++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จดหมายเปิดผนึก “สนธิ ลิ้มทองกุล” ถึง ร.ม.ต.กลาโหมกรณี “อู่ตะเภา” เมื่อ 37 ปีที่แล้ว


จดหมายเปิดผนึก “สนธิ ลิ้มทองกุล” ถึง ร.ม.ต.กลาโหมกรณี “อู่ตะเภา” เมื่อ 37 ปีที่แล้ว

โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

      ย้อนหลังไปช่วงสงครามเวียดนามเหนือ-ใต้ โดยที่สหรัฐอเมริกาใช้ประเทศไทยรวมถึงสนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานทัพใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดถล่มเวียดนามเหนือจำนวนมหาศาลแล้วไม่ได้รับชัยชนะสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก และใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลก่อให้เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ชาวอเมริกันจำนวนมากจึงประท้วงต่อต้านสงครามในเวียดนามอย่างหนักตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน
     
        ในที่สุดปี พ.ศ. 2512 นายริดชาร์ด นิกสัน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 37 จึงเปลี่ยนความคิดที่จะ “ทิ้งมิตรและจับมือกับศัตรู”
     
        21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 หลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มาเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแทนไต้หวัน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 นายริดชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ใช้โอกาสนี้เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและพบกับเหมา เจ๋อ ตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นการเปิดสัมพันธ์ครั้งแรกระหว่างสหรัฐอเมริกามหาอำนาจโลกประชาธิปไตย กับ สาธารณรัฐประชาชนจีนมหาอำนาจโลกคอมมิวนิสต์
     
       ธันวาคม พ.ศ. 2515 นายเฮนรี คิสซินเจอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปยังสหรัฐอเมริกาได้แอบไปเจรจาลับๆกับเวียดนามเหนือที่กรุงปารีส เพื่อหยุดสงครามแต่การเจรจาไม่สำเร็จ ต่อมาปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ
     
       มีนาคม พ.ศ. 2516 สหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากเวียดนามใต้ ปล่อยให้เวียดนามใต้ต่อสู้กับเวียดนามเหนือโดยลำพัง จนถึงขั้นในปี พ.ศ. 2518 สภาคองเกรซของสหรัฐอเมริกาตัดงบประมาณช่วยเหลือเวียดนามใต้ทั้งหมด
       
     
       ที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังทหารของตัวเองออกจากเวียดนามใต้ แล้วปล่อยให้ทหารเวียดนามเหนือยึดเวียดนามใต้กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์สายรัสเซียโดยสมบูรณ์
     
        ในเวลานั้นประเทศไทยจึงตกอยู่ในภาวะยากลำบากไม่น้อย เพราะด้านหนึ่งไทยคือฐานทัพของสหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวแทนลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ใช้สำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดใส่เวียดนามเหนือ แต่เมื่อสหรัฐอเมริกากลับถอยออกจากเวียดนามใต้จนถูกเวียดนามเหนือยึดกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ไทยจึงย่อมตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของเวียดนามซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์สายรัสเซียซึ่งกำลังรุกคืบไปยังลาวและกัมพูชากลายเป็นคอมมิวนิสต์แบบโดมิโน ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็ยังไปจับมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นผู้ทรงอิทธิพลและให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอีกด้วย
     
        ประเทศไทยจึงอยู่ในภาวะที่วิกฤติที่สุดต่อภัยคอมมิวนิสต์ถึง 2 สาย สายหนึ่งจาก คอมมิวสต์จากจีน และอีกสายหนึ่งคือภัยคอมมิวนิสต์จากเวียดนามสายโซเวียต
     
        ด้วยพฤติกรรม “ทิ้งมิตรและจับมือกับศัตรู”เมื่อผลประโยชน์เปลี่ยนไป การตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยโดยที่คอมมิวนิสต์จีนและเวียดนามเห็นเป็นศัตรู จึงไม่เกิดประโยชน์อันใด หนำซ้ำยังจะสร้างความหวาดระแวงกับเพื่อนบ้านและเป็นภัยกับประเทศไทยอีกเมื่อสหรัฐอเมริกา “กลับลำ” เช่นนี้อีกด้วย
     
        ก่อนที่จะมีเหตุการณ์การประท้วงของคนไทยที่ขับไล่ฐานทัพอเมริกา ในเวลานั้นดูเหมือนว่าอธิปไตยของไทยที่ถูกสหรัฐอเมริกายึดครองอยู่นั้นไม่มีคนไทยสนใจสักเท่าไรนัก
     
        แต่เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 นายสนธิ ลิ้มทองกุล บรรณาธิการหนุ่มวัย 28 ปี จากหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ได้ลงข้อความจดหมายเปิดผนึกถึง ร.ม.ต.กลาโหม เอาไว้ในหน้าที่สองของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับที่ 51 ตีพิมพ์ในหน้าที่ 2 ในวันเดียวกันนั้น เป็นกรณีอธิปไตยที่สนามบินอู่ตะเภาที่นักข่าวไทยไม่สามารถไปทำข่าวได้ อีกทั้งเรียกร้องให้เปิดสัญญาระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาให้ประชาชนได้ทราบ
     
        โดยข้อความในจดหมายมีเนื้อความดังต่อไปนี้ :
     
        “จดหมายเปิดผนึกถึง ร.ม.ต.กลาโหม”
     
       เรื่องการทำข่าวของผู้สื่อข่าว น.ส.พ.ไทย
       เรียนท่าน ร.ม.ต.กลาโหม ผ่าน น.ส.พ.ประชาธิปไตย
     
        กรณีที่ได้มีคำสั่งออกมาจากท่าน สั่งห้ามผู้สื่อข่าวเข้าไปทำข่าวเครื่องบินเวียดนามใต้ที่มาลงอู่ตะเภาเมื่อวันที่ 29 เมษายน* 2518 นั้น โดยอ้างว่ามีอะไรหลายอย่างยังไม่พร้อม
     
        กระผม ในฐานะผู้สื่อข่าว น.ส.พ.ประชาธิปไตยมีความข้องใจมากที่ท่านและคณะรัฐบาลได้เคยพูดเสมอว่า ฐานทัพอู่ตะเภานั้นเป็นของคนไทย แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมากลับกลายเป็นว่า ผู้สื่อข่าว น.ส.พ.ไทยไม่สามารถเข้าไปทำข่าวได้ โดยทางฝ่ายแม็ก-ไทย (อเมริกัน) อ้างว่าทางรัฐบาลไทยเท่านั้นที่มีสิทธิ์ขออนุญาตให้เข้า ไม่ใช่ทางฝ่ายอเมริกัน
     
        กระผมได้รับฟังคำอ้างของฝ่ายอเมริกันโดยดุษณีแต่เต็มไปด้วยข้อกังขานานัปการ และหลังจากที่ใช้เวลา 1 วันกับ 1 คืนที่อู่ตะเภา ได้พบเพื่อนผู้สื่อข่าวไทยหลายคนจาก น.ส.พ.หลายฉบับซึ่งไม่สามารถเข้าไปทำข่าวในฐานทัพอู่ตะเภาได้เช่นเดียวกันแล้ว ก็ตกลงใจกลับกัน
     
        แต่มาเมื่อวันที่ 30 เมษายนนี้ ทางเจ้าหน้าที่สำนักข่าวสารอเมริกัน (ยูซิส) ได้โทรศัพท์เรียกให้พวกกระผมไปรับรูปเหตุการณ์ในอู่ตะเภาจากเขา ซึ่งยังความกังขาให้แก่พวกกระผมเป็นทวีคูณ พวกกระผมมีความเห็นพ้องต้องกันว่า :-
     
        เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักข่าวสารอเมริกัน อันเป็นสื่อมวลชนอีกอันหนึ่ง แต่เผอิญเกิดมาเป็นพันธุ์แยงกี้ มีอภิสิทธิ์เข้าไปในอู่ตะเภาได้ ซึ่ง ณ ที่นั้น เป็นแหล่งที่กระผมเคยเล่นน้ำในสมัยเยาว์วัย ฉะนั้น เพื่อเป็นการสนองความต้องการบางอย่างของท่าน กระผมจึงขอเสนอดังนี้
     
       1.ตั้งแต่นี้ไป ขอให้ท่านห้าม น.ส.พ.ไทยเข้าไปทำข่าวในสถานที่ราชการทุกแห่ง แต่ให้พวกยูซิสเข้าไปทำได้เพียงผู้เดียว แล้วนำข่าวมาแจกให้พวกกระผม
     
       2.ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระผมขอให้ท่านสั่งลดธงราชนาวีไทยที่หน้าฐานทัพอู่ตะเภาลงเสีย แล้วชักธงอเมริกันขึ้นมาแทน
     
       3.และด้วยเหตุผลข้างต้น กระผมขอเสนอให้ราชนาวีไทยถอยออกจากฐานทัพแห่งนี้เสีย เพราะอาจถูกกล่าวหาว่าประเทศไทยรุกรานอธิปไตยของสหรัฐอเมริกา
     
        ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นของกระผม ท่านอาจจะเข้าใจผิดว่ากระผมพูดเล่น กระผมขอยืนยันว่า ท่านไม่ควรคิดเช่นนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริง มันชี้ชัดแล้วว่าสภาพเช่นนี้มันไม่บังควรอุบัติขึ้นในผื่นแผ่นดินไทย ที่พวกท่านทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เป็นเมืองขึ้นของใคร
     
        ดังนั้นก่อนอื่นใดทั้งสิ้น กระผมใคร่ขอให้ท่านกรุณาชี้แจงอย่างไม่ปิดบัง ถึงสนธิสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา ทั้งในยุครัฐบาลก่อนและรัฐบาลปัจจุบัน
     
        ถ้าหากท่านและรัฐบาลของท่านคงปล่อยให้สภาพเช่นที่เป็นอยู่นี้ดำรงอยู่ต่อไป เราขอยืนยัน ณ ที่นี้ว่า จะไม่มีประชาชนที่รักเอกราชอธิปไตยของชาติไทยคนใดทนอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปได้อย่างแน่นอน
     
        ขอแสดงความนับถือ
     
        บ.ก.
     
       *หมายเหตุ แก้ไขข้อความจากต้นฉบับเดิมเพื่อความเข้าใจในการอ่าน จากวันที่ “29 พฤษภาคม 2518” เป็น วันที่ “29 เมษายน 2518” ซึ่งน่าจะเกิดจากการพิมพ์ผิด
     
        นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้เตือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้วยประโยคทิ้งท้ายว่า “จะไม่มีประชาชนที่รักเอกราชอธิปไตยของชาติไทยคนใดทนอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปได้อย่างแน่นอน” ราวกับว่านายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้มาก่อนกาลเวลาที่รู้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
     
        เพราะอีก 10 วันต่อมาในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2518 เวลา 15.20 น. เกิดเหตุ เรือมายาเกวซ (Mayaquez) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้าของประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำลังแล่นจากฮ่องกงมุ่งหน้ามาสัตหีบ จ.ชลบุรี ได้ถูกเรือของรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยจับในเขตน่านน้ำซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งของประเทศกัมพูชาประมาณ 60 ไมล์ โดยสหรัฐอเมริกาได้ส่งกองกำลังเรือที่อยู่ที่ฐานทัพอู่ตะเภาไปช่วยเรือมายาเกวซคืน และจมเรือกัมพูชาไป 3 ลำ
     
        เมื่อข่าวชิ้นนี้ปรากฏขึ้นทำให้สังคมทั่วไปได้ตื่นตัวทันทีเมื่อรับทราบว่าประเทศถูกละเมิดอธิปไตยโดยสหรัฐอเมริกาตามอำเภอใจ จึงเกิดการชุมนุมประท้วงครั้งที่ยิ่งใหญ่ของภาคประชาชนจากท้องสนามหลวงมาจนถึงสถานทูตสหรัฐอเมริกา เป็นการทำงานร่วมกันของประชาชนทุกหมู่เหล่าของคนในชาติทั้งนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน นิสิต นักศึกษา พ่อค้า ข้าราชการ ประชาชน และสื่อมวลชน ที่พร้อมใจกันต่อสู้ในเรื่องอธิปไตยของชาติอย่างเป็นเอกภาพ จนสหรัฐอเมริกาต้องถอนฐานทัพออกจากประเทศไทยไปในที่สุด
     
        จากจุดเริ่มต้นของจดหมายเปิดผนึกของนายสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อเวลาผ่านไป 37 ปี ประเทศไทยกลับต้องออกมาเผชิญหน้าเรื่อง “อู่ตะเภา”กลับมาอีก คือ กำลังจะมีการตกลงกันระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกาโดยที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบอีกครั้งหนึ่ง
     
        และกำลังจะมีคำถามที่ย้อนกลับไปเหมือนนายสนธิ ลิ้มทองกุล เคยถามว่า:
     
        “ในทางปฏิบัติอธิปไตยที่สนามบินอู่ตะเภาเป็นของคนไทยจริงหรือไม่?” และ
     
       “เมื่อถึงเวลาจริงนักข่าวไทยจะเข้าไปทำข่าวในพื้นที่และตรวจสอบได้อิสระเสรีจริงหรือไม่?”
     
       คำถามที่ต้องถามไปยังกองทัพไทย จะไม่รู้เลยหรือว่าสหรัฐประกาศกำหนดทิศทางในเรื่องความมั่นคงทางการทหารของสหรัฐอเมริกามาอยู่ที่เอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเป็นเป้าหมายที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุด?
     
       และกองทัพไทยจะไม่รู้เลยหรือแกล้งไม่รู้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนแสดงความไม่สบายใจต่อท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่จะเคลื่อนกองกำลังเรือมายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ และประเทศในโลกอาหรับก็เห็นสหรัฐอเมริกาเป็นศัตรูที่อันตรายด้วย
     
       กองทัพไทยและรัฐบาลจะไม่รู้หรือแสร้งไม่รู้ว่าเทคโนโลยีดาวเทียม การสำรวจเมฆ และกาสำรวจทางชั้นบรรยากาศ สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลทางการทหารและความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาได้ และสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความหวาดระแวงให้กับอีกหลายประเทศได้?
     
       ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็กๆ ไม่สามารถจะเป็นแนวร่วมกับประเทศหนึ่งเพื่อเป็นศัตรูกับอีกประเทศหนึ่งหรืออีกหลายประเทศได้ และประเทศไทยไม่ควรจะเป็นสมรภูมิสงคราม ไม่ควรจะเป็นแหล่งเป้าหมายของผู้ก่อการร้าย หรือแม้กระทั่งไม่ควรจะเป็นสมรภูมิแห่งการสร้างความหวาดระแวงและสร้างความแตกแยกในภูมิภาคแห่งนี้
     
       ข้อสำคัญที่สุดจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาพร้อมทิ้งมิตรและจับมือกับศัตรูได้เสมอหากได้รับผลประโยชน์ที่มากกว่า แต่ประเทศเล็กๆที่เป็นแนวร่วมหากกลับตัวไม่ทันก็อาจจะพลิกผันจนเสียชาติเสียแผ่นดินมาแล้วเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในเวียดนามใต้
     
       ที่น่าสมเพชก็คือนักการเมืองในวันนี้ที่อยู่ในฝ่ายรัฐบาล แล้วเคยร่วมต่อสู้ขับไล่ฐานทัพอเมริกาในประเทศไทยก็ควรต้องรู้อยู่แล้วถึงเล่ห์เหลี่ยมและความสลับซับซ้อนของหน่วยสืบราชการลับ ซีไอเอ ว่าสามารถสร้างความปั่นป่วนในประเทศไทยมาได้มากน้อยเพียงใด?
     
       ดังนั้นการใช้วาทกรรมมาหาความชอบธรรมในการสนับสนุนรัฐบาลเพื่อให้สหรัฐอเมริกากลับเข้ามาในครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นการหลอกประชาชน หลอกตัวเอง และขายจิตวิญญาณของตัวเองไปหมดสิ้นแล้ว จริงหรือไม่?
     
       แค่จะยืนยันว่า 37 ปีที่แล้ว ผู้ที่ชุมนุมต่อสู้เรื่องอธิปไตยของชาติ ณ สนามบินอู่ตะเภา ยังคงมีจุดยืนเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เช่น นายเทิดภูมิ ใจดี, นายประพันธุ์ คูณมี, นายชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย ฯลฯ และสุดท้ายที่ลืมไม่ได้ก็คือบุรุษที่มักจะมาก่อนกาลเวลาเสมอ
     
       “สนธิ ลิ้มทองกุล”

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 สิงหาคม 2555 เวลา 11:55

    สนธิ สมัครนายกให้ได้ก่อน อย่าดีแต่ปาก แต่ทำไม่เป็น...เอ แต่ลงไม่ได้เพราะจะผิดคำพูดของตัวเอง
    ผมขอใช้ปากบ้างนะ

    ตอบลบ