++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปฏิบัติการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียม

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 12 กรกฎาคม 2553 16:05 น.
ความคับแค้นใจจากความไม่เป็นธรรม การถูกเอารัดเอาเปรียบจากคอร์รัปชัน
การถูกเลือกปฏิบัติจากระบอบอุปถัมภ์สองมาตรฐาน
และขาดแคลนโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุปัจจัยที่ทำ
ให้ประเทศไทยเข้าสู่โหมดวิกฤตการณ์ทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม
ได้นำไปสู่การลุกขึ้นสู้เรียกร้องหลายหลากรูปแบบของเสื้อหลากหลายสีนับแต่
สันติวิธีถึงจลาจลรุนแรงเพื่อหวังลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสร้างความเท่า
เทียมทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ แม้นภาคประชาชนและประชาสังคมจักมุ่งมั่นปฏิวัติความอยุติธรรมต่างๆ
ที่ธำรงอยู่คู่สังคมไทยมาช้านานด้วยพละกำลังเรี่ยวแรงทั้งหมดทั้งมวลที่มี
หากทว่าท้ายที่สุดแล้วถ้าภาคการเมืองทั้งแบบไม่เป็นทางการและแบบทางการที่
เป็นตัวแทนของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไม่มีเจตจำนงที่จะสร้างความเท่าทียม
ด้านสิทธิและเสรีภาพให้เกิดขึ้นจริงในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
'สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา' เสียแล้ว
ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าทียมเป็นธรรมก็จะยังคงตามหลอกหลอนผู้คนในสังคมไทย
โดยเฉพาะในหมู่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม

ด้วยปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงการศึกษาที่เป็นสิทธิและเสรีภาพตาม
หลักการสิทธิมนุษยชนสากลและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา
49 ที่กำหนดว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่
รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
ผู้ยากไร้หรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก
ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดย
ทัดเทียมกับบุคคลอื่น
จะทำให้กลุ่มคนชายขอบที่เป็นเหยื่อของความไม่เท่าเทียมเป็นธรรมทารุณกรรม
ซ้ำๆ ซากๆ สามารถเข้าถึงพื้นที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจในฐานะ
ที่ตนเองเป็นฟันเฟืองหนึ่งของความเจริญ

ดัง นั้น การเปิดโอกาสแก่ทุกคนให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง
โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ด้อยโอกาสในชีวิตอันเนื่องมาจากถูกจัดเป็นกลุ่มคนชายขอบ
ของการพัฒนารวมศูนย์ตามแหล่งพักพิงอาศัยที่อยู่บริเวณชายขอบของประเทศไทย
จึงหมายถึงการสร้างโอกาสทางการศึกษาของบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียน
ราษฎร์หรือไม่มีสัญชาติไทย
โดยขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์หรือไม่มี
สัญชาติไทย ซึ่งเดิมเคยจำกัดไว้ให้เฉพาะบางกลุ่ม บางระดับการศึกษา
มาเป็นเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศสามารถเข้าเรียน ได้
โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา
ยกเว้นกลุ่มที่หลบหนีภัยจากการสู้รบที่จัดให้เรียนได้ในพื้นที่

ดัง 'โครงการนักเรียนบ้านไกล' ขององค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่
อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่ถึงจะเป็นปรากฏการณ์เล็กๆ
แต่ก็ยิ่งใหญ่ในปฏิบัติการสร้างเสริมสิทธิและเสรีภาพทางการศึกษาของกลุ่มคน
ชายขอบของสังคมไทย ด้วยไม่เพียงคืนชีวิตทางการศึกษาของ 'สุนีย์
กิจก้องพนา' เด็กสาวชาวปกากะญอ บ้านสะเนพ่อง หมู่บ้านปกากะญอ
ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
นักเรียนรุ่นแรกของโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2550
ด้วยการให้เธอได้เข้ามาเรียนในโรงเรียนอุดมสิทธิ์ศึกษา จ.กาญจนบุรี
เท่านั้น ทว่ายังนำพาความฝันงดงามมาสู่หัวใจน้อยๆ
โดยการถากถางทางเส้นทางการเป็นครูที่จะได้นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาสอนน้องๆ
ที่หมู่บ้าน

โอกาสที่สุนีย์เด็กสาวชาวปกากะญอได้รับตลอดเวลากว่า 3
ปีนับแต่เข้าร่วมโครงการนักเรียนไกลบ้านนับเป็นปฏิบัติการการเข้าถึงสิทธิ
และเสรีภาพทางการศึกษาที่เด็กชาวปกากะญอคนอื่นๆ ยากจะได้รับ
ด้วยที่ผ่านมาเด็กส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้ามาเรียนในเมืองเพราะเดินทางลำบาก
ฐานะทางบ้านยากจน ครั้นจะเรียนในหมู่บ้านก็ไม่มีโรงเรียน นานๆ
จะมีผู้ใหญ่ใจดีที่เป็นตำรวจตะเวนชายแดนเข้ามาสอนหนังสือบ้าง
แต่ก็ไม่ต่อเนื่อง อยู่ได้ไม่นานก็ไป

ในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาตามสิทธิและเสรีภาพที่หลักการต่างๆ
วางไว้เช่นนี้ได้ทำให้สุนีย์มีโอกาสเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แล้ว
ผลการเรียนก็อยู่ในเกณฑ์ดี
และมีความพยายามจะเดินไปให้ถึงฝั่งฝันด้วยการขวนขวายหาทางเรียนให้ถึงระดับ
ปริญญาตรีเพื่อกลับไปเป็นครูที่หมู่บ้านเพราะผ่านประสบการณ์รวดร้าวมาแล้ว
จากการที่ไม่มีครูเข้าไปสอนหนังสือในหมู่บ้าน

ทั้งๆ ที่แรกเริ่มเมื่อเข้าสู่รั้วโรงเรียนสุนีย์พูดภาษาไทยไม่ชัด
เรียนไม่ทันเพื่อน ถึงขนาดร้องไห้อายเพื่อนและคิดถึงบ้าน
หากทว่าท้ายสุดก็ได้กำลังใจจากปลัด อบต. เพื่อนๆ นักเรียน และ
ผอ.โรงเรียนอุดมสิทธิ์ศึกษาที่ให้โอกาสเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ได้โดยไม่ต้องผ่านการสอบเข้า
รวมถึงความตั้งใจที่จะนำความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาหมู่บ้าน
ก็ทำให้กลับมาตั้งใจ ขยันหมั่นเพียร
จนสามารถผ่านพ้นขวากหนามแหลมคมจากภาษาและวิถีชีวิตเมืองที่แตกต่าง

ความทุรกันดารขาดระบบขนส่ง ต้องเดินเท้าหลายวัน
การไร้โรงเรียนที่บ้านเกิด และการขาดแคลนครูอาสา
ที่เคยเป็นอุปสรรคขวากหนามของเด็กชายขอบแผนที่ประเทศไทยที่พังทลายลงจากการ
ดำเนินโครงการไกลบ้านที่มีเจตจำนงทางการเมือง (Political will)
ของนักการปกครองท้องถิ่น 'สถาปนา ธรรมโมรา' ปลัด อบต.ไล่โว่
ได้ผลักดันให้ปฏิบัติการเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพทางการศึกษาสำหรับเด็กชาวปกา
กะญอเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ
โดยการให้ทุนการศึกษาและที่พักฟรีแก่เด็กชาวปกากะญอที่ต้องการเรียนหนังสือ
ในเมืองสังขละบุรีอีก 22 คนจาก 6 หมู่บ้าน คือ บ้านสะเน่พ่อง
บ้านกองม่องทะ บ้านเกาะสะเดิ่ง บ้านไล่โว่-ซาละวะ บ้านทิไล่ป้า
และบ้านจะแก ให้มาพักอาศัยที่ศูนย์ อบต.ไล่โว่ โดยมีปลัด อบต.
และครูใจดีอีกหนึ่งคนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

โดยศูนย์
อบต.นอกจากถูกใช้เป็นที่พักอาศัยของเด็กนักเรียนชาวปกากะญอผู้ที่ไม่เคยเข้า
ถึงการศึกษาเพราะหมู่บ้านอยู่ในหุบเขาลึกใกล้ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านพม่า
แล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีและมีความรับผิดชอบต่อส่วน
รวมด้วย โดยเด็กนักเรียนทุกคนต้องตื่นเช้า ไม่เล่นพนัน ไม่ทะเลาะ
และช่วยเหลือแบ่งเบาภาระหน้าที่กัน
นอกเหนือจากทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายไว้ เช่น ทำกับข้าว
ทำความสะอาดบ้าน ปลูกต้นไม้

ในขณะที่พื้นที่ด้านข้างของศูนย์ อบต.ก็จะทำบ้านดิน
และศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมชนเผ่าปกากะญอที่รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์
วัฒนธรรม ภาษาพูดและภาษาเขียนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
เรื่องราวความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติที่มีผลต่อโลกทัศน์และชี
วทัศน์ พิธีกรรมและประเพณีที่ชนเผ่านี้นับถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
และที่สำคัญนำเสนอความผูกพันของชาวปกากะญอกับ 'ข้าว
'ที่ทั้งคู่หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน โดยถ่ายทอดผ่านวิถีการทำไร่ข้าว
ที่ในทุกขั้นตอนจะมีพิธีกรรมที่แสดงความนอบน้อมธรรมชาติ
และการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็น 'แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต'
ที่จะเปิดพื้นที่แห่งความเข้าใจให้แก่คนข้างนอกที่อยู่ในสังคมแบบศูนย์กลาง
ได้รู้จักวิถีชีวิตชาวชายขอบที่แตกต่าง
ก่อนจะนำมาซึ่งการเคารพในความแตกต่างของกันและกันทางอัตลักษณ์

โอกาส ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ถูกลิดรอนหรือลดทอนจากการเข้าไม่ถึงสิทธิและ
เสรีภาพทางการศึกษาภายใต้ระบอบทุนนิยมสุดโต่งที่วัดคุณค่าของคนด้วยเงินและ
ใบปริญญา ได้ผลักดันเด็กด้อยโอกาสกลุ่มนี้ให้กลายเป็นชายขอบของสังคมขึ้นเรื่อยๆ
เพราะขาดแคลนทั้งเงินและการศึกษา อย่าว่าแต่จะใบปริญญาเลย
แค่การศึกษาขั้นพื้นฐานสิบสองปีตามที่รัฐธรรมนูญรับประกันไว้ก็ยากจะเป็นไป
ได้ในทางปฏิบัติแล้ว
แม้นเด็กชาวปกากะญอหลายคนจะขวนขวายพากเพียรถึงที่สุดเพื่อให้ได้เรียน
แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดเพราะต้องทำหางานหาเงินเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน
จนต้องเลิกเรียนกลางคัน
ขณะเด็กบางคนก็เปลี่ยนวิถีชีวิตไปเป็นเด็กเมืองที่ไร้พ่อแม่ดูแล

สิทธิ การศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียมแก่กลุ่มคนชายขอบของสังคมจึงไม่ได้หมายถึง
การได้ใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียน 12 ปีตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองหรือนาน 15
ปีตามที่รัฐบาลให้สัญญาประชาคม
เพราะถ่องแท้แล้วคือปฏิบัติการของการคืนพื้นที่และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพ
ชีวิตที่สอดคล้องกับชุมชนและสังคมพหุวัฒธรรม
ที่จะทำให้พวกเขาไม่ถูกกดขี่ขูดรีดในฐานะฟันเฟืองราคาถูกจากการศึกษาและ
พัฒนากระแสหลัก

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ww.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น