++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นัยทางการเมืองและสังคมของชื่อตระกูลและนามสกุล

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน 12 สิงหาคม 2552 19:08 น.
เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงมหาดไทยได้เปิดเผยคนชื่อแปลก นามสกุลแปลก
จนเป็นที่สนใจของสังคม
ชื่อและนามสกุลของหลายคนนั้นบางคนเมื่อได้ยินแล้วก็จะเกิดความรู้สึกขบขัน
จะขอยกตัวอย่างมาให้เห็นพอเป็นสังเขป ได้แก่ สายใจ เกาะมหาสนุก, สมศักดิ์
หวังกระแทกคาง, หวังนที จู๋ยืนยง, ณรงค์ นัดใช้ปืน, กันภัย สูญสิ้นภัย,
อูโน่ หลาวทอง, อธิป จู๋กระจ่าง, ศักดิพันธ์ ชอบนอนหงาย, บรรจง
หนึ่งในยุทธจักร, กนกกร เม่งเวหา, ลำเทียน จ้องผสมพันธุ์, มนศักดิ์
กางมุ้งคอย ฯลฯ

เรื่องของชื่อตระกูลและนามสกุลนั้นความจริงไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีความ
สำคัญ แต่เป็นเรื่องที่มีนัยอย่างสูงในทางสังคมและการเมือง
ในเบื้องต้นจะต้องขอจัดประเภทของชื่อตระกูลและนามสกุล
ชื่อที่ใช้เรียกบุคคลทั่วไปนั้นจะเป็นชื่อตัว โดยการตั้งชื่อนั้นอาจจะมี
3 ลักษณะ

ลักษณะที่หนึ่ง ก็คือ เป็นการตั้งชื่อที่มีความหมายในทางดี เช่น
กล้าหาญ สมชาย ลักษณะที่สอง
เป็นการตั้งชื่อที่สอดคล้องกับบุคลิกของบุคคลผู้นั้น เช่น
คนที่พูดจาเก่งพ่อแม่อาจตั้งชื่อเป็นนายพจน์ หรือสุพจน์ ลักษณะที่สาม
เป็นชื่อที่เกี่ยวข้องกับความชำนัญการเฉพาะด้าน เช่น
คนที่เรียนกฎหมายอาจจะตั้งชื่อตัวเองเป็น นิติ นี่คือชื่อที่เป็นชื่อตัว
นอกจากนี้ ก็ยังมีชื่อเล่นที่ไม่เป็นทางการโดยอาจจะเรียกจากบุคลิกลักษณะ
เช่น คนที่มีผมจุกก็ชื่อจุก ถ้าผู้หญิงก็อาจจะชื่อตุ๊กตา
บางคนก็ชื่อแดงเพราะผิวแดงตอนคลอด ลักษณะที่สี่
การตั้งชื่อโดยการดูวันเกิดตามตำราโหราศาสตร์จะต้องคำนึงถึง "เดช" "ศรี"
"มนตรี" "กาลกิณี" ฯลฯ
คนที่มีอาชีพเป็นทหารจะต้องใช้อักษรที่เกี่ยวกับเดช มนตรีหมายถึง
ข้าราชการ ส่วนกาลกิณีนั้นต้องเลี่ยง เช่น
บางคนต้องชื่อกนกเพราะห้ามมีสระ เพราะสระเป็นกาลกิณี

ในกรณีของตระกูลนั้นมักจะเป็นชื่อรวมของคนกลุ่มใหญ่ที่มีเชื้อสาย
เดียวกัน ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ แซ่ของคนจีน
คนที่แซ่เดียวกันนั้นเดิมทีก็คือคนที่เกี่ยวโยงกับทางสายเลือดเดียวกันทั้ง
หมด ในประเทศจีนตอนต้นมีการกล่าวว่ามี 100 แซ่ ซึ่งคำว่า 100
แซ่หมายถึงจำนวนแซ่ทั่วๆ ไปทั้งหมด ในความเป็นจริงมี 2-3 พันแซ่มากกว่า
คำว่า 100 แซ่ซึ่งหมายถึงคนทั่วไปนั้นยังหมายถึงผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
และคำนี้ก็นำมาใช้ในภาษาญี่ปุ่น 100 แซ่คือเกษตรกร แซ่เป็นชื่อตระกูล
ในกรณีของญี่ปุ่นสมัยก่อนเมจินั้น
ชนชั้นนักรบคือซามูไรเท่านั้นจะมีสิทธิใช้ชื่อครอบครัวหรือชื่อสกุล
ส่วนผู้ครองแคว้นจะเป็นชื่อตระกูล (clan)
ชาวนาและพ่อค้าญี่ปุ่นไม่มีสิทธิมีนามสกุล

ในกรณีของประเทศไทยนั้นมีแต่ชื่อตัวและมักจะเป็นลักษณะนาม เช่น
เล็ก โต โย่ง บางครั้งก็มีการอธิบายประกอบ เช่น นายจันหนวดเขี้ยว
ไม่มีนามสกุลหรือชื่อสกุล ผู้รับราชการเป็นขุนนางก็มีราชทินนาม เช่น
พระยาจักรีศรีองครักษ์ ซึ่งมีหลายคนจึงอาจต้องใส่ชื่อไว้ในวงเล็บไว้ เช่น
พระยาพระคลัง (หน) ไม่มีชื่อสกุล
ส่วนผู้ปกครองสูงสุดคือกษัตริย์ก็จะมีชื่อราชวงศ์ เช่น
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์ประสาททอง ราชวงศ์พระร่วง

สังคมจีนมีแซ่มา 3-4 พันปี
ซึ่งบ่งบอกถึงการจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นองค์กร (corporate body)
การจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นองค์กรนี้ทำให้คนทุกคนแม้กระทั่งชาวนามีเอกลักษณ์
และอัตลักษณ์ มีที่มาที่ไปของครอบครัว
ซึ่งบางแซ่ก็มีประวัติของการเป็นนักรบ เช่น ตระกูลหยาง เป็นต้น
โดยนัยนี้คนจีนทุกคนมีทั้งชื่อตัวและตระกูลแซ่หรือชื่อตระกูล
สามารถจะสืบได้หลายสิบหลายร้อยชั่วคน
สามารถใช้เป็นฐานของการจัดตั้งซึ่งส่งนัยสำคัญต่อการรวมกลุ่มเป็นปึกแผ่น
เพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์
รวมทั้งช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการประกอบอาชีพ เช่น สมาคมตระกูลแซ่ตั้ง

ครั้งหนึ่งเคยมีการจัดประชุมคนแซ่ตั้งที่กรุงเทพฯ
มีคนแซ่ตั้งจากทั่วโลกมาประชุมที่ประเทศไทย
การมีตระกูลแซ่และจัดเป็นสมาคมทำให้สามารถจะรวมทุนกันด้วยการเล่นแชร์เพื่อ
หาเงินทุนในการประกอบการค้า
และยังมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในด้านสังคม การประกอบธุรกิจ
และในด้านอื่นๆ แซ่ของจีนนี้แผ่ไปถึงเวียดนามและเกาหลี

นอกจากแซ่ซึ่งจะเป็นชื่อตระกูลแล้ว ชื่อตัวของจีนจะเป็นตัวที่สาม
ส่วนตัวกลางนั้นเป็นการแสดงถึงรุ่นในตระกูล เช่น ตั้ง จุ้น เฮ้า
คำว่าตั้งคือแซ่ จุ้นคือลำดับของรุ่น เฮ้าคือชื่อตัว ตั้ง จุ้น เฮ้า
จะมีพี่น้องที่เป็นชายกี่คนก็ตาม ตัวกลางจะใช้คำว่าจุ้นเหมือนกันหมด เช่น
ตั้ง จุ้น เคียม, ตั้ง จุ้น ฮง, ตั้ง จุ้น ตง ดังนั้น
คนในแซ่เดียวกันนี้ถ้ามีคนอยู่ในระดับรุ่นที่เป็นรุ่นปู่
แม้จะเป็นเด็กคนที่อยู่รุ่นหลานต้องเรียกเด็กนั้นว่าปู่
ในกรณีต่างแซ่กันก็จะมีการเทียบรุ่นข้ามแซ่และก็จะมีความสัมพันธ์เช่นเดียว
กับที่กล่าวมาเบื้องต้น
ระบบครอบครัวจีนจึงเป็นระบบที่มีการแบ่งชนชั้นลดหลั่นแม้ระหว่างรุ่น

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในกรณีของญี่ปุ่นนั้นในยุคก่อนเมจิ
ซามูไรเท่านั้นที่มีสิทธิมีนามสกุล
แต่ต่อมาในยุคเมจิก็ได้มีการใช้นามสกุลขึ้น นามสกุลของญี่ปุ่นที่แปลกๆ
ก็มีเหมือนกันเพราะชาวนาที่ไม่มีความรู้นั้นอาจได้รับการตั้งนามสกุลโดยเจ้า
หน้าที่ เช่น เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว
มีนามสกุลที่ชื่อว่า อิโนกุจิ ซึ่งแปลว่าปากหมูป่า
ซึ่งคงตั้งโดยเจ้าหน้าที่ที่มีความคิดแบบทะลึ่งโดยมองดูหน้าชาวนาผู้นั้นและ
ก็ตั้งให้สอดคล้องกับลักษณะของใบหน้า
นามสกุลของญี่ปุ่นยังบ่งบอกถึงที่มาที่ไปซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูมิศาสตร์ เช่น
นามสกุลที่ลงท้ายด้วย ยาม่า ซึ่งแปลว่าภูเขา เช่น ฟูกูยาม่า

และนามสกุลที่ลงท้ายด้วย คาวา แปลว่า แม่น้ำ เช่น โมริคาวา
นามสกุลที่ลงท้ายด้วย ดะ ซึ่งแปลว่าท้องนา เช่น อิเคดะ
นามสกุลที่เริ่มต้นด้วย ทะ ซึ่งแปลว่าท้องนาเหมือนคำว่า ดะ
แต่เมื่ออยู่ข้างหน้าออกเสียงเป็น ทะ เช่น ทานากะ คำว่า นากะ
แปลว่าตรงกลาง ทานากะแปลว่ากลางท้องนา เป็นต้น

ในกรณีของไทยนั้นเริ่มมีการใช้นามสกุลในสมัยรัชกาลที่ 6
เนื่องจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกระบบไพร่
ซึ่งในอดีตนั้นไพร่จะต้องมีเจ้าสังกัดขึ้นอยู่กับมูลนาย
หรือกรมกองของทางการคือ จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา
เมื่อมีการเลิกระบบไพร่ก็ต้องหาชื่อของครอบครัว ชื่อสกุล หรือนามสกุล
จึงเกิดมีการตั้งนามสกุลขึ้นมามากมาย
นามสกุลที่มีภาษาสวยงามเป็นบาลีสันสกฤตก็อาจจะเป็นนามสกุลพระราชทาน
หรือต่อมาได้ใช้ราชทินนามมาเป็นนามสกุล เช่น พิบูลสงคราม
ส่วนคนทั่วไปนั้นนามสกุลมักจะเป็นภาษาง่ายๆ สองพยางค์ เช่น ใจดี แหวนเงิน
เป็นต้น

สำหรับบุคคลที่ไม่เคยมีนามสกุลมาก่อน เช่น
คนไทยเชื้อสายจีนก็จะมีการแต่งนามสกุลขึ้นมาโดยบางคนได้ทิ้งรากเดิมไว้
เช่น คนแซ่ ลิ้ม ลิ้มหมายถึงป่า ก็จะมีคำว่าพฤกษ์ ถ้าคนที่แซ่
หม่าในภาษาจีนกลาง หรือแซ่ เบ้ ในภาษาแต้จิ๋ว ก็จะมีคำว่าอัศว หรืออาชา
อยู่ในนามสกุล ถ้าแซ่ อึ้ง ก็จะมีคำว่าเหลือง หรืออัญมณีสีเหลือง
เป็นการบ่งบอกถึงที่มา ถ้านามสกุลประกอบด้วย ภู่
ก็จะมาจากภาษาไหหลำคือแซ่ ภู่ นามสกุลที่ประกอบด้วยคำว่า หาญ
ก็จะมาจากคนเชื้อสายไหหนำแซ่ ห่าน นามสกุลที่มีคำว่าเมฆก็จะมาจากคนไหหนำ
เพราะเมฆคือแซ่ หุ่น

นอกเหนือจากนี้คนที่มีนามสกุลดั้งเดิมที่อาจฟังไม่ไพเราะหู
ก็อาจจะเปลี่ยนนามสกุลโดยส่วนใหญ่มีหลายพยางค์ที่มีความหมายที่ลึกซึ้ง
ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าก็จะมีคำว่า วานิช
ถ้าเป็นเรื่องของทหารก็จะมีคำว่า โยธิน
ถ้าเป็นผู้ประกอบอาชีพทางแพทย์ก็จะมีคำว่า เวช
บางครั้งนามสกุลของคนบางภูมิภาค เช่น คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถวโคราช
จะมีคำศัพท์ที่เกี่ยวกับภูเขา เช่น คำว่า ขุนทด

นอกเหนือจากราชทินนามนามสกุลที่มีคำว่า ณ นำหน้า
ก็บ่งบอกถึงที่มาที่ไปของผู้ปกครอง เช่น คำว่า ณ อยุธยา
คือผู้ที่สืบเชื้อสายราชวงศ์ ส่วน ณ นคร ณ สงขลา ณ ถลาง ณ กาฬสินธุ์ ฯลฯ
มักจะมีบรรพบุรุษเป็นเจ้าเมืองมาก่อน

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าเรื่องชื่อตระกูล (แซ่)
ชื่อตัว ชื่อสกุลหรือนามสกุล (family name หรือ surname)
เป็นความพยายามของสังคมมนุษย์ที่จะสร้างความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มที่มีเชื้อ
สายผูกพันกัน ธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์
ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นกลุ่มบุคคลที่มีที่มาที่ไป
ไม่ใช่กลายเป็นปัจเจกชน (atomized individual) ซึ่งไม่มีอำนาจต่อรอง
สังคมใดที่ไม่มีนามสกุลสะท้อนถึงความไม่เป็นปึกแผ่นในภาคสังคม
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งระดับการพัฒนาสังคมอาจจะยังไม่มีการจัดตั้งสถาบันเป็น
เอกลักษณ์เฉพาะตัว ข้อสังเกตก็คือ พม่าก็ดี อินโดนีเซียก็ดี
หลายคนมีเพียงชื่อเดียวโดยไม่มีนามสกุล

ในกรณีของคนที่นับถือศาสนาอิสลามอาจจะชื่อ ซากาเรีย โดยบิดาชื่อ
อาหมัด ก็จะเรียกตัวเองว่า ซากาเรีย บิน อาหมัด แปลว่า
ซากาเรียลูกของอาหมัด ในกรณีมีลูกก็อาจจะชื่ออับดุล ลูกก็จะกลายเป็น
อับดุล บิน ซากาเรีย นายบินลาเดนอาจจะเป็นการเรียกที่ไม่ถูก
ความจริงชื่อคนนี้คือ นายอุซามาะ บิน ลาเดน
คำว่าลาเดนน่าจะเป็นชื่อของพ่อ
ในบางสังคมสัญลักษณ์ของชื่อตระกูลยังออกมาในแง่เครื่องแต่งตัว เช่น
ลายสกอตของชาวสกอตนั้นเป็นการผูกขาดของแต่ละตระกูล
คนอื่นจะทอซ้ำกับลายของตนไม่ได้
การหวงนามสกุลทำให้เกิดการห้ามไม่ให้มีการตั้งนามสกุลซ้ำกับผู้อื่น

ในกรณีของไทยนั้นห้ามตั้งชื่อที่ความหมายบ่งบอกถึงการเป็นกษัตริย์
จริงๆ คำว่า กฤษณะ อาจจะเป็นข้อห้ามตามพระราชบัญญัตินามสกุล
บางคนขออนุญาตใช้นามสกุลจากผู้อื่นซึ่งเจ้าของต้องยินยอม
อีกวิธีหนึ่งก็คือการเป็นบุตรบุญธรรมของผู้มีนามสกุลนั้น
คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยยอมเป็นบุตรบุญธรรมเพื่อจะใช้นามสกุลของผู้รับ
บุตรบุญธรรม เพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
แต่ในความเป็นจริงบิดามารดาก็ยังเป็นบุคคลต่างด้าวเช่นเดิม
ไม่มีสิทธิจะใช้ชื่อของผู้รับบุตรบุญธรรมในเอกสารของทางราชการเนื่องจากความ
ไม่รู้ของเจ้าหน้าที่อาจจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้
ในกรณีของผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้นามสกุลของผู้เป็นเชื้อพระวงศ์
จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาต และบุคคลผู้นั้นมีสิทธิใช้เฉพาะนามสกุล
ไม่มีสิทธิใช้คำว่า ณ อยุธยา ต่อท้ายนามสกุลนั้น

มักจะมีการอ้างบ่อยครั้งโดยคนบางคนว่า
ตระกูลของตนเป็นตระกูลเก่าแก่ นามสกุลเป็นนามสกุลเก่าแก่
ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าตระกูลอาจจะเก่าแก่ เช่น
ตระกูลที่สืบเชื้อสายมาแต่โบราณ
แต่นามสกุลในประเทศไทยที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุเพียง 96 ปี
เพราะการใช้นามสกุลเพิ่งเริ่มใน พ.ศ. 2456
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่
ซึ่งต่างจากแซ่ที่มีประวัติความเป็นมาถึง 3-4 พันปี นามสกุลแปลกๆ
ที่ยกมานั้นถ้ามองในแง่ที่ว่านามสกุลก็เป็นเพียงสิ่งสมมติขึ้นมา
"ชื่อนั้นสำคัญไฉน" (what is in a name?)

ถ้า มองอีกมุมหนึ่งนามสกุลเป็นของสูง
ผู้เป็นเจ้าของนามสกุลต้องรักษาเกียรติประวัติของตระกูลเพื่อเป็นที่ภูมิใจ
ของลูกหลานด้วยการกระทำที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
มิฉะนั้นจะกลายเป็นผู้ทำลายชื่อเสียงของนามสกุล สิ่งที่น่าหนักใจคือ
ผู้ซึ่งมาจากตระกูลใหญ่ๆ แต่ไม่สามารถดำรงความมีศักดิ์ศรีของตระกูลได้
มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ มีปัญหาเรื่องการประกอบอาชีพ
จนไม่มีฐานะโดดเด่นในสังคม
การมีนามสกุลเช่นนั้นกลับกลายเป็นภาระทางใจในการดำรงชีวิตในสังคม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวนี้น่าจะเบาบางลงเพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับ
เรื่องชื่อตระกูลหรือนามสกุลของคนในสังคมมากนัก

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000091721

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น