++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หาดใหญ่โพลชี้”มาร์ค”ไม่พร้อมทำรัฐสวัสดิการ เหตุคอร์รัปชั่น-ขรก.ตัวถ่วง

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - หาดใหญ่โพลเผยผลสำรวจ ประชาชนภาคใต้เกือบร้อยละ 60 เชื่อว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่พร้อมทำรัฐสวัสดิการ เหตุการเมืองไทยยังไม่พ้นคอร์รัปชั่น- ความไม่พร้อมของระบบราชการ ประชาชนกลัวเสียภาษีสูงขึ้น

สำนักวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับมุมมองภาวะเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชนจำนวน 1,185 ตัวอย่าง สรุปผลการสำรวจได้ดังนี้

ประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 13,851 บาทต่อเดือน รายจ่าย 11,482 บาทต่อเดือน เมื่อพิจารณาสถานะทางการเงิน พบว่า ประชาชนร้อยละ 47.4 มีสถานะการเงินโดยมีรายได้มากกว่ารายจ่าย และร้อยละ 32.3 มีสถานะการเงินโดยมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ และร้อยละ 20.3 ไม่เหลือเก็บแต่ไม่มีหนี้สิน

นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 72.4 สามารถเก็บเงินในแต่ละเดือนได้ โดยที่ประชาชนสามารถออมเงินได้แต่ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน มากที่สุด (ร้อยละ 33.1) รองลงมามีเงินออม1,001-3,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 25.2) มีเพียงร้อยละ 14.1 ที่มีเงินออมมากกว่า 3,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้มีประชาชนร้อยละ 27.6 ที่ไม่สามารถออมเงินได้เลย

ประชาชนร้อยละ 50.0 มีสาเหตุการเป็นหนี้โดยมีการนำเงินไปใช้จ่ายประจำวัน มากที่สุด รองลงมา คือนำเงินไปใช้เพื่อเพื่อลงทุนประกอบอาชีพ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์ การศึกษา ค่าเทอม เพื่อซื้อรถยนต์ และเพื่อซื้อบ้าน คิดเป็นร้อยละ 35.9 , 31.4 , 26.4 , 20.2 และ 17.7 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.4 มีภาระหนี้สิน โดยที่ประชาชนร้อยละ 38.2 มีภาระหนี้ไม่เกิน 50,000 บาท รองลงมา มีภาระหนี้สิน50,001 - 100,000 บาท และ 100,001 - 200,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 15.6 และ 7.7 ตามลำดับ มีเพียง ร้อยละ 28.6 ไม่มีภาระหนี้สิน

ประชาชนร้อยละ 54.2 มีภาระหนี้ในระบบ และร้อยละ 19.3 เป็นภาระหนี้นอกระบบ มีเพียงร้อยละ 26.5 ที่มีภาระหนี้ทั้งในและนอกระบบ เมื่อสอบถามถึงแหล่งเงินกู้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.5 มีการกู้เงินผ่านธนาคารมากที่สุด รองลงมา มีการกู้นอกระบบ ซึ่งแหล่งเงินกู้มาจากคนรู้จัก ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง สหกรณ์ และกู้เงินผ่านสถาบันการเงินอิออน เฟิร์สช้อยส์ และโลตัส คิดเป็นร้อยละ 27.6 , 26.7 , 19.0 และ 18.3 ตามลำดับ

ประชาชนเห็นว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.44 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน รองลงมา เป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ ปัญหาด้านการคอร์รัปชั่น และปัญหาด้านความเชื่อมั่นทางการเมือง มีค่าเฉลี่ย 4.37 , 4.33 และ 4.16 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็น พบว่า ประชาชนเห็นว่าปัญหาราคาน้ำมันแพง เป็นปัญหาที่ได้รับผลกระทบ มากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.55 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน รองลงมา เป็นปัญหาเกี่ยวกับราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ มีการปรับราคาที่สูงขึ้น ปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการ และปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง มีค่าเฉลี่ย 4.47 , 4.37 , 4.33 และ 4.32 ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาตามกลุ่มรายได้ต่างๆ พบว่า กลุ่มรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท เห็นว่าปัญหาด้านการเมืองและปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ มีผลกระทบต่อกลุ่มรายได้น้อยกว่า 10,000 บาทมากกว่ากลุ่มรายได้อื่นๆ ซึ่งกลุ่มรายได้ 10,001-20,000 บาท เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการคอร์รัปชั่น มีผลกระทบมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.40 และ 4.36 ตามลำดับ

ประชาชนร้อยละ 41.2 เห็นว่าปัญหาการเมืองส่งผลต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล มากที่สุด รองลงมา เป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการคอร์รัปชั่น และปัญหาสังคม คิดเป็นร้อยละ 27.8 , 10.9 และ 10.6 ตามลำดับ

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับความพร้อมในการทำรัฐสวัสดิการ พบว่า ประชาชนร้อยละ 57.7 เห็นว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ยังไม่มีความพร้อมในการทำรัฐสวัสดิการ ส่วนร้อยละ 42.3 เห็นว่ารัฐบาลมีความพร้อมในการทำรัฐสวัสดิการ

นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 39.9 เห็นว่าอุปสรรคที่ทำให้รัฐสวัสดิการไม่สามารถเกิดขึ้นได้เกิดจากความไม่ โปร่งใสทางการเมือง รองลงมา ประชาชนต้องจ่ายภาษีสูงขึ้น ความไม่พร้อมของระบบราชการ และปัญหาการคอร์รัปชั่น คิดเป็นร้อยละ 23.0 ,15.1 และ 10.6 ตามลำดับ

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ สตูล-สงขลา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.0 เห็นว่าโครงการดังกล่าวมีผลดีแก่ประชาชนมากกว่าผลเสีย มีเพียงร้อยละ 32.0 ที่เห็นว่า การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ มีผลเสียมากกว่าผลดีแก่ประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น