++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เส้นทางที่นักการเมืองไทยไม่เลือก

โดย วิทยา วชิระอังกูร

มีคำกล่าวที่เป็นอมตะวาจาเปรียบเทียบระหว่างรัฐบุรุษ (Statesman) กับนักการเมือง (Politician) โดยนายเจมส์ คาร์ก (James Clark) อดีตผู้ว่าการรัฐอาคันซอร์ (Arkansas) และอดีตประธานวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกาผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้กล่าวไว้ว่า

“A politician thinks of the next election, a statesman thinks of next generation”

ซึ่งเป็นถ้อยคำที่เปรียบเทียบได้คมชัดมากว่า “นักการเมือง คิดถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่รัฐบุรุษคิดถึงคนรุ่นต่อไป”

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 แม้จะมีบางช่วงบางตอนหยุดชะงักไปบ้าง แต่ก็ถือได้ว่ายาวนานต่อเนื่องกันมาถึง 78 ปี มีนักการเมืองหมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนกันมาหลายยุคหลายสมัย แต่ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ก็ยึดกันจนเป็นนักการเมืองอาชีพจนกว่าจะหมดสภาพไม่มีคนเลือกหรือล้มหายตายจากกันไป

ไม่น่าเชื่อนะครับว่า 78 ปี กับนักการเมืองที่มีอยู่นับร้อยนับพัน ประเทศไทยเรามีผู้ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูขึ้นเป็นรัฐบุรุษเพียง 2 คนเท่านั้น

วันนี้จึงตั้งใจจะมาบอกเล่าให้รับรู้ถึงเส้นทางที่ก้าวสู่รัฐบุรุษของนักการเมืองไทย 2 ท่าน โดยสังเขป เผื่อจะเป็นอนุสติเตือนใจ ให้คนไทยโดยเฉพาะนักการเมืองไทยทั้งหลายได้ตระหนักรู้ และหันมาใส่ใจที่จะอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและคนรุ่นหลังต่อๆ ไป แทนที่จะมุ่งคิดถึงแต่คะแนนเสียงการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยไม่คำนึงว่าจะได้มาด้วยวิธีการฉ้อฉลอัปลักษณ์อย่างไร

รัฐบุรุษไทยท่านแรก คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้เป็นมันสมองสำคัญในการริเริ่ม และร่วมขบวนการคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์อยู่เหนือกฏหมาย มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

แนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์ มิได้มุ่งหมายเพียงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น หากแต่มีความมุ่งมั่นโดยแสดงเจตนารมณ์ และบทบาทอย่างชัดเจนตลอดเวลา ที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศไทย สามารถยืนหยัดอย่างเป็นเอกราชและมีศักดิ์ศรีในทุกด้าน ท่ามกลางนานาอารยประเทศ ในประชาคมโลกยุคใหม่ในยุคสมัยนั้น

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้านการเมือง ได้สร้างผลงานอันเป็นคุณูปการแก่ประเทศชาติ ทั้งในช่วงที่มีอำนาจบริหารบ้านเมือง และแม้ต่อมาจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ต้องออกไปพำนักอยู่ต่างประเทศ แต่แนวคิดต่างๆ ของท่านที่มุ่งดีต่อประเทศไทยและคนไทย ก็ตกทอดเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในยุคต่อมา ซึ่งเป็นที่รับรู้และยอมรับนับอเนกอนันต์ โดยบทความนี้ขอยกมาเพียงที่สำคัญบางประการ

อาทิ ด้านการเมืองการปกครองเป็นผู้ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 และร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสืบต่อมา ตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา และริเริ่มแนวคิดเรื่อง “ศาลปกครอง” เสนอ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ที่มีหลักการสหกรณ์ ซึ่งถูกฝ่ายที่ก้าวตามไม่ทัน กล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนต่อมาภายหลัง จึงเป็นที่ยอมรับว่า ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ นอกจากนั้น เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น โดยจัดตั้ง เทศบาล และกรมโยธาเทศบาล เพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่ถูกทอดทิ้งละเลย เพราะอยู่ห่างไกล

ด้านการศึกษา ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เปิดกว้างเป็นตลาดวิชาให้คนไทยมีสิทธิเสรีภาพในการศึกษาเท่าเทียมกัน

ด้านการต่างประเทศ เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ใช้กลยุทธ์บอกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่ประเทศไทยเสียเปรียบต่างชาติคู่สัญญา โดยยื่นร่างสนธิสัญญาเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นสนธิสัญญาใหม่ ที่ใช้หลักดุลยภาพแห่งอำนาจ

ด้านการคลัง เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นธรรม ยกเลิกภาษีรัชชูปการ และอากรค่านา ออก พ.ร.บ.ภาษีเงินได้เป็นอัตราก้าวหน้า ผู้มีรายได้มากเสียภาษีมาก ผู้มีรายได้น้อยเสียภาษีน้อย และจัดให้มีประมวลรัษฎากร เพื่อรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และริเริ่มก่อตั้งธนาคารกลางเป็นธนาคารชาติไทย หรือธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดียังมีบทบาทสำคัญเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย (ใช้นามว่า “รู้ธ”) เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการตกเป็นประเทศแพ้สงครามร่วมกับประเทศญี่ปุ่น

รัฐบุรุษไทยอีกท่านหนึ่ง คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ติดต่อกันถึง 8 ปี สองสมัย โดยมิได้สังกัดพรรคการเมืองใดลักษณะที่เป็นคุณสมบัติโดดเด่นของพลเอกเปรม คือ การเป็นนายทหารที่ซื่อสัตย์สุจริต และสุขุมลุ่มลึก ในห้วงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกิดภาวะวิกฤตทั้งการรัฐประหาร ล้มล้างรัฐบาล และภาวการณ์ตกต่ำทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งพลเอกเปรมได้ใช้ความอดทนเข้มแข็งปราบปรามการก่อรัฐประหาร นำพารัฐบาล และสถาบันพระมหากษัตริย์รอดพ้นจากภยันตราย ส่วนการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก็ใช้ความสุขุม และซื่อสัตย์ นำหลักการประหยัด และแนวคิดพอเพียง มุ่งเน้นในการผลิตและส่งออก ค้าขายกับประเทศในกลุ่มสังคมนิยมตะวันออกประสบผลสำเร็จ ทำให้สามารถสร้างเสริมเพิ่มเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศได้เป็นอย่างดี จนถือได้ว่า รัฐบาลในยุคพลเอกเปรมเป็นผู้สร้างฐานทางเศษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นมากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

ผลงานเด่นๆ นอกจากนั้น ก็มีการปรับปรุงประมวลกฎหมายรัษฎากร และกฎหมายสรรพสินค้าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม, มีการสร้างงานตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) สานต่อจากนโยบายเงินผันของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชและมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน (กรอ.) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมทางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชน

ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรมได้ยึดหลักตามพระบรมราโชวาทในการส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายแก่บ้านเมือง โดยเลือกใช้คนดีมีความสามารถ และกล้าตัดสินใจปกป้องคนดี และปลดคนไม่ดีออกจากตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยฉับพลันทันเหตุการณ์ ทุกครั้งที่เกิดปัญหาซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่แตกต่างจากนักการเมืองทั่วไป

ส่งผลให้การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 8 ปี สร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ คุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนความสงบสุข ปลอดภัยของสังคมโดยรวม

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นรัฐบุรุษอาวุโส เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2488 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ส่วน ฯพณฯ ประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเป็น รัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ในรัชกาลปัจจุบัน

น่าเสียดายนะครับ ที่นับจากบัดนั้นจนถึงบัดนี้ ประเทศไทยยังว่างเว้นและเหลียวหาแลไม่เห็นนักการเมืองไทยคนหนึ่งคนใดที่จะมีคุณสมบัติพอให้ยกย่องเชิดชูเป็นรัฐบุรุษ ได้อีกเลย

กวาดสายตาดูทั่วทั้งทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภาไทย ก็ดูเหมือนล้วนแล้วแต่ประดานักการเมืองที่คิดถึงคะแนนเสียงการเลือกตั้งครั้งต่อไป มากกว่าจะคิดถึงประโยชน์สุขของประเทศชาติ และสังคมคนรุ่นต่อไป

“A politician thinks of the next election, a statesman thinks of next generation ”

ทำเนียบรัฐบุรุษประเทศไทย คงอ้างว้าง วังเวงไปอีกเนิ่นนาน.......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น