++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

"วูวูเซล่า" แตรดังข้างสนามบอลโลก แค่รำคาญหรืออันตราย

"วูวูเซล่า" หรือ "เลปาตาตา" (Vuvuzela Horn)
เป็นแตรพื้นเมืองของแอฟริกาใต้ มีความยาวเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร
บ้างก็ว่าชื่อ "วูวูเซล่า"
มาจากภาษาซูลูของชนเผ่าที่มีประชากรมากที่สุดในแอฟริกาใต้
แปลว่าสร้างเสียงวูวู แต่บ้างก็ว่าเป็นศัพท์สแลงของพวกคนเมือง
โดยใช้ในความหมายประเภทปลุกใจ ปลุกเร้า

กลุ่มแฟนบอลของสโมสร "ไกเซอร์ ชีฟส์ เอฟซี"
ในลีกของแอฟริกาใต้เริ่มนำวูวูเซล่ามาประกอบการเชียร์ฟุตบอลครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน
แต่วูวูเซล่าก็ยังจำกัดวงอยู่เฉพาะภายในแอฟริกาใต้เท่านั้น
จนกระทั่งมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการแข่งขันฟุตบอลรายการ "ฟีฟ่า
คอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ 2009" ที่จัดขึ้นที่แอฟริกาใต้เมื่อปีที่แล้ว
ถือเป็นครั้งแรกที่วูวูเซล่าได้แผดเสียงให้ชาวโลกได้ยินเป็นครั้งแรก

แรกเริ่มเดิมทีนั้น วูวูเซล่าก็คือแตรอะลูมิเนียมสั้นๆ
จากรถจักรยาน ต่อมาถูกพัฒนาเป็นท่อยาวๆ เพื่อให้มีเสียงดังขึ้น
แต่วูวูเซล่าอะลูมิเนียมถูกห้ามนำเข้าสนามหลายครั้ง
เพราะเกรงว่ามันจะกลายเป็นอาวุธ จึงมีการดัดแปลงมาทำด้วยพลาสติกแทน
หลังจากนั้นก็มีบริษัทหัวใสผลิตวูวูเซล่าหลากสีสันหลากสไตล์ออกมาขายจนได้รับความนิยมทั่วบ้านทั่วเมือง

วูวูเซล่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่เมืองเคปทาวน์ มีความยาวถึง
114 ฟุต และจะส่งเสียงดัง 123.5 เดซิเบล
ออกมาทุกครั้งที่มีการยิงประตูในฟุตบอลโลกครั้งนี้

อานุภาพของวูวูเซล่าจะทรงพลังที่สุดในช่วง 15 นาทีสุดท้ายของเกม
เพราะแฟนบอลจะพร้อมใจกันเป่าเพื่อ ''ฆ่าศัตรู''
เหมือนกับนิทานพื้นบ้านที่เล่าว่า ''ลิงบาบูนถูกฆ่าด้วยเสียงดังสนั่น''
สิ่งที่หลายฝ่ายเป็นห่วงก็คือ
เสียงของมันดังเกินกว่าระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อหู

แฟนฟุตบอลที่เข้าร่วมเชียร์ฟุตบอลโลกติดขอบสนามและต้องฟังเสียงวูวูเซล่าเป็นเวลานานๆ
มีสิทธิ์ที่จะหูดับหรือสูญเสียการได้ยินแบบถาวรได้

มีการศึกษากันแล้วว่า วูวูเซล่าสามารถส่งเสียงดังได้สูงสุดถึง
127-130 เดซิเบล ซึ่งดังมากกว่าเครื่องตัดหญ้า (90 เดซิเบล)
เสียงเลื่อยไฟฟ้า (100 เดซิเบล) เสียงกลอง (122 เดซิเบล)
และดังกว่าเสียงนกหวีดของกรรมการซึ่งดังประมาณ 121.8 เดซิเบล

การฟังเสียงที่มีความดังเพียง 85 เดซิเบลติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
จะทำให้หูของคนเราเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินแบบถาวร
หากฟังเสียงที่มีความดังถึง 100 เดซิเบลหรือมากกว่านั้น
ความเสียหายอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น
กฎหมายของแอฟริกาใต้เองก็สั่งให้ผู้ที่ทำงานอยู่ในที่ที่มีเสียงดังเกิน
85 เดซิเบล ต้องใช้ที่อุดหู

ขณะที่แพทย์ชาวเยอรมนีก็เตือนเช่นกันว่า
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเสียงที่ดังเกินความพอดีของวูวูเซล่าควรรีบมาพบแพทย์ภายใน
24 ชั่วโมง เพื่อตรวจเช็คระบบการได้ยินเป็นการด่วน
ก่อนที่จะกลายเป็นคนหูพิการตลอดชีวิต

อาการหูดับ คือการสูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน
มีอาการตั้งแต่หูอื้อเล็กน้อย ไปจนถึงไม่ได้ยินเสียงเลย การรักษาภายใน 2
อาทิตย์แรกหลังจากเริ่มมีอาการหูดับจะได้ผลดีที่สุด ที่สำคัญคือ
ผู้ป่วยต้องพักผ่อนให้มากที่สุดเพื่อให้ประสาทหูฟื้นตัวโดยเร็ว
โดยทั่วไปแพทย์จะสั่งให้พักผ่อนเพื่อรักษาอาการอย่างน้อย 1 สัปดาห์
โดยระหว่างนี้ห้ามฟังหรือเข้าใกล้เสียงที่ดังมาก ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 70
อาการของโรคจะดีขึ้นหรือหายเองได้
ส่วนการสูญเสียการได้ยินแบบถาวรจะไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้อีก

นอกจากอันตรายต่อหูแล้ว ดร.รูธ แม็คเนอร์นีย์
นักวิจัยจากสถาบันอนามัยแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ยังเตือนด้วยว่า
วูวูเซล่าอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อหวัด
ซึ่งคาดว่าน่าจะระบาดอย่างรุนแรงระหว่างฤดูการแข่งขันนี้
โดยเชื้อหวัดอาจติดต่อทางน้ำลายผ่านเครื่องเป่าอย่างวูวูเซล่า
การป้องกันก็คือให้แฟนบอลใช้เป็นการส่วนตัวเท่านั้น
ไม่ควรนำมาใช้ปะปนร่วมกับคนอื่น

เออร์วิน โคลซ่า
ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของแอฟริกาใต้ ยอมรับว่า
วูวูเซล่า ถือเป็นทีเด็ดของแอฟริกาใต้ที่จะใช้กดดันคู่แข่ง
แต่ก็เน้นย้ำว่าหากทุกคนสนุกไปกับมัน สนุกไปกับกองเชียร์
และคิดเสียว่าวูวูเซล่าคือความสนุกสนาน รับรองว่าจะไม่มีปัญหาอันใดเลย

ขณะที่นักฟุตบอลหลายคนยอมรับว่าไม่ชอบเสียงของวูวูเซล่า
แต่ก็จำเป็นต้องทำความคุ้นเคยกับมันให้ได้
นักเตะบ่นว่าเสียงของวูวูเซล่ารบกวนสมาธิในการเล่นของพวกเขา
เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารในสนาม และระหว่างนักเตะกับโค้ช

หลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอล ฝ่ายถ่ายทอดสด
รวมไปถึงนักวิชาการบางกลุ่มที่ศึกษาผลของวูวูเซล่า
ได้เรียกร้องให้ออกกฎห้ามใช้วูวูเซล่าในสนามแข่งขันกีฬาระดับโลกทุกรายการ
ล่าสุด แดนนี จอร์แดน ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก
กำลังพิจารณาหาทางออกเรื่องนี้อย่างดีที่สุด
หลังจากเคยพยายามออกประกาศห้ามแฟนบอลเป่าวูวูเซล่าระหว่างช่วงร้องเพลงชาติและช่วงการประกาศของโฆษกในสนาม
และเสนอให้บรรดากองเชียร์เปลี่ยนไปร้องเพลงเชียร์แทน
พร้อมทั้งยอมรับว่าอาจจะเป็นไปได้ที่จะห้ามนำวูวูเซล่าเข้าสนาม

ก่อนหน้านี้ โจเซฟ เซปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานฟีฟ่า
กล่าวว่าจะไม่แบนวูวูเซล่า
เพราะถือเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองอันแสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแอฟริกาใต้
ซึ่งฟีฟ่าต้องให้ความสำคัญกับประเทศสมาชิกทั้ง 208
ประเทศอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า หากแบนแตรวูวูเซล่าแล้ว
อาจมีเสียงเรียกร้องให้มีการแบนเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีกหลายชนิดตามมาอีก
โดยเฉพาะเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมานานในบราซิลและอีกหลายประเทศแถบลาตินอเมริกา
ซึ่งมีเสียงดังไม่แพ้วูวูเซล่า

คงจะต้องติดตามข่าวกันต่อไปว่าจะมีนักบอลหรือแฟนบอลคนใดบ้างไหมที่สูญเสียการได้ยินจากเสียงแตรวูวูเซล่า
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีพ่อค้าหัวใสที่ขายอุปกรณ์ป้องกันเสียงแสบแก้วหูของวูวูเซล่าแล้ว
นั่นก็คือ ที่อุดหู หรือ Earplugs
ซึ่งได้ข่าวว่าขายดีไม่แพ้กันเลยทีเดียว

ร้านขายของในเมืองเคปทาวน์ได้ขายที่อุดหูที่มีชื่อว่า "Vuvu-Stop"
หมดสต็อกไปเรียบร้อยแล้ว
ที่อุดหูที่ว่านี้สามารถลดพลังเสียงของวูวูเซลาลงเหลือเพียง 31 เดซิเบล
มันอาจจะไม่ได้ช่วยให้เสียงเงียบลงเลยทีเดียว
แต่ก็ช่วยถนอมสุขภาพหูได้เหมือนกัน

ข้างกล่องเขียนสรรพคุณเอาไว้ว่า"มีประสิทธิภาพสูงในการลดความดังของเสียงในสนามฟุตบอล
รวมถึงทำให้คุณไม่ได้ยินเสียงภรรยาบ่นได้อีกด้วย"

สำหรับกองเชียร์ทางบ้านที่บ่นรำคาญเสียงหึ่งๆ ของวูวูเซล่า
แนะนำให้คิดเสียว่า ทีมคู่แข่งของเราใกล้เน่าแล้ว แมลงวันเลยมาตอมหึ่งๆ
จะช่วยสร้างความฮึกเหิมในการเชียร์ทีมในดวงใจได้ ...ขำขำ...แก้รำคาญ

ติดตามฟังรายการ "Happy & Healthy"
ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.00-12.00 น.
ทางคลื่นของประชาชน คนนำปัญญา FM 97.75 MHz
และ www.managerradio.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น