++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2550

สธ.ยันโรคลิชมาเนีย รักษาหายขาด แนะให้ป้องกัน “ริ้นฝอยทราย” กัด ดูแลรอบบ้านให้เตียน

ที่มา http://www.moph.go.th/show_hotnew.php?idHot_new=6015

# อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยโรคลิชมาเนีย ขณะนี้เป็นโรคที่พบไม่บ่อยในประเทศไทย ในปีที่ผ่านมามีรายงาน 1 ราย ที่พังงา ชี้โรคนี้มียารักษาได้ แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้ริ้นฝอยทรายกัด อาการแสดงโรคเบื้องต้นที่สังเกตง่าย เช่น มีผื่นนูนเล็กๆ ที่ผิวหนัง และกลายเป็นแผล หายช้า มีไข้เรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ซีด ท้องอืด ตับม้ามโต และน้ำหนักลด วิธีป้องกันแนะชาวบ้านถางหญ้ารอบๆ บ้านให้โล่งเตียน โดยเฉพาะชาวชนบท
ตามที่นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานนายกรัฐมนตรีให้รับทราบเกี่ยวกับโรคลิชมาเนีย ว่าเป็นโรคใหม่ที่ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังในประเทศไทย และได้ประสานกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงาน ให้มีการติดตามแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง เพื่อให้มีการตรวจสุขภาพ ป้องกันการติดโรคและให้การรักษาได้ทันการหากเกิดการเจ็บป่วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังโรค ลิชมาเนียในประเทศไทย ว่า โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) หรือโรคริ้นฝอยทรายกัด เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากโปรโตซัวในตระกูลลิชมาเนีย พบได้ทั้งในคนและสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข แมว วัว แกะ หนู เป็นต้น การติดต่อเกิดจากริ้นฝอยทราย (sand fly) ซึ่งเป็นแมลงที่กัดกินเลือดคนและสัตว์ เมื่อดูดเลือดคนและสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค ลิชมาเนีย ก็จะแพร่โรคไปสู่คนอื่นได้
นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อไปว่า ก่อนนี้โรคลิชมาเนีย พบในแถบตะวันออกกลาง อาการของโรคแบ่งได้ 3 ชนิด คือ ชนิดที่ไม่รุนแรง จะมีอาการที่ผิวหนัง มีตุ่มเล็กๆ ที่ผิวและแตกออกเป็นแผล อาจมีกว่า 100 แผลก็ได้ และชนิดรุนแรงที่ทำให้ติดเชื้อที่อวัยวะภายใน (Visceral Leishmaniasis) มีชื่อเรียกว่า โรคคาลา อาซา (Kala azar) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้เรื้อรัง ซีด น้ำหนักลด ม้ามและตับโต หมดเรี่ยวแรง และชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่เกิดขึ้นกับเยื่อเมือก (Mucocutaneous Leishmaniasis) ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับที่เกิดขึ้นที่ผิวหนัง แต่จะเกิดแผลลุกลามในอวัยวะที่มีเยื่อเมือก เช่น จมูก ปาก เป็นต้น
ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยสะสม 350 ล้านคน ใน 88 ประเทศ โดยติดเชื้อปีละประมาณ 100,000 คน มีประชาชนเสี่ยงติดโรคนี้ประมาณ 147 ล้านคน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะชนิดที่ทำให้ติดเชื้อที่อวัยวะภายใน จะทำให้อัตราป่วยเพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ภายใน 2 ปี และอาจทำให้เสียชีวิตได้ มักเป็นโรคของคนในชนบท เนื่องจากเชื้อมักจะพบในผู้ที่อยู่ในบ้านใกล้กับป่า หรือทำงานในป่า
จากการตรวจสอบรายงานโรคลิชมาเนียในประเทศไทยย้อนหลัง พบมีรายงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2503 ผู้ป่วยเป็นชาวปากีสถาน 3 ราย ส่วนคนไทยพบรายงานใน พ.ศ. 2527-2549 จำนวน 8 ราย 5 รายแรกพบในปี 2528-2529 มีประวัติไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบียและคูเวต โดยพบใน พ.ศ. 2539 ที่สุราษฎร์ธานี ปี 2548 ที่จังหวัดน่าน และปี 2549 พบที่จังหวัดพังงา ทุกรายไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ รายสุดท้ายนี้ เป็นชนิดที่มีการติดเชื้ออวัยวะภายใน รายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 เป็นชายอายุ 54 ปี อาชีพกรีดยาง เริ่มมีอาการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 ด้วยอาการ ไข้ หนาวสั่น ไอ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดแน่นท้อง ตับและม้ามโต ซีด อ่อนเพลียมาก ผอมมากผิดปกติ หายใจไม่สะดวก ต่อมาผู้ป่วยเลือดกำเดาและเลือดออกตามไรฟัน เลือดไหลไม่หยุด อ่อนเพลียมาก เหนื่อยหอบ ซีดรุนแรง ตับ ม้ามโตมากขึ้น นับเป็นรายที่ 2 ของภาคใต้ และเป็นรายที่ 3 ของประเทศ ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต
นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อไปว่า สำหรับการรักษาโรคลิชมาเนีย ขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อม โดยมียาฉีด 2 ชนิด ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเป็นเวลา 14 วัน และชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน การรักษาได้ผลดี หายขาด โดยได้ส่งยากระจายไปยังสำนักควบคุมโรคทั้ง 12 เขตแล้ว อย่างไรก็ตาม อาจป่วยซ้ำได้ จากการถูกริ้นฝอยทรายที่มีเชื้อกัด ฉะนั้น จะต้องอาศัยการป้องกันควบคู่กัน โดยดูแลบ้านเรือนให้สะอาด และถางหญ้า ถางป่ารอบบ้านให้โล่งเตียน เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่ของริ้นฝอยทราย และกำจัดขยะมูลฝอยโดยการเผาหรือฝังดิน นอนกางมุ้งป้องกันหรือติดมุ้งลวดที่บ้าน ซึ่งแมลงชนิดนี้ออกหากินในช่วงหัวค่ำ หากมีอาชีพกรีดยางหรือต้องเข้าไปหาของป่า ต้องสวมเสื้อผ้า ใส่รองเท้า ถุงเท้า ให้มิดชิด รวมทั้งทายาป้องกันแมลงกัด ก็จะป้องกันได้
มิถุนายน3/5-6 ****************** 12 มิถุนายน 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น