++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชน 5 ภาค ปักหมุดขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เครือข่ายขบวนเศรษฐกิจและทุนชุมชน ร่วมสานพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่การปฏิรูปประเทศด้วยทุนชุมชนในทุกภาคส่วน นำพาชีวิต ชุมชน ท้องถิ่น สังคม ไปสู่ความสันติสุขอย่างมั่นคงและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2553 ขบวนเศรษฐกิจและชุนชุมชน 5 ภาค คณะประสานงานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน จัดงานการสัมมนาเชิงวิชาการ “ทุนชุมชนกับการขับเคลื่อนประเทศไทย” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จังหวัดนนทบุรี โดยมีคณะประสานงานเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชน คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้าร่วมงานครั้งนี้ประมาณ 650 คน

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าว ว่า ขบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชนของขบวนองค์กรชุมชนทั้ง 5 ภาค ได้ดำเนินการมาในระยะหนึ่งจนเกิดพื้นที่รูปธรรมทั่วทั้งประเทศ และจากการได้ลองผิดลองถูกจากประสบการณ์จริง ทำให้ขบวนองค์กรชุมชนเกิดความแข็งแกร่ง เข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ สามารถสร้างปัจจัยเกื้อหนุนขยายผลไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ โยงใยเป็นเครือข่ายประสานความร่วมมือชุมชนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการประสานงานร่วมกับภาคีต่างๆ

สำหรับการจัดเวทีสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วทั้งประเทศได้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ เชื่อมโยง เศรษฐกิจและทุนชุมชน ให้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย ปฎิรูปสังคมไทย

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสา กล่าวปาฐกถาในงานทุนชุมชนกับการขับเคลื่อนประเทศไทยว่า เราอยู่ในยุควิกฤตเกิดขึ้นในประเทศไทย ประเทศเกิดวิกฤติ ชีวิตของผู้คนสับสน คำถามคือแล้วชุมชนจะขับเคลื่อนกันอย่างไร แท้ที่จริงชุมชนเป็นฐานรากที่สำคัญของสังคมกระจายอยู่ทั่วประเทศ อยู่รวมกัน มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกันเรียกว่าชุมชน หมู่บ้าน ตำบล เขตเทศบาล เมือง บางแห่งเกิดความใกล้ชิดแน่นแฟ้น

ชุมชนคือ ฐานรากของสังคม เมื่อสังคมเกิดวิกฤต จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้ชุมชนและสังคมเกิดความคลี่คลายให้ชีวิตดีมีความก้าว หน้า นำไปสู่ความมั่นคง ความสันติสุข หลายคนบอกว่าวิกฤตคือโอกาส ใช้ปัญหาสร้างปัญญา ถ้ายอมแพ้ ยอมท้อถอยให้กับวิกฤตก็ตกเป็นเบี้ยล่าง ชุมชนต้องรวบรวมพลังลุกขึ้นสู้ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า ทุน ที่เกิดจากทุนคน ทุนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและทุนเงินตรา ซึ่งปัจจุบันมีชุมชนหลายแห่งสามารถสร้างทุนชุมชนหมุนเวียนภายในชุมชนนับสิบ ล้านร้อยล้านบาท

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา

นายไพบูลย์ ยังได้จำแนกทุนออกเป็น 5 ประเภทด้วยกัน คือ ประเภทแรก ทุนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า อากาศ ที่มีรอบๆ ตัวเรา มีทั้งทุนที่ดีและเสื่อมโทรม จึงจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนในการจัดการให้เอื้อประโยชน์ สร้างเสริมให้เจริญงอกงาม ส่วนที่เสื่อมโทรมก็ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ประเภทที่สอง ทุนมนุษย์และครอบครัว ซึ่งทุกคนล้วนมีความดีอยู่ในตัวไม่มากก็น้อย ไม่มีใครที่ไม่มีความดีในตัว หากค้นหาสิ่งที่ดีจะพบทุกคน ครอบครัวเป็นหน่วยย่อยของสังคมที่มีความสำคัญสูง ที่มั่นคง อบอุ่น เป็นฐานที่ดีให้กับชีวิตและสังคม

ประเภทที่สาม ทุนสังคมและวัฒนธรรม คือ การรวมตัวกันสานความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การรวมตัวกันเหนียวแน่น เป็นทุนทางสังคมที่สูง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่หนึ่งๆ มีความเจริญก้าวหน้าคือมีทุนทางสังคม ที่ไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่แบ่งฝ่าย มีการรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงเป็นพลัง ผลักดันให้พื้นที่เกิดความเจริญก้าวหน้า ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ประการที่สี่ ทุนเศรษฐกิจและการเงิน ทุนประเภทนี้มีความสำคัญ และเป็นทุนที่คุ้นชินมากที่สุด เช่น กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารชุมชน สถาบันการเงินชุมชน ธนาคารหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้าน หากทั้งหมดสามารถมารวมตัวกันเป็นเครือข่ายกันทั้งระดับตำบล จังหวัด และระดับประเทศ ทุนทางการเงินจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนพื้นที่ ชุมชน ประเทศ มีความเจริญประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนทุนทางเศรษฐกิจ เช่น วิสาหกิจชุมชน ทุนที่เรารวมกันเพื่อจัดสวัสดิการ ที่ใช้เงินเป็นเครื่องมือโดยการออมเงินวันละ 1 บาท แล้วนำมาทำบุญร่วมกัน

ประเภทสุดท้าย ทุนการเมืองและการปกครอง ประเทศไทยมีการพัฒนาการเมืองการปกครองมานานนับ 78 ปี ประชาธิปไตยระบบการเมืองแม้จะพัฒนามามากพอสมควร แต่จัดอยู่ในประเภทไม่ค่อยแข็งแรง ยังอ่อนแอ อ่อนด้อย จนเกิดเป็นวิกฤตขึ้นในปัจจุบัน ทุนการเมืองและการปกครอง เป็นส่วนที่สำคัญไม่น้อย หรือไม่ก็มากกว่าทุน 4 ประเภทที่เรากล่าวถึง หากทุนการเมืองและการปกครองดีตั้งแต่ระดับชุมชน จังหวัด และรับประเทศ จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนอย่างยิ่งให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย

นาย ไพบูลย์ กล่าวย้ำว่า น่าเสียดายที่ประเทศไทยมีพัฒนาการทางการเมืองการปกครองยังไม่ค่อยดี ดังนั้นเป็นโอกาสอันดีที่ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยให้ดี ขึ้น เกิดการเกื้อกูลกันและกันโดยเริ่มจากตัวเราเอง ขยับเป็นชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติ เชื่อว่าเราทำได้และเป็นสิ่งที่ควรทำ และอาจจะใช้คำว่ารีบทำด้วยซ้ำไป

วิกฤตที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหา คือ ระบบการเมืองการปกครอง ระบบการกระจายอำนาจเป็นการปฏิรูปทุนการเมืองการปกครอง ซึ่งมีความสำคัญมาก ดังนั้นการขับเคลื่อนตัวเอง ขับเคลื่อนชุมชน ขับเคลื่อนประเทศ ให้คลี่คลายจากวิกฤตไปสู่เส้นทางที่มีความมั่นคง ก้าวหน้ากว่า มีสันติสุขมากกว่า หลายแห่งได้เริ่มแล้วและต้องทำต่อไปโยงใยทุนทางสังคม

การขับเคลื่อนทุนชุมชนทำคนเดียวไม่ได้จึงจำเป็นต้องมีภาคีมีเพื่อนมา ร่วมกันทำ เพื่อให้เกิดความคิดหลากหลายทั้ง อปท. อบต. เทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน เช่น พอช. สกว. สสส.รวมเป็นเครือข่ายพันธมิตร จนเกิดพัฒนาการอย่างก้าวไกล

นาย ไพบูลย์ มีข้อเสนอในตอนท้าย ว่า หากจะให้การปฎิรูปประเทศไทยด้วยทุนชุมชน ควรให้แต่ละจังหวัดมีเครือข่ายพันธมิตร หรือเครือข่ายพหุภาคี ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดในทุกๆ ด้าน โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลักและประสานภาคีความร่วมมือ จนเป็นการสร้างฐานรากของประเทศ นำไปสู่การพัฒนาทุน พัฒนาการสถาบันการเงินชุมชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ

ระดมสมองฟื้นฟูทุนชุมชนเปลี่ยนแปลงประเทศ

นายประทีป คัมภีทัศน์ ประคณะกรรมการบริหารสถาบันการเงินชุมชนตำบลสี่คลอง กล่าว ว่า สำหรับการจัดการทุนภายในเพื่อการบริหารจัดการที่ดีนั้น สิ่งที่ได้เห็นคือ เรื่องการประชุมที่ต่อเนื่อง และการรายงานความก้าวหน้าถึงผลการดำเนินงาน มีการสื่อสารให้กับคนในท้องถิ่น การเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย เชื่อมโยงระบบทุนภายนอกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทุนภายใน มีระบบการประกันความเสี่ยงภายใน หลักการสร้างชุมชนเข้มแข็งต้องเข้มแข็งทางความคิด ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องเสียสละ สามัคคี รู้เท่าทันสถานการณ์

นายบุญศรี จันทร์ชัย คณะอนุกรรมการเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคตะวันออก กล่าวว่า การเชื่อมโยงทุนภายในเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภาคประชาชนเน้นเรื่องกระบวนการทำงานแบบรวมกลุ่ม เชื่อมโยงภาคีเป็นเครือข่าย เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้คือ ปลดหนี้ภาคประชาชน เช่น ที่ตำบลดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ที่มีการจัดการทุนชุมชนอย่างเป็นระบบ รณรงค์ให้คนมีระเบียบวินัยและการมีส่วนร่วมจากภาคีสนับสนุนที่เป็นไปตามระบบ กฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ ปัจจุบันตำบลดงขี้เหล็ก มีการปลดหนี้ให้กับชุมชนไปแล้ว 37 ราย จำนวนเงินประมาณ 1,300,000 บาท

สำหรับทิศทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาทุนชุมชนท้องถิ่นที่ผ่าน มา ชุมชนได้มีการขยายข้อมูลเพื่อให้เห็นข้อมูลร่วมกัน องค์กรชุมชนมีการจัดการทุชชุมชนตามหลักธรรมาภิบาล จนเป็นพลังทางสังคม และมีพื้นที่ปฎิบัติการ โดยชุมชนเป็นแกนหลัก พร้อมทั้งยกระดับ เชื่อมโยงทุนทุกประเภทที่เป็นฐานงานพัฒนา เพื่อสร้างการยอมรับจนเกิดเป็นทิศทางใหม่โดยความร่วมมือระหว่างชุมชน ท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐบาล

รายงานโดย …...ประพันธ์ สีดำ / ดวงมณี เครื่องร้อน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น