย่านท่องเที่ยวสุขุมวิท
ห้วยขวาง เป็นต้น ส่วนรายได้ หากตรงกับช่วงเทศกาล
คืนเดียวสามารถหาเงินได้ถึงหมื่นกว่าบาท
แต่หากเป็นวันปกติธรรมดาเฉลี่ยวันละ 1,000-2,000 บาท"

"สำหรับ ที่พักอาศัย ผมและเพื่อนๆ
จะอาศัยหลับนอนตามพื้นที่ที่มีแอ่งน้ำ มีหญ้าพอที่ช้างจะอยู่ได้
น้ำกินน้ำใช้ใช้ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง
และใช้เต็นท์ผ้าใบกางเป็นที่ซุกหัวนอน โดยส่วนใหญ่จะยึดทำเลแถวถนนพระราม
9 ซึ่งอยู่แถวนี้มาถึง 15 ปีแล้วตั้งแต่รุ่นพ่อ"


ควาญช้างกำลังพาช้างเร่ร่อนขายอาหารบนถนนราชดำริ ย่านใจกลางเมือง
ฤทธิเล่าต่อว่า ด้วย
เงินจากการขายอาหารช้างเร่ร่อนที่ทำให้มีโอกาสเรียนหนังสือ
เพราะแม่เคยบอกไว้ว่าจบ ม.6 แล้วไม่ต้องเรียนต่อ เพราะไม่เงินส่งให้เรียน
แต่ก็ได้อาศัยเงินรายได้จากพาช้างเร่ร่อนเก็บหอมรอมริบเป็นทุนส่งตัวเอง
เรียนต่อที่ ม.รามคำแหง คณะนิติศาสตร์ จนจบในเวลา 4 ปีครึ่ง
โดยวันจันทร์-ศุกร์ ก็ไปเรียน พอตอนเย็นศุกร์-อาทิตย์
ก็เอาช้างไปขายอาหารกับเพื่อน ทำแบบนี้ทุกวัน

"ผม ถูกจับบ่อยทั้งเทศกิจ ทั้งตำรวจจาก สน.ห้วยขวาง ทองหล่อ
มักกะสัน ตำรวจ-เทศกิจบางคนใจดี ก็ซื้ออาหารเลี้ยงช้าง
บางทีจับเราไปไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ เขาก็ปล่อยเรา
แต่ก็มีประเภทใจร้ายเหมือนกัน คือ
เดินขายอาหารมาแทบตายสุดท้ายเจอตำรวจบางคนก็ล้วงเงินจากกระเป๋าไปเลย
เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ผมไม่เข็ด
เพราะถ้าเข็ดจะเอาเงินที่ไหนกินอยู่เป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน
ต้องยอมเสียเงินค่าปรับดีกว่าอดตายอยู่ที่บ้าน"

"ใน ฐานะที่เรียนกฎหมายมา ผมไม่ได้รู้สึกว่าทำผิด
เราแค่มาขายกล้วยเลี้ยงชีพของเรา ผมกลับภูมิใจเสียด้วยซ้ำ
เพราะเราต่างช่วยเหลือกันมากกว่า
อยู่บ้านเขาก็ต้องเดินแต่ถ้าเขาจะเดินเพื่อช่วยให้อีกหลายครอบครัวได้อยู่
รอด เขาก็คงยินดี ส่วนที่มีความพยายามผลักดันช้างเร่ร่อนออกจากกรุงเทพฯ
ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกหากคิดจะไล่แต่ไม่คิดที่จะสร้างงานเพราะกลับบ้าน
ไปก็คงได้แต่ทำนาเพียงอย่างเดียว

"ตอน นี้เวลาที่เห็นข่าวแพนด้าก็นึกน้อยใจว่า
ทำไมช้างไทยของเราสู้แพนด้าน้อยไม่ได้เลยเหรอ
ทำเหมือนกับเขาไม่ใช่สัตว์ประจำชาติไทย อยู่บนผืนแผ่นดินไทยไม่ได้
ต้องผลักดันเขาออกไป "

ฤทธิกล่าวแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ในการแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนนั้น
ตนอยากให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้จัดตั้ง "สหกรณ์"
ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการช้าง
เพราะการผลักดันให้ช้างเร่ร่อนไปอยู่ที่อื่น
ซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาเกิดของช้างและผู้เลี้ยงช้างที่เป็นช้างชาวบ้านนั้นไม่
ได้ทำให้ช้างเร่ร่อนหมดไป
การซื้อช้างเพื่อนำช้างไปปล่อยป่าเป็นวิธีการที่ดีแต่ไม่สามารถซื้อช้างเร่
ร่อนได้หมด และบางครั้งการซื้อช้างเร่ร่อนไปจากผู้เลี้ยงช้างแล้วโดยไม่มีการสนับสนุน
ให้มีการประกอบอาชีพอย่างอื่นทดแทนการเลี้ยงช้าง
ผู้เลี้ยงช้างก็นำเงินที่ได้ไปซื้อช้างมาเลี้ยงอีก
เพราะคนเหล่านี้มีชีวิตอยู่กับช้าง โตและเกิดมากับช้างและมีการศึกษาน้อย
ไม่มีความรู้ที่จะประกอบอาชีพอื่นนอกจากทำนาและเลี้ยงช้าง
ทำให้ปัญหาช้างเร่ร่อนยังมีอยู่ต่อไปและจะต้องตามแก้ปัญหาไม่จบไม่สิ้น

ขณะ ที่การออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับช้างและผู้เลี้ยงช้างถึงแม้จะเป็นวิธีการ
ที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งแต่การที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เลี้ยงช้างเร่ร่อนมีส่วน
ร่วมในการร่างกฎหมายทั้งๆ
ที่กฎหมายมีผลกระทบโดยตรงกับวิถีชีวิตผู้เลี้ยงช้างเร่ร่อนและเป็นกฎหมายที่
ลิดรอนสิทธิของผู้เลี้ยงช้างนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและจะนำพาปัญหา
อื่นๆตามมาอย่างมีการประท้วงก็ได้

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000091690

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น