"ปัญหาประชาชน" เป็นปัญหาที่ "หมักหมม-สะสม"
มายาวนานนับได้หลายทศวรรษ ซึ่งแต่ละรัฐบาลเพียรพยายามให้ความสนใจ
พร้อมทั้งกำหนด "นโยบาย-แนวทาง"
ในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของประชาชนทุกรัฐบาล ไม่ว่า
"ปัญหาปากท้อง-ปัญหาหนี้สิน-ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร-ปัญหาภัยแล้ง/น้ำท่วม-ปัญหาสาธารณสุข"
ซึ่งเป็นปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ตกอยู่ "สภาวะปัญหาสังคม-เศรษฐกิจ
(Socio-Economic)" ที่นโยบายของทั้งรัฐบาลและพรรคการเมืองทุกครั้ง
ต่างชูนโยบายและแนวทางในการแก้ไขปัญหาประชาชน แต่ทุกครั้งมักเป็นเพียง
"ลมปาก!"
"การรณรงค์หาเสียง" ด้วย "การชูนโยบาย" มักมุ่งเน้นไปที่
"ปัญหาประชาชน" ยิ่งปัจจุบันจะมุ่งเน้นไปที่ "นโยบายประชานิยม"
ที่ประชาชนได้ยินได้ฟังแล้วรู้สึกว่า "สัมผัสได้-แตะต้องได้!" หรือ
"รูปธรรม" ซึ่งมักจะเป็นปัญหาใกล้ตัวกับประชาชนที่ต้องประสบพบเจอทุกเมื่อเชื่อวัน
ทั้งนี้ "นโยบายประชานิยม" ก็ยังเป็นเพียง "นโยบายนามธรรม"
ที่อาจสัมผัสได้และได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไม่ช้าก็เร็ว
แต่ด้วยความเป็นจริงแล้ว มักไม่ได้มีการประเมินผลแต่ประการใดอย่างจริงๆ
จังๆ ซึ่งประเด็นสำคัญคือ "การประเมินผล-วัดผล"
ว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
ดัง ที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า "ปัญหาประชาชน"
มักพุ่งเป้าไปที่ปัญหาของประชาชนที่เป็นประชาชนที่ทำมาหากินอยู่ในระดับ
เกษตรกรรม และระดับแรงงานภาคอุตสาหกรรม
ทั้งในต่างจังหวัดและระดับชุมชนในเมืองขนาดใหญ่ โดยขอย้ำว่าเป็นเพียง
"ประชาชนธรรมดาสามัญ"
แต่ยังมีกลุ่ม ประชากรอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ยังไม่ได้รับการเหลียวแล
ดูแลอย่างจริงจังมากมายนัก ซึ่งก็คือ "พระสงฆ์"
ที่มีจำนวนเกือบสองแสนกว่ารูปที่กระจัดกระจายอยู่ตามวัดวาอารามอยู่ทั่วทั้ง
ประเทศ
"พระ" จริงๆ แล้ว
ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาที่เดินเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
บวชเรียนวิถีทางแห่ง "พระพุทธศาสนา"
ที่ต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติธรรมตามกฎเกณฑ์ของปริยัติธรรม ด้วยศีล 227
ข้อ นอกเหนือจากการที่ต้องโกนศีรษะ โกนคิ้ว นุ่งเหลืองห่มเหลือง
พร้อมทั้งต้องจำศีลภาวนา ประพฤติอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวด
นอกเหนือจากนั้นแล้ว ยังต้องประพฤติปฏิบัติตนอยู่ใน
"กรอบศีลธรรม" อันดีงาม ให้เป็นที่เลื่อมใสของสาธารณชน
สามารถกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจและด้วยความเคารพนับถือ
จำนวนพระสงฆ์ที่มีมากถึงสองแสนกว่ารูป
ต้องได้รับการบำรุงดูแลรักษาจากภาครัฐ ไม่ว่า สถานที่พำนักอาศัยคือ "วัด"
ตลอดจนเมื่อบาดเจ็บป่วยไข้หรือ "อาพาธ"
ก็ต้องได้รับการรักษาพยาบาลจากภาครัฐเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน พระสงฆ์ที่จำวัดอยู่ตามชนบทในประเทศไทย
หรือแม้กระทั่งในเมืองขนาดใหญ่ และกรุงเทพมหานคร
เวลาป่วยอาพาธจะเข้ารับการพยาบาลบำบัดรักษาตามโรงพยาบาลท้องถิ่นในระดับ
อำเภอและในจังหวัดของตนเท่านั้น
ซึ่งแน่นอนต้องร่วมบำบัดรักษาปะปนไปกับประชาชนทั่วไป
จนถึงขั้นแออัดปนเปกับคนไข้คฤหัสถ์ที่มีจำนวนมากเช่นเดียวกัน
และที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ "การขาดแคลน"
ทั้งหมอและเตียงกับห้องไม่เพียงพอ จนในที่สุดแล้ว ถ้าเป็นกรณีที่รุนแรง
ก็จะต้องเดินทางมาเข้าบำบัดพยาบาลรักษาในโรงพยาบาลสงฆ์ในกรุงเทพฯ
ซึ่งก็ประสบปัญหาในกรณีที่พักก่อนเข้าโรงพยาบาล
ตลอดจนค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ อาทิ ค่าอาหาร และการพาหนะ
ตลอดจนต้องรบกวนพึ่งพาหาพระเถระผู้ใหญ่ให้การรับรองเข้าพยาบาล เป็นต้น
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า
พระสงฆ์จำนวนสองแสนกว่ารูปที่อย่างน้อยที่สุดต้องมีพระสงฆ์ป่วยอาพาธตาม
อัตภาพอย่างต่ำร้อยละ 20-30 ตลอดทั้งปี
ซึ่งต้องได้รับการรักษาพยาบาลทั้งในจังหวัดตนเอง
และถ้าเป็นกรณีสำคัญต้องเดินทางเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ในกรุงเทพฯ
และ ที่สำคัญมากไปกว่านั้น "ปัญหาพระสงฆ์อาพาธ"
ก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลอาจนึกไม่ถึง ไม่ได้ให้น้ำหนักสนใจมากนัก
ปัญหาดังกล่าวจึงอาจไม่ได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจัง
หรือแม้กระทั่งการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐมาปรับปรุงแก้ไขให้ได้รับการพัฒนา
ดีกว่าเดิม
พระสงฆ์จำนวนประมาณร้อยละ 70
ของจำนวนสองแสนกว่ารูปจะเป็นพระสงฆ์ที่จำวัดอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ
ในภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และมักเป็นพระสงฆ์ที่อัตคัดแทบทุกกรณี
ทั้งนี้เราลองจินตนาการนึกดูว่า "การขาดแคลน"
สารพัดปัจจัยของพระสงฆ์ที่พำนักอยู่ตามวัดต่างจังหวัด
แล้วจะต้องมาล้มป่วย "อาพาธ" เข้าให้อีก น่าจะเดือดร้อนลำเข็ญเพียงใด
ประกอบกับต้องประพฤติอยู่ในศีลในธรรมตาม "หลักปริยัติธรรม"
และกฎเกณฑ์ต่างๆ ของวัดและมหาเถรสมาคม
ที่น่าจะซ้ำร้ายไปมากกว่านั้น คือ
การให้ความสนใจแก่ปัญหาของพระสงฆ์จากภาครัฐทั้งในระดับชาติ
ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นในปริมาณที่น้อย
แต่เป็นเพียงการดูแลตามงบประมาณของรัฐที่มีการจัดสรรให้ในจำนวนงบประมาณที่
น้อยมาก ดังนั้น "การพึ่งพาตนเอง" ตาม "ระบบการบริจาค"
ที่ไม่เพียงพอจึงเป็นกรณีสำคัญที่ทำให้มีการรณรงค์จากภาคส่วนต่างๆ
โดยเฉพาะ "ภาคประชาชนระดับท้องถิ่น" ที่ต้องยื่นมือเข้ามาดูแล
กรณีที่ขาดแคลนมากที่สุด คือ "โรงพยาบาล" โดย
เฉพาะพระสงฆ์ในภาคอีสาน ซึ่งมีพระสงฆ์จำนวนมากสูงถึงร้อยละ 70
ชาวบ้านและพระสงฆ์จึงประสงค์ที่จะให้มีการสร้างโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้นในภาคตะวัน
ออกเฉียงเหนือ เพื่อขจัดขั้นตอนต่างๆ
ในการบำบัดรักษาอาการอาพาธของพระสงฆ์
และเพื่อแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลท้องถิ่นในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของพระสงฆ์และ
ประชาชนด้วย
ทั้งนี้
ปัญหาการขาดแคลนสถานที่รักษาพยาบาลยังคงตกอยู่ในสภาวะวิกฤตอยู่มาก
ความพยายามจากหลายหน่วยงาน ยังอาจไม่ตอบสนองได้อย่างเต็มที่
เนื่องด้วยไม่ได้ให้ความสนใจในภาคพระสงฆ์มากเท่าใดนัก
งบประมาณจึงไม่ได้ถูกนำมาทุ่มเทให้กับการรักษาพยาบาลพระสงฆ์มากมายนัก
จึงยังขาดแคลนอยู่มาก
สมเด็จพระบรมโอรสา ธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการ "รวมน้ำใจอุปถัมภ์บำรุงโรงพยาบาล 50
พรรษา มหาวชิราลงกรณ" เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลเฉลิมพระชนม์
50 พรรษา ในปี 2545 พร้อมกับพระราชทานนามโรงพยาบาลนี้ว่า "โรงพยาบาล 50
พรรษา มหาวชิราลงกรณ" และได้เสด็จฯ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ
พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาไปทรงวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลดังกล่าวนี้ที่บ้านปลาดุก
หมู่ 3 ตำบลไร่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 23
พฤษภาคม 2545 และในวันที่ 18 สิงหาคม 2551 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์
พระวรชายาฯ ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม
ปัญหาในการบำรุงและบริหารโรงพยาบาลซึ่งยังคงขาดงบประมาณจำนวนมากในการ
อุปถัมภ์ ดังนั้น "มูลนิธิโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ และโรงพยาบาล
50 พรรษาฯ" ปัจจุบันได้จัดทำโครงการรายการพิเศษ
"รวมใจอุปถัมภ์บำรุงโรงพยาบาล 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ"
ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2553 ในเวลา 22.00-24.00 น. ณ
สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ หรือ "ช่อง NBT : ช่อง
11"
โครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้ หนึ่ง
โครงการสร้างโรงพยาบาลบนพื้นที่ 71 ไร่ เป็นโรงพยาบาลขนาด 500 เตียง
เพื่อดูแลสุขภาพพระภิกษุ สามเณร และประชาชนในภาคอีสาน 39 จังหวัด
พร้อมทั้งเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในชนบทด้วย
โดยจำต้องใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 700 กว่าล้านบาท สอง
โครงการจัดสร้างสถานพำนักพักฟื้นเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษาฯ บนพื้นที่ 34
ไร่ เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และประชาชนทั่วไป
โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 60 ล้านบาท
และสาม เป็นโครงการจัดสร้างสถาบันวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลอดุลยเดช มีพระชนมายุครบ 80 พรรษา และ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม
2554 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์ไม้สมุนไพรที่หายาก
และสมุนไพรต่างๆ
ที่จะใช้เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทยเพื่อบำบัดโรค
โดยจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 425 ล้านบาท
โครงการ นี้เป็นโครงการที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงริเริ่มและดำเนินการมาหลายปีแล้ว
เพียงแต่ยังขาดแคลนงบประมาณที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ
เพื่อประโยชน์แด่พระภิกษุ สามเณร
ตลอดจนประชาชนทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง
เพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จดังพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิ
ราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนไทยทุกหมู่เหล่าร่วมบริจาค!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น