กระแสการรักษาสุขภาพยัง คงแรงอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะท่ามกลางการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
หลายคนเลือกจะออกกำลังกายแบบแอโรบิก
ที่มีอยู่หลายจุดทั่วกรุงเทพและในแต่ละจังหวัด รูปแบบไม่ต่างกันมากเท่าใด
คือมีคนนำเต้น มีเพลงมันส์ๆ จากนั้นก็ใส่กันโลด เต้นทันบ้างไม่ทันบ้าง
แต่ก็ได้ตามเป้าหมายหลักคือได้ขยับแข้งขาเรียกเหงื่อกันคนละ 30-45 นาที
ร่างกายแข็งแรงสุดๆ
แต่ถ้าจะสังเกตสักนิดจะพบว่าทุกลานแอโรบิกมักเต็มไปด้วยคุณสาวๆ
ทั้งสาวแท้ สาวเทียม
พาลเอาคุณผู้ชายทั้งหนุ่มน้อยและหนุ่มเหลือน้อยออกอาการเขิน
ไม่ค่อยกล้าออกไปร่วมวง บางคนกังวลถึงขนาดกลัวคนอื่นมองว่า "ไม่แมน"
กลายเป็น "เก้ง-กวาง" ไปโน่นเลย ทำให้หนุ่มๆ
จำนวนมากพลาดโอกาสออกเหงื่อเพื่อสุขภาพแนวนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
หากในขณะนี้ปัญหานี้จะถูกกำจัดไป
เมื่อมีการคิดการออกกำลังกายที่ชื่อว่า "มวยไทยแอโรบิก" ขึ้นมา
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ ผอ.กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย
กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยที่มาของการออกกำลังกายแนวใหม่ อย่าง
"มวยไทยแอโรบิก" ว่า
เป็นเพราะสังเกตว่าที่ลานแอโรบิกที่มีอยู่ทั่วทุกชุมชนนั้น
ผู้ที่ใช้บริการส่วนใหญ่จะเป็นสุภาพสตรี
ทั้งที่การออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่ดีมาก
จึงอยาก คิดวิธีการออกกำลังกายแนวนี้ที่ทุกเพศทุกวัยสามารถทำได้
โดยนำกีฬาที่ห้าวหาญบึกบึนแข็งแกร่งตามสไตล์การต่อสู้เก่าแก่ของบ้านเรา
อย่าง "มวยไทย" มาผสมผสานกับรูปแบบการออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างแอโรบิกเข้าไว้ด้วยกัน
"แอโรบิก เป็นการออกกำลังกายระดับกลาง เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย
แต่เสียดายตรงที่สังเกตดูหลายหนแล้วจะไม่ค่อยมีผู้ชายเล่น
ก็เลยอยากทำแอโรบิกที่ผู้ชายรวมถึงทุกเพศทุกวัย
ทั้งเด็กรวมไปถึงผู้สูงอายุก็เล่นได้
เราได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งวิจัยและให้ข้อมูลแก่เราว่ารูปแบบท่ามวยไทยหากทำต่อเนื่องแล้วจะคล้าย
กับการออกกำลังกายแบบแอโรบิก
และท่ามวยไทยที่มีมากมายนั้นสามารถนำมาปรับใช้ออกกำลังได้แทบทุกส่วนของร่าง
กาย แถมสามารถประยุกต์บางท่าที่ไม่หนักจนเกินไปให้เหมาะแก่ผู้สูงอายุได้อีกด้วย"
"ส่วน เรื่องของการออกแบบท่านั้นเราได้รับความร่วมมือจากอาศรมศิลป์
ซึ่งเป็นสถาบันที่ทำด้านอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยด้านศิลปะป้องกันตัวและการ
ต่อสู้โดยเฉพาะ โดยได้เลือกท่ามวยไทยแท้ๆ
และนำแต่ละท่าที่เหมาะสมมาร้อยให้ต่อเนื่องให้เป็นรูปแบบการออกกำลังกาย"
หมออรรถพลให้ภาพต่อไปอีกว่า ท่าต่างๆ
ที่นำมาจัดทำเป็นมวยไทยแอโรบิกนั้น มีครบทั้งหมัด ศอก เข่า เตะ
ในหมวดหมัดก็จะมีหมัดตรง หมัดเสย หมัดงัด เข่าก็จะมีเข่าตรง
ท่าเตะก็จะมีเตะตรง เตะเฉียง เตะเสย เตะตัด ท่าศอกจะมีศอกตรง ศอกเสย
ศอกเฉียง และศอกกลับ รวมถึงมีท่าพิเศษต่างๆ ตามรูปแบบแม่ไม้มวยไทย เช่น
จระเข้ฟาดหาง แต่หากกลุ่มเป้าหมายที่มาออกกำลังกายเป็นผู้สูงอายุ
ก็จะเน้นการนำออกกำลังกายเป็นท่าหมวดหมัดและศอก
จะเว้นหมวดที่ใช้เท้าทั้งเข่าและเตะ
รวมถึงท่าพิเศษจำพวกแม่ไม้มวยไทยอื่นๆ
เพื่อความปลอดภัยของผู้ออกกำลังกายสูงอายุด้วย
ผอ.กองออกกำลังกายฯ
เล่าถึงความคืบหน้าล่าสุดของโปรเจ็กต์นี้ต่อไปอีกว่า
เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
คณะทำงานชุดเผยแพร่การออกกำลังกายแบบมวยไทยแอโรบิกก็ได้ลงพื้นที่จังหวัด
ราชบุรีเพื่อจัดกิจกรรมแนะนำมวยไทยแอโรบิกที่สนามกีฬาจังหวัด
มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 3,000 คน
ซึ่งถือว่าประชาชนตอบรับดีมากโดยเฉพาะเด็กผู้ชายและวัยรุ่นชายที่ดูเหมือนจะ
ชอบการออกกำลังกายแนวแมนๆ อย่างมวยไทยแอโรบิกเป็นพิเศษ
"ที่ไปเริ่มที่แรกที่ราชบุรี เพราะ อ.วิชิต เชื้อเชิญ
ซึ่งเป็นอาจารย์จากอาศรมศิลป์ท่านเป็นคนที่นี่
และมีลูกศิษย์ลูกหาที่สนใจมาศึกษาเรื่องมวยไทยและศิลปะป้องกันตัวจากท่าน
เยอะ วันที่จัดงานมีกิจกรรมเกี่ยวกับมวยไทยแอโรบิกมากมาย
ทั้งนำเต้นพร้อมกันและการจัดการแข่งขัน
โดยเราแบ่งประเภทผู้เข้าแข็งเป็นประเภทเด็กนักเรียนและประชนชนทั่วไป
ซึ่งก็มีผู้สนใจมาสมัครแข่งกันหลายสิบทีม"
ถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายคนคงจะเริ่มสนใจการออกกำลังกายรูปแบบทะมัดทะแมง
นี้แล้ว แต่อาจจะยังกังขาเรื่องผลที่จะได้รับจากมวยไทยแอโรบิกว่าเป็นอย่างไร
ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงได้อย่างไรบ้าง
นพ.อรรถพลก็
ได้อธิบายโดยอ้างอิงผลการศึกษาของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายวิจัยสุขภาพ
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ว่า หากออก
กำลังกายด้วยรูปแบบมวยไทยสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละประมาณ 30 - 40 นาที
ช่วยให้การทำงานของหัวใจ ปอด ดีขึ้น ระบบการไหลเวียนเลือดในร่างกายดีขึ้น
การออกกำลังกายแบบมวยไทยนี้ เหมาะกับคนทุกเพศ ทุกวัย
"มวยไทยแอโรบิกเป็นการทำท่าแบบต่อเนื่อง
ถือเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกแบบหนึ่ง
ซึ่งจะสามารถสร้างความแข็งแรงให้แก่ร่างกายได้
ที่สำคัญก็คือต้องออกกำลังเป็นประจำสม่ำเสมอ ทำแค่ 15-30 นาทีก็ได้ครับ
แต่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 หน แต่ถ้าทำได้ทุกวันยิ่งดี"
หมออรรถพลยัง ได้บอกถึงก้าวต่อไปของโครงการดีๆ แบบนี้ว่า
ในปีหน้าหากของบประมาณได้
จะเดินสายจัดกิจกรรมเผยแพร่แนวทางการออกกำลังกายมวยไทยแอโรบิกให้ได้ทุกภาค
ของประเทศ อย่างน้อยภาคละ 1 ครั้ง
เพื่อให้ประชาชนทุกภาคได้รู้จักและเข้าถึงเพื่อสามารถทำไปใช้ประโยชน์ต่อ
สุขภาพได้
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000091696
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น