ศูนย์ ข่าวหาดใหญ่ - เวทีการเมืองภาคประชาชน
"ใครทำรัฐวิสาหกิจเจ๊ง" ณ ลานประวัติศาสตร์ สถานีรถไฟหาดใหญ่
พี่น้องพันธมิตรฯ ฝ่าสายฝนบ่มปัญญา "สาวิทย์-แจ่มศรี-ปัญญา"
ร่วมเปิดเผยกระบวนการหักปีก เด็ดขารัฐวิสาหกิจไม่ให้เติบโต
พบระบบการเมืองน้ำเน่าระบาดร่วมแสวงหาผลประโยชน์เสียเอง
และเอื้อเฟื้อผลประโยชน์ให้แก่นายทุนซึ่งล้วนเป็นการกินทั้งระบบ
ทั้งแก้กม.เปิดทางให้กลุ่มทุนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์
โปรยกลีบกุหลาบให้บริษัทเอกชนเข้ามาโดยที่รัฐวิสาหกิจไทยไม่สามารถแข่งขัน
ได้ แนะทางออกต้องเร่งสร้างการเมืองภาคปชช.ให้เกิดความเข้มแข็ง
ร่วมตรวจสอบ ทิ้งท้ายการตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ
ขึ้นอยู่กับเสียงปชช.
เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา เวทีการเมืองภาคประชาชน ณ
ลานประวัติศาสตร์ สถานีรถไฟหาดใหญ่
ได้เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางสายฝนที่ตกโปรยปรายเป็นระยะ
แต่ก็ไม่สามารถทัดทานกระแสการตื่นตัวของพี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อ
ประชาธิปไตย จ.สงขลา ได้ โดยหัวข้อที่เปิดการเสวนาครั้งนี้
"ใครทำรัฐวิสาหกิจเจ๊ง" โดยนายปิยะโชติ อินทรนิวาส และนายวิรุฬห์
สะแกคุ้ม เป็นพิธีกรดำเนินการเสวนา
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
(สรส.) กล่าวถึงความเป็นมาของรัฐวิสาหกิจว่า รัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นตั้งแต่
รัชกาลที่ 5 โดยพระองค์ทรงตั้งขึ้นเพื่อเป็นบริการสาธารณะแก่ประชาชน
โดยเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร จึงมีเงินอุดหนุนเพื่อให้ดำเนินการได้
และประชาชนดำเนินชีวิตอย่างมีความเท่าเทียม
หลังจากปี 2490 ประเทศไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยนำโดย
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ขอคำปรึกษากับธนาคารโลก
เป็นที่มาของการเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารและลดความสำคัญของรัฐวิสาหกิจลง
ทำให้กิจการด้านนี้ไม่เติบโต เปรียบเสมือนต้นบอนไซที่มีแต่ความแคระแกร็น
และต้องการนำไปขาย
"แม้จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตของรัฐวิสาหกิจ
แต่รัฐบาลก็ไม่คิดที่จะปรับปรุงแก้ไขให้อยู่ได้
มิหนำซ้ำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคต่อๆ มาจะศึกษารูปแบบจากยุโรป
อเมริกา และนำวัฒนธรรมอีกซีกโลกหนึ่งมาเป็นช่องว่างแสวงหาผลกำไรกับรัฐวิสาหกิจของ
ประเทศตัวเองระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง" นายสาวิทย์กล่าวต่อและว่า
เมื่อเป็นเช่นนั้น
การเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเดินในทิศทางที่ผิดมุ่งเน้นผลกำไรเป็น
หลักโดยไม่สนใจผลกระทบ
แม้แต่ระบบการเมืองที่บริหารประเทศถูกแทนที่ด้วยนายทุน
ปัจจุบันนายทุนเปลี่ยนบทบาทเบื้องหลังจากบริจาคเงินให้พรรคการเมือง
กลายเป็นนักการเมืองที่เข้ามาบริหารเงินเพื่อกำไรของตัวเองแทน
จากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลได้กัดกร่อนให้รัฐวิสาหกิจอ่อนแรงลง
การรุกกินรัฐวิสาหกิจเริ่มจากการเปลี่ยนโลโก้ เปลี่ยนกฎหมายให้สอดรับ
กลุ่มทุนที่ทำธุรกิจต่อสู้กับรัฐวิสาหกิจจะเข้าไปทำลายเพื่อไม่ให้ต่อสู้ได้
ดังเช่น การบินไทยก็กำลังถูกทำลายไม่ให้แข่งกับแอร์เอเชียได้
การป้องกันนั้นด่านแรกอยู่ที่คนในองค์กรจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง
ประชาชนก็ต้องตอบรับต่อการต่อสู้
เพราะนั่นคือสมบัติของประเทศชาติและประชาชน การติดตามข้อมูลข่าวสาร
และร่วมกันทักท้วงเมื่อมีความไม่โปร่งใสจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสกัดการ
เมืองเข้ามาตีรัฐวิสาหกิจ
ด้านการบินไทย
เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการถูกนักการเมืองทำให้ประสบภาวะขาดทุน
ทั้งจากการผู้บริหารที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและเป็นเครื่องมือให้แก่กลุ่ม
นักการเมือง นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบินไทย
เปิดเผยว่า การบินไทยได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นการแปรรูปไปแล้วในระดับหนึ่ง
ตอนแรกรัฐตกลงว่าจะถือหุ้นในช่วงแรก 70% แต่ตอนนี้เหลือเพียง 54%
และละทิ้งจุดกำเนิดของรัฐวิสาหกิจที่เพื่อบริการประชาชนลงเรื่อยๆ
ในสมัยก่อนเมื่อมีปัญหาภายในต่างประเทศ
การบินไทยจะดูแลคนไทยด้วยการบริการส่งเครื่องบินไปรับกลับประเทศไทย
แต่ปัจจุบันผู้บริหารได้นำการบินไทยไปแสวงหาผลกำไรด้วยการจัดซื้อ จัดจ้าง
โดยที่ไม่มีความโปร่งใสกันมากมาย เช่น
ซื้อของที่ไม่ได้สเปกมาในราคาสูงแล้วใช้ไม่ได้ และจะซื้อใหม่ซ้ำอีก
เป็นต้น นี่คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
"ในสมัยนายทนง พิทยะ เป็นประธานบอร์ดการบินไทย
ได้ย้ายทุกสายการบินไปอยู่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเพราะมีการฮั้วกับผู้
ที่ได้รับผลประโยชน์ ทั้งที่สถานที่ยังไม่มีความพร้อม
นับตั้งแต่ตัวอาคารจนถึงรันเวย์ สุดท้ายต้องย้ายกลับไปสนามบินดอนเมือง
แต่ 2 ปีหลังนี้ย้ายไปอยู่สุวรรณภูมิอีกครั้งท่ามกลางปัญหา
และความไม่สะดวกของผู้ใช้บริการที่ต้องเดินทางไกลขึ้น"
นางแจ่มศรีกล่าวต่อและว่า
อีกหนึ่งความไม่โปร่งใสของสนามบินฯ ที่กำลังถูกเผยออก
คือในขณะนี้กำลังเร่งขยายโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 เร็วๆ
นี้ก่อนกำหนดคือในปี 2564 โดยเพิ่มเทอร์มินอล รันเวย์
อาคารผู้โดยสารเป็นต้น เพื่อลดความแออัดของการให้บริการ
ทั้งที่บอกว่าสามารถรองรับได้ 67 ล้านคน แต่สามารถรับได้จริง 24
ล้านคนเท่านั้น
ส่วนรัฐวิสาหกิจการประปาฯ
นั้นก็กำลังถูกกลุ่มทุนกลืนกินเช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะนโยบายที่เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารจัดการน้ำประปาในภูมิภาค
ต่างๆ ทั่วประเทศไทย และพื้นที่เป้าหมายล่าสุดคือ จ.สงขลา ชุมพร และระนอง
แต่การเมืองภาคประชาชนได้เกิดการตื่นตัวและร่วมตรวจสอบ
จนมีการชะลอโครงการชั่วคราว แต่โครงการที่ดำเนินไปก่อนล่วงหน้าแล้วนั้น
ความไม่โปร่งใสและข้อเท็จจริงต่างๆ ทยอยสู่สังคม
และกำลังจะกลายเป็นบทเรียนราคาแพงของการไม่รู้เท่าทันเล่ห์กลของนักการเมือง
และกลุ่มทุน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายปัญญา จันทร์เพชร
กรรมการบริหารสหภาพแรงงานการประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า เพียงแค่ 11
โครงการที่ดำเนินการมาก่อนล่วงหน้าแล้วก็ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินนับ
แสนล้านบาท แต่ละโครงการทำให้รัฐวิสาหกิจขาดทุน เงินราว 4-5
หมื่นล้านหมุนเวียนอยู่ในด้านนอก โดยที่รัฐไม่ให้เพิ่มงบใดๆ
อุดหนุนรัฐวิสาหกิจให้อยู่รอด
โดยกฎหมายที่มีผลต่อความมั่นคงของรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลทำข้อ
ตกลงกับ IMF
กรณีการให้บริษัทเอกชนเข้ามาผลิตน้ำประปา 11
โครงการที่ดำเนินการไปแล้ว ปทุมธานี-รังสิต
หมกเม็ดข้อมูลว่ามีมูลค่าเพียง 4,000 ล้าน แต่มูลค่าจริงราว 40,000
ล้านบาท เอกชนผลิตน้ำได้ในราคาแพงแต่การประปาต้องขายในราคาที่ถูก
ทำให้ต้องขาดทุนและแบกรักภาระคิวละ 5 บาท
ยิ่งโครงการดำเนินการนานขึ้นการประปาฯก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้นเท่านั้น
กลายเป็นภาระที่ต้องนำภาษีอากรของประชาชนมาอุดหนุน
เพื่อให้เม็ดเงินเปลี่ยนถ่ายสู่มือนายทุนโดยใช้รัฐวิสาหกิจเป็นตัวประกัน
"อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎข้อบังคับใดเกิดขึ้น
กระบวนการแสวงหาผลประโยชน์ย่อมใช้ช่องว่างเดินต่อ
โดยตามกฎหมายเอกชนร่วมทุนกำหนดให้โครงการมูลค่า 1,000 ล้านต้องเข้า ครม.
จึงมีการหลีกเลี่ยงโดยเขียนโครงการมูลค่าต่ำกว่าจริงพลิกจากหน้ามือเป็นหลัง
มือ ทั้งโครงการมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาททั้งนั้น
และอ้างสาเหตุการให้เอกชนเข้ามาบริหารด้วยผู้บริหารอ้างว่า
พนักงานประปาฯไม่มีประสิทธิภาพ
แต่ความจริงแล้วเป็นที่ผู้บริหารมากกว่าที่ไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารและ
แก้ปัญหา" นายปัญญากล่าว
สำหรับการปกป้องรัฐวิสาหกิจ
ผู้ร่วมเสวนาได้แนะนำในแง่มุมที่น่าสนใจ โดยนางแจ่มศรี กล่าวว่า
เมื่อใดที่เกิดอาการผิดปกติในบ้านเมือง
ประชาชนต้องตื่นมาใฝ่รู้เกาะกลุ่มเหนียวแน่น
สร้างภูมิปัญญาต่อสู้กับนักการเมืองที่สร้างความไม่ถูกต้องในสังคม
ประกาศให้รู้เลยว่าวันนี้คุณจะมาหลอกลวงไม่ได้
นั่นก็คือการเมืองใหม่ที่สร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน
คนในรัฐวิสาหกิจก็กล้าที่จะออกตัวมาต่อสู้เรื่องไม่ชอบธรรมด้วยเช่นกัน
ต่างจากเมื่อก่อนที่กลัวว่าจะได้รับผลกระทบต่อหน้าที่การงาน
นายสมศักดิ์ มาณพ รองประธานสหภาพการบินไทย กล่าวสั้นๆ ว่า
เยาวชนคนหนุ่มสาวต้องเข้ามาศึกษาการเมืองมากขึ้น
และต้องเข้ามาดูแลสืบทอดต่อจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่
ซึ่งในปัจจุบันนี้มีเครือข่ายพันธมิตรฯเข้ามาขับเคลื่อน
นอกจากนี้ ผู้ดำเนินการเสวนายังซักถามต่อว่า พันธมิตรฯ
ควรจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาหรือไม่ นายสาวิทย์ กล่าวว่า
พรรคการเมืองในปัจจุบันไม่ใช่คำตอบของสังคมไทย
แต่การตั้งพรรคใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ต้องสร้างกรอบผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งเพื่อกำกับพรรคการเมือง
ต่อจากนี้ไปเราจึงต้องสร้างภาคประชาชนให้เข้มแข็งก่อน
และคำตอบก็ต้องให้ประชาชนเป็นคนร่วมกันพิจารณา
สำหรับการปิดเวทีเสวนาทางการเมืองในคืนนี้
ได้รับเกียรติจากศิลปินชื่อดัง "หงา คาราวาน"
มาร่วมบรรเลงบทเพลงที่ให้ข้อคิด กำลังใจ และความหมาย
อันเป็นของขวัญที่มอบให้กับพี่น้องพันธมิตรฯ
ที่ร่วมสละความสุขส่วนตัวมารวมตัวเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการเมืองใหม่
เพื่อสร้างสังคมแห่งปัญญา
อันจะพัฒนาประเทศชาติให้มีความมั่นคงต่อไปนั่นเอง
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000029669
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น