++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เพื่อนคู่คิดของศรัทธา...




ศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญในพุทธศาสนา ดังเห็นได้ว่าพิธีกรรมของชาวพุทธทุกชนิด รวมไปถึงการทำวัตรสวดมนต์ จะต้องเริ่มต้นด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมสร้างศรัทธาของเราให้หนักแน่น ขณะเดียวกันก็เป็นการเตรียมใจให้พร้อมสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ หลังจากนั้น
พุทธศาสนาแม้จะเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่ก็ตระหนักว่าปัญญานั้นสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว จะต้องเริ่มต้นด้วยศรัทธา โดยเฉพาะศรัทธาในตัวบุคคล เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่งเพื่อน ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่ากัลยาณมิตร กัลยาณมิตรสำคัญเพียงใด ก็พึงพิจารณาจากพุทธพจน์ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฏางคิกมรรคแก่ภิกษุ ฉันนั้น ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฏางคิกมรรค”
บุคคลใดจะเรียกว่าเป็นกัลยาณมิตรได้ก็เพราะมีความน่ารัก น่าเคารพ น่าเจริญใจ และรู้จักพูดให้ได้ผล เป็นต้น คุณลักษณะดังกล่าวย่อมยังศรัทธาให้เกิดแก่ผู้พบเห็นและหากเป็นผู้ทนต่อถ้อยคำ แถลงเรื่องล้ำลึกได้ และไม่ชักนำไปในทางเสื่อมเสีย ก็ย่อมจะส่งเสริมให้ผู้อื่นบังเกิดสัมมาทิฏฐิ และดำเนินชีวิตบนหนทางที่ถูกต้องได้ ความสำรวมของพระอัสสชิขณะเดินบิณฑบาต สามารถน้อมใจอุปติสสะให้เข้าหาเพื่อไต่ถาม แม้ธรรมกถาของพระอัสสชิจะสั้น แต่ก็มีความลึกซึ้งจนอุปติสสะบรรลุโสดาปัตติผล ก่อนที่จะบวชเป็นพระสารีบุตร
ศรัทธาที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวพุทธคือ ศรัทธาในพระรัตนตรัย และกัลยาณมิตรที่ควรแก่การน้อมใจเลื่อมใสมากที่สุด คือพระบรมศาสดา หากไม่มีศรัทธาและความเลื่อมใสดังกล่าวแล้ว บุคคลก็ยากจะเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติได้ พระพุทธองค์ถึงกับตรัสว่า ภิกษุใดที่ “เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในพระศาสดา… ในธรรม… ในสงฆ์… ชื่อว่ามีตอในใจซึ่งยังสลัดทิ้งไม่ได้” และตรัสอีกว่า “ภิกษุนั้นจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”
อย่างไรก็ตามศรัทธาในพระรัตนตรัยนั้น มิได้หมายถึงการปลงใจเชื่อโดยไม่ใช้ปัญญาไต่สวน แม้ว่าศรัทธาในพระพุทธองค์จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปฏิบัติธรรม แต่พระองค์ได้กล่าวย้ำว่า ก่อนที่จะเลื่อมใสศรัทธา บุคคลควรพิจารณาตรวจสอบพระองค์อย่างถี่ถ้วน ในทุกแง่มุม เช่น ดูว่าเป็นผู้มีความเศร้าหมองหรือไม่ มีความเสียหายเมื่อมีชื่อเสียงเกียรติยศหรือไม่ พระองค์สอนธรรมใด ภิกษุปฏิบัติตามแล้วรู้ธรรมนั้นหรือไม่เป็นต้น ต่อเมื่อตรวจสอบแล้วเห็นว่าพระองค์ถึงพร้อมด้วยกุศลธรรม เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงค่อยเลื่อมในศรัทธา ศรัทธาเช่นนี้แหละ ที่พระองค์เรียกว่าศรัทธาที่มีเหตุผล (อาการวตีศรัทธา)
เป็นความจริงว่าสำหรับบางคนแล้ว ศรัทธาในตัวบุคคลไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติธรรม อัจฉริยบุคคลอาจใช้ปัญญาของตน พาเข้าถึงสัจธรรมขั้นปรมัตถ์ โดยไม่ต้องฝากศรัทธาไว้กับใคร พระบรมศาสดาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้ กระนั้นก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งในปรมัตถสัจจ์ บุคคลย่อมต้องอาศัยศรัทธาเป็นแรงผลักดัน อย่างน้อยก็ต้องมีศรัทธาว่าสภาวะไร้ทุกข์ และหนทางแห่งการสิ้นทุกข์นั้นมีอยู่จริง ต่อเมื่อเข้าถึงสภาวะนั้นแล้ว จึงไม่มีศรัทธาเช่นนั้นอีกต่อไป เพราะได้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว ด้วยเหตุนี้พระอรหันต์จึงได้ชื่อว่าเป็นอัสสัทธะหรือผู้ไม่มีศรัทธา
ศรัทธานั้นมีพลัง ทำให้เราเข้าถึงในสิ่งที่เราไม่เคยเข้าถึงมาก่อน ศรัทธาทำให้เราเชื่อว่าแม้ปัจจุบันจะทุกข์ระทม แต่อนาคตจะต้องดีขึ้น รพินทรนาถ ฐากูรเปรียบศรัทธาว่า เป็นดังวิหคที่รู้สึกถึงอรุณรุ่งและส่งเสียงขับขานทั้ง ๆ ที่ยังมืดสนิท แต่ขณะเดียวกันศรัทธาที่ปล่อยให้อารมณ์เข้าครอบงำอย่างสิ้นเชิง ก็อาจผลักดันให้ชีวิตหลงทาง สิ้นเนื้อประดาตัว และเสียผู้เสียคนไปได้ง่าย ๆ ศรัทธาในศาสดาจอมปลอมอาจหมายถึง การสังเวยชีวิตให้กับความบ้าคลั่งของบางคน ดังกรณีสานุศิษย์ของจิม โจนส์ และเดวิด โคเรช หลายคนแม้จะไม่ถึงแก่ชิวิต แต่ความทุกข์ที่ทับถมก็มากพอที่จะกลายเป็นคนวิกลจริต หรือเป็นปฏิปักษ์กับคุณงามความดีไปเลย กรณีอื้อฉาวในบ้านเราเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้หลายคนเบือนหน้าหนีจากพระสงฆ์และพระธรรม ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ได้ตรัสเตือนนานแล้วว่า
“บุคคลเลื่อมใสยิ่งในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์ยกวัตร …บุคคนั้นลาสิกขาเสีย …บุคคลนั้นตายเสีย …เขาย่อมไม่คบหาภิกษุอื่น ๆ เมื่อไม่คบหาภิกษุอื่น ๆ ก็ย่อมไม่ได้สดับสัทธรรม เมื่อไม่ได้สดับสัทธรรมก็ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม”
แม้ว่าศรัทธาจะช่วยให้จิตใจชื่นบาน มีปีติ และความสงบเย็น แต่หากปล่อยให้ศรัทธาเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกล้วน ๆ ก็ง่ายที่จะกลายเป็นความเชื่องมงายที่คายทุกข์มาให้ในภายหลัง ศรัทธาที่เกื้อกูลแก่ชีวิตอย่างแท้จริงจึงจำต้องเป็นศรัทธาที่มีปัญญาเป็นพื้นฐาน คือเกิดจากการไตร่ตรองด้วยเหตุผล พูดง่าย ๆ คือคำนึงถึงความถูกต้องเป็นที่ตั้ง ยิ่งกว่าที่จะเอาความถูกใจเป็นเกณฑ์ หากจะศรัทธาผู้ใดก็มิใช่เป็นเพราะรัก ชอบ หรือเพราะฉันทาคติ มิใช่เพราะสนองตัณหา มานะ หรือทิฏฐิ แต่เพราะพิจารณาแล้วด้วยปัญญาโดยไม่เอาตัวตนเข้าจับหรือเทียบเคียง จริงอยู่ปัญญาของคนเรานั้นมีจำกัด เหตุผลก็ใช่ว่าจะปลอดพ้นจากอารมณ์หรือการยึดถือตัวตนอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยที่สุด การใช้ปัญญาเท่าที่เรามีจะทำให้เรามีเกณฑ์ในการวางใจศรัทธา เมื่อใดที่เราพบว่าบุคคล หรือสิ่งที่เราศรัทธานั้น ไม่เข้ากับเกณฑ์ หรือเคลื่อนคลาดออกจากเกณฑ์นั้น เราก็จะมีสิ่งเตือนใจให้กลับมาทบทวนว่าศรัทธาของเรานั้นเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ตรงกันข้ามหากศรัทธานั้นเป็นไปด้วยอารมณ์ล้วน ๆ เราจะไม่มีเกณฑ์ใด ๆ เลย นอกจากความถูกใจ ก็ความถูกใจนั้นเราแน่ใจได้อย่างไรว่าจะพาเราไปถูกทาง โรคภัยไข้เจ็บนานาชนิด ความทุกข์นานาประเภท เกิดขึ้นก็เพราะผู้คนเอาแต่เสพแสวงสิ่งถูกใจมิใช่หรือ
คุณสมบัติของศรัทธาที่ดีก็คือไม่ทำให้เราหยุดนิ่ง งอมืองอเท้า หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาตนและการสร้างความเจริญงอกงามแก่ชีวิต ในทางพุทธศาสนา การพัฒนาตนก็ดี ความเจริญงอกงามของชีวิตก็ดี แยกไม่ออกจากกระบวนการพัฒนาปัญญา ศรัทธาที่ดีจึงต้องส่งเสริมกระบวนการพัฒนาปัญญา พูดง่าย ๆ คือช่วยให้เรามีปัญญามากขึ้น ศรัทธาที่ไม่มีเหตุผลรองรับยากที่จะนำเราสู่หนทางแห่งปัญญาได้ ความเชื่อที่งมงายมีแต่จะทำให้เราละทิ้งปัญญา คอยแต่จะพึ่งพิงสติปัญญาของผู้อื่น พร้อมกันนั้น ผู้ที่ปลูกฝังศรัทธาที่งมงายเช่นนี้ ก็มักจะกีดกันขวางกั้นไม่ให้เราใช้ปัญญา ลัทธิที่คลั่งไคล้เป็นอันมากจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้สานุศิษย์ “สมองฝ่อ” รวมทั้งการบังคับให้อดหลับอดนอน ทำพิธีกรรมตั้งแต่เช้ายันดึก
เมื่อปลูกศรัทธาโดยมีปัญญาเป็นพื้นฐาน ศรัทธานั้นเองก็พร้อมจะเป็นสะพานไปสู่ปัญญาที่สูงขึ้นไป ในทางพุทธศาสนาถือว่า ศรัทธาในพระรัตนตรัยที่ถูกต้องจะต้องนำไปสู่การมีสัมมาทิฏฐิ ในบทสวดมนต์พิเศษของสำนักสวนโมกข์ จะมีบทหนึ่งที่ชาวพุทธเป็นอันมากสวดเป็นประจำ แต่อาจมองข้ามสาระสำคัญไป บทสวดบทนั้นมีข้อความตอนหนึ่งว่า
“ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะแล้วเห็นอริยสัจจ์คือ ความจริงอันประเสริฐสี่ด้วยปัญญาอันชอบ คือเห็นความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์เสียได้ และหนทางมีองค์แปดอันประเสริฐ เครื่องถึงความระงับทุกข์ นั่นแหละเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด เขาอาศัยสรณะนั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”
พุทธพจน์ดังกล่าวชี้ชัดว่า ศรัทธาในพระรัตนตรัยที่ถูกต้องนั้น จะต้องก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในอริยสัจจ์ ๔ คำถามก็คือ เราท่านทั้งหลายที่เรียกตนว่าเป็นชาวพุทธ มีความเข้าใจในหลักธรรมข้อนี้เพียงใด หรือว่าศรัทธาในพระรัตนตรัยของเรานั้น ได้แต่ผลักดันให้เราเฝ้าทำบุญทำทานแต่อย่างเดียว แต่ไม่ช่วยให้มีปัญญางอกงามขึ้นเลย ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่าเป็นศรัทธาที่ให้อานิสงส์น้อย และอาจทำให้เราต้องเสียใจในภายหลังเมื่อพบว่า ผู้ที่เราเฝ้ากราบแหนหวังบุญจากเขานั้นหาใช่คนสูงส่งอย่างที่คิดไม่
ศรัทธานั้นเป็นดังน้ำเลี้ยงชีวิตให้สดชื่น เป็นปัจจัยให้เกิดพลังใจ และความสงบเย็นไปพร้อมกัน ศรัทธาทำให้ชีวิตมีทิศทางแน่วแน่ เพราะขจัดความลังเลสงสัยให้หมดไป แต่ศรัทธาก็ต้องการเครื่องนำทาง เพื่อเป็นหลักประกันว่า ทางที่แล่นไปนั้นเป็นทางที่ถูก เราจำเป็นต้องปลูกศรัทธาให้มีขึ้น ขณะเดียวกันก็อย่าลืมบ่มเพาะปัญญาให้มาควบคู่กันด้วย การเดินต้องอาศัยทั้ง ๒ ขาฉันใด ชีวิตก็ต้องการปัญญาเป็นเพื่อนเคียงคู่ศรัทธาฉันนั้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น