++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปฏิรูปประเทศไทย ปฎิรูปอะไร?

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง 12 กรกฎาคม 2553 15:14 น.
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่า จะต้องปฏิรูปประเทศไทย

แต่ที่อาจเห็นต่างกัน อยู่ที่ว่า จะปฏิรูปอะไร และปฏิรูปอย่างไร?

ยกตัวอย่าง น.ต.ประสงค์ สุ่นสิริ ก็มีความเห็นว่า “ถ้า จะปฏิรูป หลักใหญ่ก็จะต้องปฏิรูปนักการเมืองทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้เสียก่อน เพราะนักการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจ ดังนั้น จะต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะอำนาจรัฐที่มีโครงสร้างอยู่ในขณะนี้ มีอยู่ 7 กลุ่ม 1.ฝ่ายนิติบัญญัตติ 2.ฝ่ายบริหาร 3.ตัวแทนฝ่ายบริหาร บรรดาข้าราชการทั้งหลาย 4.ศาล 5.กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งทางสังคม ธุรกิจ เช่น นักวิชาการ นักธุรกิจ กลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจต่อรองในบางสิ่งบางอย่างกับฝ่ายอำนาจรัฐ 6.พรรคการเมือง 7.กลุ่มประชาชน ที่มอบอำนาจนักการเมืองโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง”

มุมมองของ น.ต.ประสงค์ น่าสนใจ...

แต่เรื่องเดียวกัน ก็อาจมองได้หลายมุม และอาจมองต่างมุม

จากมุมมองข้างต้น เป็นการมองปัญหาโดยมองไปที่ “กลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนที่ต้องปฏิรูป”

เหมือนล็อคพิกัดเอาไว้ก่อน แล้วค่อยเข้าไปดำเนินการปฏิรูปในแต่ละกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของแต่ละกลุ่ม ในทิศทางที่เหมาะสมต่อไป

จะมองอย่างนั้น ก็คงมองได้ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ นอกจากแต่ละกลุ่มข้างต้นจะมีปัญหาภายในของตัวเองโดดๆ แล้ว เมื่อแต่ละกลุ่มมาสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน ยังก่อให้เกิดสภาพปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่มีความซับซ้อน และฝังรากลึกยิ่งกว่า

ปัญหาบางเรื่อง แทบจะแยกไม่ได้ว่า เกิดขึ้นจากอะไรก่อน อะไรหลัง

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ปัญหาความยากจน ที่มีคนวิเคราะห์ว่า “โง่ จน เจ็บ” จะหมายความว่า เพราะโง่จึงจน เพราะจนจึงเจ็บ และเพราะจนจึงโง่และเจ็บ หรือทั้งโง่ทั้งจนทั้งเจ็บ ทั้งหมดเกิดจากคนกลุ่มใด ก่อน-หลังอย่างไร ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่แยกแยะให้ขาดจากกัน เป็นต้น

เพราะ ฉะนั้น อาจจะเกิดประโยชน์มากกว่า หากเราลองพิจารณาว่า สภาพที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย อันเกิดขึ้นมาจากความสัมพันธ์ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในประเทศนั้น คืออะไร? เกิดจากอะไร? เพื่อตั้งต้น นำไปสู่การแสวงหาคำตอบว่า จะดำเนินการปฏิรูปอย่างไร? ซึ่งก็จะนำไปสู่คำตอบในบั่นปลายว่า ใครต้องทำอะไร คนกลุ่มไหนจะต้องถูกปฏิรูป หรือมีส่วนร่วมในการปฏิรูปอย่างไร?

1) สภาพปัญหาใหญ่ประการหนึ่ง ที่ผมรู้สึกมานาน และขอจัดลำดับความสำคัญไว้อันดับต้นๆ คือ “ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย”

ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย

ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในเมืองกับคนต่างจังหวัด

มีความเหลื่อมล้ำทั้งเงินทอง ทรัพยากร อำนาจ ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และโอกาส ฯลฯ

สภาพ ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ นำมาซึ่งปัญหาการเมือง สังคม ความยากจน คุณภาพของคน และยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่หน่วงรั้งการพัฒนาประเทศมาหลายทศวรรษ

2) “ความเห็นแก่ตัวของคนในสังคม” เป็นสภาพสังคมที่เป็นปัญหาหนักหน่วง รุนแรงมากขึ้นทุกวัน

เมื่อต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัว กับผลประโยชน์ส่วนรวม คนจำนวนมากก็มักจะเลือกผลประโยชน์ส่วนตัวต้องมาก่อน

ทุกวันนี้ คนไทยจำนวนไม่น้อย ถึงกับแสดงออกถึงความเห็นแก่ตัวอย่างเปิดเผย โดยไม่รู้สึกอาย หรือเกรงใจสมาชิกคนอื่นๆ ในสังคม

มีการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่สนใจว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น หรือต่อส่วนรวม มีการช่วยเหลือพวกพ้องของตัว เพื่อหวังผล หวังส่วนแบ่งผลประโยชน์ หรือหวังสร้างบุญคุณกับพวกพ้อง โดยไม่สนใจว่าจะผิดหลักการ ผิดกฎหมาย หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อส่วนรวม

สิ่งเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่รู้สึกสะทกสะท้าน เพราะวิธีคิดของผุ้ที่อยู่ใน “ระบบอุปถัมภ์”

เกิดจากการที่คนไทย เชื่อว่า ตนจะประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ต้องหวังพึ่งผู้อุปถัมภ์ ที่จะช่วยค้ำชูให้ชีวิตดีขึ้น

ใน ความเป็นจริง… ระบบอุปถัมภ์ ก็คือ ระบบตอบแทนผลประโยชน์แก่กัน ระหว่างคนต่างสถานะ หรือผู้ที่มีอำนาจไม่เท่ากัน โดยยึดระบบตอบแทนบุญคุณ

เราจึงเห็น การช่วยคนโกง ช่วยคนผิด เพียงเพราะผู้อุปถัมภ์คนนั้น เป็นผู้มีพระคุณ

เราจึงพบ การช่วยพวกพ้องของตัวเอง เอาเปรียบคนอื่น เพียงเพราะคาดหวังว่า “วันนี้ เราช่วยพรรคพวก วันหน้า พรรคพวกก็จะช่วยเราตอบแทน”

เรายังเห็น วิธีคิดที่น่าตกใจในสังคมบางส่วน ที่คิดว่า “นักการเมืองจะโกงก็ได้ แต่ขอให้แบ่งด้วย”

ระบบอุปถัมภ์ เป็นระบบในการคุมคนที่มีประสิทธิภาพมาก และดำรงอยู่ได้อย่างแนบเนียนและฝังลึกในประเทศไทย

ผล ประโยชน์ส่วนรวมจึงสำคัญไม่เท่าผลประโยชน์ของพรรคพวก เพราะผลประโยชน์ของพรรคพวกจะเจือจานแบ่งปันมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว นี่เองที่ทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

3) การกระจายอำนาจมีปัญหา ไม่ใช่เพียงอำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง แต่เป็นเพราะอำนาจที่แท้จริงยังกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่ม “ผู้อุปถัมภ์”

ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นายทุน ข้าราชการระดับสูง ฯลฯ

ราชการส่วนภูมิภาค จะทำอะไรก็ต้องอ่านใจนายใหญ่ มากกว่าจะรับฟังความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เพราะระบบอุปถัมภ์ทำให้ความก้าวหน้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลงาน แต่ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้บังคับบัญชา

4) ระบบข่าวสารข้อมูลยังไม่สมดุล

โทรทัศน์ และวิทยุ ส่วนใหญ่ยังถูกควบคุมและกำหนดโดยกลุ่มผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น นักการเมืองและราชการผู้กุมอำนาจรัฐ นักธุรกิจผู้กุมอำนาจสัมปทาน หรือแม้แต่กลุ่มทุนที่ควบคุมผ่านการสนับสนุนรายการหรือโฆษณา

ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลข่าวสารที่ถูกส่งผ่านโทรทัศน์และวิทยุ จึงเป็นข้อมูลที่ผู้มีอำนาจต้องการจะให้สังคมรับรู้ เช่น การโฆษณามอมเมา การปกปิดบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ตามความต้องการของผู้มีอำนาจ ฯลฯ

มิใช่เสียงความต้องการของผู้ด้อยอำนาจ หรือเสียเปรียบในสังคม

แม้ปัจจุบัน จะมีสื่ออินเทอร์เน็ต ที่ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น ในรูปของสังคมสื่อสารออนไลน์ แต่การเข้าถึงดังกล่าวก็ยังจำกัดอยู่กับคนรุ่นใหม่ ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีระดับหนึ่ง

น่าเสียดาย ที่คนเราได้ความรู้ในโรงเรียนเพียง 20 ปีของชีวิต หรือน้อยกว่า 1 ใน 5 ของชีวิต สื่อจึงควรมีบทบาทที่สำคัญในการให้ความรู้และสาระเพื่อพัฒนาคนไทยให้รู้เท่า ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกของสังคม
เพียงแต่ติดปัญหาที่โครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อ ที่กระจุกตัวอยู่ภายใต้อำนาจของผู้มีอิทธิพลและผลประโยชน์ส่วนตัว

สภาพ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมดุล นอกจากจะทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมดำรงอยู่ต่อไปแล้ว ยังทำให้เกิดช่องว่าง ถูกใช้ก่อการเคลื่อนไหว บิดเบือนข้อมูล หลอกลวงประชาชน ปลุกปั่นปลุกระดม สร้างความแตกแยก นำไปสู่ความรุนแรงในสังคม

5) ระบบราชการ และวัฒนธรรมการทำงานของราชการ ก็ยังคงเป็นไปตามระบบอุปถัมภ์อย่างชัดเจน

ทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ทำงานเพื่อสนองนาย มากกว่ารับใช้ประชาชน

ยิ่งกว่านั้น ข้าราชการบางส่วนยังพร้อมจะกระทำผิด หากมั่นใจว่านายจะสามารถปกป้องดูแลตนเองได้ และแบ่งผลประโยชน์ให้ ไม่ว่าจะผ่านความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน

ระบบอุปถัมภ์ ทำให้ข้าราชการต้องวิ่งเข้าหานายเป็นผู้อุปถัมภ์

6) รัฐวิสาหกิจ อันเป็นสมบัติของสาธารณะ ก็ถูกใช้เป็นแหล่งผลประโยชน์ส่วนตัวของคนเฉพาะกลุ่ม

เสมือนเป็นโบนัส หรือเครื่องมือตบรางวัลให้แก่ลูกน้องหรือพรรคพวกในกลุ่มอุปถัมภ์ของนักการเมืองบางคน

การจะเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กร หรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น จึงเป็นเสมือนการ “ทุบหม้อข้าว” ของคนเหล่านี้ ที่ผ่านมา บางกรณี จึงถูกต่อต้านอย่างหนัก และตรงกันข้าม รัฐวิสาหกิจหลายแห่งกลับถูกนักการเมืองที่เข้ามามีอำนาจ ร่วมมือกับคนในกลุ่มอุปถัมภ์ของตน พยายามขายทรัพย์สินของแผ่นดินไปให้เอกชน เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพวกตน

7) โครงสร้างการเงินการคลังของประเทศ ก็เป็นอีกตัวการที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ระบบภาษีอากรที่เป็นรายได้หลักของรัฐบาลก็มาจากภาษีทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีสรรพาสามิตต่างๆ (เช่น ภาษีเหล้า บุหรี่ น้ำมัน ฯลฯ) ซึ่งผู้รับภาระที่แท้จริงคือผู้บริโภค และเมื่อพิจารณาบนฐานรายได้ของผู้บริโภคแล้ว จะพบว่า คนจนได้จ่ายภาษีในอัตราที่มากกว่าคนรวย

แม้แต่การจัดเก็บภาษีทางตรงจากรายได้ ประกอบด้วย เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าเช่า ดอกเบี้ย และกำไร ก็ยังเกิดความเกลื่อมล้ำ เพราะบรรดาลูกจ้าง ผู้มีรายได้แต่เฉพาะเงินเดือน และค่าจ้าง ก็จะถูกจัดเก็บไว้เต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว โดยหักไว้ ณ ที่จ่ายตั้งแต่ต้น ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ ในขณะที่บรรดานายทุนที่มีรายได้มากกว่า จากกำไร ค่าเช่า และดอกเบี้ย กลับสามารถหลบหลีก หลบเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้อย่างแยบยล

นอกจากนี้ การจัดสรรบประมาณแผ่นดินของรัฐ ก็จ่ายเป็นเงินเดือนข้าราชการไปกว่า 60% เหลืองบประมาณที่สามารถนำไปทำโครงการลงทุนพัฒนาประเทศไม่ถึงครึ่ง

ยิ่งกว่านั้น ระบบการเงินการธนาคารของไทย ก็ยังมีการกระจุกตัวของสินเชื่อ เพราะธนาคารทั้งหลาย ตั้งสำนักงานใหญ่ไว้ที่กรุงเทพฯ แม้จะเปิดสาขาตามจังหวัดต่างๆ จำนวนมาก แต่ก็มักจะเป็นการรับเงินฝาก มากกว่าจะปล่อยเงินกู้ เนื่องจากมีแรงจูงใจที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ในเขตกรุงเทพฯ และย่านธุรกิจอุตสาหกรรมรอบๆ มากกว่าจะปล่อยกู้ให้ประชาชนรายเล็กรายน้อย เพราะมีต้นทุนค่าดำเนินการหรือค่าโสหุ้ยต่ำกว่า ทำให้เงินไหลจากชนบทเข้ามากระจุดตัวอยู่ที่ส่วนกลาง

ทั้งหมด ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมมีมากขึ้น

8) ระบบและโครงสร้างราคาของสินค้า มีส่วนซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ

ราคาสินค้าเกษตรของเกษตรกรในชนบทถูกกำหนดจากราคาตลาดส่งออก ดังนั้น ราคาที่เกษตรกรจะได้รับ จึงเป็นราคาจากท่าส่งออก ที่กรุงเทพฯ หักลบด้วยค่าขนส่งที่ขนสินค้ามาจากเรือกส่วนไร่นา

ยิ่งเกษตรกรอยู่ไกลกรุงเทพฯ ก็ยิ่งถูกหักค่าขนส่งมาก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับมีราคาต่ำลง

ตรงกันข้าม เมื่อคนในชนบทจะบริโภคสินค้าอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะมาจากการนำเข้า หรือโรงงานที่ผลิตอยู่รอบกรุงเทพฯ ก็จะต้องจ่ายในราคาที่รวมค่าขนส่งเข้าไปด้วย

ยิ่งผู้บริโภคที่อยู่ไกลกรุงเทพฯ ก็ยิ่งต้องจ่ายค่าขนส่งซึ่งรวมอยู่ในราคาสินค้ามากขึ้น

ระบบและโครงสร้างราคาสินค้าที่เป็นเช่นนี้ ยิ่งสูบผลประโยชน์จากเกษตรกรในชนบท ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

9) ระบบการศึกษา ที่ไม่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจท้องถิ่นของตน แต่ผลักดันให้คนต้องเดินทางออกจากถิ่นฐาน ทำให้ชนบทสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพสูง

10) กระบวนการยุติธรรม ที่มีปัญหาตั้งแต่ต้นธารไปจนถึงปลายทาง

โดยเฉพาะตำรวจ และอัยการ ที่มีระบบอุปถัมภ์เข้มข้น เล่นพรรคเล่นพวกในระบบอุปถัมภ์ ความยุติธรรมจึงไม่เกิด

จึงมีภาษิตว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ซึ่งสะท้อนความจริงได้แจ่มแจ้งในระดับหนึ่ง

ทั้งหมดนี้ จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูป หากต้องการจะปฏิรูปประเทศไทยอย่างแท้จริง
ทั้งหมดนี้ คงไม่สามารถปฏิรูปได้ภายใน 3 ปี หรือประมาณ 999 วัน ตามเงื่อนเวลาการทำงานที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ และสมัชชาฯ ที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน มีกรอบกำหนดเอาไว้

แต่ เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็น จะทำสำเร็จไปได้น้อยแค่ไหน ก็ต้องยืนยันว่า การทำงานเพื่อปฏิรูปประเทศไทย เป็นสิ่งจำเป็น และควรได้รับการสนับสนุน

เป็นห่วงก็แต่เพียงว่า การประสานและการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดข้างต้นนั้น จะมีวิธีการทำงาน มีกลไก หรือมีอะไรเป็นเครื่องมือประสาน เพื่อให้เกิดผลในทางการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

คนเป็นรัฐบาลนั้น มาแล้วก็ไป... แต่ “การปฏิรูปประเทศ” ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเป็น “กระบวนการ” ต้องทำตลอดเวลา และทำต่อไปเรื่อยๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น