++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อู่ตะเภากับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ จีนกับประเด็นสนามรบของมหาอำนาจ โดย ว.ร. ฤทธาคนี



  การที่ทางการไทย โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อนุญาตในหลักการให้องค์การนาซ่าของสหรัฐฯ เข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อวัตถุประสงค์สำรวจภูมิอากาศ
     
       แต่หลายส่วนภาคประชาชนเกิดความเคลือบแคลงใจว่า “สหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์อะไรกันแน่
     
       1. เพื่อการปิดล้อมจีนเชิงยุทธศาสตร์
     
       2. เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการทำการจารกรรม และเฝ้าตรวจการเคลื่อนไหวทางทหารของจีน
     
       3. เพื่อเตรียมการปักหลักใช้เป็นฐานทัพทำสงครามกับจีน หากเกิดสงครามขึ้น รวมทั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์สกัดเส้นทางน้ำมันสู่จีน
     
       ประเทศไทยนั้นเป็นเสมือนจุดหมุนกึ่งกลางของรัศมียุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน ทางด้านเหนือครอบคลุมประเทศจีน อยู่ที่แขนรัศมีมีระยะห่างใกล้เคียงกัน ทางด้านเหนือครอบคลุมจีนได้ทั้งหมด ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือครอบคลุมเกาหลีและญี่ปุ่น ด้านทิศตะวันออกครอบคลุมทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก หมู่เกาะสแปรตเลย์ ฟิลิปปินส์ กวม หมู่เกาะมาแชล หรือแนวป้องกันภาคตะวันตกของสหรัฐฯ หมู่เกาะฮาวาย และชายฝั่งมหาสมุทรแคลิฟอร์เนีย ด้านใต้คือทวีปออสเตรเลีย นิวซีแลนด์กับด้านตะวันตกครอบคลุมมหาสมุทรอินเดีย อนุทวีปอินเดีย แนวเชื่อมตะวันออกกลาง
     
       ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2376 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยเกิดสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าขึ้น และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ทำสัญญาไมตรีและการค้า โดยประธานาธิบดี แอนดรู แจ็คสัน ส่งนายเอดมันท์ โรเบิร์ตส์ เข้ามาเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โดยมีการแลกของกำนัลที่มีค่า และสถาปนาทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2389
     
       ส่วนภาคเอกชน มีมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาเปิดสอนศาสนา เปิดโรงเรียน และสถานีอนามัย เช่น บาทหลวง นายแพทย์เดวิด เอบิล ใน พ.ศ. 2374 และได้นำการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้รักษาในกรุงเทพฯ และหมอบรัดเลย์ มีส่วนพัฒนาสุขอนามัยป้องกัน เช่น การปลูกฝีป้องกันโรคไข้ทรพิษ และมีการเปิดโรงพิมพ์ภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก
     
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ทรงประสูติที่แมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2470 และเสด็จฯ เยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ.2503 อันเป็นการย้ำความสัมพันธ์ที่ดี
     
       ความสัมพันธ์ทางทหารเริ่มต้นเมื่อนายพลวิลเลียม มิทเชล ผู้สร้างกองทัพอากาศสหรัฐฯ และนำกำลังอาสาสมัครไปร่วมรบเป็นสัมพันธมิตรอังกฤษและฝรั่งเศสรบกับเยอรมนี ส่วนกองบินทหารบกไทย นำโดย พันโทหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) บุพการีกองทัพอากาศ เข้าร่วมรบกับอังกฤษและฝรั่งเศษด้วยและได้พบกับนายพลมิทเชลในฝรั่งเศษ จึงได้เชิญให้มาเยือนกองบินทหารบกที่ดอนเมือง ในปี พ.ศ. 2476 และได้ทำการบินกับเครื่องบินเบเกต์ 14 ตารางเมตรของไทย
     
       จึงเกิดความร่วมมือกันโดยกองบินทหารบกไทยในยุคนั้นได้สั่งซื้อเครื่องบินหลายแบบจากสหรัฐฯ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และส่งนักบินไปฝึกบินในสหรัฐฯ แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มขึ้นในยุโรปในปี พ.ศ. 2482 สหรัฐฯ ระงับการส่งเครื่องบินที่กองบินทหารบกสั่งซื้อมาให้ไทย เพราะไทยเริ่มขบวนการเรียกร้องดินแดนคืน และเตรียมการรบกับฝรั่งเศส
     
       ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ห่างเหินกัน เพราะไทยรบกับฝรั่งเศส รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าข้างฝรั่งเศส ในปลายปี พ.ศ. 2483 ถึงต้นปี พ.ศ. 2484 ไทยรบชนะได้ดินแดนคืนแต่ญี่ปุ่นเข้าไกล่เกลี่ย
     
       ต่อมาไทยเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่นเพื่อความอยู่รอด เพราะอังกฤษไม่ให้ความช่วยเหลือทางทหารกับไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นบุกไทย เพื่อรักษาชาติมิให้ถูกทำลายย่อยยับรัฐบาลไทยจึงยอมลงนามกับญี่ปุ่น เป็นชาติร่วมวงศ์ไพบูลย์ ทำให้ไทยต้องประกาศสงครามกับชาติพันธมิตร ไทยรบกับสหรัฐฯ ซึ่งระงับส่งเครื่องบินมาให้กองทัพอากาศไทยตามที่สั่งซื้อ ไทยจึงสั่งซื้อจากญี่ปุ่นแทน ในช่วงสงครามนั้นเสืออากาศไทยสามารถยิงเครื่องบินสหรัฐฯ ตก เช่น P-41MUSTANG และ B-29
     
       แต่กองทัพไทยได้ส่งนายทหารเข้าเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย โดยกองทัพอากาศ ส่ง นาวาอากาศโททวี จุลละทรัพย์ ไปประจำกับหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯ เรียกว่า Office of Strategic Services-OSS ต่อมากลายเป็น CIA ที่อินเดีย และนำจารชนไทยที่ฝึกในอินเดียมากระโดดร่มลงในไทยทำการจารกรรมกองทัพญี่ปุ่น และพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา นักเรียนทุนหลวงในสังกัดกองทัพอากาศ เป็นเสรีไทยด้วย ทั้งสองท่านจึงเป็นบุคคลที่ทำงานประสานกับกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคสงครามเย็น และยุทธศาสตร์ปิดล้อมโซเวียต จีน และเวียดนาม
     
       เกิดสงครามเกาหลี กองทัพเกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2493 ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 รัฐบาลไทยตกลงส่งกำลังทหาร 3 เหล่าทัพไปช่วยกองกำลังสหประชาติรบกับคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือและกองทัพจีนแดง กองทัพอากาศไทย บินถึงฐานทัพอากาศตาชิกาวา เป็นประเทศที่ 2 รองจากกรีซ ตามด้วยกองพันทหารราบจากกองทัพบก และเรือรบจากกองทัพเรือ ครั้งหนึ่งกองพันทหารราบไทยได้รับมอบหมายให้เป็นกองระวังหลัง ทำการรบอย่างกล้าหาญอย่างยิ่งยวดไม่ยอมแพ้ จนได้ชื่อว่ากองพันพยัคฆ์น้อย หรือกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ในปัจจุบัน
     
       สหรัฐฯ ถือว่าการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน และการยกกองทัพเข้าร่วมรบกับเกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้ เป็นต้นเหตุสงครามเย็นในเอเชีย ต้นเหตุสงครามเย็นของโลกและยุโรป คือ การที่โซเวียตล้อมกรุงเบอร์ลิน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติในปี ค.ศ.1945 สงครามเกาหลีเกิดความสัมพันธ์ทางทหาร โดยที่สหรัฐฯ ส่งหน่วยที่ปรึกษาการทหารสหรัฐฯ เข้ามาในประเทศไทย เพื่อประสานงานและฝึกทหารไทยให้สามารถรบในเกาหลีได้ และจัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางทหารอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2495 โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์แก่กองทัพไทย กองทัพอากาศได้รับฝูงบินขับไล่ไอพ่นในปี พ.ศ. 2496 เป็นชาติแรกในภูมิภาคนี้ที่บินไอพ่นได้
     
       ตามหลักการทรูแมนจึงเกิดสนธิสัญญามะนิลา พ.ศ. 2497และต่อมามีการก่อตั้ง SEATO องค์การป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย แต่หลังจากความล้มเหลวในสงครามเวียดนาม SEATO จึงสลายตัวลง ในปี พ.ศ. 2520 สนธิสัญญามะนิลาทำให้เกิดข้อตกลงดีน-รัสต์ พ.ศ. 2505 แบบสัญญาสุภาพบุรุษมีเนื้อหาที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยและได้ตกลงกันโดยเน้นที่อำนาจอธิปไตยของไทย โดยทุกฐานบินจะต้องปกครองบังคับบัญชาโดยนายทหารอากาศไทย โดยกองทัพอากาศที่ 7 ตั้งอยู่ที่นครพนม มีการใช้ฐานทัพอากาศที่ดอนเมือง นครราชสีมา ตาคลี นครสวรรค์ อู่ตะเภา สัตหีบ ชลบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี และน้ำพอง ขอนแก่น รวม 8 ฐานทัพ ซึ่งมีผลดีเศรษฐกิจท้องถิ่นดี แต่ผลเสียคือวัฒนธรรมเถื่อนเข้ามามากมาย
     
       ในปี พ.ศ. 2546 สหรัฐฯ สถาปนาไทยเป็นมิตรประเทศสำคัญของสหรัฐฯ นอกองค์การนาโต้ เพราะอำนวยความสะดวกในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสากลของสหรัฐฯ
     
       ยุคสงครามเวียดนาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 และถึงจุดสูงสุดในปี พ.ศ. 2512 ร้อยละ 80 ของการโจมตีทางอากาศเหนือน่านฟ้าเวียดนามเหนือบินออกจากประเทศไทย
     
       เกิดสงครามลับในลาว โดยหน่วยบินไฟร์ ฟลายของไทยภายใต้ บก. 333 ที่มี พล.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ เป็นหัวหน้า ทำงานร่วมกับ CIA มีกองกำลังทหารรับจ้างไทย จำนวน 30,000 คน เรียกว่ากองกำลังทหารเสือพรานทำการรบกับทหารเวียดนาม รวมทั้งสงครามลับในเขมร หน่วยบินของกองทัพอากาศไทย บินจากอุบลราชธานี ไปโจมตีที่ตั้งเขมรแดงอันเป็นการสนับสนุนรัฐบาลลอนนอล ภายใต้การเสนอแนะของ CIA ต่อสู้กับเขมรแดงในปี พ.ศ. 2510 - 2513
     
       แนวคิดที่ไทยจำเป็นต้องให้สหรัฐฯ เข้ามาใช้ฐานทัพในไทย ยุคนั้นเป็นทางเลือกเพื่อการเอาตัวรอดจากภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ต้องการแผ่ขยายเขตแดนและเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ และบทพิสูจน์ว่า “ยุทธศาสตร์เอาตัวรอดเชิงรุก” ของไทยนั้นได้ผลเพราะประเทศไทยไม่มีเหตุการณ์ชั่วร้ายโหดเหี้ยม “ทุ่งสังหาร” อย่างในเขมรที่เขมรแดงฆ่าชนชาติเดียวกัน 3-4 ล้านคน หรือวัฒนธรรม “การนอนสามัคคี” ในลาวเมื่อกองทัพเวียดนามเข้ายึดลาวและหวังจะกลืนชนชาติลาว
     
       ยุทธศาสตร์การเอาตัวรอดเชิงรุกนี้ไทยใช้มาตั้งแต่การช่วยอังกฤษรบกับพม่าครั้งรัชกาลที่ 3 และจำเป็นต้องเข้าร่วมเป็นชาติวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2
     
       สหรัฐฯ เกิดแพ้สงครามเวียดนาม โดยเฉพาะสงครามการเมือง-การทูตที่กรุงปารีส เกิดหลักการนิกสัน ที่ยุติการช่วยเหลือทางทหารกับทุกชาติ แต่ให้ซื้ออาวุธเอง ในปี พ.ศ. 2518 เรียกว่าโครงการการช่วยเหลือทางทหารแบบต้องซื้อ
     
       ในช่วงนั้นเองนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมชกลับไปคืนดีกับจีนแดงและเกาหลีเหนือ ซึ่งการพบกันระหว่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์กับประธานเหมา เจ๋อตงที่กรุงปักกิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับไทยเมื่อเหมา เจ๋อตง ยอมรับเงื่อนไขของรัฐบาลไทยที่ขอให้จีนระงับการช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยจีนขอให้ไทยขับไล่สหรัฐฯ ออกไปจากราชอาณาจักรซึ่งรัฐบาลม.ร.ว.คึกฤทธิ์ก็ได้ทำตาม ขอให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากไทยจนหมดสิ้นในปี พ.ศ. 2519
     
       อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยึดหลักการภูมิรัฐศาสตร์ตลอดมา โดยการสร้างอิทธิพลครอบครองบริเวณริมฝั่งมหาสมุทร และฝั่งทะเล ตามหลักการของนายพลเรือเอก อัลเฟรด มาฮาน บิดากองทัพเรือสหรัฐฯ ยุคใหม่ ทำให้เกิดยุทธศาสตร์ปิดล้อม โดยเชื่อว่าพลังอำนาจของชาตินั้น เกิดจากอำนาจการครองทะเลให้ได้ทั้งเวลาปกติและสงคราม ให้สหรัฐฯ สามารถยึดหรือสร้างอิทธิพลในทะเลหลวง ควบคุมเส้นทางเดินเรือ สามารถเข้าถึงและควบคุมท่าเรือและช่องแคบ รวมทั้งยึดครองทรัพยากรทางทะเลด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่า โดยการใช้กองทัพ องค์กรทางพลเรือน หรือองค์กรนานาชาติอำพรางเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่าภูมิยุทธศาสตร์ครอบครองแนวริมฝั่งทะเลและมหาสมุทร
     
       แนวคิดนี้ทำให้กองทัพเรือสหรัฐฯ พัฒนากองเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งปัจจุบันมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการจำนวน 11 กองเรือ กองเรือบรรทุกเครื่องบินจะประกอบด้วยเรือหลายประเภท ที่สามารถทำการรบนาวีทั้งเชิงรุกและรับ โดยเรือบรรทุกเครื่องบินจะมีเครื่องบินรบประมาณ 100 เครื่อง ดังนั้น เฉพาะกองทัพเรือสหรัฐฯ มีเครื่องบินรบประจำการประมาณ 1,100 เครื่อง
     
       หลังจากสงครามเวียดนาม ทำให้สหรัฐฯ ห่างเหินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุคประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน (ค.ศ.1981-1989) เชื่อว่าการริเริ่มก่อนด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุก จะควบคุมวิกฤตโลกจากการถูกคุกคามของคอมมิวนิสต์ เช่น โซเวียตบุกอัฟกานิสถานในปี ค.ศ. 1979 ประธานาธิบดีเรแกน จึงเริ่มการช่วยเหลือทางทหารกับมิตรประเทศที่ด้อยฐานะทางเศรษฐกิจ เช่น เขมร อัฟกานิสถาน แองโกล่า และนิการากัว และเริ่มมีการฝึกผสมระหว่างกองทัพอากาศไทยกับกองทัพอากาศสหรัฐฯ เรียกว่า Command West ส่วนการฝึก Cobra Gold ระหว่างกองทัพเรือไทย กับสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2495 ลดความเข้มข้นลง แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ขยายแนวคิดในการฝึก กองทัพอากาศไทยเข้าร่วมการฝึกด้วย และเป็นการฝึกร่วมและผสม 4 เหล่า ไทย-สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 โดยมีกองบัญชาการกองทัพไทยรับผิดชอบ
     
       สหรัฐฯ เชื่อว่ายุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน จะสามารถยับยั้งความเจริญทางเศรษฐกิจ และอิทธิพลทางการเมืองของจีนในปัจจุบันได้ ดังนั้น ในปัจจุบันสหรัฐฯ พยายามที่จะญาติดีกับอินเดีย และเวียดนาม เพื่อตีกรอบจีนสองด้าน ตะวันตกและตะวันออก เนื่องจากสหรัฐฯ เกิดจากความกลัวว่าจีนจะเป็นใหญ่ทางทหารในภูมิภาคนี้ เพราะจีนพัฒนาได้กองทัพทุกมิติ โดยในปี พ.ศ. 2550 จีนสามารถสร้างจรวดทำลายดาวเทียมในอวกาศได้สำเร็จ ทำให้สหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย ออกมาประท้วงว่าเป็นการคุกคามห้วงอวกาศสากล จรวดดังกล่าวยิงสูง 860 กิโลเมตร และถูกดาวเทียมตรวจอากาศของจีนซึ่งหมดอายุไปแล้วทุกลูก
     
       ปัจจุบัน จีนเข้าสู่การแข่งขันด้านอวกาศ ด้วยการส่งจรวดพร้อมนักบินอวกาศสู่วงโคจรโลกได้สำเร็จอย่างต่อเนื่อง และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 จีนส่งจรวดเสิ่นโจว 9 พร้อมด้วยนักบินอวกาศชาย 2 คน หญิง 1 คน เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนกง 1 สำเร็จอย่างดียิ่ง
     
       แต่ที่สหรัฐฯ กลัวมาที่สุดได้แก่การที่จีนสามารถสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินสำเร็จเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 นายพลโทคี เจียงเกา ผู้ช่วยเสนาธิการทหารจีน กล่าวว่า “ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายในโลก มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการทั้งสิ้น” รวมทั้งจีนสามารถสร้างเครื่องบินไอพ่นล่องหนยุคที่ 5 ได้สำเร็จอีกด้วย สหรัฐฯ จึงพยายามสร้างพันธมิตรปิดล้อมจีน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 ประธานาธิบดีบุช ไปเยือนอินเดีย เพื่อโน้มน้าวให้อินเดียช่วยปิดล้อมจีน สหรัฐฯ โดยการให้ความร่วมมือกับอินเดียในการพัฒนาพลังงานปรมาณู แต่ทางการอินเดียปฏิเสธ ส่วนออสเตรเลียนั้นสื่อตะวันตกเรียกว่า องค์การนาโต้น้อยของสหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ อยากให้ออสเตรเลียและญี่ปุ่นร่วมต่อต้านจีน หรือเป็นไตรภาคีต่อต้านจีน หรือนิตยสารอีโคโนมิกส์เรียกว่า “อักษะแห่งประชาธิปไตย” โดยนางคอนโดลีสซา ไรซ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เยือนออสเตรเลียในเดือนมีนาคม พ.ศ.2549 เพื่อสร้างแนวป้องกันไตรภาคีสหรัฐฯ -ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย
     
       ความพยายามนี้ทำให้ญี่ปุ่นและออสเตรเลียร่วมกันลงนามคู่สัญญาการป้องกันร่วมกันทางทหาร ซึ่งนักยุทธศาสตร์เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของไตรภาคีต่อต้านจีนแต่ทั้งสองประเทศปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับสหรัฐฯ
     
       มีข้อวิเคราะห์ของนักยุทธศาสตร์ว่า ออสเตรเลีย ต้องพึ่งตลาดจีน โดยเฉพาะจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่รับซื้อแร่ดิบต่างๆ ของออสเตรเลีย และนายอเล็กซานเดอร์ ดาวเนอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ไม่เห็นด้วยในหลักการปิดล้อมจีนของนางคอนโดลีซซา ไรซ์ ซึ่งปฏิเสธว่าสหรัฐฯ ไม่เคยมียุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน และออสเตรเลียเองก็ริเริ่มที่จะเจรจาว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงประจำปีกับจีน
     
       จีนยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญยิ่งของอินเดีย ถ้าอินเดียเป็นส่วนหนึ่งของการปิดล้อมจีนแล้ว จีนคงปฏิเสธที่จะค้าขายกับอินเดีย
     
       ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ของญี่ปุ่น แซงหน้าสหรัฐฯ ไปแล้ว จีนให้สินค้าเข้าของญี่ปุ่นได้รับสิทธิพิเศษหลายประการ เหนือกว่าสินค้าเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวเร็วขึ้น
     
       สรุปได้ว่าแผนการปิดล้อมจีนของสหรัฐฯ อาจจะไม่ได้ผล แต่หากสหรัฐฯต้องการสร้างศูนย์กลางการปิดล้อมให้ได้นั้น อู่ตะเภาเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะเป็นจุดศูนย์กลางของรัศมียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมแนวปิดล้อมจีนได้สมบูรณ์แบบและมีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น เพราะสหรัฐฯ เพิ่มกำลังรบในภูมิภาคนี้ถึงร้อยละ 18.75 ทำให้จีนต้องป้องกันตัวเองด้วยการเพิ่มงบประมาณทางทหารเป็น 5 เท่าเช่นเดียวกัน
     
       เพราะสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับจีนปะทุขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2546 ในการประชุมผู้นำประเทศเอเชียแปซิฟิก เมื่อสหรัฐฯ ขอให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวน แต่จีนปฏิเสธ และจนในปัจจุบันจีนก็ยังไม่ได้เพิ่มค่าเงินหยวน ทำให้สหรัฐฯ เสียดุลการค้ากับจีนอย่างมหาศาล จีนตอบโต้สหรัฐฯ เรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องทิเบต
     
       แนวคิดของนักยุทธ์ศาสตร์สหรัฐฯ มุ่งเน้นมาที่ไทยที่ว่า “การสนับสนุนจากรัฐบาลไทยนั้น ได้พิสูจน์แล้วว่ามีความสำคัญต่อสหรัฐฯ ทั้งปัจจุบันและอนาคต โดยในขั้นต้นได้สร้างแรงกดดันต่อกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในภูมิภาค ที่จะก่อสงครามก่อการร้าย และในขั้นต่อไปเป็นการเตรียมการของสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับการขยายตัวพลังอำนาจจีน” แต่นายชอว์น คริสปิน ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ของบริษัท Strategic Forcasting วิเคราะห์ว่า “ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนชัดเจน โดยไม่ยอมรับความเชื่อของสหรัฐฯ ที่ว่าจีนจะเป็นภัยคุกคามในภูมิภาคนี้ และประเทศไทยแสดงความเป็นกลางระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย”
     
       นายชอว์น คริสปิน ได้เขียนบทความเรื่อง “ความสัมพันธ์ที่เหินห่าง” When Allies Drift Apart เกิดจากมูลเหตุดังนี้
     
       1. ศาลอาญาไทยปฏิเสธที่จะส่งตัวผู้ก่อการร้ายชาวอิหร่านไปสหรัฐฯ ตามที่ศาลยุติธรรมสหรัฐฯ เรียกร้องในข้อหาลักลอบขนชิ้นส่วนขีปนาวุธ
     
       2. การยื้อเป็นเดือน ไม่ยอมส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท ข้อหานักค้าอาวุธ และสมรู้ร่วมคิดฆ่าคนตาย ไปให้สหรัฐฯ ของศาลไทย
     
       3. ปัญหาเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา และไทยถูกประณามโดยทางการสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
     
       4. ความสัมพันธ์ไทย-จีน พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการฝึกปฏิบัติการพิเศษกับจีน ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ก็ยังมีความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีกับไทยหลายมิติ เช่น การฝึกร่วมผสม “คอบร้าโกลด์”
     
       ดังนั้น การปิดล้อมจีนจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากไทย และประเทศในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอนเพราะจีนไม่ใช่ภัยคุกคาม
     
       ส่วน แอมมา ซานเล็กเอวารี นักวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า หากสหรัฐฯ ขัดแย้งกับจีนขั้นรุนแรง ประเทศไทยจะเข้าข้างใคร ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องตรวจสอบความเป็นมิตรของไทยที่ภักดีต่อสัมพันธภาพไทย-สหรัฐฯ
     
       นักการทหารมองว่าสหรัฐฯ จะต้องหาจุดยุทธศาสตร์ที่นอกเหนือจากฐานทัพในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือทั้งในเกาหลีและญี่ปุ่น เพื่อปิดล้อมช่องแคบมะละกา สกัดกั้นกองเรือบรรทุกน้ำมันส่งให้จีนและประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ รู้จักดี
     
       อย่างไรก็ดี รัฐบาลนายชวน หลีกภัยที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เคยปฏิเสธไม่อนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพเรือลอยน้ำในอ่าวไทยมาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า เป็นการปฏิบัติการเชิงรุกทางทหารของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาค จะสร้างความไม่สบายใจให้กับจีน และเวียดนาม เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ทำให้ไทยเสียศักดิ์ศรีที่มีกองเรือต่างชาติในน่านน้ำไทย เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมการประมงชายฝั่ง และนำสู่ปัญหาทางสังคม และวัฒนธรรม กรณีที่ทหารเรือสหรัฐฯ ขึ้นฝั่ง
     
       ถ้าหากว่าเจตนารมณ์ของสหรัฐฯ เป็นการวิจัยภัยทางภูมิอากาศเพื่อมนุษยชาติอย่างจริงใจแล้ว ไทยควรต้องสร้างเงื่อนไขเพื่อให้สหรัฐฯ แสดงความจริงใจว่าเป็นภารกิจเพื่อมนุษยชาติจริงๆ สหรัฐฯ จะต้องยอมรับเงื่อนไขดังนี้
     
       1. สหรัฐฯ จะต้องแจกแจงภารกิจและประวัตินักวิจัยแต่ละคนโดยละเอียดให้ฝ่ายไทยทราบ
     
       2. มีระยะเวลาที่ชัดเจน และแสดงขอบเขตการปฏิบัติการ รัศมีทำการ ความสูงและความลึกทางทะเล
     
       3. เครื่องบินมีกี่ลำ ทำอะไรได้บ้างและมีอุปกรณ์การวิจัยอะไรบ้าง
     
       4. รัฐบาลไทยต้องสามารถส่งนักวิชาการทั้งภาครัฐและภาคการศึกษาเข้าวิจัยร่วมได้ตามจำนวนเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่เข้ามาวิจัย
     
       5. นักวิชาการอาเซียนสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้ตามสมควร
     
       6. สื่อมวลชนสากลสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้ตามความเหมาะสม
     
       7. เอกสารวิจัยต้องเป็นของส่วนร่วมเพื่อการศึกษาและพัฒนา
     
       หากสหรัฐฯ จริงใจไม่มีวาระซ่อนเร้นและยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวนี้แล้ว การวิจัยก็จะเป็นไปเพื่อมนุษยชาติ รัฐบาลไทยและอาเซียนก็จะได้ผลประโยชน์ทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนจีนก็จะคลายความวิตกว่าสหรัฐฯ มุ่งที่จะคุกคามความสัมพันธ์ไทย-จีนและสหรัฐฯ กรณีอู่ตะเภาก็จะยังคงสภาพปกติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น