++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พัฒนาจิต” ความลับของกุญแจดอกสุดท้าย

รายงานโดย...ผู้สื่อข่าวพิเศษ ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

เชื่อไหมว่า สิ่งดีๆ ความตั้งใจดีๆ อาจไม่นำไปสู่ความสุขความสำเร็จ หากไม่จัดการกับบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญที่สุด นั่นคือ “จิต” ของเราเอง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างน่าสนใจในเวทีเสวนาของ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงษ์ (มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หัวข้อ “พัฒนาจิตทุกทิศทาง” ซึ่งเชิญผู้คนหลากหลายอาชีพมาเล่าประสบการณ์ตรงของการพัฒนาจิต ความนิ่ง และการคิดใคร่ครวญ ซึ่งสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับความสุข การพัฒนางาน พัฒนาชีวิต ตลอดจนพัฒนาสังคม พวกเขาช่วยฉายให้เห็น “กุญแจดอกสุดท้าย” ที่พวกเขาค้นพบ ขณะที่หลายต่อหลายคนใช้เวลาทั้งชีวิตก็ยังหาไม่เจอ

จากแรงผลัก กลายเป็นแรงดึงดูด

นพ.นิวัฒน์ชัย นามวิชัยศิริกุล หรือ หมอนัท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประทาย บอกเล่าประสบการณ์ในอดีต ครั้งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจทำงาน แต่กลับไม่เคยมี “ความสุข” เพราะเขาพยายามยัดเยียดโครงการดีๆ ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ทำ เคร่งครัดเวลาเข้างานกับลูกน้อง มักตำหนิติเตียนทันทีที่บกพร่องแม้ด้วยคำพูดสุภาพ จนบรรยากาศในที่ทำงานเต็มไปด้วยความอึดอัด เขาก็เครียด ลูกน้องก็เครียด จนกระทั่งถึงจุดที่เขาเริ่มทบทวนตัวเองว่า มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เขาใส่ใจความสุขของลูกน้องแค่ไหน สนใจความสุขที่แท้จริงแค่ไหน ประกอบกับได้กัลยาณมิตรที่ตระหนักเรื่องการพัฒนาจิตและมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ทำให้เขาค้นพบว่า ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ “การจัดการใจตัวเอง” ที่ผ่านมาเขาเต็มไปด้วยความคาดหวังกับคนอื่น โดยละเลยที่จะปรับตัวเอง

“พอเรารู้จักตัวเองมากขึ้น เราก็เริ่มรู้ว่าจะเปลี่ยนตัวเองยังไง ความคาดหวังเป็นสิ่งที่ครอบงำเรา ทำให้จิตเราคว่ำ เราก็หงายมันขึ้น คาดหวังให้น้อยลง อยู่กับตัวเอง ปัจจุบันขณะมากขึ้น เราก็จะตื่นรู้ เบิกบานมากขึ้น เราได้ยินมานานแล้วแต่เพิ่งเข้าใจมันจริงๆ ก็วันนี้” หมอนัทว่า

หลังจากเริ่มปรับตัวเอง โดยลดความคาดหวังกับคนอื่นลง มองมองหากัลยาณมิตรคนอื่นในโรงพยาบาล เปิดพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ก็ทำให้บรรากาศในที่ทำงานดีขึ้นเรื่อยๆ

“ผลคือ มันดีกว่าที่เราคิดเองทำเองเสียอีก พวกเขาก็มีสิ่งดีๆ เพียงแต่เราได้เปิดพื้นที่ให้เขาได้กล้ามีส่วนร่วมคิด ทำ และรับผิดชอบร่วมกับเราแค่ไหน” หมอนัทกล่าว

นอกจากนี้หมอนัทยังมี “ครู” เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ดังกรณีที่เขายกตัวอย่างการเรียนรู้วิธีคิดจากคนขับรถโรงพยาบาล ซึ่งพัฒนาตนเองจากการทำงานตามหน้าที่ไปวันๆ จนได้เห็นความตายของคนไข้ จึงตระหนักว่า เขาไม่ใช่แค่คนขับรถ แต่เป็นคนบรรทุกชะตาชีวิตของคนไข้และครอบครัว

สร้างคนให้เต็มคนด้วยจักรยาน

อนันต์ ศรีเรือง หรือ เงาะ เป็นโคชสอนจักรยานยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย แต่เขาไม่ใช่โคชธรรมดาที่สร้างแค่ แชมเปี้ยน แต่เขาสร้างคนใต้ถุนของสังคมให้กลายเป็นคนเต็มคนอย่างภาคภูมิ

จากเดิมที่เคยเอาแต่ขี่มอเตอร์ไซด์ 400 ซีซีคู่ชีพ กินเที่ยวกับเพื่อน เขาเริ่มครุ่นคิดกับตัวเองอย่างหนักหลังจากเจอเหตุการณ์ที่วัยรุ่นยกพวกตีกันและยิงแม่ค้าที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่คนหนึ่งตาย

“ตอนนั้นเพิ่งตื่นว่า บ้านเรามันแย่ถึงขนาดนี้แล้วเหรอ เคยคิดถึงแต่ตัวเองตลอด แต่พอเงยหน้ามองรอบๆ บ้านเรามันเปลี่ยนไปเยอะเลย จึงคิดว่าจะทำอะไรได้บ้าง” เงาะว่า

จากนั้นเขาจึงเริ่มต้นทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด โดยชักจูงเด็กเกเร ติดยา เด็กซิ่ง ที่ขี่จักรยานเที่ยวมั่วสุมไปตามมีตามเกิดมาสอนและส่งแข่งขันจนได้รางวัลมากมาย พวกเขาพากันเดินไปบนเส้นทางสายนั้น จนกระทั่งเงาะพบความผิดหวังเมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแข่งขันนัดหนึ่งทั้งๆ ที่ทีมของเขาได้เหรียญได้ถ้วยมามิใช่น้อย ทำให้เขาเสียใจมากถึงกับนอนร้องไห้ แต่แล้วในวันรุ่งขึ้นขณะที่รดน้ำต้นไม้เขาก็นึกได้

“เราฉุกคิดได้ว่า เราพาเด็กหลงทางสู่ความเป็นเลิศ แต่ละทิ้งความเป็นคนที่มีอยู่ในตัวตนของความเป็นคน จึงหันมาสอนเด็กใหม่ สอนให้เอาชนะตัวเองในความอยากของตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ก่อทุกข์ สิ่งที่สอนไม่ได้เกี่ยวกับจักรยานโดยตรง จักรยานเป็นแค่เครื่องกล่อมเกลาให้เอาชนะตัวเองในเวลาที่เหนื่อยที่สุด ท้อที่สุด คู่ต่อสู้สำคัญที่สุดคือ ตัวเรา”

“เราไม่เคยคิดถึงอย่างอื่น คิดถึงแต่ตัวเองโดยไม่คิดถึงโลกนี้เลย เรารู้อย่างเดียวว่าจะกินได้มากแค่ไหน เราส่งยานอวกาศจะเอาต้นไม้ไปปลูกดาวอื่น แต่ต้นไม้บนโลกนี้เราไม่เคยดูแลเลย เราเป็นผู้อาศัยที่รื้อหลังคาบ้านไปขาย รื้อเสาไปขาย เป็นหนอนที่ตกไปในผักแล้วกัดกินใบผัก ออกลูกออกหลานเพื่อมากินผักนั้นต่อ การศึกษากำลังจะทำให้เกิดความเสียหายต่อโลกต่อแผ่นดิน ความเจริญของมนุษย์เหยียบย่างไปที่ไหน ความฉิบหายจะเกิดที่นั่น” ปรัชญาของเงาะเรียกเสียงปรบมือได้จากคนทั้งห้อง

ตอนนี้เงาะและเด็กๆ ในทีมจักรยานกว่า 20 คนอาศัยอยู่บนที่ดินของเขาซึ่งมี 6 ไร่ ทำนาเองเกือบเต็มพื้นที่ เงาะบอกว่า เขาไม่มีเงิน แต่มีอันจะกิน (เรียกเสียงปรบมือกระหึ่มจากผู้ฟังอีกครั้ง) และแนวทางของเขาในการสั่งสอนเด็กๆ ก็แปลกประหลาดกว่าคนอื่น เขาจะไม่บอกทุกอย่าง แม้เขาจะรู้ แต่จะปล่อยให้เด็ก คิด คิด คิด คิด ไปเรื่อยๆ และลองดำน้ำทดลองทำกันไปกันเอง

“ถ้าการศึกษายังแค่ทำให้คนสืบต่อความอยากกันต่อไป โดยไม่กตัญญูต่อแผ่นดิน ผมก็ไม่เห็นว่า การศึกษาจะมีประโยชน์อะไร อยู่กับต้นไม้ดีกว่า” เงาะผู้ปฏิเสธระบบการศึกษาตั้งแต่เด็ก จบแค่ประถมศึกษาปีที่ 6 กล่าวทิ้งท้าย

คืนบทบาทให้พระสงฆ์นำชุมชนเยียวยาผู้ป่วยจิตเวท

เสาวนีย์ เข็มพุดซา เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ เธอศรัทธาในงานของเธออย่างแรงกล้า ตั้งแต่สมัยเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “พอรู้สึกมีความสุขกับงาน ไม่ต้องได้อะไรก็ได้ แค่ได้ทำก็มีความสุขแล้ว” เธอยกยกตัวการทำงานที่เต็มไปด้วยอุปสรรคแต่เปี่ยมไปด้วยความสุขในกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ชุมชนไม่ยอมรับ

เธอพยายามแก้ปัญหานี้มายาวนานแต่ก็ยังไม่สำเร็จ จึงเริ่มทบทวนว่า เรื่องนี้ควรต้องมีใครร่วมรับผิดชอบบ้าง ในที่สุดปี 2543 จึงคิดทำโครงการส่งเสริมและรักษาผู้ป่วยจิตเวชโดยชุมชน โดยให้พระสงฆ์เป็นผู้นำ ด้วยความที่เธอศรัทธาพระศาสนายิ่งและเห็นศักยภาพของพระสงฆ์ แต่ในเบื้องต้นที่ประชุมสงฆ์เงียบกริบหลังเธอนำเสนอโครงการ เพราะเข้าใจว่าจะเอาคนไข้ไปไว้ที่วัด แต่เธอยังไม่คงละความพยายาม และเริ่มจากตัวอย่างเล็กๆ ในวัดที่มีความเข้าใจเรื่องดังกล่าว ก่อนจะขยายไปยังเครือข่ายอื่น ซึ่งเป็นการคืนบทบาทศูนย์รวมจิตใจให้กับพระสงฆ์ในชุมชนอีกครั้งด้วยในเวลาเดียวกันกัน

ออกจากกะลาครอบ ออกจากเมืองสู่ชนบท

มุทิตา พานิช จากมูลนิธิพูนพลัง เล่าประสบการณ์ส่วนตัวก่อนจะมาทำงานมูลนิธินี้ จากเส้นทางของโปรแกรมเมอร์ที่เรียนและทำงานเงินเดือนสูงๆ ในประเทศญี่ปุ่น ชีวิตก็พลิกผันเมื่อได้มีโอกาสเป็นล่ามให้กับมูลนิธิญี่ปุ่นที่ต้องการออกค่ายในเมืองไทย เธอบอกว่า ณ นาทีนั้นเหมือนเธอได้ “ออกจากกะลาครอบ” เพราะได้เห็นและสัมผัสสิ่งที่ไม่เคยสัมผัสเลยตลอดชีวิตของเธอ นั่นคือ ชนบท และเริ่มหลงผู้คน สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น

จนกระทั่งท้ายที่สุด เธอตัดสินใจออกจากญี่ปุ่นมาเป็นอาสาสมัคร กระทั่งเริ่มทำมูลนิธิพูนพลังในปัจจุบัน ซึ่งทำงานส่งเสริมสิ่งแวดล้อมด้านการศึกษา กับโรงเรียน ครู นักเรียน มีกิจกรรมค่ายอาสาของสมาชิกมูลนิธิ มีโครงการสนุกๆ ให้นักเรียนร่วม ประกวดวาดภาพ เรียงความ และยังให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น