++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สธ.ยันไม่ลดภาษีเหล้า-เบียร์ เหตุเป็นสิ่งทำลายสุขภาพ

“รมช.สธ.” หนุนแนวคิด “อลงกรณ์” ไม่ลดภาษีเหล้า-เบียร์ นำเข้า ชี้ เพราะเป็นสินค้าทำลายสุขภาพ เสนอเพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาต่ำให้หนัก กันนักดื่มวัยรุ่นเข้าถึง

วันนี้ (16 ก.ค.) นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการเปิดประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัดให้ แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย พื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ว่า การประชุมวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงกฎหมายลูกหรืออนุบัญญัติที่ออก ใหม่ ในปี 2553 ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงภาพสัญลักษณ์เพื่อประกอบการโฆษณาหรือประชา สัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยรูปแบบและวิธีการแสดง ข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือภาพสัญลักษณ์ ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.ระเบียบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบ เทียบอัตราค่าปรับผู้กระทำผิดกฎหมาย และ 4.คำสั่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง การมอบหมายให้ดำเนินการเปรียบเทียบอัตราค่าปรับ ซึ่งจากนี้ไปเจ้าหน้าที่ทุกจังหวัดที่เกี่ยวข้อง คือ สาธารณสุข สรรพสามิต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดำเนินการควบคุมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย หากฝ่าฝืน สามารถลงโทษได้ตามกฎหมายได้ทันที พร้อมมอบป้ายสถานที่ราชการปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด มอบป้ายสวนสาธารณะปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่นายกเทศมนตรี เทศบาลนคร/เมือง

นางพรรณศิริ กล่าวด้วยว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นสินค้าอันตรายต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจประเทศ และเห็นควรเพิ่มภาษีสรรพสามิตควบคู่กันไปด้วย เพราะเป็นภาษีที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อราคาของเครื่องดื่มจะทำให้เด็กและเยาวชน เข้าถึงได้ยากขึ้น เนื่องจากจะมีราคาที่สูงขึ้น ส่วนกรณีเรื่องการเพิ่มภาษีสรรพสามิต สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาต่ำให้มุ่งเน้นใน 2 มิติ คือ เครื่องดื่มที่มีราคาต่อบรรจุภัณฑ์ต่ำ หรือมีราคาต่อขวด หรือกระป๋องต่ำ เช่น เบียร์ เหล้าปั่น กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาต่อปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ต่ำสุด เช่น เหล้าขาว เป็นต้น เนื่องจากมีข้อมูลวิชาการพบว่า ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยจัดว่ามีราคาต่ำเมื่อเทียบค่าเฉลี่ย นานาชาติที่ปรับตามราคาต่อค่าครองชีพของต่างประเทศ โดยราคาเบียร์ของไทยถูกกว่าราคาเฉลี่ยนานาชาติถึง 2.36 เท่า ในขณะที่ราคาสุรากลั่น หรือเหล้าขาวของไทยก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติถึงร้อยละ 75

“ใน รอบหลายปีที่ผ่านมา ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แท้จริง เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งสวนทางกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น จึงทำให้คนไทยมีกำลังซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้น เพราะรายได้สูงขึ้น แต่ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มต่ำลง จึงเสนอว่า ควรจะมีการทบทวนเรื่องการจัดเก็บภาษีใหม่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาและป้องกันเยาวชนหน้าใหม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ ในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่จะถึงในวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1-12 ออกตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล รวมถึงตรวจจับดำเนินคดีกับผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันดังกล่าวอย่าง เข้มงวด” นางพรรณสิริ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น