++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สามประสานแห่งเทพนคร กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลเทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์

            ตำบลเทพนครเป็น อบต.ขนาดเล็ก มีพื้นที่ประมาณ 172 ตารางกิโลเมตร มีทั้งหมด 22 หมู่บ้าน 6,324 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น  20,402 คน ถึงแม้ว่าจะเป็นตำบลขนาดเล็ก แต่สามารถจัดกลุ่มมวลชนได้มากมายหลายกลุ่มและหลายประเภท เช่น จัดกลุ่มอาชีพได้ 20 กลุ่ม  กลุ่มออมทรัพย์ มีถึง 22 กลุ่ม และกลุ่มแม่บ้าน จำนวนอีก 22 กลุ่ม ซึ่งทุกกลุ่มที่กล่าวมานั้น สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี

            จากการศึกษาข้อมูลของตำบลเทพนคร ไม่ว่าจะเป็น นายก อบต. คนก่อนหรือคนปัจจุบัน พบว่ามีทัศนคติที่ดีต่อการดูแลสุขภาพที่เหมือนกัน ซึ่งนำไปสู่การทำงานที่ต่อเนื่องของ อบต.เทพนครมาโดยตลอด นายก อบต.ได้มองเห็นศักยภาพและพลังของ อสม.ในการทำงาน จึงต้องการให้ อสม สามารถ "ยืนอยู่บนขาของตัวเอง นั่งคิดนั่งทำ" โดยที่มีงบประมาณสมทบจาก อบต.ยิ่งเป็นการส่งเสริมการทำงานของ อสม.ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
            โครงการต่างๆนั้น สามารถกล่าวว่า มาจากปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง กล่าวคือ มีการทำประชาคมและรับทราบปัญหาต่างๆที่จาก อสม.ซึ่งอยู่ใกล้ชิดประชาชน เช่น โครงการเกี่ยวกับสุขภาพ จำนวน 5 โครงการ คือ โครงการเฝ้าระวังไขมันในเลือดสูง , โครงการสุขภาพดีด้วยการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย , โครงการรวมพลังสร้างสุขภาพ หรือ อาสาร่วมใจกีฬาไทพื้นบ้าน , โครงการป้องกันโรคจำนวน 3 โครงการ เช่น ควบคุมโรคไข้เลือดออก , ควบคุมโรคระบาดโดยชุมชน หรือ จัดอาหารว่างสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โครงการเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพ 1 โครงการ คือ รถเข็นเพื่อผู้พิการ โครงการเกี่ยวกับการจัดซื้อบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ 2 โครงการ คือ การประกวด ศสมช.ดีเด่น และโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมโดย ศสมช.ทั้ง 22 แห่งของตำบลเทพนคร

            ความร่วมมือร่วมใจในการประสานงานกันจากสามประสาน คือ อสม. สถานีอนามัย และ อบต. สามารถประสานงานเป็นเนื้อเดียวกันได้เนื่องจาก มีการสื่อสารที่เข้าใจและมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ประชาชนที่มีสุขภาพดี

            ผู้นำอบต.ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมิน เน้นความสามัคคี ให้เกียรติ ยกย่อง ช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริมจุดแข็งแล้วลบจุดอ่อน ใช้ความถนัดและความสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี
            ทุกโครงการที่เกิดขึ้น ถือเป็นโครงการในความภาคภูมิใจของนายก อบต.เทพนคร  แต่ก็มีความเห็นบางภาคส่วน เช่น สถานีอนามัย และ อสม. ได้กล่าวถึงงานในโครงการที่พึงพอใจเป็นพิเศษ คือ "โครงการควบคุมไข้เลือดออก" โดยคุณโสภณ หัวหน้าสถานีอนามัยคณฑี ได้กล่าวไว้ว่า "4-5 ปีที่ผ่านมา ตำบลเทพนครมีไข้เลือดออกสูงมาก  มีคนป่วยเป็นไข้เลือดออก 3 คน เราดูแลสุขภาพไม่ค่อยดี พอมีโครงการไข้เลือดออก อสม. แบ่งละแวกช่วยกันดู ก็น้อยลงไปมาก"

            ขั้นตอนการทำงานของ อบต.เทพนครนั้น ก็เริ่มจากการรับความเห็นจากการทำประชาคม หรือการประชุมร่วมกับชาวบ้านทุกเดือนเพื่อรับฟังปัญหา แล้วมีศูนย์รวมข้อมูลของหมู่บ้าน ที่จัดทำโดย อสม. หลังจากนั้น อสม.ก็นำข้อมูลปัญหาเหล่านั้นมาเขียนเป็นโครงการ แล้วก็เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อเห็นชอบอนุมัติงบประมาณดังกล่าว

            ประธาน อสม. โซนมะกอกหวาน เคยกล่าวไว้ว่า "เมื่อก่อนทำงานตามคำสั่งของ สอ.บางโครงการได้คิด ได้ทำเอง โซนมะกอกหวานมีการแข่งขันด้วย ส่วนที่ไม่เข้าใจปรึกษาหัวหน้าสถานีอนามัย ก็ได้รับคำแนะนำ"
            นี่คือ การทำงานอย่างมีอิสระ นำปัญหามาคิด ทำงานตามข้อมูลเชิงประจักษ์ หาวิธีแก้ไขในแบบตามท้องถิ่นตน เมื่อชาวชุมชนรู้สึกมีความรู้สึกว่า เป็นเจ้าของงานนั้นๆ ก็จะเชื่อมโยงสู่หน่วยงานอื่นที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
            กล่าวสรุปอย่างสั้นๆ เพียงแค่นี้ อาจชวนให้เข้าใจผิดว่า อบต.เทพนคร ผ่านขั้นตอนการทำงานที่สั้นและง่าย

            แต่ความเป็นจริงไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะแต่ละส่วนงานจะต้องมีการประสาน จัดการ และจัดทำข้อมูลให้ไปในทิศทางเดียวกันก่อน เพื่อให้ได้งานที่เป้นไปตามวัตถุประสงค์เดียวกัน
            "สามประสาน" ที่เกิดจาก อสม. สถานีอนามัย และ อบต. ที่มองเห็นความสำคัญด้านสุขภาพเป็นหลัก และยึดหลักในการทำงานที่ว่า "ประชาชนคือ ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด" นั้น สามารถประสบผลสำเร็จได้ ด้วยการทำงานเป็นทีม มีเป้าหมายเดียวกัน และทุกส่วนร่วมกันในการประสานสัมพันธ์ส่งข้อมูลให้ทั่วถึง
            จะเป็นวิธีการใดก็ตาม สุดท้าย ก็นำหลักประกันสุขภาพที่ดีมาให้กับคนเทพนครได้อย่างมั่นคง

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
วราภรณ์ สัตยวงศ์
วพบ.พุทธชินราช

ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น