++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2551

เอ็นพีวีจุลินทรีย์กำจัดศัตรูพืช ผู้ใช้ปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม


เอ็น พี วี (Nuclear Polyhedrosis Virus) เป็นโรคไวรัส ที่เกิดกับแมลงชนิดหนึ่ง มีประสิทธิภาพ ในการทำลายแมลงศัตรูพืช ในกลุ่มเดียวกัน สามารถพบได้ ตามแหล่งธรรมชาติ โดย เฉพาะในแหล่ง ที่มีการระบาด ของหนอนจำนวนมาก


นายอุทัย เกตุนุติ นักกีฏวิทยา 8 สำนักวิจัยและพัฒนาการปราบศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงที่มาในการค้นพบเชื้อเอ็น พี วี ว่า "ในช่วงที่ศึกษาอยู่ปีสุดท้าย ได้ทำวิจัยพิเศษโดยการเลี้ยงหนอนกระทู้หอม แต่เลี้ยงอย่างไรก็ไม่เป็นผลสำเร็จ หนอนที่เลี้ยงไว้ตายหมด จึงเริ่มศึกษาค้นคว้า กระทั่งพบว่าสาเหตุเกิดจากไวรัส Nuclear Polyhedrosis Virus (NPV) ซึ่งไวรัสดังกล่าวเมื่อหนอนกินเข้าไปจะส่งผลทำให้ตายในที่สุด"


จากนั้นได้มุ่งศึกษาค้นคว้าไปที่ไวรัส เอ็น พี วี หนอนกระทู้หอม ไวรัส เอ็น พี วี หนอนกระทู้ผัก เพราะหนอนทั้งสองชนิดจะกัดกินพืชทุกชนิด ยกเว้น ข่า ตะไคร้ ข้าว และไวรัส เอ็น พี วี หนอนเจาะสมอฝ้าย โดยแนวทางการวิจัยจะทำการเก็บตัวหนอนในพื้นที่ต่างจังหวัด นำมาตรวจวิเคราะห์ว่ามีเชื้อดังกล่าวหรือไม่ เพื่อเก็บไว้เป็นอาหารในตัวหนอน (ต่อเชื้อ) ที่เลี้ยงไว้ในห้องแล็บ


สำหรับวิธีการต่อเชื้อเอ็น พี วี เริ่มแรกจะเก็บไข่หนอนอายุ 2 วัน นำเข้าห้องฟัก ซึ่งหนอนตัวเล็กจะเกาะกระดาษที่ใส่ไว้ ตัดกระดาษใส่ลงไปในกล่องที่มีถั่วเขียวบด ซึ่งใช้สำหรับเป็นอาหารเทียม ใช้ผ้าขาวบางปิดเลี้ยงต่ออีก 8 วัน ทำการแยกหนอนใส่ตามล็อกเกอร์ที่จัดไว้ จากนั้นใส่หนอนตายซึ่งมีเชื้อ เอ็น พี วี และทิ้งไว้นาน 7 วัน หนอนจะโตเต็มที่และตาย ซึ่งจะทำให้ได้เชื้อ เอ็น พี วี มาก เสร็จแล้วใช้เครื่องดูดซากหนอนตามล็อกเกอร์จำนวน 2,500 ตัว/ขวด นำเข้าเครื่องตีปั่นละเอียด


จากนั้นนำเชื้อ เอ็น พี วี อัตรา 30 มิลลิลิตร /น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน จำนวน 2 ครั้ง ในแปลงทดลองหอมแดง หอมหัวใหญ่ แปลงฝ้าย และในไร่องุ่น ในพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่มีการระบาดของหนอนรุนแรง ซึ่งผลที่ได้ พบว่าปริมาณหนอนลดลง


และที่สำคัญ เกษตรกรสามารถทำการต่อเชื้อได้ ด้วยการนำหนอนตาย 2-4 ตัว ในแปลงที่ผ่าน การฉีดพ่นเชื้อ เอ็น พี วี มาผสมน้ำ 2 ลิตร ฉีดพ่นในแปลงผัก ส่วนที่หลายคนวิตกกังวลว่า จะมีผลกับผู้ใช้ และสภาพแวดล้อมหรือไม่นั้น ทีมวิจัยได้มีการทดลองแล้ว ซึ่งผลที่ได้ คือมีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายทั้งนก ปลา และตัวเกษตรกร แต่จะมีผลในหนอนพวกเดียวกัน


เกษตรกรที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืช ทางชีวภาพกองกีฎและสัตววิทยา โทร.0-2579-7580, 0-2940-7493.


เพ็ญพิชญา เตียว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น