++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ชีวิตเด็กบ้านสวนบางลำเจียก - ไข่เต่ายำเต่า (๓)

แก้ว แกมทอง


            ดังเคยกล่าวแล้วว่า มะไฟนี่ชาวสวนชอบปลูกไว้ตามริมคลอง หรือตามริมลำประโดง ไม่เคยเห็นใครปลูกมะไฟไว้ตามร่องสวนเลย อาจเป็นเพราะมะไฟมันชอบอยู่กับน้ำมากๆ แล้วมันเป็นต้นไม้ใหญ่ แกร่ง ไม่ค่อยล้มค่อยตาย กี่ชั่วคนกี่ชั่วคนก็ยังอยู่ยังงั้น เขาจึงกันเนื้อที่ดินที่ไม่ค่อยใช้การให้มันอยู่เสียคนเดียว

            ที่ผู้เขียนว่าเขาชอบปลูกริมคลอง ก็คือสวนใครที่อยู่ริมคลองบางลำเจียกเอย ก็ปลูกตามริมคลองบางลำเจียกนั่นแหละ เป็นแถวไประหว่างต้นห่างกันประมาณสักสองเมตร มีแต่ต้นมะไฟเป็นแถวไปหมด อาจจะมีมะพร้าวแซมบ้าง แต่ก็น้อยกว่ามะไฟ

            ส่วนลำประโดงนั้น คือ ซอยคลองที่แยกเข้าไปจากคลองบางลำเจียก แบบมีถนนใหญ่แล้วก็มีถนนซอยแยกเข้าไปอย่างนั้นแหละ แต่ลำประโดงนี่บางทีทั้งสองฝั่งลำประโดงเป็นสวนของเจ้าของเดียวกันก็มี คนละเจ้าของก็มี แต่ใช่น้ำในลำประโดงนั้นด้วยกัน โดยการขุดถนนแล้วฝังท่อระบายน้ำเข้าออกจากลำประโดงนั้น ท่อนั้นโบราณใช้ทำด้วยต้นมะพร้าว แต่ในตอนผู้เขียนยังเด็ก ผู้เขียนก็เห็นเขาใช้ท่อปูนกันแล้ว ลูกท่อที่ใช้ปิดทำด้วยต้นทองหลาง หรือกิ่งทองหลางใหญ่ๆมาเกลาให้กลมเกลี้ยง หยักตรงท้ายไว้หน่อย แบบจุกปิดขวด ไม่ให้ลูกท่อโดนน้ำดันเข้าไปค้างอยู่ในท่อได้ เวลาปิดเสร็จเขาก็ปักไม้ไว้หน้าลูกท่ออันหนึ่ง กันไม่ให้น้ำในสวนดันลูกท่อหลุดไป

            ลำประโดงของชาวสวนนี้ ชาวนาก็มี แต่เขาเรียกว่า "หลอด" แล้วต้องเป็นหลอดใครหลอดมันด้วยใช่ร่วมกันไม่ได้ เพราะหลอดของชาวนานั้น คือ การขุดให้เกิดลำน้ำจากคลองใหญ่เข้าไปในที่นาของตนเอง แล้วเรียกว่าหลอดมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ปัจจุบันก็เรียกอยู่ ชาวนาที่ว่านี้คือ ชาวนาบางใหญ่กับบางคูลัด ใกล้ๆกรุงเทพฯ นี่เอง ทำให้คิดว่างั้นคลองหลอดของกรุงเทพฯ ที่เรียกว่าคลองหลอด ก็คงเป็นเพราะเป็นคลองที่ซอยแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเอาน้ำมาใช่ในพื้นที่ไกลๆจากแม่น้ำ แล้วคนโบราณเรียกคลองซอยในลักษณะนี้ว่า "หลอด" ทุกคลองไป เรื่องคงเป็นแบบนั้นกระมัง

            เมื่อตอนเด็กๆ ที่บ้านผู้เขียนใช้ตะเกียงดังที่เคยกล่าวบ่อยๆแล้ว ตะเกียงนั้นมีหลายอย่าง อย่างหนึ่งทำด้วยทองเหลือง เป็นรูปกลมเล็กๆมีฐานตั้ง ตรงฐานนั้นแบน มีที่จับถือได้ตรงส่วนที่กลม ตรงยอดกลมนั้นมีแผ่นสังกะสีแบนๆ มีช่องให้เอาไส่ใส่ได้ ตรงยอดไส้มีสังกะสีทำเป็นรูปปากนกแก้วครอบไว้ มีที่ไขให้ไส้ขึ้นลง แล้วมีขาสี่ขาตรงส่วนนี้สำหรับให้เอาหลอดแก้วเล็กๆรูปร่างแบบกระบอกไม้ไผ่ ยาวสักคืบครอบลงไป แล้วเรียกตะเกียงนี้ว่า ตะเกียงหลอด

            ตะเกียงทุกรูปแบบต้องใส่ด้วยน้ำมันก๊าด ไม่ว่าตะเกียงหลอด ตะเกียงลาน ตะเกียงรั้ว ตะเกียงเจ้าพายุ ชาวบ้านชาวสวนทุกบ้านจึงต้องซื้อน้ำมันก๊าดกันเป็นปี๊บ เวลาจะใช้ก็เอาสูบสูบออกมา คือ ปี๊บน้ำมันก๊าดนั้นตรงมุมหนึ่งในสี่มุมของฝาจะมีรอยกลม ๆ เท่าผลมะนาวอยู่ มันเป็นฝาที่เขาทำอัดแน่นไว้พอเรางัดเอาตรงรอยที่เขาเชื่อมกันไว้ออก มันก็จะเป็นรูพอดีให้เอาสูบใส่ลงไป สูบนั้นก็ทำด้วยสังกะสี เป็นกรวยยาวลงไปจนถึงก้นปีบ ปากกรวยมีพวยเหมือยพวยกาน้ำ แต่มันไม่ได้งอขึ้น มันงอลง เราก็เอาขวดไปรอตรงพวยนี้ แล้วชักลูกสูบที่ทำด้วยเส้นสังกะสีเหมือนเส้นลวด ตรงปลายที่อยู่ในปี๊บติดแผ่นสังกะสีแบนๆกลมๆเกือบเท่าตัวสูบ เราก็ชักลูกสูบนั่นแหละขึ้นมา น้ำมันก๊าดมันก็จะวิ่งตามแรงสูบขึ้นมาลงขวดเอง แต่ถ้าคนสูบไม่เป็น น้ำมันก๊าดก็จะออกนอกขวดลงไปนองพื้นหมด


            น้ำมันก๊าดนี้มีประโยชน์กับชาวสวนหลายอย่าง นอกจากใส่ตะเกียงแล้ว ยังเอาไปใส่กระบอกไม้ไผ่ทำคบได้ เวลามดขึ้นเข้าของบนบ้านก็เอาผ้าชุบไปทาตรงมดเดิน มดก็จะไม่มากวน ส่วนพื้นกระดานที่ขัดมันปลาบนั้น  เขาก็เอาน้ำมันก๊าดผสมกับเทียนไข ไปทนแทนน้ำมันสนได้ด้วย ที่สำคัญคือ เวลาเด็กในบ้านเป็นเหา เขาจะเอาหวีเสนียดจุ่มน้ำมันก๊าด แล้วก็นั่งสางเหาให้เด็ก ตัวเหามันเหม็นน้ำมันก๊าด มันก็กระโดดออกมาเยอะแยะ แต่เรื่องเหานี่ บางบ้านเขาก็ใช้โล่ติ้นนะ เป็นชิ้นไม้แห้งๆ เอามาคั้นในน้ำ แล้วใส่หัวเด็ก แต่อีขนานนี้ตัวเหามันตายเลย เขาจึงไม่ค่อยใช้กัน เขากลัวเวลาเอาเด็กไปสระผมในคลองแล้ว ปลาปูจะตายหมด คือ ห่วงปลาห่วงปู แต่ไม่ได้ห่วงเด็ก เป็นงั้น

            เมื่อใช้น้ำมันก๊าดหมดแล้ว ปี๊บน้ำมันก๊าดนี่มีประโยชน์มากเลยสำหรับชาวสวน เพราะนอกจากจะเอาไปทำที่ไล่ค้างคาวแล้ว เขาก็ใช้ใส่หมากแห้งตุนไว้สำหรับขายเวลาหมดหน้าหมากดิบด้วย (หมากสด ชาวสวนเรียกว่า หมากดิบ)

            หมากแห้งนี่มีสามอย่างนะ ที่ใส่ปี๊บไว้ขาย เขาเรียกหมากแห้ง หมากหั่น และหมากสง
           

        (อ่านต่อตอนที่ ๔ ตอนจบ)

ที่มา ต่วยตูน ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๓๐ ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น