++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สุขภาพดีเพราะคนมีส่วนร่วม กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองเพีย อ.กุดจับ จ.อุดรธานี

เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

            "รางวัลนี้เป็นเพียงส่วนประกอบของการทำงานแต่ไม่ใช่เป้าหมายหลักของผม เป้าหมายของผม คือ ได้เห็นรอยยิ้มที่มีความสุขของประชาชน"  นายก อบต. เมืองเพีย
            เมืองเพียเป็นชือตำบลเล็กๆแห่งหนึ่งในอำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี ถึงแม้จะเล็กแต่ก็เล็กพริกขี้หนู เพราะตำบลแห่งนี้มีความโดดเด่นเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในทุกระดับ จนได้รับรางวัล "ดีเด่นด้านการมีส่วนร่วม หลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น "   อันเป็นสิ่งการันตีถึงประสิทธิภาพการทำงานด้านสุขภาพได้เป็นอย่างดี
            ตำบลเมืองเพีย เริ่มจัดตั้งกองทุนฯ ด้วยการสร้างความเข้าใจวิธีการจัดการกองทุนฯ จากการทำประชาคม "จัดตั้งปีแรก ยังไม่เข้าใจ แม้กระทั่งจังหวัดยังไม่เข้าใจ กรรมการจึงมาร่วมกันวิเคราะห์ " ศึกษาเอกสารการทำงานก่อนจะลงทำความเข้าใจในระดับกลุ่มย่อย

            หลักจากจัดตั้งคณะทำงานแล้ว ได้มีการร่างระเบียบกองทุนฯ ก่อนจนแล้วเสร็จ จึงได้ลงมือประชาสัมพันธ์แก่คนเมืองเพียให้ได้รับทราบ
            "เน้นให้ชุมชนเห็นว่า เรามีปัญหาทางด้านสุขภาพในลักษณะใดบ้าง แล้วค่อยๆมาคิดกันว่า จะวางแผนเพื่อแก้ปัญหายังไง จุดนี้แหละที่เรานำมาเขียนเป็นโครงการกองทุนฯ"

            ในปีแรกเริ่มของการทำงาน ไม่มีชาวบ้านกลุ่มไหนเสนอโครงการมาเลย นอกจาก โรงพยาบาลกุดจับ ทางคณะทำงานจึงต้องคิดวิธีการทำงานใหม่ โดยประชุมคณะกรรมการร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันเขียนโครงการ
            "ในปี 2551 ได้ปรับวิธีใหม่ ทำอย่างไร ให้คนมีส่วนร่วมมากที่สุด และเกิดจากประชาชนโดยแท้จริง เราก็เลยจัดประกวดโครงการซะเลย โดยแต่ละชุมชนจะต้องเสนอโครงการเข้ามาอย่างน้อย 1 โครงการ ที่เน้นให้เกิดกิจกรรมทางด้านสุขภาพ"
            ทำให้เกิดกิจกรรมที่ครอบคลุมระบบสุขภาพทั้งระบบใน 8 โครงการ เช่น กิจกรรมสวัสดิการสุขภาพชุมชน โครงการเยี่ยมยามถามไถ่สร้างสุข-กายใจในชุมชนและโครงการถักทอผู้สูงวัยสานสายใยสุขภาพจิตใจครอบครัว ซึ่งเป็นการสร้างเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ ของทารกแรกเกิด ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วย ที่มีการออกเยี่ยมเด็กแรกเกิด ออกเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วย ดูแลผู้สูงอายุรวมทั้งผู้พิการซึ่งผู้เยี่ยมคือ อผส. และทีม อบต.

            โครงการนี้เป็นที่น่าพึงพอใจมาก ผู้สูงอายุคนหนึ่งเล่าว่า "ดี หาบ่มีอีกแล้ว ยายอายุเข้า 77 ปี พึ่งจะมีคนมาเยี่ยม เจ็บป่วยมีคนมาดู มีอะไรก็เอามาให้กิน-ให้ใช้ ทั้งนม เนย ข้าวต้ม ขนมทุกอันทุกแนว เขาดีมากๆ ลูกหลานที่มาดูแลเพิ่นก็มาถามทุกข์สุขนั่นละว่าเจ็บป่วยอยู่ดีมีแฮงบ่ มาเยี่ยมสอบถามสุขทุกข์ความเป็นอยู่ เจ็บปวดตรงไหนก็พูดให้ฟัง คนแก่มีแต่เจ็บป่วย เขาไม่ใช่ลูกแต่ยังมาถาม เพิ่นมาเป็นทีมน่าสะออนมากเลย"

            ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
            นายก อบต. เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงการกองทุนฯ ประสบความสำเร็จ เนื่องจากบุคลิกของผู้นำที่เป็นคนจริงจังในการทำงาน พูดจริง ทำจริง โดยเฉพาะประเด็นทางด้านสุขภาพ ด้วยความเข้าใจปัญหา รับฟังอย่างมีเหตุผล ก่อร่างเป็นแรงศรัทธา เกิดเป็นความร่วมมือกันเพื่อสร้างกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นเข้มแข็ง
            ทั้งนี้ ยังมีเรื่องความเข้มแข็งของทีมงานและการประสานความร่วมมือจาก หลากหลายองค์กรในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม  อผส. อสม. กลุ่มอาชีพ ชมรมผู้พิการ, ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังมีศูนย์พัฒนาครอบครัว ศูนย์สุขภาพชุมชนและส่วนราชการต่างๆให้ความ ช่วยเหลือทั้งแรงกาย แรงใจและงบประมาณ
            ทั้งหมดนี้ คือ ผลสำเร็จอันเกิดจากความอาทรต่อกันของคนเมืองเพีย ทั้งที่เป็นคนเก่าแก่และมีจำนวนผู้สูงอายุให้ต้องดูแลมากมาย ภายใต้สำนึกของการพัฒนาตำบลเมืองเพียร่วมกัน

            บทเรียนที่ได้รับจากการเรียนรู้
            การดำเนินงานกองทุนฯ ของ อบต.เมืองเพีย เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นได้เรียนรู้
            กิจกรรมโครงการ หากมีจุดเกิดมาจากสภาพปัญหาที่ชาวบ้านเจอ ต้องการแก้ไขหรือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาหมู่บ้านจะ ทำให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่องและจะได้รับความร่วมมือ ร่วมใจจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก
            ปัจจัยสำคัญ คือ ผู้บริหารต้องทำงานต่อเนื่อง สนับสนุนโครงการรวมทั้ง  ผู้นำชุมชนจะต้องมีมุมมองในการพัฒนา โดยนำข้อมูล ที่ได้จากการปฏิบัติมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาโครงการในปีต่อไป  (Learning by doing)
             อผส. คือ กลุ่มคนที่ช่วยเหลืองานกองทุนฯ ให้ประสบความสำเร็จในหลายๆด้าน ดังนั้น ควรสนับสนุนให้เกิดและขยายวงออกไปและควรจัดอบรม พัฒนาความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานเป็นระยะ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพ

            ด้วยเหตุผลของความมุ่งมั่น
            วันนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพตำบลเมืองเพีย ได้สร้างให้คุณภาพชีวิต ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของคนในตำบลให้มีรอยยิ้มสดใสเกิดขึ้นแล้ว

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
วัจนา สุคนธวัฒน์
มัลลิกา มากรัตน์
แสงดาว จันทร์ดา

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น