++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552

การเมืองใหม่ คือการมีหลักการปกครองโดยธรรม

โดย ป.เพชรอริยะ

กลุ่มผู้นำฝ่ายซ้ายเสื้อแดง กำลังครอบงำมวลชนอย่างร้ายกาจ อย่างเด่นชัด..จึงได้นำมาวิเคราะห์แสดงชี้แจงด้วยเหตุผล เพื่อประเทืองปัญญาแก่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย
      
        พวกกลุ่มเสื้อแดง เชิดชูคุณทักษิณ โดยเอาคุณทักษิณเป็นจุดมุ่งหมาย หรือเป็นศูนย์กลางของพวกเสื้อแดง ซึ่งเป็นการเชิดชูตัวบุคคล หากวันหนึ่งคุณทักษิณตายไป จุดมุ่งหมายนั้นก็หายไปด้วย แล้วก็รู้ว่าคุณทักษิณ กำลังคิดทำอะไร แต่เท่าที่รู้ คือคุณทักษิณ ต้องการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อหวังให้ตนเองจะกลับประเทศได้ ก็มีทางเดียว คือต้องต่อสู้ทางการเมืองในทุกรูปแบบ โดยปลุกระดมมวลชนเสื้อแดงเป็นทาสรับใช้ทางการเมือง โดยใช้เงินอย่างมหาศาลเป็นตัวล่อ ทั้งนี้เพราะอ่อนด้อยทางการเมืองและความอ่อนด้อยทางเศรษฐกิจของประชาชน แท้จริงแผนการทั้งหมดก็เพื่อคุณทักษิณ และบรรดาแกนนำทั้งหลายล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อตนเองและพวกพ้องทั้งสิ้น พวกมวลชนเสื้อแดง ผู้ไม่รู้เท่าทันก็จะตกเป็นเครื่องมือในการทำลายชาติบ้านเมืองของตนเอง หากว่าแกนนำกลุ่มเสื้อแดง มีความปรารถนาดีต่อชาติอย่างแท้จริง คุณทักษิณ และแกนนำกลุ่มเสื้อแดงก็จะต้องเสนอเชิดชู หลักการปกครองโดยธรรมขึ้นมาให้เห็น
      
        แต่เชื่อเถอะพวกเขาไม่มีปัญญาพอที่จะรู้ว่าเหตุวิกฤตชาติที่แท้จริงนั้นคือ อะไร และพวกเขาก็ไม่มีปัญญาพอที่จะรู้ว่าหลักการปกครองโดยธรรมนั้นเป็นอย่างไร และแนวคิดของพวกเขาเพื่อคุณทักษิณเท่านั้นเอง
      
        อย่างเช่น ข้อเรียกร้องของพวกเขาคือ “เอาคุณทักษิณกลับบ้าน” กลับมาเป็นผู้นำทางการเมือง เพื่อนเปลี่ยนการเมืองใหม่ ไปสู่สาธารณรัฐ (1) ให้นำเอารัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาใช้ (นี่ก็แสดงว่าต้องการให้ประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ) (2) ปลุกระดมมวลชนเสื้อแดง ก่อกวน สร้างความปั่นป่วนไปทั่วประเทศ โดยการเชิดชูคุณทักษิณ ต้องการให้คุณทักษิณกลับมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (นี่ก็เป็นการคิดผิด เหตุวิกฤตชาติที่แท้จริง คือ ไม่มีหลักการปกครองโดยธรรม จึงทำให้พลังของประชาชนในชาติไปกันคนละทิศละทาง ส่วนปัญหาเศรษฐกิจนั้น เป็นผลของระบอบเผด็จการอย่างหนึ่ง ที่ปราศจากหลักการปกครอง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าคุณทักษิณและแกนนำเสื้อแดง หาได้มีความจริงใจต่อประเทศชาติอย่างแท้จริงไม่ (3) แผนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็สามารถทำได้ตามระบบรัฐสภา แต่พวกกลับเข้าใจว่า “การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นสิทธิที่ทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย” (นี่ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเข้าใจผิดว่าระบบรัฐสภาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ระบบรัฐสภา (Parliamentary System) เป็นรูปการปกครอง (Form of Government) ชนิดหนึ่ง รูปการปกครองเป็นของกลางๆ การเมืองระบอบไหนๆ ก็นำไปใช้ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยเสมอไป (ในความเป็นจริง ประเทศไทยก็ใช้ระบบรัฐสภามาเกือบตลอด แต่เป็นการเมืองภายใต้การปกครองแบบเผด็จการระบบรัฐสภา ทั้งนี้ประเทศไทยไม่เคยมีหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยมาก่อนเลย ตลอดเวลา 76 ปี
      
        ท่านผู้อ่านทั้งหลาย การดูว่าจะเป็นระบอบอะไรนั้น เขาให้ดูกันที่หลักการปกครอง (Principle of Government) ไม่ใช่ดูกันที่รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ดูกันที่รูปการปกครอง คือระบบรัฐสภา (มี ส.ว. มี ส.ส. มีการเลือกตั้ง มีการสรรหา ฯลฯ) นี่เป็นเพียงรูปแบบ และวิธีการปกครองเท่านั้น ขอให้ท่านผู้อ่านได้มีปัญญาเข้าใจอย่างถูกต้องเพื่อมุ่งไปสู่การเมืองใหม่ การเมืองที่มีหลักการปกครองโดยธรรม ซึ่งก็คือ หลักการปกครองธรรมาธิปไตย นั่นเอง ครับท่าน
      
        ย้อนกลับมาเรื่องหลักการกับบุคคล การติดยึดติดตัวบุคคลเป็นความเห็นสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง แต่ขอให้พิจารณาด้วยทางสายกลาง คือพิจารณาไปตามเหตุปัจจัยตามกฎอิทัปปจจยตา “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี หรือเมื่อสิ่งนี้เป็นเหตุ สิ่งนี้เป็นผล” หรือเมื่อระบอบมิจฉาทิฐิ (เพราะไม่มีหลักการปกครอง) ก็จะเป็นปัจจัยให้รัฐบาลมิจฉาทิฐิ จะเป็นปัจจัยให้แผ่กระจายความมิจฉาทิฐิ ความไม่ถูกต้องทั้งปวงออกไปสู่ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด ในทางตรงกันข้ามเมื่อระบอบการเมืองเป็นสัมมาทิฐิ (เพราะมีหลักธรรมการปกครองโดยธรรม) ก็จะเป็นปัจจัยให้รัฐบาลมีความชอบธรรม จะเป็นปัจจัยให้แผ่กระจายความถูกต้องดีงาม ออกไปสู่ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมดในประเทศ อย่างเป็นไปเอง
      
        พระพุทธเจ้าทรงประกาศสัจธรรมอันลึกซึ้ง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้พ้นทุกข์ จะเห็นได้ว่าก่อนจะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ล้วนเป็นผู้มีความทุกข์และเห็นผิดมาก่อนทั้งสิ้น แต่เมื่อได้รับฟังคำสั่งสอนก็เปลี่ยนมาเป็นความเห็นถูก รู้แจ้งสัจธรรม เพราะอาศัยหลักการที่ดีนั่นเอง
      
        ดังอุปมาได้ว่า เมื่อคลองคดเคี้ยว น้ำย่อมคดตาม คลองก็คือระบอบฯ น้ำก็คือรัฐบาล จะเห็นได้ว่า เมื่อรัฐบาลนี้ เข้าบริหารประเทศใหม่ๆ ประชาชนต่างก็ชื่นชมยินดี แต่อีกไม่นานรัฐบาลชุดนี้จะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เขียนได้แนะผู้นำรัฐบาลนี้ไว้มากแล้ว แต่รัฐบาลไม่เคยฉุกคิด ปัญหาก็คือรัฐบาลมัวแต่คิดแก้แต่ปัญหาปลายเหตุอยู่นั่นเอง ผู้เขียนเองไม่มีส่วนได้เสียทางการเมือง คิดและเขียนอย่างมีภารกิจมุ่งขจัดมิจฉาทิฐิ เพื่อให้เกิดความมั่นคงของชาติและความผาสุกของปวงชนในชาติ เป็นที่ตั้ง
      
        อีกเรื่องหนึ่ง คือรัฐประหารกับการปฏิวัติ สองคำนี้มีจินตภาพที่แตกต่างกันมากและตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง รัฐประหารเป็นการกระทำที่เป็นไปในทางลบ และจะเกิดขึ้นในระบอบการเมืองที่เป็นเผด็จการต่อประชาชนเท่านั้น แนวทางรัฐประหารไม่สามารถจะแก้ปัญหาประเทศชาติได้ ทั้งจะเพิ่มปัญหาให้มากขึ้น และขอให้เข้าใจอย่างถูกต้องว่าประเทศไทยไม่เคยมีการปฏิวัติ (Revolution) ทางการเมืองแม้แต่ครั้งเดียว นับตั้งแต่ พ. ศ. 2475 เป็นต้นมา มีแต่รัฐประหาร (coup d’etat) เท่านั้น แต่หนังสือพิมพ์ และผู้สื่อข่าว บางส่วนหรือนักการเมือง มักจะพูดและเขียนว่า “ปฏิวัติรัฐประหาร” เป็นการพูดและเขียนอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชารัฐศาสตร์ จึงควรแก้ไขจะได้ไม่อายเขา และพบว่า“รัฐประหารเกิดขึ้นจากเงื่อนไขความต่ำทรามของระบอบเผด็จการนั่นเอง” และจะไม่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย และธรรมาธิปไตยอย่างเด็ดขาด
      
        ส่วนคำว่า “ปฏิวัติ” (Revolution) เป็นจินตภาพที่เป็นไปในทางที่ดี เป็นไปในทางก้าวหน้า เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศต่างๆ การปฏิวัติทางการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เช่น ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส มาเลเซีย และการปฏิวัติสังคมนิยมในอดีต เช่น สหภาพโซเวียต รัสเซีย จีน เวียดนาม ลาว เป็นต้น โดยจะได้อธิบายกระบวนการวิวัฒนาการทั้งทางนามธรรมและรูปธรรมมี 2 ลักษณะ คือ (1) แบบค่อยเป็นค่อยไป (Evolution) (2) แบบก้าวกระโดด (Leap or revolution)
      
        มีข้อสังเกตว่า การจะทำให้วัตถุบริสุทธิ์ด้วยน้ำมือของมนุษย์นั้น จะต้องทำให้เดือด หรือถึงจุดหลอมเหลว หรือทำให้ขัดแย้งอย่างถึงที่สุดเสียก่อน จึงจะทำการเปลี่ยนแปลง ดัดแปลงได้ตามที่ต้องการ (มาร์กซ์ (Marx) เจ้าลัทธิคอมมิวนิสต์, เลนิน ผู้นำการปฏิวัติคอมมิวนิสต์โซเวียตรัสเซีย, เหมา เจ๋อตุง ผู้นำการปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีนแดง ได้นำไปประยุกต์เป็นทฤษฏีปฏิวัติแนวทางรุนแรงด้วยกำลังอาวุธ โค่นล้มทำลายสถาบันองค์ประกอบแห่งรัฐและนายทุน แล้วสถาปนารัฐสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ขึ้นแทน) ซึ่งดูเหมือนพวกแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ก็อยู่ในแนวทางนี้เช่นเดียวกัน
      
        แต่ในทางนามธรรม หรือทางจิตใจจะทำให้บริสุทธิ์ได้นั้น จะต้องกลั่นจิตให้สงบ และไม่ให้ติดยึดในสังขารทั้งปวง (ข้อนี้เป็นแนวทางการปฏิวัติสังคมแนวทางสันติ เช่น พระพุทธเจ้า, พระเจ้าอโศกมหาราช ภายหลังมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว, มหาตมะคานธี ผู้นำยุคใหม่ของอินเดีย, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับยุคสมัย)
      
        ประเทศไทยยังไม่เคยผ่านการปฏิวัติ (Revolution) เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของชาติ สักวันหนึ่งก็จะต้องปฏิวัติอย่างแน่นอน แต่จะปฏิวัติด้วยแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งได้ทำแนวร่วมทางตรงกับคุณทักษิณ และแกนนำกลุ่มเสื้อแดง และทำแนวร่วมมุมกลับกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะนี้ หรือ จะเป็นแนวทางธรรมาธิปไตย อันเป็นแนวทางการเมืองใหม่โดยธรรม
      
        ทั้งนี้จะเป็นแนวทางวัตถุรุนแรง หรือ จะเลือกแนวทางสันติด้วยธรรมาธิปไตย อันเป็นชัยชนะของทุกคนและเพื่อสันติภาพโลก ก็ขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของผู้นำและประชาชนในประเทศของเรา
      
        เรื่องการสร้างระบอบการเมือง ขอ ย้ำว่าผู้ปกครองไทย 18 รุ่น ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะสร้างระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการจัดความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง เอาหางมาเป็นหัว ส่วนหัวไม่มี หายไป คือยังไม่ได้มีระบอบฯ หรือหลักการปกครอง เมื่อไม่มีหลักการปกครอง เป็นบทตั้งหรือเป็นบททั่วไปอันเป็นหลักประกันของปวงชนในแผ่นดิน ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีแต่เพียงด้านวิธีการปกครองเพียงด้านเดียว จึงเป็นรัฐธรรมนูญระบอบเผด็จการ และเมื่อมาใช้กับรูปการปกครองระบบรัฐสภาจึงเรียกว่า “ระบอบเผด็จการระบบรัฐสภา”
      
        นี่คือเหตุที่มาแห่งความพินาศของประเทศชาติและประชาชนเสมอมา หากรัฐบาลนี้ฉลาด เพียงมีนโยบายสำคัญ ด้วยการนำเสนอเป็นวาระแห่งชาติ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 อันเป็นรากฐาน แก่นแท้ของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้หลักการปกครองเป็นจุดศูนย์กลางของปวงชนในชาติ เป็นจุดศูนย์รวมของปวงชนในชาติเพียงเท่านี้ ปัญหาคุณทักษิณ ปัญหาเสื้อแดง ก็จะหมดไป ความสามัคคีธรรมแห่งชาติก็จะกลับคืนมาอย่างง่ายดาย...รัฐบาล ทำซิ..ทำเลย...ความถูกต้องดีงามจะได้กลับคืนมา...หรือจะรอให้กลุ่มฝ่ายซ้าย เสื้อแดงมีชัยชนะ


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000026820

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น