++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การศึกษาทางเลือก : ลู่วิ่งปลายเปิดของนักเรียนไทย

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 5 กรกฎาคม 2553 16:41 น.
บนลู่วิ่งแข่งขันของการศึกษากระแสหลัก
การหยุดพักหรือออกนอกลู่ชิงชัยหมายถึงความพ่ายแพ้
แม้ว่าข้างทางทิวทัศน์จะงดงามตอบสนองต่อวิถีชีวิตของสังคมพหุวัฒนธรรมมากแค่
ไหนก็ห้ามแวะเวียนออกไป
ไม่เช่นนั้นเป้าหมายเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจะดับวูบลง
ส่งผลให้การศึกษากระแสหลักเปรียบได้ดังการบังคับนักเรียนให้วิ่งบนลู่วิ่ง
(Treadmill) ที่มีลู่วิ่งแคบๆ
ที่กำลังมอเตอร์ถูกรีดพลังสูงสุดเพื่อกีดกันกำจัดผู้อ่อนแอ
คัดเลือกเฉพาะผู้แข็งแกร่งในฐานะผู้อยู่รอดให้มีสิทธิเข้าเส้นชัย

ในความเครียดของการศึกษากระแสหลักจึงมีนักเรียนมากมายไม่อาจทานทนต่อความ
เร็วและชันของลู่วิ่งจนต้องออกกลางคัน แม้นไม่ทั้งหมดของนักเรียนราว 9
แสนคนต่อปีที่ต้องออกกลางคันจะมาจากสาเหตุความเบื่อหน่ายในการแข่งขันของ
ระบบการเรียนการสอนกระแสหลักที่สุดแสนจะกดดัน
เพราะไม่น้อยก็ออกจากโรงเรียนด้วยเหตุที่พ่อแม่ไม่ให้เรียนต่อ
ครอบครัวยากจน จนถึงการไร้สัญชาติ

หากทว่าถึงที่สุดแล้วการศึกษากระแสหลักก็ไม่ควรเป็นอุปสรรคสำหรับ
เด็กไทยที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 49
กำหนดเจตนารมณ์คุ้มครองกลุ่มบุคคลที่อยู่ในสภาวะยากลำบากให้สามารถเข้าถึง
การศึกษา (Equal Accessibility to Education) อย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น
และบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะ
ต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
และที่สำคัญไม่ควรเป็นปราการกีดขวางการศึกษาทางเลือก (Alternative
education) ที่ตอบสนองเด็กและเยาวชน
ตลอดจนท้องถิ่นได้ดีกว่าการศึกษากระแสหลักรวมศูนย์แบบบนลงล่าง (Top-down)
ตามเนื้อความในมาตราเดียวกันนี้ที่ระบุว่าการศึกษาทางเลือกของประชาชน
การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ

ด้วยก้าวย่างแต่ละก้าวของการศึกษาทางเลือกไม่ว่าจะบริหารจัดการโดย
ครอบครัว ชุมชน หรือองค์กรสถาบันนั้นหมายถึงการเปิดกว้างโอกาสแห่งชัยชนะของเด็กและเยาวชน
หลายกลุ่มทั้งที่ไม่อาจทนความเครียดกดดันของการศึกษากระแสหลัก
ปรารถนาทางเดินชีวิตที่ต่างจากกระแสหลัก
หรือต้องการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วยการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทท้อง
ถิ่น หรือกระทั่งต้องการพัฒนาความสามารถพิเศษเฉพาะทางทั้งดนตรี กีฬา
และศิลปะ เพื่อตอบสนองเป้าหมายชีวิตที่ไม่ใช่ทุนนิยม

สภาวะปลายเปิดของการศึกษาทางเลือกที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้
พัฒนาจึงแตกต่างจากการศึกษากระแสหลักที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นดัชนี
ชี้วัด เพราะการเรียนรู้เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการที่มีหมุดหมายอยู่ที่ยูนิฟอร์ม
นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังไม่เพียงเรียกร้องการอ่านตำรับตำราหนักหนา
สาหัส การแข่งขันกันกวดวิชาเพื่อให้ได้คะแนนสูงๆ
ในห้องเรียนที่จะส่งผลโดยตรงต่อการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยผ่านระบบแอดมิ
ชชั่นกลางที่มาแทนที่เอ็นทรานซ์
ทว่ายังสั่งสมความเครียดกดดันทั้งในหมู่นักเรียนและผู้ปกครองที่เห็น
มหาวิทยาลัยเป็นทุกสิ่งในชีวิต

แม้นสภาวะจิตตกจากการเรียนกระแสหลักจักเกิดได้ทั้งในหมู่นักเรียนและ
พ่อแม่ แต่สุดท้ายคนที่แบกรับภาระและความหวังทั้งหมดทั้งมวลก็คือเด็ก
ถ้าสามารถจัดการวิกฤตความคาดหวังได้ก็จะเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีความสุขใน
ห้องเรียน แต่ถ้าไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีพอก็หมายถึงช่วงชีวิตวัยเยาว์ที่ถูกทุกข์ทรมาน
ถั่งโถมจนอาจคิดหนีปัญหาด้วยทางผิดๆ ทั้งติดเกมออนไลน์ ใช้ยาเสพติด
จนถึงคิดสั้น

ปรากฏการณ์ทุกข์เครียดจากการแข่งขันกันเล่าเรียนในระบบการศึกษากระแส
หลักที่มีถ้อยคำเปรียบเปรยเป็น 'ระบบการศึกษาลู่วิ่งเดี่ยวปลายตีบ'
อันเนื่องมาจากการที่เด็กทั้งประเทศต้องเรียนเหมือนกันหมดเช่นนี้เองที่ทำ
ให้นักเรียนไทยจำนวนมหาศาลต้องวิ่งแข่งขันกันบนลู่วิ่งเดียวกัน
เบียดกันกระทบกันเอารัดเอาเปรียบกันขัดแข้งขัดขากันเพื่อจะไปให้ถึงปลายทาง
เส้นชัยที่เรียวแคบขึ้นเรื่อยๆ
จนเหลือช่องว่างกว้างพอจะให้ผู้แข็งแกร่งเท่านั้นลอดเข้าไปใช้หน้าอกแตะเส้น
ชัยได้ในฤดูกาลสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ในขณะอีกมากมายพ่ายแพ้ไปไม่ถึงเส้นชัยก็ต้องล้มลุกคลุกคลานข้างหลังทั้งใจ
และกาย

การเรียนหนังสือในระบบการศึกษากระแสหลักสำหรับเด็กในเมืองจึงหมายถึง
การกวดวิชามากๆ เข้าไว้ ยิ่งเริ่มไวยิ่งดี
ดังปัจจุบันที่เด็กอนุบาลก็กวดวิชากันแล้วเพื่อจะได้เข้าโรงเรียนอนุบาลมี
ชื่อ ก่อนจะกวดวิชาชนิดเข้มข้นเรื่อยมาเพื่อแข่งขันกันเข้าโรงเรียนประถมมีชื่อ
ตอน ป. 1 โรงเรียนมัธยมมีชื่อตอน ม. 1 และ ม. 4
และคณะมีชื่อจบออกมาทำเงินในมหาวิทยาลัยชื่อดังตามลำดับ ทั้งๆ
ที่ในห้องเรียนก็เรียนหนักอยู่แล้ว
ซ้ำบางโรงเรียนในเมืองกรุงก็ยังจ้างครูโรงเรียนกวดวิชามาสอนเทคนิคคิดเร็ว
คิดลัดเพื่อมุ่งตอบโจทย์การแข่งขันมากกว่าสร้างเสริมปัญญาหรือวางรากฐานองค์
ความรู้ในตัวนักเรียน

ธุรกิจกวดวิชาจึงงอกงามราวดอกเห็ดหน้าฝนต่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
เท่าใดธุรกิจนี้ก็ไม่กระเทือนเพราะนอกจากสร้างเสริมภาพลักษณ์โรงเรียนว่ามี
นักเรียนสอบติดมหาวิทยาลัยชื่อดังจำนวนมากแล้ว
ยังเป็นความฝันสงสุดของเด็กนักเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองที่ขอให้สอบได้
'เท่าไรก็ยอมจ่าย'
ภายใต้ความกดดันของเด็กนักเรียนในเมืองที่ต้องกวดวิชาสารพัดศาสตร์
นั้น นักเรียนในชนบทก็ต้องผจญกับกระแสเชี่ยวกรากของคำว่า 'เรียนเก่ง'
ที่ชื่นชมเชิดชูเฉพาะเด็กนักเรียนที่เรียนหนังสือเก่ง
แต่ลดทอนคุณค่าของเด็กนักเรียนที่เก่งในการใช้ชีวิตลง
จนนำพาความทุกข์ทรมานและน้อยเนื้อต่ำใจมาให้
เนื่องจากว่าส่วนใหญ่ของเด็กนักเรียนในชนบทไม่ได้เป็น 'ช้างเผือก'
ที่เก่งวิชาการสุดๆ

ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเด็กนักเรียนชนบทเหลวไหล ไม่ขยัน
หรือสติปัญญาด้อยกว่า
ทว่าเพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการท่องจำตำราตลอดเวลา
เดินทางไปโรงเรียนในเมืองก็เสียเวลามากแล้ว

ความ เครียดกดดันหนักหน่วงของการศึกษากระแสหลักจนกลายเป็นทุกข์ทรมานถาวรจากการ
เรียนหนังสือในห้องที่ไม่เก่งเท่าเพื่อน ตามไม่ทันเนื้อหาที่ครูสอน
หรือตอบโจทย์ยากๆ ที่ครูนำมาสอนเพื่อพิชิตมหาวิทยาลัยไม่ได้
ได้ทำให้เด็กนักเรียนทั้งในเมืองและชนบทจำนวนมากยอมจำนนต่อความพยายาม
เพราะพยายามถึงที่สุดแล้วก็ยังทำไม่ได้
ขยันเท่าใดก็ไม่เก่งวิชาการเท่าเพื่อนๆ
หรือไม่ก็พ่ายแพ้ต่อโชคชะตาจากการถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังไม่เหลียวแลโดยครู
โรงเรียน หรือเพื่อนบางกลุ่ม ก่อนจะถูกฉลากประทับตราว่าเป็น
'พวกไม่เอาไหน' ถ้าสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยสำหรับบางครอบครัวหรือบางโรงเรียนที่ให้ค่ากับการ
ผ่านคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าจิตใจเจ็บช้ำของลูกหลานหรือนักเรียน

ดังนั้น ในการทอนทุกข์ทรมานจากการศึกษากระแสหลักที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่เหน็ด
เหนื่อยกับการท่องจำตำราแต่ก็ไม่อาจเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยใฝ่ฝันของรัฐได้
ทั้งหมดนั้น การปฏิรูปการศึกษากระแสหลักนับแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมหาวิทยาลัยจึงสำคัญมาก
โดยเฉพาะระดับมัธยมปลายที่ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติรากฐานทั้งของนักเรียน
ครู โรงเรียน และหน่วยงานการศึกษาของรัฐที่ต้องไม่ใช้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นดัชนีชี้
วัดความสามารถของนักเรียนเพียงถ่ายเดียว
หรือการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่ใช้แค่ GPAX 6 ภาคเรียน O-NET (8
กลุ่มสาระ) GAT และ PAT

ไม่เพียงเท่านั้นควรลดชั่วโมงเรียนในห้องเรียนที่เด็กไทยครองแชมป์
โลกลงเพื่อลดความเครียดของนักเรียน
และปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ให้สอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรมของ
ประเทศไทยที่ไม่ใช่หลักสูตรแบบเดียวจะเหมาะสมกับทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
โดยเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย
โดยเฉพาะชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่หลากหลายสอด
คล้องกับบริบทและความต้องการของพื้นที่
ควบคู่กับส่งเสริมการศึกษาทางเลือกเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กนัก
เรียนที่ไม่ปรารถนาจะอยู่ในโลกของการแข่งขันอันดุเดือดด้วยการแก้ไขกฎ
ระเบียบและให้การคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ

นัย นี้การศึกษาทางเลือกจึงหมายถึงการปรับรูปแบบ เนื้อหา
และคุณค่าของระบบการศึกษากระแสหลักมาสู่มิติจิตวิญญาณและความสุขของนักเรียน
มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เร่งส่งเสริมการศึกษาทางเลือกที่เป็นลู่วิ่งปลายเปิดของเด็ก
ทุกคนให้มีที่ทางมากขึ้นในสังคมไทย

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น