Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555
"ทุเรียนนนท์" สุดยอดทุเรียนไทย แพงได้ใจ อร่อยได้โล่
"ทุเรียนนนท์" สุดยอดทุเรียนไทย แพงได้ใจ อร่อยได้โล่
“ทุเรียน” ถือเป็นผลไม้ที่มีทั้งคนรักและคนชัง จัดอยู่ในผลไม้ประเภท “ไม่รักก็เกลียดเลย” ด้วยกลิ่นที่ตลบอบอวลจนต้องถูกห้ามนำทุเรียนเข้าโรงแรม ห้ามถือขึ้นเครื่องบิน หรือแม้แต่ห้ามขึ้นรถประจำทางปรับอากาศ แต่สำหรับคนรักทุเรียนแล้ว กลับเป็นกลิ่นหอมหวนชวนกิน ยิ่งถ้าเจอแบบที่อร่อยถูกใจแล้วยิ่งกินเพลินจนหยุดไม่ได้ แต่แม้จะเป็นผลไม้ที่มีคนทั้งรักทั้งเกลียดเช่นนี้ ทุเรียนก็ยังถือเป็น “ราชาผลไม้” เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฏาคม ถือเป็นหน้าทุเรียน มีทุเรียนหลากหลายพันธุ์ให้เลือกกิน ในเมืองไทยมีทุเรียนที่อร่อยขึ้นชื่ออยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน แต่พันธุ์ไหนจะอร่อยเด็ดที่สุดนั้น ต้องลองไปดูกัน
ผลไม้หนามแหลมที่ได้ชื่อว่าเป็นราชาผลไม้
“หมอนทอง-ชะนี-ก้านยาว” อร่อยยอดนิยม
แม้ทุเรียนจะไม่ใช่ผลไม้ที่มีต้นกำเนิดจากเมืองไทย แต่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการผลิตและส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ในปี 2554 ประเทศไทยส่งออกทุเรียนสดปริมาณมากถึง 271,948 ตัน รวมมูลค่า 4,662 ล้านบาท โดยตลาดใหญ่ที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นประเทศจีนนั่นเอง
สำหรับทุเรียนที่ปลูกกันในประเทศไทย ทั้งทุเรียนพื้นบ้านและทุเรียนพันธุ์นั้นมีมากนับร้อยพันธุ์ แต่สำหรับทุเรียนที่เรารู้จักกันดีและได้กินกันบ่อยๆ ก็คือพันธุ์ที่คุ้นหู เช่น หมอนทอง ก้านยาว และชะนี เป็นต้น
สำหรับ “หมอนทอง” นั้น ถือเป็นทุเรียนยอดนิยมก็ว่าได้ เนื่องจากกินแล้วไม่ค่อยผิดหวัง ด้วยขนาดลูกที่ใหญ่ เนื้อหนาละเอียด สีเหลืองอ่อน เมล็ดลีบ ไม่เละไม่แฉะติดมือ กลิ่นไม่แรงนัก รสชาติหวานมัน นอกจากหมอนทองจะเป็นทุเรียนพันธุ์ที่ปลูกกันมากที่สุดในเมืองไทยแล้ว ยังเป็นพันธุ์ที่ส่งออกมากที่สุดด้วยเช่นกัน
ทุเรียนพวงมณีของทางภาคตะวันออก
ส่วน “ชะนี” เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ที่คนนิยมกิน ผลมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ ร่องพูค่อนข้างลึก เนื้อละเอียด มีสีเหลืองจัด รสชาติหวานมัน เมล็ดค่อนข้างเล็ก บ้างก็ว่ารสชาติอร่อยกว่าหมอนทอง และ “ก้านยาว” ผลมีขนาดปานกลาง ทรงกลม แต่มีจุดเด่นตรงที่มีก้านผลใหญ่และยาวกว่าพันธุ์อื่นๆ มีเนื้อละเอียดสีเหลือง เนื้อหนาปานกลาง เมล็ดค่อนข้างใหญ่ ให้รสชาติหวานมันเช่นกัน
ทุเรียนทั้งสามชนิดนี้มีวางขายให้เห็นในตลาด มีให้เลือกกินได้ในราคา 50-80 บาท/กิโลกรัม หรือหากไปซื้อถึงแหล่งปลูกก็จะอยู่ในราว 30-50 บาท/กิโลกรัม
“พวงมณี” อร่อยมาแรง
“ทุเรียนพวงมณี” เป็นอีกหนึ่งทุเรียนอร่อยมาแรงของภาคตะวันออก โดยเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของภาคตะวันออก แม้จะไม่ได้รับความนิยมเท่าทุเรียนพันธุ์อื่นๆ แต่ในช่วงหลังๆ เริ่มมีคนให้ความสนใจทุเรียนพันธุ์พวงมณีกันมากขึ้น เพราะรสชาติที่อร่อยไม่แพ้ใคร
ทุเรียนนนท์ ราคาเป็นพัน-หมื่น
จรวย พงษ์ชีพ ผู้มีฉายาว่า “ดำ น้ำหยด” เกษตรกรตัวอย่าง เจ้าของสวนทุเรียนและผลไม้อีกหลากหลายใน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงทุเรียนพวงมณีว่า “ทุเรียนพวงมณีเป็นพันธุ์ที่มีมาแต่ดั้งเดิม มีปลูกมากที่จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออก ทุเรียนพวงมณีมีข้อดีตรงที่รสชาติอร่อยกว่าพันธ์อื่นๆ มีรสหวานจัด เนื้อละเอียดสีเหลืองสดเข้ม แถมยังทนโรคกว่าพันธ์อื่นๆ แต่ข้อเสียคือเนื้อน้อย ผลเล็ก ให้ผลผลิตต่ำ”
ด้วยรสชาติที่อร่อยไม่แพ้ใคร ปัจจุบันทุเรียนพวงมณีจึงเริ่มเป็นที่รู้จัก จึงมีความต้องการของตลาดมากขึ้น ส่งผลให้เริ่มมีการปลูกทุเรียนพวงมณีเพิ่มเติมตามสวนต่างๆ และมีการพัฒนาพันธุ์โดยการผสมกับทุเรียนพันธุ์อื่นเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
และสำหรับคนที่อยากลองชิมทุเรียนพวงมณี ในกรุงเทพอาจจะหาซื้อยากสักหน่อย แต่หากได้เดินทางไปภาคตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบุรี หรือตราด ให้ลองถามหาทุเรียนพันธุ์นี้มาลองชิมดู โดยคุณจรวยบอกว่าปีนี้ราคาขายของพวงมณีหน้าสวนตกอยู่ที่ 40-50 บาท/กิโลกรัม ไม่แน่ว่าอาจจะติดใจกลายเป็นแฟนทุเรียนพวงมณีไปเลยก็ได้
เนื้อทุเรียนสีเหลืองน่ากิน
“หลง-หลินลับแล” อร่อยจากเมืองลับแล
อีกหนึ่งพันธุ์ทุเรียนที่คอทุเรียนไม่ควรพลาดชิม ก็คือทุเรียนเลื่องชื่อของอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ “หลงลับแล-หลินลับแล” โดยที่อุตรดิตถ์มีการปลูกทุเรียนกันมานานนับ 100 ปีแล้ว ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง แต่ได้มีการผสมข้ามพันธุ์กันไปมาจนได้ทุเรียนพันธุ์ดี เมื่อได้พันธุ์ดีก็ขยายพันธุ์ออกไปเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณต้นทุเรียนแล้วก็ยังเป็นการให้กำเนิดทุเรียนพันธุ์ดีของเมืองลับแลอีกด้วย
สำหรับทุเรียน “หลงลับแล” ได้ชื่อพันธุ์มาจากเจ้าของต้น คือ นางหลง อุประ ชาวสวนทุเรียนในอำเภอลับแล เป็นทุเรียนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดทุเรียนของกรมส่งเสริมการเกษตรและจังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี 2520 และได้รับการรับรองพันธุ์ในปี 2521 จากนั้นก็ได้นำยอดทุเรียนหลงลับแลจากต้นเดิมมาขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบยอด ทาบกิ่ง และขยายพันธุ์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน ลักษณะของผลทุเรียนหลงลับแลมีขนาดเล็ก เป็นทรงกลมรี ร่องพูไม่ลึก มองดูกลมไปทั้งผล รสชาติหวานมัน เนื้อเหนียวละเอียด กลิ่นไม่แรง และเมล็ดเล็กลีบ
หลินลับแล (ซ้าย) หลงลับแล (ขวา)
ส่วนทุเรียน “หลินลับแล” ได้ชื่อจากนายหลิน ปันลาด ซึ่งนำเมล็ดทุเรียนมาปลูกและเกิดการกลายพันธุ์ แต่ทุเรียนกลับมีรสชาติดีกว่าเดิม เป็นที่นิยมของนักบริโภคทุเรียนนิยมทุเรียนพันธุ์นี้ไม่น้อย ทุเรียนหลินลับแล จะมีลักษณะต่างจากหลงลับแลตรงที่ผลแบ่งเป็นรูปยาวรี มีร่องพูลึก ส่วนขนาดเล็กเท่าหลงลับแล รสชาตินั้นก็ยังอร่อยหวานมันสูสีกันอีกด้วย
สมหมาย สุขจิตร เจ้าของสวนผลไม้ในอำเภอลับแลกล่าวถึงราคาทุเรียนหลง-หลินลับแลในปีนี้ว่า ปีนี้ผลผลิตทุเรียนมีค่อนข้างน้อยเพราะมีพายุพัดผ่านมาในช่วงที่ทุเรียนกำลังออกผล ทำให้ผลร่วงไปเสียเยอะ โดยในปัจจุบันราคาของหลงลับแลขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 130 บาท ส่วนหลินลับแลซึ่งมีผลผลิตน้อยกว่า ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 280 บาท เลยทีเดียว
“ทุเรียนนนท์” อร่อยราคาเหยียบครึ่งแสน
ทุเรียนหลง-หลิน ลับแลว่าราคาสูงแล้ว แต่ก็ยังไม่เท่า "ทุเรียนนนท์" ที่ใครซื้อกินได้ต้องนับว่าเป็นเศรษฐี
ทุเรียนนนท์เป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียงมานาน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดินในจังหวัดนนทบุรีที่เป็นดินตะกอนสะสมจากแม่น้ำ ทำให้ผลไม้หลายๆ อย่างที่ปลูกในแถบนี้โดยเฉพาะทุเรียนมีรสชาติดี ให้รสหวานมันนุ่มนวลแตกต่างจากทุเรียนภาคอื่นๆ ใครที่ได้กินก็ต้องติดใจ จนทุเรียนนนท์มีชื่อเสียงโด่งดังกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี
สันติ เศวตวิมล กูรูด้านอาหารกล่าวถึงทุเรียนนนท์ว่า “ต้องยอมรับว่าทุเรียนของไทยเราอร่อยที่สุดในโลก จริงๆ แล้วทุเรียนไม่ใช่ผลไม้ของเรา เป็นผลไม้ทางอินโดนีเซีย มาเลเซีย แต่คนไทยซึ่งเป็นชาติเกษตรกรรม เมื่อได้พันธุ์ทุเรียนที่มาจากทางใต้ที่เรียกว่าทุเรียนนอก เราก็เอามาพัฒนาพันธุ์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะเรามีดินที่ดีที่สุดที่นนทบุรี ซึ่งมีฮิวมัส มีปุ๋ยมาจากแม่น้ำเจ้าพระยามาทับถมกัน เมื่อปลูกแล้วดีกว่าทุเรียนทางใต้ซึ่งเป็นทุเรียนป่า เปลือกหนา เม็ดใหญ่ เนื้อบาง ไม่อร่อย”
ชาวสวนทุเรียนเมืองลับแลกับพาหนะขนส่งทุเรียน
“ทุเรียนที่อร่อยที่สุดต้องเมืองนนท์ ที่ไหนก็สู้ไม่ได้ ที่ปราจีนบุรีก็เอาพันธุ์จากเมืองนนท์ไป แต่ก็สู้ไม่ได้เพราะมันเป็นป่าละเมาะ ไม่ใช่สวน เป็นทุเรียนไร่ เมื่อเรียงลำดับทุเรียนที่อร่อยที่สุดจึงเป็นทุเรียนนนท์ ปราจีนบุรี จันทบุรี และระยอง” สันติ กล่าว
ปัจจุบันทุเรียนนนท์หากินได้ยากยิ่ง เพราะเมื่อเมืองขยายตัว สวนทุเรียนถูกเปลี่ยนเป็นบ้านจัดสรร ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง โดยเฉพาะปี 2538 สวนทุเรียนต้องแช่อยู่ในน้ำนานหลายเดือนและทยอยตายไปจนเกือบหมดสวน ปัจจุบันทุเรียนนนท์จึงเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง
และน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมาก็ยิ่งทำให้สวนทุเรียนนนท์ที่มีน้อยอยู่แล้วเหลือน้อยลงไปอีก เพราะเกิดความเสียหายมากกว่า 98% แต่ยังโชคดีที่ทางกรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรยังมองเห็นความสำคัญของทุเรียนนนท์ จึงได้จัดโครงการกู้วิกฤตสวนไม้ผลพันธุ์ดีเฉพาะท้องถิ่นที่ประสบอุทกภัย โดยได้นำพันธุ์ทุเรียนจากจังหวัดนนทบุรีที่เก็บรักษาและขยายพันธุ์ภายในศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี มาส่งมอบกลับคืนสู่เกษตรกรเจ้าของพันธุ์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนนนท์ไม่ให้หายไป
และจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว ย่อมส่งผลต่อจำนวนผลผลิตและราคาของทุเรียนนนท์ด้วยเช่นกัน จากการสอบถาม ไสว ทัศนียะเวช เจ้าของสวนทุเรียนนนท์ ทำให้ทราบว่า ในปีนี้สวนทุเรียนกว่า 10 ไร่ เหลือรอดจากน้ำท่วมให้ผลผลิตมาเพียง 100 กว่าลูกเท่านั้น และแน่นอนว่า เมื่อผลผลิตน้อยราคายิ่งต้องขยับสูงขึ้น จากเมื่อปีก่อนที่ขายราคาลูกละ 3,000-4,000 บาท หรือ 3 ลูก 10,000 บาท ซึ่งเป็นราคามาตรฐาน ในปีนี้ขยับขึ้นเป็นลูกละ 6,000-7,000 บาท ยิ่งถ้าเป็นลูกใหญ่ๆ สวยๆ ขายในราคาเหมา 3 ลูก 40,000 บาท แต่ใครอยากกินต้องรอปีหน้าเพราะแม้จะราคาเหยียบครึ่งแสนแต่ก็ขายหมดเกลี้ยงเรียบร้อยแล้ว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น