++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

10 ปี พอช.ถักทอสานพลังสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน

หนึ่งทศวรรษ พอช.สานต่อภารกิจสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนทั่วประเทศ
รองรับกระแสปฏิรูปประเทศที่กำลังเริ่มขึ้นอีกครั้ง หลังนายกรัฐมนตรี
ประกาศแผนปรองดอง
ปฎิรูปประเทศครั้งใหญ่เพื่อลดความขัดแย้งในสังคมและนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้า

กระแสปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ที่กำลังดังกระหึ่มในเวลานี้จะสำเร็จหรือไม่
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือ
ความเข้มแข็งของชุมชนฐานรากและองค์กรภาคประชาชน ดังนั้น
การพัฒนาภาคประชาชนให้มีความเข้มแข็งแบบองค์รวมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
โดยให้คน ชุมชน และองค์กรชุมชน เป็นใจกลางในการพัฒนา
ยกระดับให้องค์กรชุมชนมีความเข้มแข็งตามหลักธรรมาภิบาล
บ่มเพาะแหล่งเรียนรู้ที่เกิดจากการบริหารการจัดการตนเอง
รวมทั้งระดมความร่วมมือแบบพหุภาคีจากทุกฝ่าย

แต่อย่างไรก็ตาม แนวทางการพัฒนาดังกล่าว
ยังต้องเพิ่มพูนองค์ความรู้และกลไกที่จะมาหนุนเสริมและทักทอระบบคิดไปสู่การปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับองค์กรชุมชนทั่วประเทศ
จึงจัดวงเสวนา "สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ทักทอสานพลัง
บนเส้นทางองค์กรภาคประชาชน" ขึ้น ณ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2553
โดยได้มีผู้อำนวยการพอช. คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสายภาคประชาชน
ผู้ประสานงานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ผู้แทนชาวชุมชน เข้าร่วม


นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า
พอช.ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 โดยรวมเอา 2 หน่วยงาน คือ
สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) สังกัดการเคหะแห่งชาติ
และสำนักงานกองทุนพัฒนาชนบท ภายใต้สภาพัฒน์ เข้าด้วยกัน
มีฐานะเป็นองค์กรของรัฐแนวใหม่ที่มีรากฐานการทำงานโดยสนับสนุนให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา
และมีระบบบริหารจัดการองทุนแบบยืดหยุ่นเสริมสร้างการพัฒนาตนเองและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย

การก่อเกิดของ พอช.จึงเป็นการถักทอผสมผสานพลังความรู้
ความสามารถในการพัฒนาทั้งชุมชนเมืองและชนบท
เป็นปฐมบทของการสร้างองค์กรที่เกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
ทั้งองค์กรชุมชน หน่วยงานรัฐ ภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน
ภายใต้แนวทางการสร้างองค์กรของประชาชนแนวใหม่ ทั้งจากประสบการณ์จริง
จากการมีส่วนร่วมและความคิดแบบใหม่ที่เกิดขึ้น

ผู้อำนวยการ พอช.กล่าวว่า ที่ผ่านมา
พอช.ได้มีส่วนสนับสนุนการทำงานของภาคประชาชนทั่วประเทศตามประเด็นงานพัฒนาที่หลากหลาย
โดยเป็นกลไกสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชน
เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน เป็นการพัฒนาจากชุมชนฐานราก
เป็นพลังการพัฒนาในแนวราบที่สามารถเชื่อมประสาน โยงใยถึงกัน
สามารถเรียนรู้ระหว่างกันและกัน

พร้อมกันนั้น ยังกำหนดแนวทางการพัฒนาเรื่องต่างๆ
จากชุมชนท้องถิ่นไปสู่หน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นขบวนการ
โดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง คือ พื้นที่ตำบล เป็นตำบลจัดการตนเอง
ซึ่งไม่ได้หมายความว่าชุมชนทำเองคนเดียว แต่เป็นการสร้างความร่วมมือกับ
อปท. ภาครัฐ ภาคประชาสังคม มาร่วมกันคิด ร่วมวางแผน
เป็นการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

นางทิพย์รัตน์ กล่าวต่ออีกว่า การทำงานระหว่าง
พอช.กับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คือ
พยายามที่จะหาวิธีให้องค์กรชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เป็นผู้คิด ผู้ทำ
ผู้วางแผน เพื่อการพัฒนาโดยชุมชนเอง
และภาคีเกี่ยวข้องสามารถมีส่วนร่วมในการวางแผนและกำหนดแนวทางเพื่อเป็นผู้สนับการทำงานขององค์กรชุมชน
ทุกๆ เรื่อง พอช.
จึงเป็นเสมือนองค์กรของรัฐที่นำหน้าที่เป็นองค์กรสนับสนุนการทำงานของขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่และในประเด็นงานพัฒนาต่างๆ
ดังนั้น โครงสร้างการทำงานของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนในทุกระดับ
จึงเป็นโครงสร้างแบบผสมผสานระหว่างชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ
องค์กรพัฒนาเอกชนอย่างมีส่วนร่วม

แนวทางการพัฒนาที่กล่าวมาข้างต้นสามารถทำให้
พอช.สนับสนุนการทำงานของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนได้อย่างกว้างขวางในหลายปีที่ผ่านมา
เพราะองค์กรภาคประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาเอง
เป็นภารกิจของ พอช.และภาคีทุกภาคส่วนที่ต้องจับมือกัน
เพื่อหนุนเสริมองค์กรภาคประชาชน
ให้มีความยืดหยุ่นสามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง


นายแก้ว สังข์ชู คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสายภาคประชาชน

นายแก้ว สังข์ชู คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสายภาคประชาชน
กล่าวว่า พอช.ให้โอกาสองค์กรชุมชนในการคิด การลงมือปฏิบัติ
และการบริหารจัดการร่วมกันในชุมชน
โดยใช้ชุมชนฐานรากเป็นแกนหลักในการพัฒนา
ซึ่งรูปธรรมที่เกิดขึ้นมาจากเครือข่ายขบวนองค์กรภาคประชาชน
ทั้งเรื่องบ้านมั่นคง การแก้ปัญหาที่ดิน สวัสดิการชุมชน แผนชีวิตชุมชน
หรือแม้กระทั่งเรื่องสื่อชุมชน
ทำให้ชุมชนมีการตื่นตัวให้สถานะในการเป็นองค์กรชุมชนที่แท้จริง

"จากการทำงานของ พอช.ที่ทำร่วมกับชุมชนมายาวนานนับ 10 ปี
สามารถผลักดันไปสู่การมีกฎหมายรองรับความเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนภายใต้สภาองค์กรชุมชน
ให้เกิดเป็นรูปร่างการพัฒนาอย่างแท้จริง และหนุนเสริมมการทำงานด้านต่างๆ
เป็นการสร้างบรรยากาศความเป็นมิตรอย่างลึกซึ้ง"

การได้มาซึ่งกระบวนการคิดของ
พอช.และองค์กรภาคประชาชนที่ให้ความสำคัญผ่านการจัดทำแผนชุมชน
ให้มีองค์ความรู้ มีการจัดการความรู้ เกิดเครือข่ายร่วมกัน
สามารถผลักดันเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างน้อย 3 ประเด็นหลัก คือ

ประเด็นแรก การจัดการที่ดิน ผลักดันไปสู่การจัดตั้งกองทุนที่ดิน
ให้ท้องถิ่นเป็นแกนหลัก เพราะที่ดินเป็นทั้งคุณค่าและมูลค่า
ปัจจุบันเครือข่ายแก้ปัญหาที่ดินมีการรวมตัวกันพิสูจน์สิทธิ์การถือครองที่ดิน
และผลักดันไปสู่นโยบายเรื่องการทำ "โฉนดชุมชน"

ประเด็นที่สอง การจัดสวัสดิการชุมชน
การหนุนเสริมองค์กรชุมชนว่าด้วยเรื่องสวัสดิการ โดยมี อบต.
อปท.ร่วมจัดการสนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
(สตง.) ลงไปตรวจสอบ พบว่า เป็นการดำเนินการที่ผิดระเบียบ
จึงมีการจัดการแก้ไขในระดับนโยบาย โดยคณะรัฐมนตรี
เห็นชอบในหลักการและให้แก้ไขระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวย
ทำให้ปัญหาคลี่คลายลงไป อปท.สามารถให้การสนับสนุนด้านงบประมาณได้
ทำให้ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ ได้ร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกัน
ทำให้คนคิดเป็น ซึ่งปัจจุบันมีการจัดสวัสดิการชุมชนไปแล้วประมาณ 3,000
ตำบล และสามารถผลักดันไปเป็นนโยบายของรัฐบาล และสนับสนุนสมทบงบประมาณ 700
กว่าล้านบาทในปี 2552

ประเด็นสุดท้าย การจัดการที่อยู่อาศัย
สร้างเมืองให้น่าอยู่และการจัดการขยะ สาธารณูปโภค
เป็นการสร้างความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัยตามโครงการ "บ้านมั่นคง"
ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้องค์กรชุมชนและภาคีในท้องถิ่นมาร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยกันทั้งเมือง
แล้วเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาเรื่องอื่นร่วมกัน โดยใช้ สภาองค์กรชุมชน
เป็นเครื่องมือผลักดันการพัฒนาต่างๆ
ทำให้ชุมชนจัดการตนเองปัจจุบันทั่วประเทศมีการดำเนินการไปแล้ว 269 เมือง
ครอบคลุมประมาณ 88,000 ครัวเรือน 1,500 กว่าชุมชน

นายแก้ว กล่าวอีกว่า สิ่งที่ขบวนองค์กรชุมชนร่วมกับ พอช.ทำได้ คือ
สามารถขยับไปสู่ตำบลจัดการตนเอง
จากเดิมที่ผ่านมาคนนอกเข้าไปจัดการให้ชาวบ้านหมดจนไปทำลายวิถีความเป็นอยู่ของชุมชน
จนวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันหายไป ทำให้กระบวนการข้างล่างอ่อนแอ
เพราะนโยบายการพัฒนาสั่งมาจากข้างบน

คณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนสายภาคประชาชน สะท้อนภาพว่า
เมื่อก่อนเรามองเศรษฐกิจมหภาพเป็นเรื่องหลัก
แต่ตอนนี้เศรษฐกิจฐานรากได้ถูกยกระดับให้จัดการเอง
และต่อไปจังหวัดจะรู้ว่าชุมชนทำอะไร ชุมชนมีศักยภาพอย่างไร หน่วยงานต่างๆ
จะหนุนเสริมอย่างไร โดยมี พอช. เป็นฝ่ายสร้างกระบวนการเรียนรู้
สร้างการหนุนเสริมการทำงานภายใต้สิทธิหน้าที่ ไม่มีฝ่ายบริหาร
ไม่มีคนบริหาร เพราะอำนาจอยู่ที่ชุมชน
จนนำไปสู่ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นทำให้ชุมชนจัดการตนเองได้
เป็นการปฏิรูปประเทศไทยอย่างแท้จริง

นายเจษฎา มิ่งสมร ตัวแทนผู้ประสานงานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน
ด้าน นายเจษฎา มิ่งสมร
ตัวแทนผู้ประสานงานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน
สื่อให้เห็นว่าบทบาทภารกิจหน้าที่ของ พอช.ที่มีต่อเครือข่ายฯ ว่า
ต้องมีลักษณะ "อย่ายืนบัง อย่าล้ำหน้า อย่าล้าหลัง"
หมายถึงการดำเนินงานร่วมกันอย่างเท่าเทียม

เขายังกล่าวถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทยที่ล้อมรั้วด้วยหัวใจได้ขาดหายไปจากชุมชน
วัฒนธรรมที่ดีๆ หายไป แต่สิ่งที่เชื่อมั่นและศรัทธา คือ
การให้โอกาสให้คนเล็กๆ เป็นการกอบกู้สังคมให้กลับคืนมา
คนทุกคนลุกขึ้นมาร่วมมือร่วมใจ กำหนดอนาคตร่วมกัน ชวนกันมาทำ
ไม่มีส่วนราชการ ไม่มีชาวบ้าน ไม่มีผู้นำ แต่เป็นคนในตำบลมาทำร่วมกัน
ในอนาคตเด็กๆ ก็จะเดินตามรอยภูมิปัญญา การพัฒนาจึงไม่ใช่การมาจากส่วนกลาง

"ยอดปราสาทประชาธิปไตย จึงต้องมาจากชุมชน สิ่งที่เครือข่ายทำ คือ
การถักทอเชื่อมโยงคนไทยทั้งประเทศมาคิดอ่านร่วมกัน
เป็นพลังแห่งความเชื่อมั่น ศรัทธาของชาวบ้าน"
ตัวแทนผู้ประสานงานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน สะท้อนความคิด

นายเจษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ขบวนองค์กรชุมชนทำงานร่วมกับ
พอช.โดยมีนโยบายว่า ให้ "ชุมชนเป็นแกนหลัก" จากที่เป็นคนเสียงเล็กๆ
ไม่เคยมีโอกาสเสนอ แต่เมื่อมีโอกาสเสนอ
ทำให้การเปิดพื้นที่ให้คนข้างล่างได้มากขึ้น
เป็นการทำงานแนวราบที่สอดรับประสานเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

"การระเบิดจากข้างใน
เป็นเรื่องที่ตรงกับใจทำให้เกิดกระแสการพัฒนาที่ให้โอกาสขบวนองค์กรชุมชนให้เกิดการเรียนรู้
ให้คนเล็กได้ทำงานพัฒนาได้มากขึ้น และที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ
การแลกเปลี่ยนข้ามขอบเขตพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ
เป็นการแลกเปลี่ยนเชิงภูมินิเวศน์ เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น 10 ปีที่
พอช.ทำงานทำให้เห็นกระบวนการเหล่านี้มากขึ้น เรื่องราวต่าง ๆ
จึงก้าวไปอย่างสมบูรณ์"

นางจันทร์ กั้วพิจิตร ผู้แทนชาวชุมชนคลองลำนุ่น
นางจันทร์ กั้วพิจิตร ผู้แทนชาวชุมชนคลองลำนุ่น เขตคันนายาว
กรุงเทพฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา
ชาวบ้านในชุมชนไม่คิดว่าจะมีบ้านเป็นของตนเอง เพราะบุกรุกที่เขาอยู่
คนรากหญ้าก็คิดถึงโอกาส ซึ่งชุมชนคลองลำนุ่นถูกไล่รื้อเมื่อปี 40
ตอนแรกไม่รู้จะทำอย่างไรดี พอมีเจ้าหน้าที่
พอช.ลงพื้นที่ไปสำรวจข้อมูลโดยให้ชุมชนเป็นผู้ทำ ผู้คิดวางแผนเอง
เราจึงไม่มั่นใจ เพราะไม่เคยมีหน่วยงานไหนทำแบบนี้
พอได้รับข้อมูลชาวบ้านเริ่มทำกลุ่มออมทรัพย์
เริ่มเรียนรู้การบริหารการจัดการ

ผู้แทนชาวชุมชนคลองลำนุ่น บอกว่า โครงการบ้านมั่นคง
ทำให้รู้ว่าความคิดของทุกคนเป็นหนึ่ง ซึ่งเดิมแต่ละคนไม่รู้จักกัน
ก็มาคุยกันมาตกลงร่วมกัน พอได้ทำหลายอย่าง ได้คิดหลายอย่าง
ตามแนวทางคิดเองทำเอง ชาวบ้านมั่นใจเพราะเราคันเราเกาเอง
พอช.ไม่ได้มาเกาให้ ชาวบ้านมีความรู้ทุกอย่าง
จนเป็นเครือข่ายโครงการบ้านมั่นคง เรามีความสุข มีทางออก
สิ่งที่เกิดขันมันได้เหนือกว่าบ้าน สังคมดีขึ้น ได้คิดร่วมกัน
บริหารกันเอง ทั้งผู้นำ สมาชิก แบ่งปันให้กันอย่างไร้พรมแดน

ประพันธ์ สีดำ / เสาวลักษณ์ สมสุข
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น